เมื่อพูดถึง “วัดจันเสน” ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ผู้คนทั่วไปคงจะนึกถึง “หลวงพ่อโอด” หรือพระครูนิสัยจริยคุณอดีตพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญรูปหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและอดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน แต่ถ้าพูดถึง “พิพิธภัณฑ์จันเสน” ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวารวดีที่พบในเขตเมืองโบราณจันเสนและใกล้เคียง ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึง “ยุว-มัคคุเทศก์” ประจำพิพิธภัณฑ์จันเสนมากกว่านึกถึงโบราณวัตถุต่างๆ และดูเหมือนว่า “ยุวมัคคุเทศก์” จะเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะของพิพิธภัณฑ์จันเสนแห่งวัดจันเสนไปแล้ว
ยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสนที่แบ่งออกเป็นกลุ่มร่วมกันสรุปความรู้ที่ได้จากการเก็บข้อมูล
ในแต่ละฐานเพื่อเตรียมนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมได้ทราบ
พิพิธภัณฑ์จันเสนเกิดขึ้นจากแนวความคิดของหลวงพ่อโอดอดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสนที่อยากจะเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณ-วัตถุที่พบในเขตชุมชนซึ่งมีญาติโยมนำมาถวาย แต่การดำเนินการก่อสร้างเพียงแค่เริ่มต้นท่านก็มรณภาพ “หลวงพ่อเจริญ” หรือพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ ผู้เป็นลูกศิษย์และเจ้าอาวาสวัดจันเสนต่อจากหลวงพ่อโอดได้สานต่อแนวความคิดทำให้มีการก่อสร้าง “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน” สำเร็จ พื้นที่ส่วนล่างของเจดีย์ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยความร่วมมือของชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้ด้วยพระองค์เองในปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสนเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้นำชุมชน ครูอาจารย์ในท้องถิ่น โดยการสนับสนุนส่งเสริมของพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ เจ้าอาวาสวัดจันเสนและองค์การบริหารส่วนตำบลจันเสน มีการจัดอบรมยุวมัคคุเทศก์
พิพิธภัณฑ์จันเสนรุ่นที่ ๑ ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีเยาวชนและนักเรียนในชุมชนที่สนใจและอาสาเป็นยุวมัคคุเทศก์จำนวนมากเวลามีนักท่องเที่ยวหรือแขกไปใครมาเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์จันเสนยุวมัคคุเทศก์เหล่านี้ก็จะทำหน้าที่แทนคนในชุมชน ให้การต้อนรับและนำชมพิพิธภัณฑ์จนทำให้พิพิธภัณฑ์จันเสนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ และมีการจัดการอบรมยุวมัคคุเทศก์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารและรับผิดชอบพิพิธภัณฑ์จันเสนได้จัดโครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน รุ่นที่ ๑๗ ขึ้น ในวันที่ ๘-๙ มิถุนายน ๒๕๕๖ การอบรมยุวมัคคุเทศก์ครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมตลอดโครงการอบรม ทำให้เห็นวิธีการหรือขั้นตอนการอบรม การให้ความรู้ การทำกิจกรรม ความร่วมมือของชุมชน ความสามารถของเยาวชนชุมชนจันเสน และได้รับความรู้ประสบการณ์ต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาระสำคัญของโครงการอบรมจาก“คุณมณีรัตน์ แก้วศรี” เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์จันเสนผู้ดำเนินการและประสานงานหลักของโครงการอบรมในครั้งนี้
คุณมณีรัตน์ แก้วศรี เคยเป็นอดีตยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน รุ่นที่ ๔ และเคยถวายคำบรรยายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ ตลอระยะเวลาที่ทำหน้าที่ยุวมัคคุเทศก์ คุณมณีรัตน์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เสียสละ และอุทิศตัวเพื่อการทำงานในพิพิธภัณฑ์และชุมชน ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นความรู้ความสามารถและความตั้งใจ จึงสนับสนุนให้เรียนต่อระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลจันเสนได้มอบทุนการศึกษาให้ตลอดหลักสูตร เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์จันเสนคุณมณีรัตน์จึงเลือกสอบคัดเลือกเข้าศึกษาที่สาขาวิชาประวัติศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปีการศึกษา ๒๕๕๑ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทางที่ผู้เขียนก่อตั้งขึ้น ทำให้ผู้เขียนคุ้นเคยกับคุณมณีรัตน์เป็นอย่างดีทั้งในฐานะนิสิตรุ่นน้องและเพื่อนร่วมงานปัจจุบันคุณมณีรัตน์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์จันเสนในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลจันเสน
“รู้อดีต รู้ปัจจุบัน รู้พิพิธภัณฑ์ รู้จันเสน” แม้จะเป็นคำที่ผู้เขียนคิดขึ้นมา ไม่ใช่คำพูดโดยตรงจากคุณมณีรัตน์ แต่ทั้งสี่คำก็มาจากสาระสำคัญของโครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน รุ่นที่๑๗ ซึ่งคุณมณีรัตน์และคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์จันเสนได้จัดกิจกรรมขึ้น ซึ่งผู้เขียนรับรู้และเข้าใจได้ไม่ยากจากการที่ได้ร่วมกิจกรรม
“รู้อดีต” คือการเป็นยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมืองโบราณจันเสน รู้เรื่องราวและพัฒนาการในอดีตของชุมชนบ้านจันเสน เพราะเรื่องราวในอดีตของจันเสนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์จันเสนและต่อยอดเป็นงานพัฒนาในแบบต่างๆ
“รู้ปัจจุบัน” คือการเป็นยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองโดยรวม และสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนจันเสนในปัจจุบัน ศึกษาทำความเข้าใจแนวคิด วิธีการ และความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ ที่เดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จันเสน มีความรู้รอบตัวและมีไหวพริบปฏิภาณในการตอบคำถามและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม
“รู้พิพิธภัณฑ์” คือการเป็นยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์จันเสนในทุกๆ ด้านตั้งแต่แนวคิดและวิธีการก่อสร้าง รูปแบบการจัดแสดง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุที่จัดแสดงรูปแบบวิธีการนำเสนอข้อมูล ตลอดจนผู้มีพระคุณที่สนับสนุนให้เกิดพิพิธภัณฑ์จันเสน
“รู้จันเสน” คือการเป็นยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวหรือข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของชุมชนจันเสน ทั้งข้อมูลเกี่ยวข้องกับผู้นำชุมชน บุคคลสำคัญ กลุ่มอาชีพต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับวัดจันเสน ประวัติและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อโอดและหลวงพ่อเจริญ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในชุมชน ตลอดจนเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนจันเสน ซึ่งยุวมัคคุเทศก์จะต้องตระหนักในใจว่าไม่มีใครรู้เรื่องชุมชนจันเสนมากกว่าเรา
กิจกรรมในโครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์ครั้งนี้จึงสอดคล้องกับสาระสำคัญข้างต้น เริ่มตั้งแต่พิธีเปิดโครงการในเช้าวันที่ ๘มิถุนายน ซึ่งมีหลวงพ่อพระครูนิวิฐธรรมขันธ์เป็นประธานในพิธีเปิดบรรยายและให้โอวาทแก่ผู้ร่วมโครงการ หลวงพ่อได้เล่าถึงความเป็นมาของการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีที่เมืองโบราณจันเสนของนักวิชาการต่างๆ และความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์จันเสน จากนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนจันเสนเอ็งสุวรรณอนุสรณ์ก็กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจยุวมัคคุเทศก์ ตามด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจันเสนที่กล่าวชื่นชม ให้กำลังใจ และพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานต่างๆ ของยุวมัคคุเทศก์อย่างเต็มที่ ก่อนที่จะพักรับประทานอาหารว่าง หลังพักรับประทานอาหารว่าง ก่อนเข้าสู่การบรรยายภาคความรู้ก็มีกิจกรรมนันทนาการที่ทำให้ยุวมัคคุเทศก์ผู้เข้าอบรมสนุกสนานอารมณ์แจ่มใส พร้อมที่จะรับฟังการบรรยายให้ข้อมูลจากวิทยากรท้องถิ่น นั่นก็คือ “คุณลุงประสิทธิ โตวิวัฒน์” ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสนและพิพิธภัณฑ์จันเสนคุณลุงประสิทธิ์ได้เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะเป็นผู้ประสานงานกับอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ในการออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นผู้ช่วยควบคุมดูแลการก่อสร้าง และบอกเล่าเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสนและพิพิธภัณฑ์จันเสนให้ยุวมัคคุเทศก์ทราบ เพื่อจะได้สามารถให้ข้อมูลความรู้และตอบคำถามนักท่องเที่ยวได้
ในระหว่างที่คุณลุงประสิทธิ์กำลังบรรยายใกล้จะจบก็มีคณะศึกษาดูงานจากสำนักงานคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเยี่ยมชมผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติพอดี ซึ่งในคณะศึกษาดูงานมี “อาจารย์วิษณุ เอมประณีต” แห่งพิพิธภัณฑ์หุ่นผึ้งไทย จังหวัดนครปฐมร่วมอยู่ด้วย หลังจากคุณลุงประสิทธิ์บรรยายจบ คณะผู้จัดโครงการอบรมก็ได้ขออนุญาตและเรียนเชิญอาจารย์วิษณุบรรยายให้ความรู้แก่ยุวมัคคุเทศก์ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานและเป็นยุวมัคคุเทศก์ที่ดีของพิพิธภัณฑ์จันเสนและเป็นเยาวชนที่ดีของชุมชน ซึ่งอาจารย์วิษณุได้ให้แนวทางโดยสรุปแก่ยุวมัคคุเทศก์ที่ร่วมอบรมว่า ๑) ต้องเป็นผู้มีความรู้จริง หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ๒) ต้องเป็นผู้ที่รักเพื่อนมนุษย์ มีอัธยาศัยไมตรีที่ดี และ ๓) ต้องเป็นผู้ที่รักจันเสน รักและศรัทธาในท้องถิ่นของตน
บ่ายโมงก็เข้าสู่กิจกรรมการอบรมอีกครั้ง เริ่มด้วยกิจกรรมนันทนาการ จากนั้นก็มีการแบ่งกลุ่มยุวมัคคุเทศก์เป็น ๕ กลุ่มเพื่อทำกิจกรรมและศึกษาข้อมูลตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชนจำนวน ๕ ฐานด้วยกัน 5 ด้วยกัน
ฐานที่ ๑ อยู่บริเวณโคกจันเสนหรือพื้นที่กลางตัวเมืองโบราณจันเสน ศึกษาสืบค้นข้อมูลจากผู้สูงอายุในบริเวณนั้นเกี่ยวกับการขุดหาโบราณวัตถุของชาวบ้าน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดได้ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับภูมินามที่มาของชื่อบ้านจันเสนว่าน่าจะมาจากชื่อของต้นจันที่มีขึ้นอยู่มากมายในเขตตัวเมืองโบราณจันเสน
ฐานที่ ๒ อยู่บริเวณศูนย์สตรีทอผ้าชุมชนจันเสน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดจันเสน โดยมีประธานศูนย์สตรีทอผ้าชุมชนจันเสนได้เล่าข้อมูลเกี่ยวกับการก่อตั้งศูนย์สตรีทอผ้าด้วยกี่กระตุก โดยการส่งเสริมของหลวงพ่อพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ มีการพัฒนาฝีมือและประดิษฐ์ลายผ้าให้เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ “ผ้าลายปลาเสือตอ” ที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ จนได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดลวดลายผ้าทอ และได้รับคัดเลือกให้เป็นผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ด้วย
ฐานที่ ๓ อยู่บริเวณพระอุโบสถวัดจันเสน ซึ่งมีพระภิกษุได้เล่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติวัดจันเสนตั้งแต่แรกก่อตั้งจนถึงปัจจุบันซึ่งวัดจันเสนมีอายุ ๑๑๐ ปี ประวัติของหลวงพ่อโอดหรือพระครูนิสัย-จริยคุณ อดีตเจ้าอาวาสผู้เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวจันเสน และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจันเสน
ฐานที่ ๔ อยู่บริเวณศาลาท่าน้ำบึงจันเสน เพื่อศึกษาและสัมภาษณ์ข้อมูลจากผู้สูงอายุในบริเวณนั้น ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพบึงจันเสนในอดีตเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ว่าในบึงเต็มไปด้วยกอบัว น้ำใสมาก ในช่วงวันลอยกระทงก็จะมีการทำความสะอาดบึงเป็นประจำทุกปี และมีงานลอยกระทงเที่ยงคืนชาวชุมชนจันเสนได้ใช้น้ำจากบึงจันเสนในการอุปโภคบริโภค บางปีก็มีชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงมาตักน้ำจากบึงจันเสนไปอุปโภคบริโภคเช่นเดียวกัน จนทำให้เกิดอาชีพรับจ้างหาบน้ำและเข็นน้ำไปขาย คุณลุงเคยมีอาชีพรับจ้างหาบน้ำจากบึงจันเสนไปขายโดยเริ่มตั้งแต่ราคาหาบละ ๒ สลึง จนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงหาบละ ๑๐ สลึงจึงเลิกทำ แต่ภายหลังก็มีการใช้โอ่งในการรองน้ำไว้ใช้ มีระบบประปาและคลองชลประทาน ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในบึงจันเสนแล้วการสร้างคลองชลประทานยังส่งผลให้น้ำในบึงจันเสนเน่าเสียด้วยเพราะในฤดูน้ำหลากไม่มีน้ำไหลถ่ายเทเข้าออกในบึงจันเสนเหมือนแต่ก่อน
ฐานที่ ๕ อยู่บริเวณตลาดจันเสนหรือบริเวณตลาดศาลเจ้าหลังสถานีรถไฟจันเสน ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนในตลาดได้เล่าข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของตลาดจันเสนหลังสถานีรถไฟจันเสนในอดีตเมื่อราว ๕๐ ที่ผ่านมาให้ฟังว่าตลาดมีสินค้ามากมาย ตั้งแต่พืชผักอาหารสด อาหารแห้ง ตลอดจนสินค้าโชห่วยทั่วไป ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงต่างก็มาซื้อสินค้าที่ตลาดจันเสนอย่างคึกคัก มีชาวจีนเข้ามาตั้งร้านขายสินค้า มีโรงสีขนาดใหญ่ มีชาวบ้านนำข้าวเปลือกมาขายจำนวนมาก เมื่อขายข้าวเสร็จก็มักจะมาซื้อของที่ตลาดจันเสนติดมือกลับบ้านเสมอ ภายหลังเมื่อมีการพัฒนาถนนที่เข้ามาสู่ชุมชนจันเสนดีขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไปซื้อของที่อื่น การค้าข้าวของโรงสีก็ซบเซาลงจนเลิกกิจการไปในที่สุด
เวลาประมาณบ่าย ๓ โมง ยุวมัคคุเทศก์จากทุกฐานก็กลับมารวมกันที่อาคารอบรม สรุปข้อมูลที่ได้ลงบนแผ่นกระดาษแล้วนำเสนอข้อมูลที่แต่ละกลุ่มได้รับให้ยุวมัคคุเทศก์กลุ่มอื่นๆ ได้ฟัง ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ได้บอกเล่าข้อมูลที่ได้รับมาอย่างสนุกสนานและมีความภาคภูมิใจที่ได้รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของตนเอง จากนั้นก็เข้าสู่การปิดโครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน รุ่นที่ ๑๗ โดยมีหลวงพ่อพระครูนิวิฐธรรมขันธ์เป็นประธานในการมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการและกล่าวพิธีปิดโครงการในภาคของการอบรมให้ความรู้ หลวงพ่อกล่าวขอบใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดโครงการอบรม ทั้งผู้ให้การสนับสนุน ผู้จัดโครงการ วิทยากร และยุวมัคคุเทศก์ทุกคน และอวยพรให้การเดินทางไปศึกษาดูงานเป็นไปโดยสวัสดิภาพ ซึ่งปีนี้จัดไปศึกษาดูงานที่จังหวัดราชบุรี
เช้าตรู่วันที่ ๙ มิถุนายน คณะผู้เข้าร่วมโครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์ได้ออกเดินทางไปยังจังหวัดราชบุรี โดยมีผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์จากหน่วยวิทยบริการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ณ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ-ราชวิทยาลัย และ คุณกฤชกร กอกเผือก นิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในชมรมประวัติศาสตร์สองข้างทางทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ สลับกับบรรยายให้ความรู้และสร้างเสียงหัวเราะให้กับยุวมัคคุเทศก์และผู้เข้าร่วมโครงการสถานที่แรกที่ไปศึกษาดูงานคือตลาดน้ำดำเนินสะดวกเพื่อเก็บข้อมูลมาใช้ในการจัดทำตลาดนัดชุมชนขึ้นภายในวัดจันเสนซึ่งกำลังมีการดำเนินการอยู่ จากนั้นก็ไปศึกษารูปแบบการบรรยายนำชมของเจ้าหน้าที่นำชมมืออาชีพและการจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งที่อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ซึ่งยุวมัคคุเทศก์ได้รับความรู้และให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จากนั้นก็เดินทางไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรีเพื่อศึกษาโบราณวัตถุต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุศิลปะสมัยทวารวดีที่มีความคล้ายคลึงและร่วมสมัยเดียวกันกับโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จันเสน5 เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวารวดีอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองโบราณคูบัว เพื่อให้ยุวมัคคุเทศก์ได้เข้าใจถึงลักษณะของโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จันเสนมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็เดินทางกลับจังหวัดนครสวรรค์โดยสวัสดิภาพซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดโครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน รุ่นที่ ๑๗ และเป็นการเริ่มต้นทำหน้าที่ของยุวมัคคุเทศก์ใหม่ที่พึ่งจะเข้ารับการอบรมเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ
ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับจากการที่มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมตลอดโครงการอบรม ทำให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชนจันเสน ความเคารพศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหลวงพ่อโอดและหลวงพ่อเจริญความตั้งใจจริงของผู้จัดโครงการ เป็นความตั้งใจ ความภาคภูมิใจ และแววตาที่มีความสุขของยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน ไม่น่าเชื่อว่าขนาดผู้เขียนซึ่งไปคนต่างถิ่นเมื่อได้มีโอกาสมาสัมผัสกิจกรรมของชาวจันเสนเพียงสองวันก็รู้สึกมีความศรัทธา ความสุข และภาคภูมิใจกับชาวจันเสน
ความพยายามจัดการอบรมยุวมัคคุเทศก์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทำให้เกิดยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสนเป็นรุ่นๆการปฏิบัติหน้าที่นำชมพิพิธภัณฑ์ก็จะมีรุ่นพี่ๆ คอยถ่ายทอดประสบการณ์และแนะนำรุ่นน้องในการปฏิบัติงานและปฏิบัติตัว ซึ่งต่างไปจากหลายๆ ชุมชนหรือพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดอบรมยุวมัคคุเทศก์เป็นครั้งคราว ไม่มีความต่อเนื่อง การจัดอบรมทุกปีเช่นนี้ก็ทำให้เยาวชนในชุมชนได้รับการกระตุ้นโดยตลอดทำให้มีความตื่นตัวสนใจที่จะเข้าร่วมการอบรมเพื่อเป็นยุวมัคคุเทศก์อย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับจากการที่มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมตลอดโครงการอบรม ทำให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชนจันเสน ความเคารพศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหลวงพ่อโอดและหลวงพ่อเจริญ ความตั้งใจจริงของผู้จัดโครงการ เป็นความตั้งใจ ความภาคภูมิใจ และแววตาที่มีความสุขของยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน ไม่น่าเชื่อว่าขนาดผู้เขียนซึ่งเป็นคนต่างถิ่นเมื่อได้มีโอกาสมาสัมผัสกิจกรรมของชาวจันเสนเพียงสองวันก็รู้สึกมีความศรัทธา ความสุข และภาคภูมิใจกับชาวจันเสน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าความรู้สึกทั้งหมดที่รู้สึกได้นั้น... หากผู้อ่านแวะมาเยือนพิพิธภัณฑ์จันเสน วัดจันเสน และชุมชนจันเสน ก็จะได้สัมผัสและเกิดความรู้สึกเหมือนกันอย่างแน่นอน
พระครูนิวิฐธรรมขันธ์ เจ้าอาวาสวัดจันเสนถ่ายภาพร่วมกับยุวมัคคุเทศก์
ที่เข้าร่วมโครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์จันเสน รุ่นที่ ๑๗
“ข้อมูลใหม่จากจันเสน”
จากฟิล์มเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติผ่านทางคุณนิวัติ กองเพียร จากภาพถ่ายเก่าแก่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาสู่บรรยากาศภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายด้วยฟิล์มเมื่อ ๔๐ กว่าปีมาแล้ว ได้เห็นใบหน้าเป็นสุขของผู้คนในอดีตเหล่านี้แล้วเป็นสุข คลิ๊กเข้าไปชมภาพยนตร์จากเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ นำมาเสนอไว้ในโลกออนไลน์ เข้าชมได้จากลิงค์ http://youtu.be/DH1mwWRPrA4
สิบกว่าปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์จันเสนปลุกหมู่บ้านที่กำลังหลับใหลซึ่งเคยมีร่องรอยของความรุ่งเรืองในการเป็นสถานีขนส่งข้าวในอดีต รวมทั้งปลุกอดีตของมนุษยชาติที่เคยมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยทวารวดี อันเป็นมรดกของท้องถิ่นให้กลายมาเป็นชุมชนแห่งการศึกษาที่ผู้คนนับพันนับหมื่นต่างเข้ามาแสวงหาความรู้ และเป็นการพลิกวิกฤตสร้างโอกาสให้กับชาวบ้านรอบๆ ได้มีกิจกรรมสร้างรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเด็กๆเยาวชนที่อยู่ใกล้แหล่งความรู้และใกล้วัดก็ได้สร้างความหมายใหม่ในการเป็น ‘ยุวมัคคุเทศก์’ ให้แก่วัดจันเสน จนกลายเป็นสถานที่ซึ่งให้โอกาสในการสร้างคนและความรู้แก่ผู้คนมากมายประสบการณ์การทำงานเช่นนี้ถือเป็นตัวอย่างในการสร้างสรรค์และบริหารงานที่ดี มีคณะกรรมการที่เป็นชาวบ้านคอยดูแล เรียนผิดเรียนถูก จนบัดนี้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสนกลายเป็นแม่แบบให้แก่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งอื่นๆ อีกหลายแห่ง ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการศึกษาผ่านพิพิธภัณฑ์ในระดับท้องถิ่นเล็กที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับลูกหลานโดยไม่ต้องรอปาฏิหาริย์จากการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลเลยทีเดียว
ธีรวัตน์ แสนคำ
หน่วยวิทยบริการมหาวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ณ วัดบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร
มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
จับกระแสพิพิทธภัณฑ์ท้องถิ่น:จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๙ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๕๖)