หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
เหตุการณ์กลุ่มราชนิกุลเมืองสายบุรี หนีราชภัยไปเมืองกลันตัน
บทความโดย รัศมินทร์ นิติธรรม
เรียบเรียงเมื่อ 1 ธ.ค. 2555, 13:48 น.
เข้าชมแล้ว 18961 ครั้ง

พระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหาราชา มัตตาอับดุลวิบูลย์ขอบเขตประเทศราช (เต็งกูอับดุลมุฏฏอเล็บ) 

(ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th)

 

หลังจากที่พระยาสายบุรี เติงกูอับดุลกอเดร์ (หนิละไม) ได้ถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หนิแปะ บุตรพระยาสายบุรี (หนิละไม) เป็นพระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหาราชา มัตตาอับดุลวิบูลย์ขอบเขตประเทศมลายู ผู้ว่าราชการเมืองสายบุรี ให้หนิปิน้องพระยาสายบุรี (หนิแปะ) เป็นพระรัตนมนตรี ผู้ช่วยราชการ และให้หนิอีตำ น้องพระรัตนมนตรี (หนิปิ) เป็นพระวิเศษวังศา ผู้ช่วยราชการเมืองสายบุรี

 

เมื่อพระยาสายบุรี (หนิแปะ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองนั้น ได้ย้ายตำหนักจากบ้านยือรีงา (ยี่งอ) ไปสร้างตำหนักใหม่เรียกว่า “ตำหนักสะลิงดงบายู” ที่ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี 

 

หลังจากเจ้าเมืองสายได้ย้ายตำหนักจากบ้านยือรีงาไปอยู่ที่ตำบลตะลุบัน ทำให้ชุมชนบ้านยือรีงาซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ดูแลและปกครองชุมชนบ้านยือรีงาอีกต่อไป รัฐบาลสยามจึงได้แต่งตั้งนายนิกือจิ (นิการี) ชาวบ้านบูแม (ปัจจุบันคือหมู่ที่ ๑ ตำบลยี่งอ จังหวัดนราธิวาส) เป็นผู้ดูแลชุมชนบ้านยือรีงา โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแม่กอง ได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นเศวกมาตย์ ซึ่งชาวบ้านเรียกท่านว่า “โต๊ะแม่กอง”

 

นายนิกือจิ (นิการี) หรือโต๊ะแม่กองหมื่นเศวกมาตย์ มีภรรยาชื่อนางนิปูเต๊ะ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนิบอซู ราชองครักษ์ของพระยาสุริยสุนทรบวรภักดีฯ เจ้าเมืองสายบุรี (หนิแปะ) เดิมนิบอซูตั้งถิ่นฐานที่เมืองยือรีงา แต่ได้ติดตามเจ้าเมืองสายบุรีไปที่ตะลุบัน เมื่อคราวที่เจ้าเมืองย้ายตำหนัก โต๊ะแม่กองนิกือจิมีบุตรชายกับนางนิปูเต๊ะคนหนึ่งชื่อ นิแว นิกือจิ (ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อเป็นขุนละหารประชาเชษฐ์)

 

ในช่วงสมัยนั้นกรุงเทพฯ ได้ส่งพระยาสุขุมนัยวินิตมาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลที่ปัตตานี และพระยาสุขุมฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรฝิ่นและเหล้าใหม่ โดยแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งให้กรุงเทพฯ ต่อมามีการเก็บภาษีที่ดินโดยไม่มีใบรับรอง ทำให้เก็บภาษีได้ปีละหลายครั้ง

 

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๐ เริ่มเก็บภาษีส่งออกและนำเข้าโดยแบ่งให้ฝ่ายเจ้าเมืองมลายูเพียงร้อยละ ๑๒.๕ เท่านั้น เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายคัดค้านระบบภาษีเช่นนี้มาแต่ต้น เพราะเห็นว่าสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าเมืองไม่ใช่รัฐบาลสยาม สร้างความไม่พอใจในหมู่เจ้าเมืองมลายูจนเกิดการต่อต้านรัฐบาลสยาม และนำไปสู่การจับกุมตัวเต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน เจ้าเมืองปัตตานี ในเช้าวันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๕ (ค.ศ. ๑๙๐๒) โดยพระยาศรีสหเทพในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนำตัวมายังสงขลา และนำตัวมายังพิษณุโลกถูกพิพากษาจำคุก ๓ ปีในข้อหา "ขัดคำสั่ง" พระมหากษัตริย์สยาม

 

วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๔๕ พระยาสุขุมฯ ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เดินทางไปจับกุมเติงกูเงาะห์ ซัมซูดิน เจ้าเมืองระแงะพร้อมบริวารรวม ๘ คน และในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเจ้าเมืองสายบุรี เติงกูอับดุลมุตตอเล็บก็ถูกจับกุมไปด้วย ทำให้หลังจากนั้นลูกหลานเจ้าเมืองสายบุรีรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จึงดำเนินการส่งลูกหลานเจ้าเมืองเพื่อลี้ภัยไปยังเมืองกลันตัน

 

นิบอซูเป็นหนึ่งในองครักษ์ในการคุ้มกันลูกหลานเจ้าเมืองสายบุรีเพื่อหนีภัยไปอยู่ที่เมืองกลันตัน ในการเดินทางครั้งนั้นมีองครักษ์คอยคุ้มกันประมาณ ๕-๖ ท่าน และมีลูกหลานเจ้าเมืองประมาณ ๑๐ ท่านร่วมไปในการเดินทาง

 

(รูปซ้าย) พระยาภูผาภักดี ศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา (เต็งกูเงาะซำซูดิน) เจ้าเมืองระแงะ

(ที่มา : http://kaekae.pn.psu.ac.th)

(รูปขวา) พระวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตประเทศราช (เต็งกู อับดุลกาเดร์) สวมหมวกซอเก๊าะสีดำ

(ที่มา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตติมา ระเด่นอาหมัด)
 

ในการเดินทางครั้งนั้น นิบอซูได้จับนายนิแวซึ่งเป็นบุตรของหมื่นเศวกมาตย์เป็นตัวประกันร่วมไปในการเดินทางครั้งนั้นด้วย เนื่องจากหมื่นเศวกมาตย์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสยาม เป็นผู้ที่ชำนาญเส้นทางไปยังเมืองกลันตัน รวมทั้งมีญาติพี่น้องตามรายทางตั้งแต่ระแงะ บ้านบองอ เจาะไอร้อง ตลอดจนถึงสุไหงปาดี เพราะท่านโต๊ะแม่กองเป็นคนดั้งเดิมมาจากบ้านแบนู (ยานิง) เจาะไอร้อง และการที่กลุ่มองครักษ์ของเจ้าเมืองสายบุรีจำเป็นต้องจับนายนิแวเป็นตัวประกันก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโต๊ะแม่กอง (หมื่นเศวกมาตย์) จะไม่กล้าติดตามไปจับกุม

 

ช่วงที่กลุ่มราชนิกุลสายบุรีลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองกลันตันนั้น การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องระเหเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น อาหารการกินก็ตามมีตามเกิด บางครั้งเมื่อเจอชาวบ้าน ชาวบ้านก็เลี้ยงข้าว แต่ด้วยบารมีของลูกหลานเจ้าเมือง เมื่อพบชาวบ้านจะได้รับการต้อนรับอย่างดีตลอดทาง จนกระทั่งถึงบ้านโต๊ะระแว้ง ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างเมืองลือแฆะห์ (ระแงะ) กับเมืองกลันตัน พ้นเขตอิทธิพลของรัฐบาลสยาม

 

ในเวลานั้นหัวหน้าองครักษ์ผู้คุ้มกันคือนายนิบอซูเกิดไม่สบายกะทันหันและอาการค่อนข้างหนัก จึงจำเป็นจะต้องพักที่บ้านโต๊ะระแว้ง (โต๊ะรือแว้ง) โต๊ะระแว้งเป็นคนที่อพยพมาจากบ้านรือแว้ง (อยู่ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ 

 

บ้านโต๊ะรือแว้งเป็นท่าเรือที่ส่งสินค้าไปยังบ้านโต๊ะโม๊ะ (เหมืองทอง) ที่นี่จึงมีความเจริญพอสมควร นิบอซูรักษาตัวอยู่ที่บ้านโต๊ะระแว้งหลายวันแต่อาการไม่ดีขึ้น บรรดาลูกหลานเจ้าเมืองจึงจำต้องทิ้งให้นิบอซูอยู่ที่นี่เพื่อพักรักษาอาการป่วย และกลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีได้เดินทางต่อไปเพื่อข้ามฝั่งแม่น้ำไปยังเมืองกลันตัน

 

หลังจากที่รักษาอาการป่วยอยู่นานจนกระทั่งหายดีแล้ว นิบอซูก็ไม่ได้ติดตามกลุ่มราชนิกุลสายบุรีไปยังเมืองกลันตัน แต่ได้ตั้งรกรากและมีครอบครัวอยู่ที่อำเภอแว้ง โดยแต่งงานกับหญิงสาวที่นั่นและมีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน ชื่อนายนิแฮ บิน นิบอซู 

 

ทางด้านนิแวซึ่งเป็นตัวประกันในกลุ่มราชนิกุลสายบุรีนั้น เมื่อไม่มีนิบอซูผู้เป็นญาติสนิทร่วมเดินทางไปด้วยก็ไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของตนอีกต่อไป  และในคืนนั้นเอง เมื่อทุกคนนอนหลับสนิท เหลือเพียงแต่ยามที่เฝ้า นายนิแวจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากกลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีไปตายเอาดาบหน้า โดยหนีไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่รู้ทิศเหนือหรือทิศใต้ไปตามเส้นทางเกวียนในป่า จนกระทั่งเช้า กลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีจึงได้ทราบข่าวการหายตัวของนิแว แต่ก็ไม่ได้ออกติดตาม เนื่องจากทุกคนอยู่ในสภาพอ่อนล้าและพ้นเขตอิทธิพลของสยามแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีตัวประกันอีก กลุ่มผู้ลี้ภัยราชนิกุลสายบุรีได้เดินทางมุ่งหน้าต่อไปยังหมู่บ้านปาเซปูเต๊ะซึ่งอยู่ที่เมืองกลันตัน และได้ตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ได้กลับมาที่เมืองสายบุรีอีกเลย

 

 

พลทหารเมืองปัตตานีนุ่งผ้าถุงแล้วนุ่งผ้าตาหมากรุกแบบปูฌอปอตอง โพกผ้าที่ศีรษะ

(ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ)

               

รัศมินทร์ นิติธรรม

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

หมายเหตุจากผู้อ่าน : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๖ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕)

อัพเดทล่าสุด 5 พ.ค. 2560, 13:48 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.