งานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๒
สยามประเทศ
คือ ดินแดนที่คนหลากหลายชาติพันธุ์
มาอยู่ร่วมกันอย่างเสรีและสงบสุข
ความเป็นคนไทยหาใช่เป็นเรื่องของเชื้อชาติ
หากเป็นสิ่งที่เกิดจากบูรณาการทางการเมือง
และวัฒนธรรม
เมืองโบราณ สยามประเทศ
ศรีศักร วัลลิโภดม
ภาพขบวนเรือพระที่นั่งสมัยอยุธยา |
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ตรงกับวันที่ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ จากไปเป็นปีที่สี่ เพื่อระลึกถึงท่าน มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จึงจัดกิจกรรมทางปัญญาเพื่อเด็กและบุคคลที่สนใจขึ้นที่เมืองโบราณอย่างเช่นที่เคยทำมาแต่ปีที่แล้ว เนื่องในวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๒
ปีนี้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งและยุ่งยากทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นในบ้านเมืองหลายแห่งและหลายครั้ง บางแห่งก็เกิดอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้น เช่นเหตุการณ์ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม เหตุหนึ่งของความยุ่งยากก็คือการที่ทั้งรัฐและสังคมมหาชนเชื่อว่าความวุ่นวายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะคนมุสลิมต้องการอยากที่จะแบ่งแยกดินแดนจึงก่อการร้ายขึ้น รัฐจำเป็นต้องใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาด
นับเป็นเรื่องน่าสนใจที่การแสดงออกในเรื่องความคิดเห็นของคนในสังคมมองเห็นว่าคนมุสลิมไม่ใช่คนไทยเพราะพูดภาษาไทยไม่รู้เรื่องและเป็นคนนอกศาสนา
ข้าพเจ้าเห็นว่าการแสดงออกของคนในสังคมมหาชนในเรื่องความเป็นคนไทยนี้ คือ ผลผลิตของการสร้างประวัติศาสตร์เชื้อชาตินิยมที่มีการอุปโลกน์กันมาแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะครั้งนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ประเทศสยาม มาเป็น ประเทศไทย โดยเปลี่ยนใช้ชื่อของดินแดนมาเป็นชื่อของชนชาติ หลายคนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงกับได้เขียนบทความขึ้นมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน
วิหารสุโขทัย |
คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับชื่อประเทศสยามเพราะท่านเข้าใจและแลเห็นการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนหลายชาติ หลายภาษา หลายเผ่าพันธุ์ และหลายศาสนาในดินแดนสยามประเทศ คุณเล็กแลเห็นกลไกที่เชื่อมโยงให้ผู้คนที่หลากหลายได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องของความเป็นคนไทย
ความเป็นคนไทยเป็นเรื่องสมมุติที่เกิดจากกระบวนการดูดกลืนให้ผู้คนหลากหลายทางวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์มาเป็นพวกเดียวกัน
สถาบันกษัตริย์และระบบศักดินานับว่ามีบทบาทสูงในการสร้างความเป็นคนไทย นั่นคือ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นหาได้เป็นคนของเผ่าพันธุ์ใดไม่ คติทางพระพุทธศาสนาได้ยกให้พระองค์เป็นพระสมมุติราชเพราะเป็นผู้ที่อเนกนิกรสโมสรหรือผู้คนทั้งหลายในแผ่นดินพร้อมใจกันยกย่องและเทิดทูน
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงดูแลประชานิกรในทุกพระศาสนาอย่างเสมอภาค คงเห็นได้จากการพระราชทานที่ดินให้คนต่างแดนต่างชาติที่เข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งหลักแหล่งชุมชน มีวัดและสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาตามประเพณีความเชื่อของพวกตน อีกทั้งยังให้กลุ่มชนนั้นๆ ปกครองกันเอง เลือกผู้ปกครองที่ทางรัฐให้การยอมรับและให้ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ ยิ่งกว่านั้นบุคคลใดในชนชาติและเผ่าพันธุ์ใด ถ้าหากมีความรู้ความสามารถในวิทยาการต่างๆ ก็มีโอกาสที่เข้ามารับราชการเพื่อทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองและสังคมได้ เหตุนี้เองที่บรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยเป็นจำนวนมากแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า ขุนนางหรือผู้ลากมากดี นั้น คือคนที่มีรากเหง้ามาจากเผ่าพันธุ์และศาสนาที่หลากหลายทั้งสิ้น
พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท |
ความเป็นคนไทยจึงเป็นเรื่องสัญลักษณ์ที่เกิดจากการดูดกลืนและบูรณาการทางวัฒนธรรมให้เป็นพวกเดียวกันในส่วนรวมเป็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนที่หลากหลายทางเผ่าพันธุ์และศาสนาก็ยังคงธำรงสำนึกทางชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนาของตนอยู่ ดังปรากฏให้เห็นในความเป็นชุมชนเมืองแทบทุกแห่งในประเทศสยามที่มีตลาดเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมล้วนมีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์และศาสนาอยู่ด้วยกัน จนนับเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านเมืองในสยามประเทศทีเดียว
คุณเล็ก วิริยะพันธุ์เป็นผู้หนึ่งที่เติบโตมาในย่านสังคมเมืองที่มีความหลากหลายดังกล่าวนี้ ทำให้แลเห็นและซาบซึ้งว่า สังคมของคนสยามคืออะไร
สวนพฤกษชาติในวรรณคดีไทย |
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมอันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น คือ สิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณเล็กสร้างเมืองโบราณขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และรับรู้ถึงความสงบสุขและเรียบง่ายของสังคมสยามที่มีความสมดุลย์ในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้นเป็นอย่างใด
ท่านต้องการทำให้เห็นว่าเมืองโบราณคือ "สยามประเทศ" ที่เต็มไปด้วยคนหลากหลายเผ่าพันธุ์และศาสนาได้อยู่กันอย่างสงบเป็นเวลานับพันปี สิ่งที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความพยายามในเรื่องนี้ก็คือ การสร้างตลาดบกและตลาดน้ำที่คุณเล็กบอกว่าไม่ได้เป็นเพียงเป็นแค่ตลาดที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ หากเป็นเมืองที่คนหลายชาติหลายศาสนาอยู่ร่วมกันตามที่ชาวต่างชาติที่มาเยือนแต่สมัยอยุธยาได้เขียนเล่าและบันทึกภาพไว้ โดยเฉพาะย่านที่เรียกว่าตลาดบกนั้น คุณเล็กให้ชื่อว่า "นครสยาม"
คุ้มขุนแผน (เรือนไทยอยุธยา) |
คุณเล็กคือตัวอย่างของคนไทยสมัยก่อนเปลี่ยนชื่อประเทศ ที่แลเห็นว่าความเป็นคนไทยหาใช่เป็นเรื่องของเชื้อชาติ หากเป็นสิ่งที่เกิดจากการบูรณาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลายในสยามประเทศมากกว่า ประเทศสยามคือดินแดนที่คนหลากหลายทางชาติพันธุ์และผู้คนมาอยู่ร่วมกันอย่างเสรีและสงบสุข
"สยาม"คือประเทศ ผู้คนที่อยู่ร่วมกันคือ " คนไทย "
สยามกับไทยจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระราชสำนึกของพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชกาล โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งนับว่าทรงเป็นผู้นำในเรื่องชาตินิยมที่สำคัญ ดังในพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพที่มีการติดประดับไว้หน้ากระทรวงกลาโหมว่า
หากสยามยังอยู่ยั้ง |
ยืนยง |
เราก็เหมือนอยู่คง |
ชีพด้วย |
หากสยามพินาศลง |
ไทยอยู่ ได้ฤา |
เราก็เหมือนมอดม้วย |
หมดสิ้น สกุลไทย |
ทุกวันนี้ประวัติศาสตร์เชื้อชาตินิยมคือสิ่งเหลวไหลแต่ว่ามีอิทธิพลทำให้คนในรุ่นใหม่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมมหาชนคลั่งไคล้กับความเป็นไทยอย่างสุดโต่ง เปิดโอกาสให้คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์และคนชั่วร้ายที่มี " ช่องทาง " ทางราชการและเศรษฐกิจ อ้างอิงความเป็นไทยในจำนวนกว่า ๖๐ ล้านคนอันเป็น " สิ่งสมมติ " แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก ด้วยการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของคนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ อันเป็น " สิ่งที่เป็นความจริง " ของสยามประเทศอย่างไม่หยุดหย่อน
การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ดำรงมาตลอดเวลากว่าสี่สิบปีที่ผ่านมาคือประจักษ์พยานในเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่ขาดความเข้าใจกับรากเหง้าที่แท้จริงของความเป็นสยามประเทศที่ให้ความร่มเย็นและให้ความสมดุลย์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แก่ผู้คนในสังคมมากว่าพันปี
ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จึงถือโอกาสในวันครบรอบสี่ปีในการจากไปของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ จัดกิจกรรมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อให้แลเห็นความเป็นสยามประเทศ ในปีนี้ที่เมืองโบราณ อันประกอบด้วย
การเสวนาทางประวัติศาสตร์เรื่อง อยุธยาสยามประเทศ โดยมีอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นวิทยากรหลัก
การนำชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสยามประเทศในเมืองโบราณให้กับครูและนักเรียนที่สนใจ
รวมทั้งมีนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็น อยุธยาสยามประเทศ เมืองหลวงเก่าแก่ที่รวมความหมายทางสังคมหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมจากหลักฐานทางวรรณคดี จิตรกรรม และโบราณคดี-โบราณสถาน