หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ความทรงจำจากภาพถ่าย “เสน่ห์เมืองสาย”
บทความโดย อานัส พงศ์ประเสริฐ
เรียบเรียงเมื่อ 27 พ.ย. 2558, 19:32 น.
เข้าชมแล้ว 7911 ครั้ง

  

สองฟากถนนเป็นเรือนแถวค้าขายกึ่งตึกกึ่งไม้ของเถ้าแก่จีนชาวสายบุรี และมีการประดับตกแต่งฉลุลวดลาย

แบบท้องถิ่น ร้านค้า โรงแรม บ้านเรือน

 

           

การทำงานทางประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และโบราณคดีโดยเน้นการสำรวจศึกษาจากท้องถิ่นต่างๆ ที่ผ่านมาในระยะเวลากว่า ๔๐ ปีของทั้งวารสารเมืองโบราณและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้บันทึกความทรงจำและความเข้าใจในภูมิวัฒนธรรมอันหลากหลายในประเทศของเรามาไม่น้อย

           

ภาพถ่ายของอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะจากวารสารเมืองโบราณและอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้เป็นทั้งบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณและที่ปรึกษาของมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ถือเป็นมรดกที่สะท้อนภาพของสังคมไทยทางวัฒนธรรมในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากสังคมแบบเกษตรกรรมมาเป็นกึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เข้าใจพื้นฐานความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบันได้มากมาย

           

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ทำหน้าที่ในการแบ่งปันความรู้แก่สังคม จึงทำงานจัดระบบภาพ ฟิล์ม สไลด์เก่าจากการทำงานของผู้ใหญ่ท่านต่างๆ ที่ทำงานมาอย่างยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ เริ่มจากอนุรักษ์และทำสำเนาดิจิทัลดูแลรักษา จัดเก็บอย่างเป็นระบบ ศึกษาภาพและทำคำสำคัญ [Keyword] เพื่อสะดวกในการค้นหาต่อไป

           

จากการทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบเห็นเรื่องราวผู้คนและสภาพแวดล้อมในบรรยากาศต่างๆ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพเก่าที่มีอยู่ในโครงการฯ ที่คณะวารสารเมืองโบราณนำโดย อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และคุณสุวพร ทองธิว ไปสำรวจ พูดคุย ถ่ายภาพทั้งสามจังหวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ หลังจากเริ่มทำวารสารเมืองโบราณฉบับแรกมาแล้วประมาณ ๕ ปี

           

ครั้งนี้ได้คุณอานัส พงศ์ประเสริฐ. จากกลุ่ม SAIBURI LOOKER ซึ่งบ้านเกิดและรากฐานครอบครัวเป็นคนสายบุรีมาหลายชั่วอายุคน อานัสเป็นคนหนุ่มที่กลับบ้านหลังจากเรียนหนังสือและอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้หลายปี และกำลังคร่ำเคร่งกับเพื่อนๆ ในการทำกิจกรรมเพื่อเมืองสายบ้านเกิดให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขและความหวังของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าสืบต่อมาจากคนรุ่นเดิมๆ เช่นเดียวกับเขา กิจกรรมหลายอย่างแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะเห็นสังคมในท้องถิ่นคืนกลับมาสู่เมืองสงบเงียบชายฝั่งทะเลในสภาพแวดล้อมที่สวยงามดังเดิม

 

เสน่ห์ย่านการค้าเมืองสาย

           

เมืองสายบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ พื้นที่ตั้งอยู่ติดกับทะเลตรงปากแม่น้ำสายบุรีที่สามารถใช้เส้นทางน้ำนี้เดินทางเข้าสู่เขตที่ราบและเทือกเขาต้นน้ำทางสันกาลาคีรีภายในแผ่นดินได้สะดวก

           

จากสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้สายบุรีเคยเป็นเมืองท่าในอดีต เพราะเป็นจุดรับส่งแลกเปลี่ยนกระจายสินค้าที่สำคัญ หากกล่าวถึงเส้นทางแม่น้ำสายบุรีก็เปรียบได้ดั่งเส้นทางซูเปอร์ไฮเวย์โบราณ เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีการใช้แพ เรือกรรเชียง เรือพาย พัฒนาไปจนถึงเรือกลไฟเมื่อราวๆ ๖๐ ปีที่ผ่านมา เป็นการเดินทางจากชุมชนที่อยู่ภายในเพื่อมาออกปากแม่น้ำสายบุรี 

           

ลำน้ำสายบุรีเป็นเส้นเลือดใหญ่สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ขนส่งสินค้าแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตร ประมงและสินค้าจากป่าเขาภายใน ตรงปากน้ำมีสถานีสินค้าหรือร้านค้าต่างๆ เป็นจุดรับซื้อแลกเปลี่ยนตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของเป็นเถ่าแก่ชาวจีน มีบ้างประปรายที่เจ้าของเป็นคนมลายู

           

บรรยากาศเมืองสายบุรีในขณะนั้นมีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่จอดทอดสมอเรียงรายเต็มไปหมด ประกอบกับมีอ่าวจอดเรือที่เหมาะกับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงเห็นเรือต่างชาติแวะเข้าจอดรับส่งสินค้าจากสายบุรี จนต้องมีด่านศุลกากร ถือเป็นจุดค้าขายการค้าทางทะเลที่สำคัญ

           

จากคำบอกเล่าของคนสายบุรี ราวช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในพื้นที่สายบุรีเริ่มมีการทำเหมืองแร่ดีบุก บริเวณบ้านกะลาพอในปัจจุบันและอีกหลายแห่ง มีเรือกลไฟฝรั่งจอดรอรับตรงท่าเรือสายบุรี จนทำให้คนจีนและอินเดียและคนจากนอกพื้นที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินที่เมืองสายบุรีเป็นจำนวนมาก

           

ย่านการค้าสายบุรีในสมัยนั้นคึกคักไปด้วยบรรยากาศการค้าขายเพราะมีอาคารร้านค้าของพ่อค้าเชื้อสายจีนที่อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ตรง “ถนนสายบุรี” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นถนนที่ตัดตรงไปยังบ้านปากน้ำสุดทางตรงสถานีดับเพลิงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นท่าเรือเก่าและด่านศุลกากรในอดีต

 

 

ตึกแถวอาคารร้านค้าเก่าในย่านเส้นทางสายเศรษฐกิจเก่า "ถนนสายบุรี" ตรงบริเวณในภาพนี้ช่วง ๔๐-๕๐ ปีที่ผ่านมามีโรงเรียนสอนพิเศษภาษาไทยและภาษาจีนระดับชั้นอนุบาล คุณครูที่สอนเป็นคนจีนสายบุรีชื่อแปะเบ่ง ทุกวันหลังเลิกเรียน นักเรียนก็จะถือกระดานชนวนเพื่อมาเรียนพิเศษที่นี่ บริเวณนั้นยังมีร้านค้าของชำ โรงแรมที่พักต้อนรับพ่อค้าขาจรที่แวะค้าขาย

 

 

สองฟากถนนเป็นเรือนแถวค้าขายกึ่งตึกกึ่งไม้ของเถ้าแก่จีนชาวสายบุรี และมีการประดับตกแต่งฉลุลวดลายแบบท้องถิ่น ร้านค้า โรงแรม บ้านเรือน ตลาด วิกโรงหนังถึง ๓ โรง เกวียนเทียมควาย เกวียนเทียมวัว รถม้า รถขนแร่ และสินค้าเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ที่ทันสมัยก็ใช้เส้นทางเส้นนี้เพื่อมุ่งหน้าไปส่งสินค้าตรงท่าเรือ รวมทั้งยังมีพ่อค้าจากยะลาหรือนราธิวาสก็จะเข้ามาซื้อสินค้าจำนวนมากจากที่นี่ นอกจากนี้ถนนสายบุรียังเป็นที่ตั้งของอาคารที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ ที่ทำการของรัฐหลายแห่ง ดังนั้น บริเวณสองฝั่งถนนสายบุรีจึงเป็นย่านการค้าที่สำคัญมากในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ทีเดียว

           

เรือนแถวส่วนหนึ่งคือที่อยู่อาศัยของคหบดีจีนต้นตระกูลเก่าแก่ของสายบุรี เช่น วิเศษสุวรรณภูมิ, ชาญอิสระ, พิธาน ฯลฯสภาพอาคารบางแห่งในปัจจุบันก็ยังคงสภาพดี แต่บางส่วนถูกต่อเติมเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิม หรือถูกรื้อไปเปลี่ยนเป็นตึกแถว บ้างเปิดเป็นร้านค้าที่อยู่อาศัย บ้างก็ถูกปิดทิ้งไว้

           

เมื่อการคมนาคมเปลี่ยนแปลงพัฒนาจากทางน้ำเป็นทางบก เส้นทางรถไฟสายใต้ถูกสร้างขึ้น รวมทั้งมีการตัดถนนหลวงสายปัตตานี-นราธิวาสในปัจจุบันหรือที่คนในแถบนี้รู้จักในนามถนนเกาหลีผู้คนจึงเลือกใช้ขนส่งผ่านเส้นทางรถยนต์มากขึ้นเพราะย่นเวลาได้เร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า  ส่งผลให้บรรยากาศการค้าการขนส่งสินค้าทางน้ำซบเซาลง

 

เรือนแถวเป็นอาคารไม้สองชั้น เป็นทั้งเรือนที่พักและค้าขาย มีลวดลายฉลุสวยงาม เจ้าของเป็นคนมลายูมุสลิม หนึ่งในห้องแถวในภาพนี้เคยเป็นร้านยาของคุณหมอไสวคนสายบุรีรุ่นอายุ ๕๐-๖๐ ปีขึ้นไปจะรู้จักดี หมอไสวมีเชื้อสายจีน ท่านผู้นี้ทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างทีมฟุตบอลฉลามบก ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลเยาวชนสายบุรีที่โด่งดังมากในยุคนั้น  และบริเวณข้างเคียงมีร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านขายของชำ และร้านขายหนังสือ

 

           

ปัจจุบันตึกเก่าย่านการค้าบางส่วนก็ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง บางแห่งก็ผุพังถูกรื้อถอนออกไป หรือถูกซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดซึ่งกำลังหายกับพร้อมอาคารตึกไม้เก่าแก่ก็คือ เรื่องเล่าของเมืองท่าแห่งนี้

           

แม้จะมีร่องรอยหลักฐานที่ยังพอให้เราเห็นได้รับรู้ถึงบรรยากาศเมืองสายครั้งยังรุ่งเรืองในอดีตอยู่บ้างจากคำบอกเล่า จากตึกอาคารร้านค้าอายุราวร้อยกว่าปีและภาพถ่ายเก่าที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น แต่โดยทั่วทั้งคนในสายบุรีและคนนอกน้อยคนนักที่จะรับรู้ถึงเรื่องราวความรุ่งเรืองในความเป็นเมืองท่าที่สำคัญ

           

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนเมืองสายบุรีก็ถือเป็นหน้าที่ของคนในท้องถิ่นที่จะฟื้นภาพของเมืองสายบุรีให้ปรากฏเรื่องราว เพื่อยืนยันหลักฐานร่องรอยจากความรุ่งเรืองเหล่านี้

 

ความทรงจำจากภาพถ่าย : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๔ (ต.ค.-ธ.ค.๒๕๕๗)

 

 

 

อัพเดทล่าสุด 16 ธ.ค. 2559, 19:32 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.