หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สืบค้นย่านบางกอกน้อยที่สูญหายด้วยการท่องเที่ยวภาคประชาชน
บทความโดย ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
เรียบเรียงเมื่อ 20 ก.ย. 2560, 15:54 น.
เข้าชมแล้ว 9469 ครั้ง

 

ความเป็นย่านที่ผู้คนต่างรู้จักว่าเป็นคนถิ่นเดียวกัน ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันและกัน มีงานบุญใดก็ทำแกงหม้อใหญ่ใส่ชามแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน นับว่าหาได้ยากแล้วในสังคมเมืองทุกวันนี้ เนื่องจากในหลายพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นย่านรุ่งเรืองเรื่องน้ำจิตน้ำใจ เรือกสวนผลไม้ และหลากงานฝีมือฯลฯ กลับต้องมาร้างไป เพราะความเจริญทางวัตถุในรูปของห้างสรรสินค้า ตึกระฟ้า ถนน สะพาน และทางด่วน ได้เข้ามายึดแย่งพื้นที่ไปทีละน้อย ทำให้ย่านเก่าแก่มีอันต้องมลายหายไปเป็นจำนวนมาก

 

การเรียนรู้สืบค้นเรื่องราวย่านเก่าที่ใกล้หดหายจวนเจียนเหลือเพียงชื่อ นอกจากจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิถีชีวิตผู้คนตามท้องถิ่นต่างๆ แล้ว ยังเป็นการรับรู้รากเหง้าของตัวเอง ซึ่งบางครั้งอาจหลงลืมไปแล้วว่าบรรพบุรุษแต่เดิมนั้นเขาทำอะไรกัน และมีความเป็นอยู่อย่างไร

 

 

ด้วยความต้องการให้คนรุ่นใหม่รู้จักตัวตนของย่านเก่าแก่ ที่แฝงตัวอยู่ตามซอกลืบของมหานครใหญ่แห่งนี้ เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาชน กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดกิจกรรม “ยลบ้าน ภูมิปัญญา มรดกวัฒนธรรม ชาวบางกอกน้อย” เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ โดยนัดพบกัน ณ บริเวณท่าเรือข้ามฟากท่าช้างวังหลังเป็นจุดแรก ก่อนข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปยัง  บริเวณวัดระฆังโฆสิตารามเพื่อมุ่งหน้าไปตามถนนอรุณอมรินทร์เข้าสู่ซอยอรุณอมรินทร์ ๒๓ ภายใต้การนำและให้ข้อมูลความรู้จากคุณระพีพัฒน์ เกษโกศล นักวิชาการของกองการท่องเที่ยวฯ และคุณอนุชา เกื้อจรูญ เครือข่ายวัฒนธรรมชุมชนบางกอกน้อย

 

 

รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของคลองประวัติศาสตร์

สถานที่แรกที่เดินทางมาถึง คือ บริเวณ “คลองบ้านขมิ้น” ที่เป็นส่วนหนึ่งของคลองคูเมืองเดิมสมัยกรุงธนบุรี ที่ทอดตัวยาวเชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่  ครั้งหนึ่งลำน้ำสายนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนสองฝั่งน้ำ แต่จากสภาพปัจจุบันกลับดูแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากไม่สามารใช้สัญจรทางเรือได้ ด้วยติดคานค้ำยันผนังคอนกรีตตลอดแนวคลองแล้ว ยังมีสิ่งปฏิกูลถูกทิ้งมาจากบ้านเรือนประชาชนจนมีสภาพไม่ต่างกับท่อน้ำทิ้งที่อยู่หลังบ้าน อีกทั้งประตูระบายน้ำมักไม่ได้เปิดปิดเป็นเวลา น้ำที่อยู่ในคลองจึงไม่ไหลถ่ายเท เน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นเป็นประจักษ์พยานของการพัฒนาโดยไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมานับร้อยปี

 

กลับหลังหันที่บ้านมะตูม

จุดแวะชมต่อไปคือ “บ้านมะตูม” เดิมเป็นชุมชนริมคลองบ้านขมิ้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการคมนาคมทางน้ำลดน้อยลง ทั้งยังมีการตัดถนนอ้อมด้านหลังชุมชนบ้านมะตูมกับกรมอู่ทหารเรือ ที่เรียกกันว่า “ตรอกมะตูม” บ้านทุกหลังในละแวกจึงปรับเปลี่ยนทำประตูรั้วบ้านหันสู่ทิศทางถนนทั้งหมด ทิ้งให้หน้าบ้านเดิมฝั่งริมคลองกลายเป็นหลังบ้านไป

 

บ้านมะตูมในอดีตขึ้นชื่อเรื่องการทำมะตูมเชื่อม ซึ่งปัจจุบันยังพอหลงเหลือผู้ยึดอาชีพนี้อยู่อีก ๔ หลังคาเรือน แต่การค้าขายมะตูมเชื่อมใช่ว่าจะขายดีเท่าสมัยก่อน เพราะนอกจากต้องรอฤดูกาลผลมะตูมออกช่วงเดือนกรกฎาคม-เมษายน จึงสามารถนำมาถนอมอาหารได้แล้ว ยังต้องขายแข่งขันกับขนมขบเคี้ยวสมัยใหม่ที่มีอย่างหลากหลายในท้องตลาด จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาคนนิยมกินอาหารและขนมไทยดั้งเดิมดังก่อนเก่า

 

เหลือเพียงเรื่องเล่าที่บ้านช่างหล่อ

ถัดจากตรอกมะตูมเดินต่อมายังซอย “บ้านช่างหล่อ” ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ด้วยชื่อเส้นทางแถบนี้ก็สื่อให้รู้แล้วว่าต้องเป็นย่านชุมชนช่าง ตามประวัติบรรพบุรุษของชาวบ้านช่างหล่อ เป็นช่างกรุงเก่า ที่ย้ายมาอยู่กรุงธนบุรีหลังเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐

 

 

จากความทรงจำของคุณป้าสุนีย์ รัชตะนาวิน วัย ๗๗ ปี ซึ่งคลุกคลีอยู่กับงานช่างแขนงนี้แต่วัยเยาว์เล่าว่า สมัยที่บ้านช่างหล่อเฟื่องฟู ชาวบ้านที่นี่ล้วนเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้นต่างมีฝีมือทางช่างแตกต่างกันออกไป บ้างเป็นช่างปั้น ช่างหล่อ ช่างเททอง ช่างขัด ช่างลงรักปิดทอง ช่างติดกระจก ซึ่งร่วมกันผลิตงานหล่อตามขั้นตอนและความถนัดจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป มีผู้มาสั่งหล่อพระพุทธรูป  อย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแม้แต่ในรั้วในวัง ดังสมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ช่างบ้านนี้ทรงงานถวาย

 

คุณรัชตวัฒน์ ลูกชายของคุณป้าสุนีย์ เสริมว่างานหล่อพระพุทธรูปที่นี่สืบทอดกันมาเป็นเวลานับร้อยปี และสถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวมช่างชั้นครูหลายต่อหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นพระเทพรจนา(สิน ปฏิมาประกร) เจ้ากรมช่างสิบหมู่ ช่างเอกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้นตระกูลปฏิมาประกร นายพิมาน มูลประมุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. ๒๕๓๑ พระยานายกนรชน (ต้นตระกูล ปริยานนท์) ครูสุข อยู่มั่น นายเปลื้อง แจ่มใส ฯลฯ

 

 

แต่แล้วด้วยการขยายตัวของถนนหนทางที่ชอนไชไปทุกทิศทุกทาง ตามมาด้วยการสร้างตึกรามบ้านช่องเพิ่มเติม ส่งผลให้ย่านบ้านช่องหล่อเกิดความแออัดจนแทบเรียกว่า “แย่งกันหายใจ”  จากจุดนี้เองกลายเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งทำให้อาชีพช่างหล่อมีอันต้องเลิกราไป...

 

“เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๖ มีเพื่อนบ้านกันนี้เองไปร้องเรียนกับทางราชการว่า โรงหล่อสร้างมลภาวะให้กับบ้านของเขา ทั้งเรื่องเสียงและเขม่าควัน ทำให้ผ้าของเขาซึ่งตากไว้สกปรก หลังจากนั้นไม่นานพื้นที่แถบนี้ก็ถูกกันให้เป็นเขตปลอดมลภาวะ” คุณรัชตวัฒน์ กล่าวด้วยความคับข้องใจ  

 

จากสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าการตีกรอบไม่ให้พื้นที่มี “โรงงานอุตสาหกรรมในครัวเรือน”  เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แม้จะช่วยให้มลภาวะเบาบางไปได้ แต่ต้องแลกมาด้วยการสูญสิ้นมรดกของชาติไปอย่างไม่สามารถหวนกลับมาได้อีก

 

ปัจจุบันชุมชนบ้านช่างหล่อหลงเหลือเพียงชื่อและความทรงจำเล่าไว้ให้ลูกหลานฟัง ผ่านพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ของชุมชนที่ “ศาลาแดง” ศาลากลางบ้านเก่าซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่จัดแสดงข้อมูล และสาธิตการหล่อพระพุทธรูป ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ถึงงานฝีมือช่างของบรรพบุรุษ

 

อดีตถิ่นขุนนาง หลากสวนผลไม้ฝั่งธนฯ

จุดต่อไปที่เยี่ยมชมคือ “บ้านข้าวเม่า” ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับตลาดศาลาน้ำเย็น ด้านทิศใต้ของวัดสุทธาวาส อันเป็นวัดเก่าแก่ราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นศูนย์กลางการประกอบศาสนกิจพิธีกรรมของชุมชนแถบนี้  ภายในวัดนอกจากมีอุโบสถทรงท้องสำเภาและเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ทางด้านทิศเหนือแล้ว อาณาบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า ที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อนของผู้คนในท้องถิ่น อันสื่อถึงเรื่องราวความเป็นมาและวิถีชีวิต 

 

 

คุณอนุชา เกื้อจรูญ ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรมชุมชนบางกอกน้อย ซึ่งทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย เล่าถึงสาเหตุของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนว่าเป็นเพราะครั้งหนึ่งมีเด็กนักเรียน มาสอบถามถึงขั้นตอนการทำข้าวเม่าว่ามีวิธีการอย่างไรและต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เมื่อบอกนักเรียนกลับไปว่าต้องใช้กระทะคั่ว ใช้ครกกระเดื่องในการตำ และกระด้งสำหรับฝัดข้าว  เด็กๆ เหล่านั้นนึกไม่ออกว่าอุปกรณ์ที่กล่าวมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จากจุดนี้เองจึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มชาวชุมชนบ้านข้าวเม่าเพื่อคิดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้น


อีกประโยชน์หนึ่งที่ได้จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ เป็นที่เก็บประวัติของผู้คนในท้องถิ่นให้คนรุ่นหลัง ได้ระลึกถึงว่า พื้นที่แถบนี้เป็นบ้านเรือนของเหล่าข้าราชการมีชื่อมากมาย อาทิ หลวงสิทธิ์โทรเลข ขุนบำเรอวรภาร ขุนชาญมัชชกรรม เป็นต้น

 

 

สำหรับที่มาที่ไปของชุมชนแห่งนี้ นอกจากเป็นถิ่นฐานขุนน้ำขุนนางแต่เดิม เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากวังหลวงแล้ว ชาวบ้านทั่วไปยังประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ เช่น สวนละมุด มะม่วง ทุเรียน ฯลฯ โดยสมัยก่อนนำผลหมากรากไม้เหล่านี้บรรทุกล่องเรือออกทางปากคลองบางกอกน้อย ไปขายยังตลาดท่าเตียน ท่าช้างวังหลังหรือท่ายายโกยเป็นต้น สิ่งเหล่านี้นับเป็นวิถีชีวิตที่ไม่หวนคืน แต่ยังหลงเหลือเพียงเรื่องราวเป็นตัวหนังสือไว้ให้จดจำอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้เท่านั้น

 

สำหรับที่มาของชื่อ "ตรอกข้าวเม่า" นั้น มาจากชาวบ้านแถบนี้เดิมมีอาชีพทำข้าวเม่าขายและในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อาจทำส่งให้หลวงอีกด้วย เพราะข้าวเม่าจัดเป็นยุทธปัจจัยหนึ่งในการนำติดตัวไปทำศึกสงครามสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือการรางข้าวเม่าให้เรียนรู้เพียงครอบครัวเดียวเท่านั้น               

             

จากการเดินท่องเที่ยวในวันนี้ นอกจากได้พบเห็นชุมชนเก่าแก่มากมายที่แฝงตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครทางฝั่งธนบุรีแล้ว ยังสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชน อันเป็นผลจากการพัฒนาเมืองที่มิได้คำนึงถึงรากฐานดั้งเดิมของคนในสังคม ส่งผลให้รากเหง้าของวิถีชีวิตชุมชนหดหายไปทีละน้อย  และยิ่งต่อไปภายหน้า หากยังคงไม่อนุรักษ์สืบสานเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ก็ยิ่งจะทำให้อัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นดั้งเดิมบางกอกน้อยสูญหายไปอย่างยากจะหวนคืน

      

พระนครบันทึก : วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม  ๒๕๕๕

อัพเดทล่าสุด 8 มี.ค. 2561, 15:54 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.