หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
" วิถีแม่น้ำลำคลองบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ "งานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๕
บทความโดย ปิยชาติ สึงตี
เรียบเรียงเมื่อ 13 พ.ย. 2558, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 6089 ครั้ง


" วิถีแม่น้ำลำคลองบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ "งานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๕

 

รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม และ คุณ สุรจิต ชิรเวทย์ ร่วมพูดคุยในหัวข้อ 
วิถีแม่น้ำลำคลองบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

 

                  เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา มูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดงานเสวนาเรื่อง “ วิถีแม่น้ำลำคลองบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ” ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวาระ “ วันเล็ก – ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๕ ” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิฯ และคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ศึกษาภูมิปัญญาเรื่องวิถีชีวิตเกี่ยวกับน้ำและผู้คนที่อยู่อาศัยบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

 

                  ในช่วงแรก อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เปิดประเด็นการเสวนาด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถทำให้เข้าใจพลวัตที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดรูปแบบของการพัฒนาที่สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้น หากแต่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่แล้วๆ มากลับมีปัญหาในการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม อย่างเป็นองค์รวม อาจารย์ศรีศักรได้เสนอแนวคิด มุมมอง การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ต้องมองให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ๓ ระดับ คือ

 

๑.ภูมิวัฒนธรรม คือ การที่ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง มีการสร้างภูมิวัฒนธรรม ด้วยการกำหนดภูมิประเทศในพื้นที่ให้คนในบริเวณนั้นได้รู้จักผ่านออกมาทางชื่อของสถานที่

๒. นิเวศวัฒนธรรม เป็นส่วนที่ลึกลงไปจากภูมิวัฒนธรรม หมายถึงชุมชนกับผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยมีการสร้างสำนึกร่วมภายในชุมชนผ่านทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

๓. ชีวิตวัฒนธรรม คือ ส่วนเล็กที่สุดของความเป็นท้องถิ่น เป็นเรื่องของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในท้องถิ่นนั้นๆ

 

                   ทั้งหมดเป็นแนวคิด มุมมอง ที่อาจารย์ศรีศักรสังเคราะห์จากประสบการณ์การทำงานที่สัมพันธ์กับผู้คนและท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน เพื่อนำมาสร้างความเข้าใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อให้เห็นลึกลงไปถึงโครงสร้างทางสังคมและชีวิตของผู้คน แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ขาดองค์รวมมักให้ภาพของประวัติศาสตร์ที่ขาดความเคลื่อนไหวและไม่เห็นผู้คน ทำให้ไม่เข้าใจท้องถิ่นและสร้างปัญหาในการจัดการพัฒนาท้องถิ่นที่ไม่ถูกต้องของรัฐ ที่เอาแต่จะนำรูปแบบการพัฒนาของรัฐครอบลงไปในท้องถิ่นโดยไม่คำนึงถึงชุมชนหรือผู้คนภายในท้องถิ่น

 

 

                   ต่อจากนั้นอาจารย์ศรีศักรได้กล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมืองของผู้คนบนที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในภาคกลางว่ามีอยู่ ๒ รูปแบบ คือ

 

๑. พื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า ( Old Delta ) ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ลงมาจนถึงชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา ที่มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ ๑๘ หรือยุคลพบุรีเป็นต้นมา โดยมีระบบนิเวศแบบลำน้ำกับท้องทุ่ง

๒. พื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ ( Young Delta ) มีอาณาเขตตั้งแต่อยุธยาลงมาจนถึงเพชรบุรี ที่มีการตั้งถิ่นฐานในศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา โดยมีระบบนิเวศแบบแม่น้ำลำคลองทำให้วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันอยู่กับลำน้ำ

 

                   วิถีชีวิตของผู้คนบนที่ราบลุ่มทั้งสองแบบดังกล่าว นำไปสู่การสร้างภูมิปัญญาซึ่งเป็นผลมาจากการสั่งสมประสบการณ์ของผู้คนเพื่อการดำรงชีพอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ดังเช่นในกรณีของเมืองแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีคุณ สุรจิต ชิรเวทย์ มาเป็นผู้นำเสวนาเรื่องวิถีคนสามน้ำของสมุทรสงคราม

 

                   คุณสุรจิต เริ่มด้วยการกล่าวถึงลักษณะที่ตั้งของเมืองแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแม่กลอง อันเกิดจากการทับถมของตะกอนดินที่น้ำพัดพามาในฤดูน้ำหลาก ทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และน้ำหลากยังได้พัดพาเอาแมลงศัตรูพืชต่างๆ ที่อยู่ในดินไปกับน้ำอีกด้วย การมีพื้นที่ตั้งอยู่บนที่ราบปากแม่น้ำจึงส่งผลให้เมืองแม่กลองเป็นเมืองที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านมากมาย วิถีชีวิตและภูมิปัญญาในการดำรงชีพของชาวแม่กลองจึงสัมพันธ์กับเรื่องของ “ น้ำ ” ในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบสามน้ำ น้ำเกิด น้ำตาย น้ำเบียด – น้ำกัน เป็นต้น

 

                   วิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่ผูกพันอยู่กับลำน้ำของชาวแม่กลองนั้น สามารถเห็นได้จากการประกอบอาชีพที่ต่างกัน เช่น ตอนบนที่เป็นน้ำจืดมีการทำสวนผลไม้หรือทำนา ส่วนตอนกลางที่เป็นน้ำกร่อยก็จะทำสวนมะพร้าวซึ่งเป็นพืชที่ชอบน้ำกร่อย และตอนล่างที่อยู่ติดกับทะเลก็จะทำประมงชายฝั่ง เลี้ยงหอยแมลงภู่ เผาถ่านโกงกาง เป็นต้น

 

บรรยากาศภายในงานวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

 

                      ความรู้เรื่องนิเวศของน้ำเป็นอีกภูมิปัญญาที่สำคัญของชาวแม่กลอง ทั้งน้ำเกิด–น้ำตาย ที่มีผลมาจากการขึ้น-ลงของน้ำในช่วงข้างขึ้นและข้างแรม คือ ช่วงขึ้น ๑๒ ค่ำ จนถึงแรม ๕ ค่ำ น้ำจะไหลแรงและขึ้นสูงมาก เรียกลักษณะน้ำอย่างนี้ว่า “ น้ำเกิด ” ส่วนช่วงแรม ๖ ค่ำ จนถึงขึ้น ๑๑ ค่ำ จะมีการขึ้น-ลงของน้ำน้อย เรียกกันว่าช่วง “ น้ำตาย ” ชาวบ้านอาศัยปรากฏการณ์เหล่านี้เพื่อรู้จังหวะช่วงเวลาที่ออกจับสัตว์น้ำ รวมถึงการเกิดน้ำเบียด–น้ำกัน ในช่วงที่น้ำทะเลกับน้ำจืดเข้าปะทะกันอย่างเฉียบพลันในเดือน ๙ จนถึงเดือน ๑๑ ส่งผลให้แพลงตอนบางชนิดเติบโตอย่างรวดเร็ว และท้องน้ำในบริเวณดังกล่าวจะมีสีแดง สีเหลือง สีเขียว เป็นวงกว้าง ทำให้ดูเหมือนว่าน้ำสองสีกำลังเบียดกันอยู่ ในบริเวณดังกล่าวจะขาดออกซิเจนลงทันที ปลาต่างๆ จึงต้องว่ายน้ำหนี ชาวประมงก็จะอาศัยจังหวะที่น้ำเบียดเข้าล้อมจับปลาที่ว่ายหนีออกมา

 

                      ปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่คนมองข้ามภูมิปัญญาเรื่องน้ำจนเกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งยังไม่รู้จักเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีธรรมชาติกลับใช้วิธีการสมัยใหม่เข้ามาแก้  ทั้งการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือการสร้างประตูน้ำเพื่อป้องกันน้ำเค็มหนุน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

 

 

                     การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง แต่เขื่อนก็เป็นตัวกักตะกอนดินที่มีประโยชน์มากมายไว้เหนือเขื่อน ทำให้พื้นที่ตอนล่างโดยเฉพาะที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขาดตะกอนดินที่มีประโยชน์เข้ามาทับถมตามธรรมชาติ ชาวสวนซึ่งไม่เคยต้องใช้ปุ๋ยเคมีก็ต้องเริ่มใช้ รวมทั้งแมลงศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินที่เคยถูกน้ำพัดไปในฤดูน้ำหลากก็ไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ต้องมีการใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ระบบนิเวศและมนุษย์ต้องประสบปัญหาต่อเนื่องจากสารเคมีตกค้าง การขาดตะกอนดินทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสียหาย เนื่องจากพื้นที่ชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาหารและอนุบาลสัตว์น้ำลดหายไปจากการที่ไม่มีตะกอนดินเข้ามาทับถมตามธรรมชาติ แต่กลับถูกน้ำทะเลกัดเซาะตามปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากน้ำมือของมนุษย์ที่มองข้ามภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

อัพเดทล่าสุด 13 พ.ย. 2558, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.