หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ในความเคลื่อนไหว
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 2 ก.พ. 2559, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 3999 ครั้ง

รายการสนทนาเนื่องในวันเล็ก-ประไพ รำลึก ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ 
เรื่อง “ เมืองโบราณ จากเมืองจำลองมาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งระดับโลก”

 

 

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เป็นวันที่จากไปของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณและจัดตั้งมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ทางมูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการสนทนาเรื่อง "เมืองโบราณ จากเมืองจำลองสู่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งระดับโลก" และได้เชิญศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล อดีตคณะบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาสนทนาเกี่ยวกับการสร้างเมืองโบราณที่บางปู สมุทรปราการ ร่วมกับอาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม โดยมีคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ เป็นผู้ดำเนินรายการ

วันนี้อาจารย์ศรีศักรเล่าให้ฟังถึงความคิดแรกเริ่มเมื่อคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ริเริ่มที่จะสร้างเมืองจำลองที่อำเภอบางปู จ.สมุทรปราการ ให้คนที่สนใจได้มาเที่ยวหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญของบ้านเมือง และจัดทำแบบง่ายๆ โดยจำลองสถานที่สำคัญของแต่ละจังหวัดลงไป แต่เมื่อทำไปได้สัก ๒-๓ แห่งแล้วเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไร เพราะได้เรียนรู้และเกิดความคิดและความเข้าใจอะไรใหม่ๆ ขึ้นอันเนื่องมาจากท่านเป็นผู้ก่อสร้างด้วยตนเอง คุณเล็กจึงทำการค้นคว้า อ่านหนังสือ และหาข้อมูล พบปะและเชิญนักวิชาการผู้รู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมจึงเปลี่ยนความคิดมาทำเป็นเมืองจริงๆ ขึ้นมา แต่เป็นเมืองโบราณ

คุณเล็กออกเดินทางสำรวจท้องถิ่นต่างๆ ได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและนิเวศวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นต่างๆ จนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจ ได้เห็นอาคารบ้านเรือน โบราณวัตถุ กลุ่มชาติพันธุ์ และเห็นประเพณีพิธีกรรมและเห็นวิถีชีวิตของผู้คนมากมาย อาคารบางหลังก็ได้ขอผาติกรรมมาเพราะท้องถิ่นไม่มีกำลังดูแลและบางหลังก็ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างหลังใหม่ เช่น วิหารวัดจองคำ จ.ลำปาง พระวิหารวัดพร้าว จ.ตาก และจะไม่นำมาถ้าเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อคนในท้องถิ่นและเป็นที่หวงแหน นอกจากนี้การเข้าใจความเป็นตลาดและชุมชนก็เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างตลาดน้ำและตลาดบกในเมืองโบราณ บ้างก็สร้างขึ้นใหม่ด้วยการศึกษารูปแบบเดิมที่เหลืออยู่ เช่น พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา จากนั้นได้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่ซึ่งรวบรวมฝีมือช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไว้

 

 

                  ความเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งไม่เพียงนำเสนอแค่ความเป็นรูปธรรมแต่ยังสะท้อนเรื่องนามธรรม เช่น ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรม เห็นได้จากการสร้างเทวโลก อันเป็นคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ มีรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆ ซึ่งเป็นฝีมือของอาจารย์สนั่น ศิลากร บริเวณปลายนายังมีศาลาพระกวนอิม จินตนาการของคุณเล็กที่มีต่องานวรรณกรรมไทย ปรากฏในงานปั้นและการจัดสวนวรรณคดี เช่นสวนรามเกียรติ์ สวนพระอภัยมณี สวนไกรทอง รูปปั้นเหล่านี้เป็นผลงานของศิลปินหลายท่านคือ คุณไกรสร ราศรี และศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล ฯลฯ

 

                 สิ่งที่สร้างขึ้นในเมืองโบราณล้วนมีที่มีทางความคิดทั้งสิ้น เช่น การจินตนาการคติธรรมจากจิตรกรรมฝาผนังและวรรณกรรมจากโคลงกลอนโบราณมาแสดงให้เห็นอย่างตำนานเขาพระสุเมรุ ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค และศาลาฤๅษีดัดตน

 

                   คุณเล็กมีเจตนารมณ์ในการสร้างเมืองโบราณให้เป็นสถานที่ที่ทำให้คนไทยรู้จักบ้านเมืองของตนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะท่านอยู่ในเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง และมองเห็นว่าคนไทยเวลามีการเปลี่ยนแปลงมักจะลืมพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม

 

                   ศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนท่านเป็นช่างปั้นหนุ่มรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานปั้นผลงานชุดสวนวรรณคดีให้กับคุณเล็ก (เสี่ยเล็ก) คือ สวนไกรทอง สวนอิเหนา และสวนขุนแผน แต่ด้วยความเป็นเด็กและความเป็นศิลปินจึงทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปสานฝันของตัวเองต่อที่สหรัฐอเมริกา และได้นำผลงานที่เคยทำไว้กับเมืองโบราณไปเสนอทำเป็นผลงานที่นั่นซึ่งได้รับการยอมรับอีกด้วย แต่ตอนนั้นศาสตราจารย์ธนะก็ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าไรเพราะยังหลงใหลกับศิลปะทางตะวันตกและมองว่าคุณเล็กเป็นนักธุรกิจ แต่เมื่อกลับมาเห็นความมุ่งมั่นของคุณเล็กก็รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้อยู่ร่วมงานด้วย หากย้อนเวลาได้ก็อยากทำงานกับคุณเล็ก ความรู้สึกที่มองคุณเล็กจากวันนั้นกับวันนี้เมื่อสมัย ๒๐-๓๐ ปีที่แล้วช่างแตกต่างกัน 

 

 

               "ตอนนั้นผมมองว่าเสี่ยเล็กเป็นนักธุรกิจ ... แต่ ณ ปัจจุบันผมคิดว่าท่านเป็นศิลปินอย่างแท้จริง หากเราดูจากผลงานท่านที่ฝากไว้ให้แผ่นดิน ”

 

                 ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองโบราณจึงเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี สังคมและวัฒนธรรม และการสร้างจิตสำนึกให้คนเข้าถึงวัฒนธรรมจนปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งระดับโลก

 

*****************************************

อัพเดทล่าสุด 2 ก.พ. 2559, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.