ในความเคลื่อนไหวงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๒
เมื่อวันพุธที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณเล็ก และคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ และปราสาทสัจธรรม ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และเมืองโบราณ จ. สมุทรปราการ จึงถือโอกาสจัดงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๒ ขึ้น โดยงานในครั้งนี้ใช้แนวคิดว่า " อยุธยาสยามประเทศ ความหลากหลายและบูรณาการ "
เริ่มด้วยการอบรมความรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยแก่เยาวชน และผู้ที่สนใจทั่วไป ในหัวข้อ “ รู้เรื่องเมืองไทย วัด วัง บ้าน ” ซึ่งมีโรงเรียนจากจังหวัดสมุทรปราการ และจากอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี กว่า ๑๘๐ คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ ๐๘.๓๐ น – ๑๒.๐๐ น. จัดกลุ่มเยาวชนกลุ่มละ ๓๐ คน ขึ้นรถรางไปตามฐานต่างๆ (ซึ่งชื่อรถรางอาจจะดูแปลกไปสักนิด เช่น รถสินธุปักษี รถอินทรีทิพย์ รถคงคากะริน และรถรำไภยบิน เป็นต้น เพราะนำชื่อมาจากเรือประจำกระบวนทหารรักษาพระองค์ ที่ใช้ในริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยอยุธยา) การอบรมในครั้งนี้ใช้วิธีเสนอข้อมูลเป็นกลุ่มความรู้ และมีวิทยากรมาให้ความรู้ประจำฐาน ต่างๆ อาทิเช่น คุณวิยะดา ทองมิตร คุณสุดารา สุจฉายา คุณศรัณย์ ทองปาน คุณอาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม ให้ความรู้ที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นวิถีชีวิต ศิลปะ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม ผ่านทาง วัด วัง บ้าน อันถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของสังคมไทยในอดีต โดยเริ่มต้นที่ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม นักเรียน และครูกว่า ๑๘๐ คน ร่วมกันสวดมนต์ทำนองสรภัญญะ โดยการนำของผู้เชี่ยวชาญ คือ อาจารย์ธนกฤต อกนิษฐ์ธาดา ผู้ก่อตั้งชมรมคีตวรรณกรรม ซึ่งอาจารย์ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการสวดสรภัญญะ และยังสามารถถ่ายทอดบทสวดมนต์ได้ไพเราะจับใจเป็นอย่างมาก จากนั้นผู้เข้ารับการอบรมได้เดินทางไปตามฐานต่างๆ หมุนเวียนกันไป เช่น วัดใหญ่สุวรรณารามเพชรบุรี พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท คุ้มขุนแผน วิหารสุโขทัย และปิดท้ายด้วย สวนพฤกษชาติในวรรณคดี การอบรมความรู้ในครั้งนี้ทำให้เยาวชนของเราสามารถเข้าใจถึงความเป็นสังคมไทยได้เป็นอย่างดี สอบถามนักเรียนถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า " ได้รู้ว่า วัด วัง บ้าน เป็นอย่างไร และก่อนที่จะมาเป็นวัด วัง บ้าน เกิดขึ้นมาจากอะไร " นักเรียนอีกคนหนึ่งเสริมว่า " การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้รู้จักบุคคลสำคัญๆ และยังได้เห็นได้สัมผัสหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน " คุณครูท่านหนึ่งกล่าวเสริมว่า " สังคมไทยได้ หล่อหลอม วัด วัง บ้าน เข้ามาเป็นศูนย์รวมของสังคมไทย โดยทุกสิ่งจะเริ่มจากวัด ไปสู่วัง และบ้าน "
การอบรมศิลปวัฒนธรรมไทยแก่เยาวชน ณ เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการในครั้งนี้จบลงด้วยความเข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ และความเป็นสังคมไทยในสมัยก่อนมากขึ้น ซึ่งตรงกับแนวคิดที่ว่า เมืองโบราณเกิดขึ้นจากประสบการณ์โดยตรงจากการออกเดินทางสำรวจท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทย ดังนั้น แนวคิดในการสร้างความรู้ท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมไทย หากขาดซึ่งประสบการณ์ในการเดินทาง เห็น และคิดต่อท้องถิ่นต่างๆ เสียแล้ว ก็คงไม่สามารถเข้าใจศิลปวัฒนธรรมไทยได้มากไปกว่าการท่องจำตามตำรา ทางเราหวังว่าจะเป็นส่วนที่จะกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจอดีต เพราะอดีตคือจุดเริ่มต้นของปัจจุบัน และอนาคต
ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ " อยุธยาสยามประเทศ ความหลากหลายและบูรณาการ " โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยคุณอาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม การเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้น “เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ของผู้คนในสังคมไทยที่ถูกบูรณาการอยู่ภายใต้ดินแดนแห่งสยามประเทศและสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เบียดเบียนหรือรังเกียจจนเกิดเป็นความขัดแย้งร้ายแรงดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”
ก่อนการเสวนาเป็นการกล่าวนำให้ความรู้เกี่ยวกับโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ หรือโคลงกำสรวลสมุทร โดยอาจารย์ธนกฤต อกนิษฐ์ธาดา และต่อด้วยการเสวนาของอาจารย์ทั้งสองท่าน แม้หัวข้อในการเสวนาจะดูเป็นวิชาการเกินไป แต่บรรยากาศของการเสวนานั้น เป็นไปในแบบกันเอง ผู้ร่วมฟังสามารถสอบถามและแสดงความคิดเห็นในเรื่องอยุธยา โดยมีผู้ที่สนใจและรักในความเป็นอยุธยาสยามประเทศ เป็นจำนวนมากเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้
และใกล้เคียงบริเวณ โรงละคร ยังมีการจัดนิทรรศการ " อยุธยาสยามประเทศ ความหลากหลายและบูรณาการ " เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของผู้คนในสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกบูรณาการภายใต้ดินแดนแห่งสยามประเทศทุกวันนี้ กำเนิดจากพระนครอันเก่าแก่ คือ กรุงศรีอยุธยา
บรรยากาศบริเวณงาน |
และเพื่อให้ได้รับกลิ่นอายของความเป็นอยุธยา บริเวณรอบๆ การเสวนาในครั้งนี้ จึงมีการออกงานของซุ้มต่างๆ เช่น ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ร้านขายของที่ระลึกของเมืองโบราณ และซุ้มมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งได้นำปลาตะเพียน และขนมสายไหม จากอยุธยามาจำหน่าย ทำให้บริเวณงานมีสีสันมากขึ้น
งานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๒ จบลงด้วยความเข้าใจในสังคมสมัยอยุธยา ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ถูกบูรณาการภายใต้ดินแดนแห่งสยามประเทศ
และพบกันใหม่กับงานวันเล็ก-ประไพ รำลึกครั้งที่ ๓ หากผู้คนในสังคมปัจจุบันยังต้องการรักษาอดีตและสืบทอดไปสู่รุ่นต่อๆไป และขอขอบพระคุณทุกท่านมาในโอกาสนี้
***********************************************