หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
บันทึกช่วยจำของ “พจนา ดุริยพันธุ์” แห่ง “บ้านบางลำพู” บ้านดนตรีดุริยประณีตเกี่ยวกับความทรงจำย่านบางลำพู และยุครุ่งเรืองของดนตรีแห่งกรุงเทพมหานคร
บทความโดย พจนา ดุริยพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 25 เม.ย. 2560, 16:09 น.
เข้าชมแล้ว 9758 ครั้ง

พื้นที่ละแวกวัดบางลำพู บริเวณใกล้กับป้อมพระสุเมรุเคย เป็นที่ตั้งของตำหนักชั่วคราว กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท วังหน้า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก่อนการสร้างพระบวรราชวังที่บริเวณใกล้กับวัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ ส่วนบริเวณ พิพิธบางลำพูในปัจจุบันนี้เคยเป็นที่ตั้งของวังกรมหลวงจักรเจษฎา พระ อนุชา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งยกกระบัตรในสงครามเก้าทัพ รับผิดชอบไปตีเชียงใหม่ ประตูวังของท่านส่วนหนึ่งยังคงอยู่บริเวณใกล้กับตรอกไก่แจ้ในทุกวันนี้

               

“วัดบางลำพู” มีแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่พักแรมเรือสำเภาสินค้าจีน มีพ่อค้าจีน ๓ คน ร่วมสร้างวัดเรียก ว่า “วัดสามจีน” ต่อมา กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทปฏิสังขรณ์ให้ “เจ้าจอมมารดานักองอี” ซึ่งเป็นพระธิดาเจ้าเมืองกัมพูชาและเป็นพี่น้องกับ “นักองเอง” หรือสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ที่บวชเป็นชี พำนักที่วัดนี้ ท่านมีพระธิดาคือ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร และ พระองค์ เจ้าวงศ์มาลาหรือวงศ์กษัตริย์ ได้สร้างกำแพงด้านทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศเหนือ เขื่อนริมคลอง, ศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง

 

ต่อมารัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์วัดบางลำพูอีกครั้ง จึงมีรูปทรงอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีนเป็นส่วนใหญ่ ในรัชกาลที่ ๔ ทรงปฏิสังขรณ์พระประธานอุโบสถ และพระราชทานนามว่า “วัดสังเวชวิศยาราม” ตามความหมายคือ สังเวช มาจาก “สังเวคะ” หมายถึง การกระตุ้นเตือน “ความจริงแห่งชีวิต” “วิศยะ” แปลว่าอารมณ์ รวมความหมาย แล้วคือ “อารามที่อยู่ของผู้มีอารมณ์กล้าแข็งในสัจธรรม หนีห่างชีวิตมัวเมา” แต่บ้างก็แปลความหมายเช่น “สังเวชนียสถาน” ว่าเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ราว พ.ศ. ๒๔๑๒ ต้นรัชกาลที่ ๕ เกิดไฟไหม้บางลำพูครั้งใหญ่จากถนนสิบสามห้าง ตลาดบางลำพู แล้วข้ามฝั่งคลองบางลำพู ไหม้วัดสังเวชฯ โปรดเกล้าฯ ให้นำไม้ที่สร้างพระเมรุพระราชทาน เพลิง ร.๔ มาใช้ซ่อมแซมวัดด้วย

 

“วัด วัง ตลาด อยู่ที่ใด คนดนตรีไทยมักตั้งชุมชนอยู่ใกล้ที่นั่น”

บริเวณใกล้กับวัดบางลำพู มีบ้าน “เจ้าพระยานรรัตนราช มานิต” (โต มานิตยกุล) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง ยุคต้นรัชกาล ที่ ๕ เป็นศูนย์กลางที่คนปี่พาทย์ต้องเข้าใกล้ ไปมาหาสู่ ตั้งอยู่ริม คลองบางลำพู ส่วนสะพานนรรัตน์สถานตั้งชื่อตามท่านนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘หลังรื้อประตูเมือง ถัดมาเป็นบ้าน “พระพาทย์บรรเลง รมย์” (พิมพ์ วาทิน) ครูปี่พาทย์คนสำคัญ มีลูกศิษย์มาก รวมถึงทายาท ดุริยประณีตด้วย ในบริเวณนี้นอกฝั่งคลองบางลำพูมีวังของ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวร ศิววิลาส ซึ่งต่อมา ม.จ. เจ๊ก หรือ ม.จ.ศรีสังข์ นพวงศ์ พระโอรส เปิดโรงละครแสดงเก็บเงินเรียกว่า “วังเจ้าเจ๊ก” ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๕– ๒๔๕๖ ต่อจากนั้นจึงเป็นเชื้อพระวงศ์ทำโรงละครนี้ต่อ

               

ตลาดบางลำพูเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และเป็นย่านพลุกพล่านทางการค้าและการแสดงละครอย่างมากเมื่อราวรัชกาล ที่ ๕ สร้างพระราชวังดุสิตใน พ.ศ. ๒๔๔๒ แล้ว จึงมีการตัดถนน จักรพงษ์-สามเสน, ถนนพระอาทิตย์- พระสุเมรุ จนทำให้ตลาดบางลำพูรุ่งเรืองกว่าเก่ามาก และในปลายรัชกาลที่ ๕ คนละครปรีดาลัย ซึ่งเป็นคณะละครของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เช่าวิกตามตลาด เปิดแสดงละครร้องเก็บค่าแสดงจากคนดู

 

               

ปู่ศุข  ดุริยประณีต

ศุข ดุริยประณีต เป็นมหาดเล็ก พิณ พาทย์ใ น รัช กา ล ที่ ๕ ประจำอยู่ที่วังบ้านหม้อของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ที่รับดูแลกรมมหรสพแทนเจ้าพระยานรรัตนฯ ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เย็นค่ำหลังเลิกงาน ครูศุข หาลำไพ่ รับตีปี่พาทย์ ตามโรงละครย่านตลาดบางลำพู แถม เชยเกษ นางละครรำสังกัด วังเจ้าเจ๊ก พบครูศุขที่บางลำพู แล้วแต่งงานอยู่กินด้วยกันในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ แต่เดิมอาศัยเรือนแพของแม่จี่ที่ย้ายขึ้นมาอยู่กับสามี คล้อย เชยเกษ ที่บ้านปี่พาทย์เลขที่ ๑๐๐ คลองลำพู หลังวัดสังเวชฯ คล้อย เชยเกษ เป็นครูปี่ชวาจากวังหน้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย ซึ่งมีฝีมือทางช่างทำเครื่องดนตรี มีคณะปี่พาทย์รับงานบรรเลง แม่จี่ เชยเกษ มารดาแม่แถม เกิดราว พ.ศ. ๒๔๑๗ อาชีพเดิมค้าข้าวสารจากตาคลีมาที่บางลำพู ต่อมาจึงตั้งคณะละคร “แม่ลิ้นจี่” ส่งลูกสาวอายุ ๘ ขวบเรียน รำละครตามบ้านขุนนาง เช่น พระภิรมย์ราชาสุทธิภาค พระยาโยธา ไพจิตร และวังเจ้าเจ๊ก

               

ครูคล้อยรับงานปี่พาทย์ประจำวัดสังเวชฯ ครูศุข ผู้เป็นลูกเขยมาช่วยงาน เป็นผู้มีอัธยาศัยนอบน้อมใจดีจึงสัมพันธ์กับ พระในวัดได้ดี ขณะนั้นพระปลัดวัน รักษาการเจ้าอาวาส องค์ที่ ๕ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระวิสุทธิสังวรเถร (กล่อม) เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ คนในตระกูล ดุริยประณีตทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม สนับสนุนกิจกรรมวัด ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ลูกชายของครูศุขและแม่แถมเรียนหนังสือที่วัดสามพระยาและวัดสังเวชฯ และบวชที่วัดสังเวชฯ ๑ พรรษาทุกคน

               

เหนี่ยว ดุริยพันธุ์ เข้ามาเป็นเขยครูศุข ก็ได้บวชที่วัดสังเวชฯ ๑ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ มีสมเด็จ พระวันรัต (ทรัพย์) ที่เป็นโฆษกมหาเถรฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑๐ ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๕๒๐ เมื่อมีงานประเพณีของวัดจะไปช่วยทำปี่พาทย์ เช่น เทศน์มหาชาติ งานสงกรานต์ ส่วน งานศพรับเฉพาะที่จ้างโดยตรง ไม่แย่งวงครูคล้อยที่ผูกประจำอยู่ แม้ จะส่งต่อให้นายชิด เชยเกษ ลูกชายรับช่วงแล้วก็ตาม

               

คนในตระกูลจัดงานศพที่วัดสังเวชฯ เรื่อยมาตั้งแต่ครูชั้น ดุริยประณีต ที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ครูพุ่ม โตสง่า เสียชีวิต พ.ศ. ๒๔๙๖ ยังนำมาที่วัดนี้ ต่อมามีการพัฒนาวัด ตั้งแต่เจ้าอาวาสเป็น สมเด็จพระวันรัต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเก่าแล้ว ทำใหม่ ตั้งแต่พระอุโบสถที่เคยเป็นแบบจีนก็ทำใหม่ เสนาสนะ หอไตร บ่อเต่า รื้อทิ้งแล้วสร้างอาคารใหม่ กำแพงวัดที่เคยสูงไม่ถึง ๒เมตร พอเห็นสิ่งต่างๆ ในวัดก็รื้อทิ้ง สร้างกำแพงสูง วัดกับคนในชุมชนรอบๆ จึงค่อยๆ เหินห่างกัน

               

ส่วนวัดสามพระยานั้นไม่มีเมรุเผาศพ แต่มีงานประเพณี พิธีกรรมบ่อยครั้ง เช่น งานบุญ งานบวช เทศน์มหาชาติ งาน ออกพรรษา บ้านดุริยประณีตรับจ้างบรรเลงปี่พาทย์ หากเป็นงาน ประเพณีของวัดจะช่วยงานฟรีๆ ทำให้คุ้นเคยกับพระในวัดดี สมเด็จ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑–๒๕๓๙ สมเด็จฟื้นเป็นคนอยุธยา เป็นญาติกับย่าทองคำและแม่พูนที่ทำโรงงานตีลูกฆ้องอยู่หลังบ้านตาคล้อย ซึ่งโรงงาน ตีลูกฆ้องแถบบ้านบางลำพู ยังมีเครือญาติอีก ๒แห่งคือ “จำผูก เขียว วิจิตร” ที่บ้านเนิน บางกอกน้อย และบ้าน “ยายทิ้ง” ข้างกุฎีจีน

 

หลังบวชเณรราวปี พ.ศ. ๒๔๖๕ แม่พูนนิมนต์มาฉันเพลที่บ้า นบ่อยๆ ซึ่งครูศุขและแม่แถมร่วมทำบุญด้วยจนทำให้คุ้นเคยกับคนบ้านดุริยประณีต คราวเมื่อหลังสงครามโลก พ.ศ. ๒๔๘๘ มีคนมาเรียน ปี่พาทย์ที่บ้านบางลำพูหลายสิบคน และไม่มีที่พอให้พักนอน ก็ไปขอสมเด็จฟื้นให้ช่วยหากุฏิพระที่ว่างในช่วงนอกพรรษาหน้าแล้ง ให้เด็กเรียนปี่พาทย์พักนอน ท่านก็มีเมตตาช่วยเหลือทุกครั้ง

               

สืบสุด ดุริยประณีต (ครูไก่) บุตรสุดท้องครูสุขและ แม่แถม บวชที่วัดสามพระยาคนแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ จากนั้นคนในตระกูลก็บวชที่วัดสามพระยาตามมา เช่น ชูใจ ดุริยประณีต สมชาย ดุริยประณีต มนู เขียววิจิตร ฯลฯ

               

งานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมดิลก (ขาว เขมโก) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาองค์ที่ ๔ก็ตั้งเมรุชั่วคราวที่สนามหน้าศาลา สนามสอบเปรียญธรรม มีวงปี่พาทย์ดุริยประณีตไปช่วยตลอดงาน

               

บ้านครูโนรี ปู่ของครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ อยู่ติดกับวัดทองนพคุณ คลองสาน หรือที่เรียกกันว่าบางลำพูล่าง พื้นเพคน ละแวกนั้นเลยไปถึงวัดอนงคารามเป็นสำนักปี่พาทย์ใหญ่มาก่อนบ้าน ดุริยประณีต มีเครื่องดนตรี นักดนตรี มีครูผู้ใหญ่ดูแลคือ ขุนเสนาะ ดุริยางค์ (แช่ม) ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต เข้าประทับวังบางขุนพรหม โปรดให้ขุนเสนาะจัดหานักดนตรี จึงนำครูโนรีกับศิษย์บางคนเข้าไป เช่น นายอิน คนระนาดเอก เมื่อ ออกพระราชบัญญัตินามสกุล จึงทรงประทานนามสกุล “ดุริยพันธุ์” ให้ครูโนรี ปี่พาทย์บ้านบางลำพูล่าง

               

ครูโนรี มีลูกชาย ๖ คน ชื่อ นุช น่วม เนื่อง นุ่ม นาย นวล หญิง ๑ คน ชื่อ ผิน จิตรพันธุ์ ที่มีลูกชายเป็นนักดนตรีฝีมือดี แต่เสีย ชีวิตแต่อายุยังน้อยด้วยโรคระบาด (กาฬโรค) เป็นเหตุไม่มีทายาทเป็นผู้สืบทอดกิจกรรมดนตรีไทย ครูเหนี่ยว เป็นหลานปู่ครูโนรี ซึ่งเป็น บุตรครูเนื่องและโกสุม ธิดานายพุฒ รักหน่อทหาร ผู้เป็นเจ้ากรมในขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ พระยาเสนาะฯ บวชอุทิศให้ รัชกาลที่ ๖ จำวัดที่วัดทองนพคุณได้ยินเสียงเด็กชายเหนี่ยว ขับร้องในวงครูโนรี หลังจากสึกจึงขอนำไปฝึกฝนให้ขับร้อง ในทางร้อง ที่ท่านปฏิรูปขึ้นมาใหม่ ส่งเสริมให้ออกงานจนมีชื่อเสียง ขณะเดียวกัน ก็รับ เด็กหญิงแช่ม (แช่มช้อย ดุริยพันธุ์) บุตรีครูศุข-แม่แถม อายุ ๘ ปี เรียนขับร้องอยู่ด้วยกันจนทำให้สองท่านรู้จักคุ้นเคย

               

ช่วงเช้าพระยาเสนาะมานั่งสอน ลูกๆ ครูศุข-แม่แถม ที่บ้านดุริย ประณีต หลังข้าวกลางวันจึง ลงเรือแจวล่องไปสอน เด็ก ชายเหนี่ยว และคนปี่พาทย์ ที่บ้านครูโนรี จนเป็นคำคล้องจองที่รู้กันว่า “เช้า นั่งบางลำพูบน บ่ายลง บางลำพูล่าง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔เด็กชายเหนี่ยว บรรจุเป็นข้าราชการในวันที่ ๑ กันยายน สังกัดกองปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวังในสมัยรัชกาล ที่ ๗ และครูโนรีถึงแก่กรรม นักดนตรีกระจัดกระจาย ลูกๆ ตายเกือบหมด รุ่นหลานไม่มีผู้ใดเก่งกล้าพอเป็นผู้นำหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงนำเครื่องดนตรีออกขาย ปิดตำนานบ้านปี่พาทย์ “บางพูล่าง”

 

               แถม  ดุริยประณีต

 

ราว พ.ศ. ๒๔๗๘ ลูกครูศุขและแม่แถม ๕ คน คือ โชติ ชื้น ชั้น เชื่อม แช่ม กับลูกเขย เหนี่ยว โอนงานจากกองปี่พาทย์และ โขนหลวงในรัชกาลที่ ๗ มาที่กรมศิลปากร ที่ตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระยาเสนาะฯ กับคุณหญิงเรือน เป็นเถ้าแก่สู่ขอนางสาวแช่มให้นายเหนี่ยว และครูเหนี่ยวนำมารดา ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านบางลำพู เป็นสมาชิกวงดุริยประณีตตั้งแต่นั้น

               

ดนตรีไทยเมื่อกว่า ๑๐๐ ปี ก่อน อยู่ในอุปถัมภ์ของ วังและวัด หลักฐานที่หาได้คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ งานสมโภชพระแก้วมรกต มีวง ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ๑๖ วง ร่วมบรรเลง เจ้านายที่ไม่มีชื่อวงปี่พาทย์ใน หมายถูกกระตุ้นให้ขวนขวายตั้งวงปี่พาทย์หลายวัง จนปี พ.ศ. ๒๔๓๐ งานฉลองหอพระสมุดวชิรญาณ มีปี่พาทย์เสภาร่วมประโคม ๑๓วง คนปี่พาทย์ ๑๗๙ คน เป็นวงของเจ้านาย ๗ วง ของขุนนางผู้ใหญ่ ๖ วง  ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้านาย ขุนนาง ที่มีวงปี่พาทย์ ส่วนมากมักมี คณะละคร (ผู้ชาย) ของตนเอง สืบทอดท่ารำละครนอก เมื่อรัชกาล ที่ ๒พระราชนิพนธ์บทละคร แล้วให้พระอนุชาทรงกรมคิดออกแบบ ท่ารำละครหลวง (ผู้หญิง) ทำให้มีพัฒนาการต้นแบบการร่ายรำที่มีมาตรฐานอ่อนช้อยงดงาม สืบทอดละครต่อมาจนปัจจุบัน รัชกาลที่ ๓โปรดให้เลิกละครหลวง แต่อนุญาตให้เจ้านายขุนนางมีละครผู้หญิงได้ ครูละครหลวงจึงย้ายไปอยู่ตามวังเชื้อวงศ์ขุนนาง เป็นกองกำลังสำคัญใน การเผยแพร่และวัฒนาการละครรำเป็นลำดับมา

 

นักดนตรีล้วนเป็นมหาดเล็ก วงปี่พาทย์สังกัดเจ้านายขุนนาง เหล่านี้ทั้งสิ้น แม้พื้นเพเคยอยู่หัวเมืองมาก่อนแต่ต่อมาก็กลายเป็น คนในพระนคร ส่วนวัดที่มีเจ้าอาวาสชอบปี่พาทย์มักจะสนับสนุนให้ เด็กรอบๆ วัดหัดปี่พาทย์ หาครูเก่งๆ มาสอน เช่น วัดน้อยทอง อยู่ ฝั่งตรงข้ามท่าช้างวังหน้า เจ้าอาวาสขอร้องให้ครูช้อย สุนทรวาทิน ปี่พาทย์ชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ ๔มาสอนเด็กๆ และปลูกบ้านพักให้ที่ริม แม่น้ำครูช้อยมีความรู้เพลงดนตรีและแบบแผนสืบแต่โบราณ สอน เด็กที่วัดน้อยทองอยู่กว่าสิบคน จนเป็นนักดนตรีที่เก่งกาจและเป็นครู ผู้ถ่ายทอดเพลงไทยสืบช่วงต่อมา

 

นักดนตรีคนสำคัญ เช่น พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) บุตรครูช้อย อยู่ประจำวังบ้านหม้อของ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์

 

ส่วนคนปี่พาทย์วัดน้อยทองอยู่สิบกว่าคนถวายตัวเป็น มหาดเล็กเรือนนอกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ ๖) ขอพระราชทานไปทั้งวง และทรง ส่งเสริมเป็นวงข้าหลวงในพระองค์ สังกัดกรมมหรสพ ณ วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนิน ได้บรรดาศักดิ์ อย่างน้อยดังนี้

               

พระยาประสานดุริยพันธุ์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็น เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘พระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์) พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) หลวงบรรเลง เลิศเลอ (กร กรวาทิน) หลวงพวงสำเนียงร้อย (นาม วัฒนวาทิน) หลวงร้อยสำเนียงสนธ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน) ขุนสังคีตศัพท์เสนาะ (ปลื้ม วีณิน) ขุนเพลินเพลงประเสริฐ (จี่ วีณิน) ขุนเพลิดเพลงประชัน (บุตร วีณิน)

               

ส่วนนักดนตรีชาวบ้านส่วนใหญ่ทำปี่พาทย์ประกอบ ละครนอก ละครชาตรี โขนชาวบ้าน นักดนตรีเหล่านี้ได้เพลงเก่า สืบทอดมาแต่สมัยอยุธยา บ้างย้ายถิ่นฐานเข้ามาในพระนคร เช่น ครูอุทัย โตสง่า จากอยุธยา ครูขำกลีบชื่น จากสมุทรสงคราม

               

ส่วนเพลงเสภาพัฒนามาจากละครเสภาในพระนคร เช่นเพลง ๓ ชั้น เพลงเถา เกิดขึ้นมากมายนับพันเพลง เพราะผู้คนนิยมปี่พาทย์ ประชันทั่วทุกหัวเมืองใช้เพลงเสภาประชัน ปี่พาทย์ชาวบ้านต่างจังหวัด จึงส่งลูกหลานเข้ามาเรียนกับครูเก่งๆ ในพระนคร ซึ่งไม่ใช่เรื่องของปี่ พาทย์พระนครรับใช้เจ้านายขุนนาง แล้วไปทำลายปี่พาทย์ชาวบ้านที่ นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันเขียนวิจารณ์ แต่ทุกวันนี้ปัจจุบัน นักดนตรี แบบแผนกับนักดนตรีชาวบ้านมีความรู้เพลงดนตรีไทยเท่าๆ กัน

 

ย่านดนตรีวัดสังเวชฯถึงย่านบางขุนพรหม

ชุมชนดนตรีไทยย่านบางลำพูครอบคลุมตั้งแต่บางขุนพรหม ตั้งแต่วัดสังเวชฯ วัดชนะสงคราม วัดบวรนิเวศ บริเวณรอบวัดสังเวชฯ นอกจากบ้านเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) กับพระ พาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) บ้านครูแคล้ว เชยเกษ เลขที่ ๑๐๐ ปี่พาทย์วังหน้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ อยู่มาแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ บ้านครูศุข ดุริยประณีต เลขที่ ๘๓๘๕ ๘๗ เข้ามาอยู่ปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องรัชกาลที่ ๖

 

               

สุพจน์  โตสง่า

 

สมัยรัชกาลที่ ๗ มีการแยกขยายเครือญาติออกเป็น บ้านครูโชติ ดุริยประณีต อยู่หัวมุมวัดสังเวชฯ ด้านตะวันออก บ้านครูลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา นักร้องหุ่นกระบอก ที่อยู่ติดกับบ้านครูโชติ บ้านครูชื้น ดุริยประณีต เลขที่ ๑๑๓ อยู่ในซอยแยกไปวัดสามพระยา เมื่อถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็มีบ้านเครือญาติ เช่น บ้านครูชุบ ชุ่มชูศาสตร์ เลขที่ ๑๑๓ บ้านครูชม รุ่งเรือง ตรงข้ามบ้านครูเหนี่ยว บ้านครูสืบสุด ดุริยประณีต เลขที่ ๑๑๕ ที่ต่อมาเป็นบ้าน ของครูเผชิญ กองโชค บ้านครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ เลขที่ ๑๑๑ เข้าอยู่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓เคยเป็นที่พำนักของบ้านครูบุญยงค์-บุญยัง เกตุคง ครั้งตั้ง คณะลิเก “เกตุคงดำรงศิลป์” บ้านครูสุพจน์ โตสง่า และครูณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า (ขุนอิน) บ้านครูโองการ (ทองต่อ กลีบชื่น) เข้าอยู่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร

               

บ้านวงเครื่องสาย ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำเช่น บ้านครูหลุยส์ อุณุกุลฑล วงนายประพาส สวนขวัญ วงนายพุฒ นันทพล วงนายเสนาะ ศรพยัฆ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ บริเวณบางขุนพรหม เป็นแหล่งพำนักของ ครูเครื่องสายเพราะอยู่ใกล้วังจันทร์ฯ ซึ่งเป็นที่ทำการกรมมหรสพ มีบ้านของหลวงคนธรรมพวาที (จักร จักรวาทิน) หลวงว่อง จะเข้รับ (โต กมลวาทิน) พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) อยู่เรือนแถวไม้ชั้นเดียวที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ฝั่งซ้ายแถวท่าเกษม หลวงไพเราะ เสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) อยู่กับหลวงคนธรรพวาที ต่อมาย้ายไปอยู่ ข้างวัดใหม่อมตรส หลวงพิไรรมยา (ชิต กมลวาทิน) ญาติผู้น้องพระสรรเพลงสรวง ส่วนย่านวัดเอี่ยมวรนุชและวัดใหม่อมตรสลง มา มีบ้านครูมนตรี ตราโมท บ้านขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี) และภรรยานางละเมียด จิตตเสวี บ้านครูปลั่ง วรรณเขจร ครูไปล่ วรรณเขจร บ้านครูหงส์ พาทยาวีวะ ในซอยพระสวัสดิ์มีบ้านครู เตือน พาทยกุล ย่านใต้คลองรอบกรุงมีบ้านครูอุทัย โตสง่า อยู่เรือน แถวริมถนนข้าวสารทำปี่พาทย์ละครวังเจ้าเจ๊ก และบ้านครูพุ่มที่ตรอก บวรรังษี แหล่งผลิตนักปี่พาทย์ ส่งต่อสำนักบ้านบาตร ส่วนบริเวณแถบ ซอยรามบุตรีและชุมชนเขียนนิวาสน์มีบ้านครูเครื่องสายหลายบ้าน

 

นักปี่พาทย์มักพำนักอยู่บริเวณใกล้คลองบางลำพู คนเครื่องสายอาศัยอยู่ละแวกบางขุนพรหม ล้วนเป็นนักดนตรี “แบบแผน” ที่เรียนมาจากวังและบ้านขุนนาง มักมีครูเดียวกัน ไขว้ซ้ำทับซ้อน และมักพบปะกันในงานของเจ้านายทำให้รู้จักคุ้นเคยกันดี ตามบ่อนเบี้ยริมคลองรอบกรุงนอกกำแพงเมือง ตั้งบ่อนเบี้ย จ้างมโหรีปี่พาทย์ การละเล่น เรียกคนให้เข้าบ่อน หลวงไพเราะฯ เคย เล่าว่าไปสีหน้าโรงบ่อนตอนเด็กๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เลิกบ่อนเบี้ย นักดนตรีจึงหันไปรับงานตามโรงละครร้อง วิกลิเก

               

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ คนปี่พาทย์ คนเครื่องสาย เข้าทำงาน ร่วมกันในกรมมหรสพที่วังจันทร์เกษม จนกระทั่งโอนไปกรมศิลปากร ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงร่วมสุข ทุกข์ด้วยกัน มีความ สนิทสนมคุ้นเคยกันยิ่งขึ้นเมื่อรับงานมโหรี ผสมปี่พาทย์และเครื่อง สาย ต่างจะจ้างหาระหว่างกัน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อ เดือดร้อน เช่นครั้งเพลิงไหม้แถววัดใหม่หลังวัดตรีทศเทพ ไม่มีที่ อยู่อาศัย จึงได้นำครอบครัวบางส่วนไปฝากอาศัยชั่วคราวตามบ้าน ปี่พาทย์ที่เกี่ยวดองทางเครือญาติระหว่างกัน เช่น ครูเฉลา บุตรี พระพาทย์บรรเลงรมย์ (ศิษย์ขับร้องพระยาเสนาะฯ) สมรสกับครูปลั่ง วรรณเขจร ครูเครื่องสายย่านวัดใหม่ ครูอนันต์ ดูรยชีวิน กับ ครู ละม่อม สวนรัตน์ น้องสาวนางสนิทบรรเลงการ ฯลฯ

 

      

 

         สำนักปี่พาทย์บ้านบางลำพู คณะดุริยประณีต เป็นสำนัก ดนตรีครบวงจรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งนับจากพระยาเสนาะฯ เกษียณอายุราชการและรับเป็นครูผู้ใหญ่ประจำบ้าน มีที่ตั้งสำนัก ดนตรีเป็นหลักแหล่ง ณ บ้านเลขที่ ๘๓แห่งนี้ตลอดมา เจ้าของ สำนักมีชื่อเสียงในฝีมือความรู้ ความตั้งใจจริง มีคุณธรรม ที่ผู้คนในวงการนับถือ ระบบบริหารจัดการดี มีนักดนตรี ที่มีฝีมือเป็นที่รู้จักจำนวนมากพอ เพราะมีทายาทนัก ดนตรี นักร้อง ๑๐ คน มีศิษย์เก่งๆ กว่า ๒๐ คน เปิดสอนแบบโบราณ มีที่อยู่ที่นอนให้ศิษย์อาศัยเรียนได้ตามพอใจ เป็นระบบพ่อครู แม่ครู บุพการีต่อเนื่อง มีครูผู้มีความรู้เพลงดนตรี สูงพร้อมสอนศิษย์ได้ทุกระดับ มีครูผู้ใหญ่ดูแลแบบแผน มีเครื่องปี่ พาทย์มากพอให้ศิษย์ได้เรียนทุกเครื่องมือ รับงานพร้อมกันได้หลาย วง มีโรงงานผลิตเครื่องปี่พาทย์คุณภาพสูงจำหน่ายและใช้เอง มีชื่อ เสียงเป็นที่รู้จักมากพอมีคนจ้างหาไปบรรเลง ศิษย์ออกภาคสนาม ทั้ง มีรายได้ มีงานเต็มทุกสัปดาห์

               

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓มีการประชันวงที่วังลดาวัลย์ ๓ วง หน้า พระที่นั่ง ครูชื้น ดุริยประณีต ถูกกำหนดตัวให้ตีระนาดเอกประลอง หน้าพระที่นั่ง รัชกาลที่ ๗ ในนาม “วงหลวง” ต้นสังกัด เป็นจุด เปลี่ยนสำคัญทำให้บ้านดุริยประณีตเปลี่ยนจุดขายจากดนตรีพิธีกรรม เป็น “ปี่พาทย์ประชันวง” แม่แถมมีหัวการค้าขาย กล้าได้กล้าเสีย คาดการณ์วางแผนล่วงหน้า เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เร่งหาครู ปี่พาทย์ประชันฝีมือตีเข้ามาสอน อาศัยชื่อครูชื้นในงานประชันครั้งนั้น ไม่นานก็เป็นที่รู้จักในวงการปี่พาทย์ประชันวง มีผู้จ้างหาไปประชันทั้ง ในพระนครและหัวเมือง หลังงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระศรี พัชรินทราฯ มีปี่พาทย์มอญบรรเลง เจ้านายขุนนางชมชอบจ้างหามา ใช้บ้าง

               

แม่แถมส่งบุตร ๓คน คือ โชติ-ชื้น-ชั้น ไปกินนอนเรียน เพลงมอญถึงถิ่นปากเกร็ด สามโคก ปทุมธานี ปากลัด ได้เพลงกลับ มามาก นำมาพัฒนาทำทางร้องใส่เนื้อร้องภาษามอญภาษาไทย ผู้คน นิยมจ้างหาไปประโคมศพกว้างขวาง

               

พ.ศ. ๒๔๘๒เข้ายุคมืดการดนตรีไทย รัฐออกประกาศนิยม ๑๒ ฉบับ ห้ามใช้ชื่อเพลงต่างชาติ ๕๙ เพลง บ้านดุริยประณีตกระทบ บ้างจากงานจ้างหาน้อยลง แต่เพราะมีทายาทในกรมศิลปากร ๖ คน ช่วยพยุงไว้ มีฐานะพอตัว แม่แถมลงทุนซื้อบ้านที่ดินไว้หลายหลัง รับจำนองจำนำทรัพย์สิน ปล่อยเงินกู้ ช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘สงครามโลกครั้งที่ ๒เข้าไทย กิจกรรมดนตรีไทยดุริยประณีตกระทบ หนัก ลูกผู้หญิงและเด็กต้องอพยพไปอยู่ที่อยุธยา ลูกชายอยู่ทำราชการ พลัดกันเฝ้าบ้านเฝ้าเครื่องดนตรี

               

สังคมไทยเปลี่ยนแปลงตามเศรษฐกิจ ผู้คนให้ความสำคัญ กับการศึกษามากขึ้น ลูกครูศุขและแม่แถม ต้องการให้ทายาทเรียน สูงๆ มีอาชีพก้าวหน้าด้านอื่นๆ เป็นปัญหาการสืบทอดคนปี่พาทย์ ทายาทขาดแคลน แต่ลูกครูศุขและแม่แถม ไม่ส่งเสริมให้เรียน ปี่พาทย์ จนแม่แถมบังคับอายุครบเกณฑ์ต้องจับมือเรียนเพลงโหมโรง เป็นอย่างน้อย หรือเรียนเพลงมอญพอใช้งานประโคมพิธีกรรมได้ แม่ แถมแอบหลอกล่อให้รางวัลหลานๆ ที่หลบพ่อแม่มาต่อเพลงปี่พาทย์ เรียนขับร้อง ถือมีกำลังทรัพย์เหนือกว่า การขัดขวางจึงไม่ได้ผลนัก มีหลานๆ หลุดรอดไปเอาดีทางเรียนหนังสืออย่างเดียวได้น้อยนักและ เอาดีทั้งสองทางมีมากกว่า พ.ศ. ๒๕๑๕ แม่แถมถึงแก่กรรม หลานรุ่นที่ ๓ ลงมาได้ดีทางการศึกษามากขึ้น ส่วนคนเรียนปี่พาทย์น้อยลง ในทางกลับกัน

 

สำหรับวิธีการทำให้ดนตรีไทยถูกสืบทอดต่อไปยังคนรุ่นหลัง คือ อย่างแรกต้องสร้างนักดนตรีมีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ มี ปริมาณเพียงพอ อย่างที่สอง เก็บเกี่ยวความรู้เพลงดนตรีพิธีกรรม เพลงโขนละคร เพลงเสภา เพลงมอญ สะสมไว้ในบ้าน อย่างที่สาม ถ่ายทอดวิชาจากครูผู้ทรงความรู้สูง มีชื่อเสียง สะสมทักษะจากครูผู้ มีฝีมือเฉพาะทาง อย่างที่สี่ ถ่ายทอดส่งต่อภายในตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น ศิษย์ การวางตัวผู้นำจิตวิญญาณ อย่างที่ห้า การบริหารจัดการ การ ตลาด จุดขาย ยืดหยุ่นตามสมัยนิยม สภาพแวดล้อมสังคม เศรษฐกิจ อย่างที่หก การเผยแพร่ทางวิชาความรู้ และการเผยแพร่ทางแสดงออก ตามงาน สื่อสังคมทุกแขนง ติดหูติดตาผู้คนบ่อยครั้งได้ผลทางอนุรักษ์ สืบทอด พัฒนาการ และรักษามรดกวัฒนธรรมไทยยาวนานออกไปได้ เสมอ

               

รูปธรรมการปฏิบัตินั้น ครูศุข ดุริยประณีต เป็นครูคนแรก จับมือ (พิธีฝากตัว) ให้ลูกหลานทุกคน เมื่อเห็นว่าพร้อมรับในราว อายุ ๘-๑๐ ปี สอนให้ตีฆ้องใหญ่เพลงโหมโรง เริ่มเพลงสาธุการ เรื่อยไปจนครบ แล้วถึงสอนแยกเฉพาะเครื่องมือเบื้องต้น แม่แถม ส่งเสริมลูกหลานให้ไปเรียนกับครูเก่งๆ เฉพาะทาง เช่น ปี่ ระนาด เอกเรียนกับพระยาเสนาะฯ ระนาดทุ้มและเครื่องหนังกับพระพาทย์ บรรเลงรมย์ เรียนฆ้องวงกับหลวงบำรุงจิตรเจริญ เรียนโน้ตสากล กับขุนสำเนียงชั้นเชิง เรียนเพลงโขนละครกับพระยาและคุณหญิง นัฎกานุรักษ์ หม่อมจันทร์ กุญชร หม่อมต่วน วรวรรณ เรียนขับร้อง กับพระยาเสนาะดุริยางค์ พระยาภูมีเสวิน ขุนระทึก แม่ส้มแป้น ครู กิ่ง ทั้งยังส่งลูกชาย ๓คน ไปเก็บเกี่ยวเพลงมอญถึงถิ่นที่ตั้ง ปากเกร็ด สามโคก ปทุมธานี ปากลัด และบางกระดี่

               

ในบ้านดุริยประณีตมีการถ่ายทอดกันเองระหว่างลูกสู่ลูก ลูก สู่หลาน หลานสู่หลาน สืบทอดส่งต่อกันไม่ขาดสาย ลูกคนใดเรียนรู้ มาเท่าใด กลับบ้านต้องมาถ่ายทอดให้น้องๆ และ หลานๆ ได้เรียนรู้ ต้องมาปฏิบัติทบทวนให้ฟังทุกวัน สอนทานความรู้ดูความตั้งใจ ทำดี ให้รางวัล ทำได้ไม่ดีถูกทำโทษ

               

และจัดหาครูผู้มีชื่อเสียงมาสอนที่บ้าน เมื่อ “รุ่นลูก” ทำงานราชการ ไม่มีเวลาว่างพอสอน “รุ่นหลาน” ก็มีครูหงส์ บ้านปี่พาทย์ ซอยพระสวัสดิ์ มาสอนเพลงช้า เพลงเรื่องได้ครูทองอยู่ คนระนาดวง โรงงานสุราบางยี่ขันสอนเครื่องหนัง หน้าทับพิเศษ ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มน โกมลรัตน์) สอนทุกอย่างรวมทั้งเขียนโน้ตและสอนเครื่องหนัง หลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) สอนฆ้องวงใหญ่ พระประณีต วรศัพท์ (เขียน วรวาทิน) ความรู้เพลงดนตรีสูงมากและเป็นกรรมการ ประชันด้วยสอนระนาดเอก และระนาดทุ้ม พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) สอนเครื่องหนัง สอนระนาดทุ้ม ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ส่งเสริมไปเรียนกับครูตามบ้าน เช่น ครูสอน วงฆ้อง ครูเทียบ คงลายทอง ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูนพ ศรีเพชรดี

               

ครูโชติ  ครูชื้น  ครูชั้น  ดุริยพันธุ์

 

ต่อมาใช้ศิษย์ดุริยประณีต ช่วยสอนรุ่นหลานต่อๆ มา เช่น ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูตู๋ (หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล) มีการตั้งวงปี่พาทย์ทดแทนรุ่นสู่รุ่น สอดรับช่วง เช่นรุ่นพ่อวง ครูศุ ขบางลำพู นั กดนตรี มี เพื่ อนจากวั งบ้านหม้ อกรมมหรสพ ร่ วมวง รุ่นลูก มีครูโชติ ครูชื้น ครูชั้น ดุริยประณีต ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ นักร้อง ครูเชื่อม ครูแช่ม ครูชม ครูทัศนีย์ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต

               

รุ่นหลานรุ่นแรก พ.อ. วิชาญ ดุริยประณีต ดำรง เขียววิจิตร ประไพ ฉัตรเอก นักร้อง ครูวิเชียร ดุริยประณีต รุ่นลูกหลาน ครูไก่ (สืบสุด ดุริยประณีต) ครูสมชาย ดุริยประณีต ครูสุพจน์ โตสง่า ร่วมด้วย ศิษย์ ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูสมาน ทองสุโชติ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ ครูสมบัติ สุทิม ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ครูสุชาติ คล้ายจินดา ครูเผชิญ กองโชค ครูสมพงษ์ นุชพิจารณ์ นักร้อง ครูสุรางค์ ครูดวงเนตร ดุริยพันธุ์ ครูจำรัส เขียววิจิตร ครูศิริ วิชเวช

 

รุ่นหลานที่เป็นดุริยประณีตรุ่นเล็ก มีนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ พจนา ดุริยพันธุ์ ปรีชา ชุ่มชูศาสตร์ มนัส เขียววิจิตร ดุริยประณีตรุ่นจิ๋วที่เป็น รุ่นหลานมี ครูสืบศักดิ์ ดุริยประณีต ครูทัศนัย พิณพาทย์ ครูธีรศักดิ์ ชุ่มชูศาสตร์ ครูอำนวย รุ่งเรือง ร่วมด้วยศิษย์ครูนิกร จันศร ครูจงกล พงษ์พรหม ครูเฉลิม เผ่าละมูล นักร้อง ครูพจนีย์ ครูวาสนา รุ่งเรือง  ซึ่งเป็นการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนในสำนักต่อ เนื่องตลอดมาจนปัจจุบัน

               

บ้านดุริยประณีตจัดพิธีกรรมไหว้ครูประจำปี ณ สำนัก ปี่พาทย์ดุริยประณีต ทุกปีเพื่อรักษาประเพณีพิธีกรรมของดุริยาง คศิลปินไทย รำลึกพระคุณครูผู้สอนสั่งวิชาความรู้ พระไตรรัตน์ บุพการี ครูเทพ ครูมนุษย์ ครูพักลักจำความสามัคคี สมาชิกใน ตระกูล ครู ศิษย์ นักดนตรี นาฏศิลป์ในวงการ ร่วมพบปะแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ความรู้ โองการศักดิ์สิทธิ์ที่อ่านอัญเชิญพระพุทธะ เทพยดา ดุริยเทพ ในพิธีเท่ากับประจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่จิตวิญญาณ เชื่อมั่น

 

               

พิธีกรรมไหว้ครูประจำปีที่บ้านดุริยพันธุ์ (ภาพจาก Facebook : ชยันตรี  อนันตกูล)

 

ยุคครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต เห็นพระราชจริยวัตรสมเด็จ พระเทพรัตนฯ ทรงรักชอบดนตรีไทยด้วยน้ำพระทัยแท้จริง ทำให้ผู้คนหันมาสนใจดนตรีไทยมากขึ้น จึงอยากสนองให้อีกทางหนึ่ง ครูสุดจิตต์เห็นว่า ปี่พาทย์ประชันจำกัดอยู่ในวงแคบๆ รู้กันเฉพาะผู้นิยม หากมองกว้างออกไปเห็นคนมารักชอบเล่นดนตรีไทยมากขึ้นเป็น จำนวนหมื่นแสน จึงเปลี่ยนจุดขายจากวงปี่พาทย์ประชันมาเน้นการ เผยแพร่ให้ความรู้แทน สถาบันการศึกษาทุกระดับให้ความสำคัญ เปิดหลักสูตร ตั้งชมรมดนตรีไทย ครูบ้านดุริยประณีตกระจายออก สอน บ้านดุริยประณีตเปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกเพศทุกวัยเข้าไปหาความรู้ พร้อมถ่ายทอดให้ทุกระดับฝีมือและสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้แม้ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีตจะสิ้นชีวิตไปแล้ว

               

บ้านดุริยประณีต ตั้งปณิธานจะอยู่ที่บ้านบางลำพู เป็น สำนักดนตรีไทยไปจนกว่าครบ ๑๕๐ ปี หรืออีกราว ๓๐ ปีข้างหน้า เพราะยังมีกำลัง มีนักดนตรีรุ่นหลานอีกมากมายทยอยกันพัฒนา ฝีมือความรู้ขึ้นมาทดแทน เมื่อหนีไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับคนรุ่นใหม่ คนต่างชาติ ก็ต้องปรับยุทธศาสตร์หาประโยชน์ทำมาหากินกับนักท่องเที่ยว ซึ่งกลยุทธ์แผนปฏิบัติเป็นไปในทางเผยแพร่ อนุรักษ์ ต้องไม่ ทำความเสื่อมเสียถึงการสังคีตไทย ไม่ทำในลักษณะหวังกำไรสร้าง ความร่ำรวย ขอเพียงแต่พออยู่ได้

               

การดำเนินชีวิตในสังคมเปลี่ยนไปรวดเร็ว ชุมชนบางลำพู ที่เคยมีคนรุ่นเก่าที่ใช้วิถีชีวิตร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย จิตใจ เกื้อกูลหมดไป ชีวิตที่ต้องแข่งขันต่างคนต่างอยู่เข้าแทนที่ จิตวิญญาณ ร่วมในประเพณีชุมชนถูกทอดทิ้งแทบไม่เหลือให้เห็น สิ่งปลูกสร้าง วัง บ้านเก่า วัด ที่งดงาม ร่มครึ้มด้วยแมกไม้ถูกรื้อทิ้งสร้างแท่งอิฐ อุดอู้ทดแทน รัฐเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวหวังนำเงินเข้าหมุนเวียน เศรษฐกิจ แต่ไร้ระบบควบคุมที่ดีหรือเหมาะสมกับสภาพชุมชน รัฐทุ่มงบประมาณมากมายเอาใจท่องเที่ยวมองมิติเพียงขยายความ เจริญทางวัตถุ ความสะดวก ขณะเดียวกันละทิ้งความสัมพันธ์ของ ผู้คนที่อยู่ก่อนในชุมชน คิดแต่ระบบแข่งขัน “อยู่ได้อยู่ไป อยู่ไม่ได้หนี ไป” รัฐไม่มองชีวิตเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนเมืองเก่าที่บอกเล่าจารีต ประเพณี ลัทธิความเชื่อ ที่ส่งต่อถึงงานศิลปกรรมได้

               

สังคมในชุมชนหลังวัดบางลำพูหรือวัดสังเวชฯ แห่งนี้ คนเก่าล้มตาย คนใหม่ย้ายเข้ามา คนดั้งเดิมขายบ้านและที่ดินให้นักลงทุน ซื้อทำห้องเช่า เกสท์เฮ้าส์ โรงแรมให้คนนอกเข้าพัก สร้างร้านอาหาร บริการนักท่องเที่ยว จากถนนข้าวสาร รามบุตรี พระสุเมรุ รุกข้าม ฝั่งคลองรอบกรุงถึงชุมชนนี้หลายปีแล้ว บ้านนักดนตรีปี่พาทย์ขาย ทิ้งไปแทบหมด เหลือแต่บ้านดุริยประณีตหลังนี้กับเครือญาติคือบ้าน ครูเหนี่ยวเท่านั้น

พระนครบันทึก : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๓ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๖๐)

อัพเดทล่าสุด 12 ก.ค. 2560, 16:09 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.