หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ในความเคลื่อนไหวงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑
บทความโดย อนุสรณ์ โพธิ์แก่นแก้ว
เรียบเรียงเมื่อ 2 ก.พ. 2559, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 9251 ครั้ง

ในความเคลื่อนไหวงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑

 

              เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน วันเล็ก-ประไพ รำลึก ขึ้น เพื่อสานต่อแนวความคิดของเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ กับแนวคิดในเรื่อง การสร้างความรู้ท้องถิ่น

 

              เปิดงาน " วันเล็ก-ประไพ รำลึก " ด้วย การอบรมความรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยแก่เยาวชน โดยมีโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ๒๒ โรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนเพลินพัฒนาและยุวมัคคุเทศก์จากพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร รวมบรรดานักเรียน ครู และอาจารย์กว่า ๓๐๐ คน โดยมีการแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีรถราง ๒ คัน โดยขึ้นรถรางตระเวนไปตามฐานต่างๆ ๕ ฐาน อันประกอบไปด้วย พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท ตลาดน้ำ ตลาดบก บ้านเรือนพื้นบ้านภาคเหนือ และส่วนแสดงพิธีกรรมและระบบสัญลักษณ์บริเวณปลายนาที่สะท้อนภาพลักษณ์และวัฒนธรรมของความเป็นไทย โดยมีวิทยากรนักวิชาการและมัคคุเทศก์ของเมืองโบราณนำชม โดยให้ความรู้ตามฐานต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต ตามแนวคิดของคุณเล็กที่สนใจในกิจกรรมทางปัญญาที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และโลก

 



 

                 จากการสอบถามเหล่านักเรียนและครูเกี่ยวกับการอบรมความรู้ที่เมืองโบราณในครั้งนี้นั้น มีนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า " การมางานในวันนี้คิดว่าได้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ของไทยในแต่ละจังหวัด ทำให้เห็นความแตกต่างของชีวิตคนไทยจากอดีตและปัจจุบัน " นักเรียนอีกคนบอกกับเราว่า " ผมชอบการสร้างปราสาทต่างๆ ตลาดน้ำ ชีวิตของแต่ละคนในสมัยก่อน ภูมิปัญญาไทย ความอดทน ความซื่อสัตย์ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเพื่อนนักเรียนกล่าวเสริม "การมาในวันนี้ทำให้ได้รู้ถึงการดำรงชีวิตของคนไทยสมัยก่อนที่มีอิทธิพลจากศาสนา ความเชื่อ ทำให้เห็นถึงการดำรงชีวิตในแต่ละท้องถิ่น แต่ละภาคที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

                 ขณะที่ครูบอกให้ความเห็นกับการอบรม " การมาในครั้งนี้ได้รู้ถึงเรื่องของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ จินตนาการ ความงามของศิลปะ ต้องขอขอบคุณผู้สร้างและคณะกรรมการทุกฝ่ายอีกครั้ง " โดยมีครูอีกท่านเสริม "ได้รู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งดีๆ ในเมืองไทยอีกมาก และคิดว่าเป็นสิ่งที่เยาวชนไทยควรได้รู้ และมีความรักหวงแหน แลชื่นชมยินดีกับเมืองโบราณที่สามารถเป็นแหล่งเผยแพร่และสืบสานต่อไป "

 

                  เวลา ๑๕.๐๐ น. มีการจัดการเสวนาในหัวข้อ " การสร้างความรู้ท้องถิ่น....แนวคิด วิธีการและประสบการณ์ " แนวคิดในหัวข้อนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่คุณเล็กได้นำประสบการณ์จากการเดินทางที่ได้ไปพบเห็นศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศนำมาซึ่งการสร้างเมืองโบราณ โดยสถานที่ที่เลือกมาเป็นการสื่อถึงความเป็นท้องถิ่นเหล่านั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้นำมาใช้ในการทำงานเพื่อท้องถิ่นด้วย

 

                  การจัดเสวนาในครั้งที่ดำเนินรายการโดยคุณกุศล เอี่ยมอรุณ บรรณาธิการหนังสือนายรอบรู้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พระอธิการบรรพต คัมภีโร เจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาส จังหวัดเชียงราย อาจารย์สิริอาภา รัชตะหิรัญ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านเขายี่สาร บริเวณโรงละคร ใกล้พระพุทธบาทสระบุรี

 

 

               บรรยากาศของการเสวนาเป็นไปในแบบกันเอง ผู้ร่วมฟังสามารถสอบถามและแสดงความคิดเห็นในเรื่องของท้องถิ่น โดยมีผู้ที่สนใจและรักในเรื่องของการสร้างความรู้ท้องถิ่นเป็นจำนวนมากเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้

 

                และใกล้เคียงบริเวณโรงละคร ยังมีการจัดนิทรรศการ " ชีวิตเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กับเมืองโบราณ " อีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงชีวิต การทำงาน ผลงานของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ทั้งที่เมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ และปราสาทสัจธรรม แสดงถึงการให้ความสำคัญแก่การอุทิศชีวิตเพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอดีตมาสร้างเป็นความรู้อย่างเป็นรูปธรรม และมีการออกร้านขายหนังสือจากสำนักพิมพ์เมืองโบราณและสำนักพิมพ์สารคดี โดยร้านหนังสือริมขอบฟ้าอีกด้วย

 

                 ต่อจากนั้นในช่วงเย็น เริ่มด้วยการกล่าวนำ " หนังใหญ่ มหรสพหรือพิธีกรรม " โดยคุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และปิดท้ายด้วยการแสดงหนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ ตอน " ศึกทศกัณฐ์ยกรบขาดเศียรขาดกร " โดยเยาวชนวัดสว่างอารมณ์ ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี โดยการนำของอาจารย์วีระ มีเหมือน พร้อมกับมีการสาธิตการแกะตัวหนังและให้ความรู้เกี่ยวกับหนังใหญ่ ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน

 

                 การแสดงหนังใหญ่เริ่มจากการตั้งเสา ปักจอ ณ บริเวณลานสนามชัย หน้าพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท ซึ่งเป็นการเลียนแบบอย่างโบราณ จากนั้นทำพิธีไหว้ครู พร้อมทั้งเชิญหนังครู ๓ ตัวคือ ตัวฤษี พระนารายณ์ และพระอิศวร เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นโหมโรงด้วยการบรรเลงวงปี่พาทย์ ๒ คณะ และเปิดจอด้วยการนำหนังลิงขาวจับลิงดำ ที่เรียกว่า จับลิงหัวค่ำ มาแสดง ก่อนนำเข้าสู่การแสดงหนังใหญ่ โดยมีเยาวชนวาดลวดลายการแสดงได้อย่างสวยงามเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมอย่างล้นหลาม

 

 

               การแสดงรายลอบด้วยบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ มีการปูเสื่อดูหนังใหญ่แม้ยุงจะมากแต่ก็ไม่ย่อท้อ บริเวณรอบๆ มีการจัดซุ้มอาหารที่ทำให้เรานึกย้อนไปถึงงานวัดตามท้องถิ่นต่างๆ ที่มีผู้ให้ความสนใจรอต่อคิวกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านขายข้าวเกรียบที่มีคนต่อกันยาวเหยียด มีผู้ให้ความสนใจดูหนังใหญ่เป็นจำนวนมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้บริเวณงานมีสีสัน

 

                ตลอดงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก จึงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของอดีต ที่คนปัจจุบันต้องการรักษาและสืบทอดไปสู่รุ่นต่อๆไป มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์หวังจะได้พบทุกท่านในงาน " วันเล็ก-ประไพ รำลึก " ครั้งที่ ๒

อัพเดทล่าสุด 2 ก.พ. 2559, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.