หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
นิทรรศการ อยุธยาสยามประเทศ ความหลากหลายและบูรณาการ "กำเนิดอยุธยา"
บทความโดย มูลินิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 2 ก.พ. 2559, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 22499 ครั้ง

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์

ของผู้คนในสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ถูกบูรณาการภายใต้ดินแดนแห่งสยามประเทศทุกวันนี้

กำเนิดจากพระนครอันเก่าแก่
คือ กรุงศรีอยุธยา
................................ 

 

นิทรรศการ อยุธยาสยามประเทศ ความหลากหลายและบูรณาการ

กำเนิดอยุธยา

 

 

                 ยอมรับกันโดยทั่วไปบริเวณฝั่งใต้ของเกาะเมืองอยุธยาทางแถบตะวันออกมีเมืองเก่าที่กล่าวชื่อไว้ในจารึกสุโขทัยว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร เพราะพบร่องรอยแนวคูคันดินและวัดต่างๆ ที่ได้รับการสร้างต่อเติมเรื่อยมา สิ่งสำคัญคือ พระเจ้าพะแนงเชิง พระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ที่วัดพนัญเชิงซึ่งสร้างก่อนการสถาปนาพระนครถึง ๒๖ ปี แสดงให้เห็นความสำคัญของ เมืองอโยธยา ในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี

 

                 ก่อนหน้านั้นในลุ่มเจ้าพระยามีชุมชนบ้านเมืองตั้งถิ่นฐานสืบต่อจากสมัยทวารวดีมาเป็นลำดับ โดยทางฝั่งตะวันตกคือเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณ อู่ทอง และคูบัว อันเคยเป็นเมืองใหญ่มาก่อน และต่อมาเกิดเมืองสุพรรณภูมิ ราชบุรี และเพชรบุรีขึ้นมาแทนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

 

                 ฝั่งตะวันออกมีเมืองในสมัยทวารวดีที่ยังคงเป็นเมืองใหญ่ผ่านสมัยลพบุรีและเข้าสู่ช่วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาคือ ละโว้หรือลพบุรี ส่วนทางตอนเหนือขึ้นมาตามลำน้ำน้อยก็มีเมืองแพรกศรีราชา

 

                 แต่ละแห่งเป็นการย้ายตำแหน่งมาอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมและไม่ห่างไกลกันนัก แต่มีความสะดวกสำหรับการคมนาคมทางน้ำมากขึ้น โดยเลือกเส้นทางตามสายแม่น้ำใหญ่และเข้าถึงเมืองได้ง่ายกว่าแต่เดิม ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของเมืองท่าภายในซึ่งอยู่ในเส้นทางคมนาคมที่สามารถติดต่อได้ทั้งภายในและโพ้นทะเลและเป็นคลื่นของการค้าระยะทางไกลที่มีอิทธิพลต่อบ้านเมืองสำคัญๆ หลายแห่งในภูมิภาคนี้ให้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเมืองสำคัญในลักษณะดังกล่าว

 

                 อโยธยาศรีรามเทพนคร มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองสำคัญของรัฐละโว้ซึ่งเกิดขึ้นมาแทนที่ศูนย์กลางที่เมืองละโว้หรือลพบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เนื่องเพราะตั้งอยู่ในจุดรวมของแม่น้ำลำคลองที่ใกล้ทะเลและสะดวกกว่า พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์โดยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับบ้านเมืองแถบสุพรรณภูมิและทางชายฝั่งทะเลตะวันตกนับแต่เพชรบุรีลงไปถึงนครศรีธรรมราช

 

                 ดังนั้น การสถาปนากรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ คือการย้ายศูนย์กลางจากฝั่งตะวันออกมายังฝั่งตะวันตกบริเวณเกาะเมืองนั่นเอง

 

                 ในทางการเมือง อโยธยาศรีรามเทพนครดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงจุดเปลี่ยนตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนครินทราชาธิราชเพราะได้รวมแคว้นสุพรรณภูมิ สุโขทัย และอยุธยาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่อเนื่องด้วยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยายกพลไปปราบเมืองพระนครในฐานะสัญลักษณ์ของนครหลวงอันยิ่งใหญ่ในอุดมคติ

 

                  และในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงปฏิรูปการปกครองให้เหมาะสมกับอาณาเขตกว้างขวาง รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางคือพระมหากษัตริย์ที่ราชธานีเพียงแห่งเดียว ตั้งระบบและตำแหน่งขุนนางทำหน้าที่ต่างๆ ลดหลั่นกันไปเพื่อสะดวกแก่การควบคุมและบังคับบัญชา รวมทั้งสร้างพระราชกำหนดกฎหมายเพื่อควบคุมให้มีการปฏิบัติตามทั้งในบรรดาพระราชวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน และบรรดาไพร่ฟ้าทั้งแผ่นดินทรง สร้างพระบรมมหาราชวังอันเป็น สัญลักษณ์ของระบบจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางสำหรับ พระมหากษัตริย์ทรงประทับและ เป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์เชิงสัญลักษณ์ของราชธานี โดย มีศูนย์กลางความสำคัญอยู่ที่วัดมหาธาตุอันเป็นหลักของพระนคร ต่อมาจึงสร้างวัดกับวังให้อยู่ร่วมกันในคติที่ให้ความหมายแก่พระราชอำนาจและบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ในฐานะพระจักรพรรดิราช

 

                 กรุงศรีอยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะมาเป็นราชธานีหรือพระนครหลวงของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง นับแต่นั้นเป็นต้นมากรุงศรีอยุธยาก็คือราชธานีที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของดินแดนกว้างใหญ่ที่เรียกว่า สยามประเทศ

 

อยุธยาสยามประเทศ

 

 

                   สยามประเทศ คือดินแดนที่มีขอบเขตแน่นอนตามโลกทัศน์ของผู้คนในยุคนั้นซึ่งมิได้ชัดเจนเหมือนเส้นแบ่งเขตแดนตามความรู้แบบตะวันตก ขอบเขตของบ้านเมืองนั้นมีความหมายต่อการสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมและการเมืองจนเกิดเป็นรัฐและอาณาจักร ในขณะที่ผู้คนซึ่งอยู่อาศัยก็มิได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มหากได้รวมเอากลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในห้วงเวลาต่างๆ ไว้ด้วยกัน

 

                    การรับรู้เรื่องขอบเขตพื้นที่และผู้คนจากสยามประเทศในลุ่มน้ำเจ้าพระยาควรเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปรากฏภาพสลักไพร่พลจากเสียมกุกบนผนังระเบียงคดในปราสาทนครวัด สยามประเทศในระยะนั้นคือดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดึงดูดผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ทั้งที่มาจากผืนแผ่นดินใหญ่และชาวโพ้นทะเลมาตั้งถิ่นฐาน มีความเป็นบ้านเมืองที่ไม่รวมศูนย์ กองทัพจากดินแดนหรือเมืองสยามจึงไม่ใช่คนเผ่าพันธุ์สยามแต่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาพหน้าตาที่เห็นจึงดูแปลกไปจากกองทัพไพร่พลอื่นๆ

 

                    เมื่อเกิด อยุธยาสยามประเทศ เพราะบ้านเล็กเมืองน้อยรวมเป็นราชอาณาจักรในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโดยมีศูนย์กลางของอำนาจอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ผู้คนจากภายนอกจะเรียกดินแดนตามที่เคยรู้จักแต่เดิมว่า สยาม หรือ เมืองไทย เรียกผู้คนว่า ชาวสยาม ในขณะที่คนภายในจะเรียกตนเองหรือบ้านเมืองตามชื่อเมืองสำคัญของรัฐที่ตนอยู่ เช่น ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาเรียกตนเองว่า ชาวอโยธยา เรียกชื่อพระนครว่า เมืองศรีอโยธยาหรือ กรุงเทพพระมหานคร

 

                     คำว่า สยาม จึงมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะเป็นนัยโดยรวมถึงดินแดนที่มีอาณาเขตชัดเจนและกลุ่มชนอันหลากหลายภายในพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมเดียวกัน จน ชาวสยามนั้นก็ไม่อาจระบุอย่างชัดเจนไปได้ว่าทั้งชนชั้นปกครองและไพร่ฟ้าประชาชนเป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์ใดหรือพูดภาษาใดบ้าง แต่มีการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาร่วมกันอย่างกว้างขวาง


นครลุ่มน้ำ

 

 

                  กรุงศรีอยุธยาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการเป็นเมืองท่าภายใน เพราะอยู่ห่างชายฝั่งทะเลเข้ามาในแผ่นดินตามแม่น้ำสายใหญ่ไม่ไกลนักและน้ำเค็มเข้ามาไม่ถึง จากแผนที่ของชาวตะวันตกจะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาคดโค้งเนื่องจากใกล้ปากแม่น้ำและมีการขุดคลองลัดเพื่อย่นระยะทางหลายแห่งซึ่งเป็นเหตุผลในเชิงยุทธศาสตร์และการค้าเป็นหลัก ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมกับชุมชนในแผ่นดินได้ทั่วทุกทิศจึงกลายเป็นศูนย์กลางในเส้นทางคมนาคมติดต่อบ้านเมืองทั้งภายในและโพ้นทะเล นครแห่งนี้จึงกลายเป็นเมืองที่รวบรวมผู้คนมากมากและมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจากการค้าระยะทางไกล

 

                  ใน กำศรวลสมุทร ซึ่งแต่งขึ้นในราวรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กล่าวถึงความรุ่งเรืองราวเมืองสวรรค์ของพระนครแห่งนี้ว่า

 

อยุธยาไพโรจน์ไต้

          ตรีบูร

ทวารรุจิรยงหอ

          สรหล้าย

อยุธยายิ่งแมนสูร

          สุระโลก รงงแฮ

ถนัดดุจสวรรคคล้าคล้าย

          แก่ตา

 

 

                     ภาพของพระนครศรีอยุธยาเท่าที่เหลือหลักฐานจากเอกสารและโบราณสถานวัตถุหลังจากถูกทำลายจากสงครามเสียกรุงฯ ครั้งสุดท้ายแล้ว นั่นคือ เกาะเมืองมีลำน้ำ ๓ สายล้อมรอบ ได้แก่ เจ้าพระยา ลพบุรี และป่าสักหรือแต่เดิมคือคลองขุดคันคูขื่อหน้า ภายในเกาะมีกำแพงล้อมอีกชั้นหนึ่ง เมื่อแรกสร้างนั้นกำแพงเมืองทำด้วยดินเช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่นๆ มาเปลี่ยนเป็นกำแพงอิฐในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์หลังทำศึกกับพม่า บันทึกไว้ว่ากำแพงเมืองยาวประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร หนา ๕ เมตร สูง ๖ เมตร มีป้อมปืนประจำอยู่โดยรอบ ๑๖ ป้อม มีประตูเมือง ๑๘ ประตู  ประตูช่องกุดหรือประตูเล็ก ๖๑ ประตู  ประตูน้ำ ๒๐ ประตู รวมมีประตูทั้งสิ้น ๙๙ ประตู คงได้รับอิทธิพลการสร้างป้อมประตูเมืองแบบตะวันตกแล้ว

 

                      แม้น้ำจะท่วมในหน้าน้ำปีละนานๆ แต่ชาวอยุธยาก็มีการปรับตัวปลูกสร้างบ้านเรือนใต้ถุนสูง คัดเลือกพันธุ์ข้าวหนีน้ำ มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับท้องทุ่งลุ่มน้ำลำคลอง เมื่อถึงหน้าน้ำในขณะที่ทุ่งรอบพระนครเจิ่งนองไปด้วยน้ำ น้ำหลากจะไหลเข้าภายในเมืองที่มีการขุดคูคลองตัดกันเป็นเครือข่ายตารางสี่เหลี่ยมและไหลออกไปทำให้น้ำไม่ท่วมเกาะเมือง ที่ขนานไปกับคูคลองคือถนนทั้งถนนดินและถนนอิฐมีสะพานจำนวนมากสร้างข้ามคลองทั้งสะพานไม้  สะพานอิฐ สะพานก่อด้วยศิลาแลง และสะพานสายโซ่ซึ่งเป็นสะพานยกได้ รวมทั้งสิ้นกว่า ๓๐ สะพาน

 

                       นครน้ำแห่งนี้มีตลาดน้ำขนาดใหญ่ ๔ ทิศรอบพระนครในตำแหน่งที่เป็นชุมทางคมนาคม ได้แก่ ตลาดน้ำบางกะจะ หน้าป้อมเพชร ตลาดปากคลองคูจามใต้วัดพุทไธสวรรค์ย่านอิสลามที่มีพวกชวามลายูนำสินค้ามาขาย ตลาดคูไม้ร้อง บริเวณลำน้ำลพบุรีเป็นศูนย์รวมสินค้าจากทางเหนือ ตลาดปากคลองวัดเดิมหรือวัดอโยธยาบริเวณคลองหันตราและคลองเบี้ยซึ่งเป็นแม่น้ำป่าสักเก่า

 

                        ตลาดบกอีกราว ๗๒ แห่ง อยู่นอกเมือง ๓๒ แห่ง อยู่ในเมือง ๔๐ แห่ง มีสองประเภทคือ ตลาดสดเช้าเย็นมีทั้งในและนอกกำแพงเมืองขายของสด ผักปลา อาหารประจำวัน และตลาดขายของเฉพาะอย่างซึ่งสัมพันธ์กับชุมชนที่ทำการผลิตเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมักใช้คำว่า ย่าน แทนคำว่า ตลาด เช่น ย่านป่าผ้าเหลือง ขายผ้าไตร ผ้าจีวร ย่านป่าโทน ขายเรไร ปี่แก้ว หีบไม้อุโลกใส่ผ้า ช้างม้าศาลพระภูมิ ย่านป่าขนม ขายขนมชะมด ขนมกง ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสัมปันนี ย่านป่าเตียบ ขายตะลุ่มพาน พานกำมะลอ พานตะลุ่ม เชี่ยนหมาก เป็นต้น

 

                        เพราะเป็นเมืองในลุ่มน้ำที่เป็นศูนย์กลาง จึงมีสินค้าจากหัวเมืองรอบๆ อีกหลายแห่งมาค้าขายยังพระนคร เช่น พวกพ่อค้าแม่ค้าเมืองพิษณุโลก บรรทุกอ้อย ยาสูบ ขี้ผึ้ง ล่องเรือมาขายแถววัดป่ากล้วยปากคลองข้าวสารและวัดเกาะแก้ว พ่อค้าเมืองอ่างทอง ลพบุรี อินทรบุรี พรหมบุรี สรรคบุรี สุพรรณบุรี นำข้าวเปลือกบรรทุกเรือมาจอดขายบริเวณ วัดสมอ วัดขนุน วัดขนาน พ่อค้าแม่ค้าเมืองตาก เมืองเพชรบูรณ์ บรรทุกสินค้าพวกครั่ง เหล็กหางกุ้ง เหล็กน้ำพี้ ไต้ หวาย น้ำมันยาง ยาสูบ เขาหนัง หนังงา มาขายแถว ปากคลองสวนพลูและหน้าวัดพนัญเชิง พ่อค้าจากเมืองเพชรบุรี ยี่สาร และบ้านแหลม นำสินค้าพวกกะปิ ปูเค็ม ปลากะพง ปลากระเบน ปลากุเลามาขายแถวท้ายวัดพนัญเชิง พ่อค้าจากเมืองนครราชสีมา พระตะบอง นำสินค้าบรรทุกเกวียนพวกน้ำรัก ขี้ผึ้ง ปีกนก ผ้าสายบัว ผ้าตาราง หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ เอ็นเนื้อ เนื้อแผ่น กำมะถัน ดีบุก หนังงา ลูกเร่ง ลูกกะวาน และของป่ามาขายที่บ้านศาลาท่าเกวียน เป็นต้น

 

                         ส่วนย่านผลิตสินค้าในเขตเมืองมีหลายแห่ง เช่น บ้านสัมพะนี มีอาชีพตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกกะเบา น้ำมันสำโรง น้ำมันถั่ว ทำฝาเรือนไม้ไผ่สำหรับเรือนอยู่และเรือนหอขาย มีการหล่อเหล็ก ทำครกสากและมีดพร้าขาย ย่านตำบลบ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าว หม้อแกง กระทะ เตาขนมครก เตาไฟ ตะคั่นเชิงไฟ บาตรดิน กระโถนดิน ย่านตำบลบ้านกระเบื้อง ทำกระเบื้องตัวผู้ตัวเมียขาย กระเบื้องเกล็ดเต่า กระเบื้องลูกฟูก ย่านตำบลบ้านศาลาปูน ทำปูนแดงและปูนขาวขาย เป็นต้น

 

                         กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นตลาดสรรพสินค้าใหญ่ของภูมิภาคที่รวมเอาสินค้านานาชนิดจากบ้านเมืองใกล้และไกล จากสภาพนิเวศอันหลากหลาย และสินค้าที่ผลิตด้วยฝีมือของชาวอยุธยาเองตามตลาดในย่านต่างๆ ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านชาวเมืองพ่อค้าวาณิชทั้งใกล้และไกลให้มารวมตัวกันในพระนครแห่งลำน้ำแห่งนี้


เมืองท่านานาชาติ

                         ในระยะแรกของการตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากผู้คนชาวพื้นถิ่นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และรับอิทธิพลทางศาสนาทั้งจากวัฒนธรรมฮินดูและพุทธ ใช้ภาษาเขียนทั้งอักษรปัลวะ มอญ และเขมร จนมาลงตัวที่อักษรไทยและภาษาไทยแล้ว มีหลักฐานจากตำนานและเอกสารอย่างชัดเจนที่แสดงถึงการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาเผชิญโชคอย่างต่อเนื่องหลายยุคหลายสมัยโดยเดินทางมากับเรือสำเภา ชาวจีนจึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทชัดเจนในฐานะพ่อค้ารุ่นแรกๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานยังกรุงศรีอยุธยา

 

                          สังคมการค้าของอยุธยาคือพลังผลักดันให้เกิดกลุ่มผู้คนมั่งมีมากมายทั้งชาวต่างประเทศและชาวสยามที่เป็นมูลนายและสร้างระบบผลประโยชน์ลดหลั่นกันไป ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เดอ ลาลูแบร์ กล่าวว่ากรุงศรีอยุธยานั้นมีประชากรอยู่ถึง ๑๙๐,๐๐๐ คน

 

                          นอกจากจะเป็นศูนย์รวมสรรพสินค้าจากบ้านเมืองในภาคพื้นและการผูกค้าสำเภาโพ้นทะเลแล้ว การค้าต่างประเทศยังมิได้ยุติเพียงจีนและเพื่อนบ้านแต่ยังมีการติดต่อกับตะวันตกในยุคที่การค้าทางทะเลรุ่งเรืองถึงขีดสุดด้วย

 

                           ชาวตะวันตกเข้ามามีบทบาททางการค้ากับภูมิภาคนี้ตั้งแต่ก่อนสงครามไทยกับพม่าคือโปรตุเกส ได้ส่งทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถและนับเป็นครั้งแรกที่กรุงศรีอยุธยาติดต่อกับชาวตะวันตก

 

                           ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีผู้จดบันทึกไว้ว่าในกรุงศรีอยุธยามักกล่าวอย่างรวมๆ ว่ามีชนชาติต่างๆ ถึง ๔๐ ชาติ นอกจากชาวสยามแล้วยังมีชาวไทแบ่งเป็นไทน้อยและไทใหญ่ที่อาศัยอยู่แถบภูเขาทางเหนือ ยังมีชาวมอญ ชาวลาวที่เคยเป็นเชลยศึกจากสงครามและแทบจะแยกความแตกต่างทางกายภาพไม่ได้นอกจากการแต่งกายได้รับพระราชทานที่ดินทำกินและเก็บภาษีจากผลผลิต ส่วนชาวเบงกอลก็มีถึงสามสี่กลุ่ม แขกมัวร์ก็ดูเหมือนมีมากกว่าสิบกลุ่ม แต่ถ้านับกันจริงๆ อาจจะมีเพียงสิบถึงยี่สิบชาติพันธุ์ซึ่งก็นับว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายและมากมายอยู่ดี

 

                           ชาวต่างชาติจะมีการตั้งชุมชนอยู่อาศัยของตนเองเป็นกลุ่มๆ มีชาวยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ดัชท์ และโปรตุเกสที่มีมากที่สุดเป็นพ่อค้า ทหาร และแรงงาน ส่วนชาวญี่ปุ่น ชาวตังเกี๋ย ชาวโคชินไชน่า และชาวเขมรล้วนมีหัวหน้าปกครองตนเอง ชาวมาเลย์ที่เป็นมุสลิมก็มากและมักเป็นทหารที่สามารถ แขกมัวร์มีการค้าอย่างยั่งยืน ส่วนชาวจีนคุมการค้าส่วนใหญ่ไว้หมดและมีจำนวนพอๆ กับแขกมัวร์

 

                           ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมการค้าทางทะเลนี่เองที่ดึงดูดผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ให้เข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยา จนทำให้พระนครแห่งนี้เป็น เมืองท่านานาชาติ อย่างแท้จริง

 

อยุธยา : ความหลากหลายและบูรณาการ

 

 

                   ในบันทึกของเดอ ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ กล่าวว่าเลือดของชาวสยามในพระนครศรีอยุธยานั้นผสมปนเปกันหลายเชื้อชาติ

 

                   ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมไปถึงทางชายฝั่งทะเลตลอดไปจนคาบสมุทรภาคใต้ซึ่งมีความเคลื่อนไหวในการผสมผสานผู้คนต่างกลุ่มต่างชาติพันธุ์มาโดยตลอดจนทำให้ผู้คนทั้งหลายในภูมิภาคนี้คือพลของสยามประเทศ

 

                   ความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาเป็นผลมาจากการเป็นเมืองท่าภายในที่เป็นเมืองท่านานาชาติ มั่นคงทางการเมืองเพราะมีอาณาเขตดินแดนอย่างชัดเจนและแสดงถึงบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมของสยามประเทศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความหลากหลายของสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

 

                   สะท้อนให้เห็นจากศรัทธาในพระพุทธศาสนา การสร้างวัดวาอารามมากมาย ความรู้ทางช่างศิลปกรรมในการหล่อพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ พระมหามณเฑียรปราสาทราชวังที่ต่อเติมบำรุงเรื่อยมาเป็นการตอกย้ำสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะพระสมมติเทวราช ในขณะเดียวกันมีการนำวิทยาการใหม่ๆ ทางวัตถุจากตะวันตก เช่น บรรดาสิ่งก่อสร้าง เทคโนโลยี การสาธารณูปโภค การทหารและยุทธวิธีสู้รบป้องกัน

 

                   กรุงศรีอยุธยาคือพระนครอันเก่าแก่ที่หมดสิ้นไปแล้ว แต่ยังส่งผ่านมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมไว้แก่กรุงรัตนโกสินทร์และสังคมไทยในปัจจุบัน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ อยุธยาสยามประเทศ ว่ามีรากฐานจากการเป็นบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์จนดึงดูผู้คนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและมีการผสมกลมกลืนของผู้คนต่างกลุ่มต่างเผ่าพันธุ์อยู่ตลอดมาโดยไม่รังเกียจว่าเป็นเผ่าพันธุ์หรือภาษาใด คือเอกลักษณ์ของอาณาจักรใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยานี้

 

                   การเปลี่ยนแปลงชื่อ สยามประเทศ อันเป็นการเรียกดินแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายมาแต่ดึกดำบรรพ์ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นประเทศไทย คือความผิดพลาดอันร้ายแรง เพราะสร้างความเข้าใจผิดแก่คนในสังคมอย่างใหญ่หลวงว่า ดินแดนแห่งนี้คือแผ่นดินของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยเพียงกลุ่มเดียว

 

                   ความเข้าใจผิดอย่างไร้รากเหง้าเช่นนี้จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งและความรุนแรงในนโยบายทางการเมืองในสังคมปัจจุบัน เพราะข้อเท็จจริงนั้น ในแผ่นดินแห่งสยามประเทศ ไม่เคยมีกลุ่มชาติพันธุ์ใดกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งครอบครองเพียงลำพัง

***************************************************************

 

              มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดทำ CD เพื่อการเรียนรู้จากนิทรรศการเรื่อง อยุธยาสยามประเทศ ที่เคยจัดแสดง ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ ในงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๒ เป็นการเผยแพร่แก่ผู้สนใจทั่วไป พิเศษเพิ่มนิทรรศการเรื่อง "ค้นหาความหมายของพระบรมธาตุจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ"

 

              นิทรรศการสามารถเปิดชมได้จากโปรแกรม Power Point ท่านใดสนใจต้องการนิทรรศการ อยุธยาสยามประเทศ ในรูปแบบ CD สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิฯ โดยส่งแสตมป์ดวงละ ๓ บาท จำนวน ๒๐ ดวง มาเป็นการแลกเปลี่ยน มาตามที่อยู่ของมูลนิธิฯ

 

             หากเป็นสถานศึกษา หน่วยงาน หรือองค์กรเพื่อการศึกษาต่างๆทางมูลนิธิฯ ยินดีจัดส่งให้ฟรีโดยไม่คิดมูลค่า

อัพเดทล่าสุด 2 ก.พ. 2559, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.