ชาวมุสลิมและสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถาน จัดเลี้ยงข้าวหมกไก่ บริเวณท่ามหาราชชุมชนท่าวัง หลังมหาวิทยาลัยศิลปากร สำหรับพี่น้องที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(ภาพจากคุณทำนุ เหล็งขยัน)
“สิ่งที่ในหลวงท่านให้กับเราฝังอยู่ในใจ พระเจ้าส่งท่านมาเพื่อให้ท่านดูแลทุกข์สุขของประชาชน ท่านเป็นเหมือนพ่อหรือผู้มีพระคุณใหญ่หลวงต่อเรา ด้วยความผูกพันต่อพระองค์ท่านและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพราะเราเกิดที่นี่....บนแผ่นดินของพระราชา” เสียงหนึ่งจากชาวชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินที่กำลังรวมตัวสรรสร้างกิจกรรมทำความดีเพื่อพ่อในวาระสุดท้าย
เหตุการณ์สำคัญเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ จากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ถือว่าเป็นการสูญเสียศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างมุ่งหน้าสู่ท้องสนามหลวงเพื่อมาร่วมถวายความอาลัยต่อพระองค์ท่าน ภาพบรรยากาศที่แสนสลดในวันนั้นต่างปะปนไปกับความสามัคคีของคนไทยทั้งประเทศที่ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ทุกคนต้องการทำความดีถวายพระองค์ท่านในฐานะคนไทยที่อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร
ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน “ชุมชนมุสลิมใจกลางพระนคร”
ในพื้นที่บริเวณย่านเมืองเก่าในเขตพระนคร มีชาวชุมชนมุสลิมในย่านเก่า อาทิ ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ และชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินที่ได้รับพระราชทานที่ดินเพื่ออยู่อาศัยมาแต่อดีต ทุกคนล้วนแล้วแต่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทำให้ชาวมุสลิมได้มีที่อยู่อาศัย มีสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจและวิถีทางการดำเนินชีวิตอย่างเสรีภาพ
ชุมชนมุสลิมมัสยิดบ้านตึกดินเป็นชุมชนมัสยิดที่อยู่หลังตึกสูงบริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่มากที่จะรู้จัก แต่สิ่งสำคัญที่สาธารณชนควรทราบคือบทบาทของชุมชนกลุ่มนี้ที่มีความสำคัญในการร่วมสร้างพระนคร สร้างความเป็นชุมชนในอดีตของกรุงเทพฯ จุดเริ่มต้นของการนำอาหารไปร่วมสมทบ คือการที่มองเห็นภาพว่ามีชาวมุสลิมเดินทางมาจากต่างจังหวัดและอาหารที่รับประทานได้นั้นหาได้ยาก จึงมีการรวมกลุ่มกันในชุมชนเพื่อให้การรองรับชาวมุสลิมที่เข้ามาถวายความจงรักภักดี และเป็นสิ่งที่ชาวชุมชนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
ชาวชุมชนมัสยิดตึกดินจัดเตรียมอาหารสำหรับรองรับประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มชุมชนมุสลิมมัสยิดบ้านตึกดินที่อยู่ในเขตพระนคร จึงกลายเป็นศูนย์กลางที่รวมพี่น้องชาวมุสลิมย่านต่างๆ อาทิ ชุมชนมัสยิดต้นสน ชุมชนมัสยิดบ้านครัว ชุมชนมัสยิดฮารูณ ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ สมาคมปากีสถานจากอยุธยา กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ และสภาองค์กรชุมชนเขตพระนคร โครงการร่วมใจภักดีองค์ราชันย์ สน.ชนะสงครามและเครือข่ายมารวมตัวกันสมทบจัดเลี้ยงอาหารให้พี่น้องประชาชนที่มาและที่กลับจากพระบรมมหาราชวัง ท้องสนามหลวง และยังมีการร่วมบริจาคหมอน ผ้าห่ม ให้กับทางชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินเพื่อดูแลพี่น้องชาวมุสลิมที่มาจากต่างจังหวัด และดูแลเหตุฉุกเฉินต่างๆ
คุณทำนุ เหล็งขยัน ประธานชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน
คุณทำนุ เหล็งขยัน ประธานชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน กล่าวถึงว่า
“การทำกิจกรรมแบบนี้จะไปขอความร่วมมือต่างๆ นั้น ค่อนข้างลำบาก ทั้งยังมีข้อจำกัด เราจึงใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามาช่วย มีกลุ่มชาวมุสลิม พุทธ ชมรมโครงการต่างๆ บริษัท ห้างร้านทำให้ออกมาเป็นรูปแบบ ในส่วนของชุมชนมัสยิดตึกดิน เราคิดว่าทำได้ในส่วนใดก็อยากจะรีบทำก่อน อยากจะสร้างเจตนารมณ์ความจริงใจของเรา เพราะทางชุมชนมัสยิดตึกดินถือว่าเป็นพื้นที่ใจกลางพระนครควรต้องรับแขกของพระราชา จึงขอเป็นตัวแทนมุสลิมทั่วประเทศ คนที่คิดเหมือนกันก็ลงมือทำในแนวทางเดียวกัน จึงเป็นภาพที่ทำให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ เพราะเราก็คือคนไทยเพียงแต่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ความจงรักภักดีและการสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเราก็มีเท่ากับทุกคน
ชาวชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินจัดเตรียมอาหารสำหรับรองรับประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ศาสนาอิสลามไม่ได้เพียงสอนให้สำนึกบุญคุณต่อพ่อแม่เท่านั้น แต่สอนให้เราสำนึกถึงบุญคุณของในหลวงด้วย นอกจากการยึดแนวทางปฏิบัติของท่านจุฬาราชมนตรีในการถวายความอาลัยต่อพระองค์ท่าน เราใช้ความสัมพันธ์ในเรื่องของสังคมที่อยู่ร่วมกันมาทำกิจกรรมเหล่านี้
ไม่ว่าศาสนาใดๆ ก็ควรมีการเคารพเจ้าของพื้นที่ เพราะศาสนาก็คือสังคมการใช้พื้นที่ร่วมกันนั่นเอง ลักษณะแนวคิดและกิจกรรมทางสังคมที่แสดงความจงรักภักดีเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในนามของคนไทยแต่เชื้อสายมุสลิมในแนวทางที่เราสามารถทำได้ก็คือแบบนี้ สำหรับทางชุมชนมัสยิดบ้านตึกดินเราจะทำกิจกรรมวันเสาร์และอาทิตย์ ในช่วงเวลากลางวัน ส่วนทางชุมชนมัสยิดฮารูณจะทำทุกวันในช่วงเย็น เราจะบอกพี่น้องให้ทราบว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง”
ชาวชุมชนมัสยิดฮารูณกับการเป็นคนไทยจิตอาสา
ชาวชุมชนมัสยิดฮารูณ ในเขตบางรัก เป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่มีความหลากหลายเชื้อชาติทั้งสายปากีสถานและสายอินเดีย ชาวชุมชนตั้งใจนำอาหารมาสมทบประชาชนที่มาเคารพพระบรมศพ ณ บริเวณท้องสนามหลวงด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ในฐานะชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวชุมชนมัสยิดฮารูณได้มีการรวมกลุ่มจิตอาสาเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้วเช่น ช่วยภัยน้ำท่วม หรือกิจกรรมในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะประกอบไปด้วยกลุ่มของนักกิจกรรมในชุมชน และกลุ่มเด็กและเยาวชนอาสาสมัครที่อยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
การที่ชุมชนมีความเข้มแข็งซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่ดีนั้นทำให้การขับเคลื่อนงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยความที่ชาวชุมชนส่วนหนึ่งประกอบอาชีพค้าขาย การนำอาหารไปร่วมสมทบจึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีรถสำหรับบริการลำเลียงของ ผู้คนทุกสาขาอาชีพมีความร่วมมือร่วมใจกันและเป้าหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวคือการตอบแทนพระคุณผู้ที่ปกครองแผ่นดินอย่างเป็นสุขร่มเย็นมาโดยตลอด
ชาวชุมชนมัสยิดฮารูณจัดเตรียมอาหารสำหรับรองรับประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
คุณณัฐวุฒิ ชูลิน ตัวแทนเยาวชนของชุมชนมัสยิดฮารูณกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวนั้นเริ่มต้นจากเด็กและเยาวชนที่ร่วมสมทบทุนกันเองในการขับเคลื่อนกิจกรรม ระยะต่อมาจึงมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ทั้งเป็นผู้ใหญ่ในชุมชนและผู้ประกอบธุรกิจเอกชนบริเวณรอบๆ ชุมชน นอกจากการนำอาหารไปร่วมสมทบแล้วยังมีกลุ่ม “ฮารูณไรเดอร์” ที่อาสารับส่งผู้คนที่ต้องการเดินทางไปสนามหลวงโดยไม่คิดค่าบริการ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม เป็นต้นมา ทุนที่ได้รวมกันแล้วประมาณ ๕ แสนบาท ทางชุมชนมีการทำบัญชีขึ้นบนบอร์ด เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ เพราะเป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก
นอกจากการรวมกลุ่มกันในชุมชนมัสยิดฮารูณแล้ว ยังมีกลุ่มของคนไทยเชื้อสายปากีสถานที่ให้การสนับสนุนและยังรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงอย่างชุมชนวัดม่วงแคมาร่วมด้วย การรวมตัวของกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนที่ไม่มีพรมแดนปิดกั้น ทุกคนล้วนแล้วแต่มีสำนึกว่าทุกคนคือคนไทย หากแยกจากการปฏิบัติศาสนกิจของแต่ละบุคคลออกแล้ว ต่างเป็นเพื่อน พ้อง น้อง พี่ ที่สามารถทำกิจกรรมอื่นร่วมกันได้ในฐานะพลเมืองคนไทยคนหนึ่งเช่นเดียวกัน
ความรู้สึกของชาวมุสลิมในฐานะคนไทยใต้ร่มพระบารมี
สราวุธ โลคันเด ชาวชุมชนมัสยิดฮารูณ
“ผมเป็นคนไทยที่มีเชื้อสายจากเมืองนอก การที่บรรพบุรุษของผมมีโอกาสอาศัยอยู่ในเมืองไทย สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้อย่างเสรีนั้นก็เพราะพระองค์ท่านไม่ปิดกั้น ท่านปกครองประชาชนทุกคน ทุกศาสนา ทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียมกัน ท่านคือพ่อ การที่ผมแสดงออกในการช่วยเหลือสังคมช่วงนี้คือการแสดงออกในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้นเอง”
คุณสราวุธ โลคันเด ชาวชุมชนมัสยิดฮารูณ
คุณทำนุ เหล็งขยัน ประธานชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน
“เราเห็นท่านตั้งแต่เป็นเด็ก สมัยก่อนถนนราชดำเนินถ้ามีคนมาแจกธงก็จะรู้แล้วว่าท่านจะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน พอท่านมาก็จะโบกรับเสด็จท่านกัน สมัยก่อนคนที่นี่ทำงานในวัง ส่วนมากก็เป็นข้าราชบริพาร พ่อยังเล่าว่าแผ่นดินพื้นที่เราอยู่กันนี้ได้รับพระราชทานสืบต่อกันมาเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ท่านให้กับเรา เมื่อโตขึ้นมาก็เห็นพระราชกรณียกิจท่าน
เรื่องของศาสนาอิสลามท่านก็ดูแลและเข้าใจเราอย่างลึกซึ้งในหลวงท่านทรงปกครองผู้คนทุกศาสนาไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ ซิกข์ อิสลาม เท่าเทียมกันไม่มีการแบ่งแยกการนับถือศาสนาใดๆ
สำหรับชาวมุสลิมพระองค์ท่านให้โอกาสหลายอย่างมากและให้การช่วยเหลือมาตลอด เช่น โครงการชั่งหัวมัน ที่อำเภอห้วยทรายจังหวัดเพชรบุรี พระองค์ท่านก็ช่วยสร้างมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซานให้กับชาวมุสลิมที่นั่น หรือทางภาคใต้ท่านก็พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างมัสยิดกลาง และในด้านการส่งเสริมการศึกษาหลักคำสอนก็ทรงให้ นายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี แปลและจัดพิมพ์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทย และพระราชทานแก่มัสยิดต่างๆทั่วราชอาณาจักร
หลังจากที่พระองค์ท่านสวรรคตเราก็คิดว่าอยากขอเป็นตัวแทนมุสลิมทั่วประเทศทำประโยชน์เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และแสดงการไว้อาลัยให้กับท่าน ที่เรารู้สึกเหมือนกับเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่เราจะสามารถทำความดีถวายกับพระองค์ท่าน เราชาวชุมชนมัสยิดตึกดินจึงรวมใจช่วยกันทำอาหาร และออกร้านนำไปแจกให้กับคนที่มาถวายสักการะท่านที่ท้องสนามหลวง และมีการบอกกล่าวเผยแพร่ต่อกันไปตามสื่อออนไลน์ต่างๆ”
พระนครบันทึก : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๒ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๙)