วัดวงศมูลวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอู่เรือหมายเลข ๒ เป็นวัดร้าง เพราะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ แต่มิได้ร้างจากผู้ดูแล เพราะถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของบุคลากรภายในกรมอู่ทหารเรือเสมอมา อีกทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารโบราณสถานโดยกรมศิลปากรอีกด้วย
ภาพถ่ายกรมอู่ทหารเรือจากมุมสูง มองเห็นอู่เรือหมายเลข ๒ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถวัดวงศมูลวิหาร
ย้อนกลับไปในสมัยธนบุรี พื้นที่บริเวณกรมอู่ทหารเรือปัจจุบันซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นเขตนิวาสสถานเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อครั้งยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้พระราชทานให้เป็นวังของเจ้านายหลายพระองค์สืบต่อมา
สมัยที่พระองค์เจ้าประยงค์ กรมขุนธิเบศร์บวร พระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒ เสด็จมาประทับ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นในวังที่ประทับ แต่ยังมิทันแล้วเสร็จก็สิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ พระอนุชาต่างพระมารดาของกรมขุนธิเบศร์บวรเสด็จมาประทับที่วังแห่งนี้ และเป็นแม่กองสร้างวัดต่อจนแล้วเสร็จ พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดวงศมูลวิหาร”
จนเมื่อกรมหมื่นอนันตการฤทธิ์สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มิได้มีเจ้านายพระองค์ใดเสด็จมาประทับอีก ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ ๕ จึงพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้เป็นที่ตั้งของกรมอู่ทหารเรือ ส่วนวัดวงศมูลวิหารนั้นยังคงมีอยู่เรื่อยมา กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ขอพระบรมราชานุญาตยกเลิกวัดแห่งนี้ เพราะถูกห้อมล้อมด้วยหน่วยงานของกองทัพจนไม่สามารถพัฒนาได้อีก ต่อมากองทัพเรือได้ขอพื้นที่วัดวงศมูลวิหารเพิ่มเติมจากกรมการศาสนา ส่วนพระสงฆ์ที่เคยจำพรรษาก็ให้ย้ายไปยังวัดเครือวัลย์วรวิหาร คงเหลือแต่อาคารพระอุโบสถมาถึงปัจจุบัน
“พระพุทธวงศมูลมิ่งมงคล” พระประธานภายในอุโบสถวัดวงศมูลวิหาร
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธวงศมูลมิ่งมงคล พระประธานปางมารวิชัย ตั้งหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือตามส่วนยาวของอาคาร ไม่เหมือนตามแบบแผนที่นิยมกันมา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อครั้งสร้างวัด กรมขุนธิเบศร์บวรประชวรบ่อยครั้ง เชื่อว่าเป็นเพราะพระประธานตั้งหันพระพักตร์มาทางพระตำหนักซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตำแหน่งที่ตั้งของพระประธานให้หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือแทน
ถึงแม้ว่าจะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่แล้วแต่กรมอู่ทหารเรือยังคงใช้พระอุโบสถนี้ประกอบพิธีสำคัญของข้าราชการภายในกรมอู่ทหารเรืออย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดพิธีอุปสมบท พิธีประดับยศทหาร การทำบุญวันคล้ายวันสถาปนากรมอู่ทหารเรือ เป็นต้น และสามารถเข้าเยี่ยมชมวัดวงศมูลวิหารได้ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดราชการ
พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง ยังเป็นที่รวบรวมสิ่งของ รูปถ่ายเก่า เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมอู่ทหารเรือ
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา
สำหรับแหล่งเรียนรู้ภายในกองทัพเรือ ฝั่งธนบุรี นอกจากกรมอู่ทหารเรือแล้ว ไม่ไกลกันนักยังมีพระราชวังเดิมซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือปัจจุบัน นอกจากนี้ในย่านใกล้เคียงยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ ย่านวัดอรุณ ย่านวังหลัง บ้านขมิ้น บ้านมะตูม บ้านช่างหล่อ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงสร้างเส้นทางเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อเข้าใจย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้นด้วย
โรงเรือพระราชพิธีภายในกรมอู่ทหารเรือ
** ท่านที่สนใจเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรุณาติดต่อล่วงหน้าที่กรมอู่ทหารเรือ เลขที่ ๒ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร. ๐-๒๔๗๕-๔๑๘๕ เพื่อเข้าชมเป็นหมู่คณะ (๑๕–๒๐ คน) โดยไม่เสียค่าเข้าชม
พระนครบันทึก :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๖ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕)