หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
มหาชน มหาโลก และมหานิกร กับการพิพากษ์กรณีความขัดแย้งในภาคใต้
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 มี.ค. 2548, 15:13 น.
เข้าชมแล้ว 3567 ครั้ง

 

สิ่งที่ข้าพเจ้าหวั่นใจในทุกวันนี้คือ ประเทศไทยกำลังจะเสียดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพราะความเขลาเบาปัญญาและจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเดือดร้อน  คนเหล่านี้ก็คือคนมุสลิมและคนพุทธที่เป็นประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข

 

เท่าที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็นไปสัมผัสมา คนเหล่านี้คือคนไทยโดยสำนึก และไม่เคยคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนไปเป็นอิสระหรือไปรวมกับประเทศอื่นเลย

 

แม้ว่าปัตตานีจะเคยเป็นรัฐอิสระมาแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับเชียงใหม่ เวียงจันท์ หลวงพระบางก็ตาม  แต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา บรรดารัฐเหล่านี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็นประเทศราชของสยามประเทศแทบทั้งสิ้น  เขมรและลาวถูกแยกออกไปเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้รับการอบรมจากเจ้าอาณานิคมชาวตะวันตกให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกไปจนกระทั่งเกลียดชังคนไทย แต่เชียงใหม่และปัตตานียังคงเป็นพายัพและทักษิณของอาณาจักรสยาม เกิดการผสมผสานทางสังคมและวัฒนธรรมจนเกิดสำนึกในความเป็นคนไทยร่วมกัน ทั้งๆ ที่โดยชาติพันธุ์และศาสนาแตกต่างไปจากคนไทยกลุ่มอื่นๆ ของประเทศ

 

กุศโลบายของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ คือการสร้างสำนึกความเป็นคนไทยจากการอยู่ร่วมกันในแผ่นดินเดียวกัน โดยให้ผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดูแลและปกครองกันเองมาโดยตลอด  สิ่งนี้ยังคงยืนยันในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มักมีการกล่าวอ้างกันบ่อยๆ ในเรื่องทางภาคใต้

 

แต่ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย โดยเอาความเป็นคนไทยที่เกิดจากสำนึกร่วมของคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ในดินแดนสยามมาเป็นชื่อประเทศ แล้วกลับเน้นความเป็นคนไทยให้เป็นเรื่องของชาติพันธุ์เดียวที่สืบกันด้วยสายเลือดมาแต่สมัยภูเขาอัลไต น่านเจ้า และสุโขทัย ความเป็นคนไทยจึงกลายเป็นเรื่องของเชื้อชาติ [Race] ที่ปัญญาชนทั้งโลกลงความเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ พิสูจน์อะไรไม่ได้ เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความล้าหลังทางวัฒนธรรม

 

ความขัดแย้งที่เป็นอันตรายมาจนทุกวันนี้ก็คือการรังเกียจเดียดฉันท์และกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในประเทศว่าไม่ใช่คนไทย เป็นแขก เป็นลาว เป็นมอญ เป็นเขมรไป ทั้งๆ ที่ผู้คนเหล่านั้นถือกำเนิดในแผ่นดินสยามมาหลายชั่วคนก็ตาม

 

แต่ที่น่าทุเรศก็คือ ได้มีคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนและไม่มีสำนึกทางชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตนจำนวนหนึ่ง ราว ๔๐ ปีที่ผ่านมานี้ ได้เข้ามาเป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง โดยอาศัยจุดอ่อนทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีในการอ้างความเป็นคนไทยในลักษณะที่เป็นเชื้อชาติ [Race] มากกว่าสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม หาผลประโยชน์และอำนาจใส่ตัวเองและพวกพ้อง โดยใช้สื่อทางการตลาด ทางวัตถุนิยม และปัจเจกบุคคลนิยม มอมเมาให้เกิดสังคมมหาชน ที่แลเห็นคนไทยโดยสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มทางศาสนาอื่นว่าไม่ใช่เป็นคนไทยไป กลายเป็นคนต่างถิ่น คนต่างแดนที่สร้างความปั่นป่วนและความเดือดร้อนให้แก่ชาติบ้านเมือง

 

กรณีความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้อันเป็นท้องถิ่นของกลุ่มคนมุสลิมที่เคยเป็นรัฐปัตตานีมาก่อน คือตัวอย่างของการกระทำที่ทำให้สังคมมหาชนตำหนิและลงโทษ โดยชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กับการเป็นรัฐโบราณและการนับถือศาสนาอิสลามร่วมกัน ทำให้คนเหล่านี้เรียกตนเองว่าคนตานี แต่มีสำนึกของการเป็นคนไทยที่อยู่ในแผ่นดินสยามมาช้านาน และสำนึกของการเป็นคนตานีและคนไทยดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่คิดและรู้สึกว่าตนเองเป็นพวกเดียวกันกับคนมาเลย์ ซึ่งหมายถึงผู้คนที่อยู่ในดินแดนประเทศมาเลเซียแต่อย่างใด

 

ความเป็นคนตานีนั้นมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับแผ่นดินเกิดคือมาตุภูมิ และมาตุภูมิที่ว่านี้ก็คือดินแดนที่เคยเป็นรัฐปัตตานีมาก่อน ที่มีทั้งอ่าวปัตตานี พื้นที่ทุ่งราบและป่าเขาในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งปัจจุบันก็มีคนไทยพุทธอยู่ร่วมด้วยกันมาช้านาน

 

 

ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามที่สร้างความเคลื่อนไหวในเรื่องชาตินิยมและเชื้อชาตินิยม คนตานีถูกรังเกียจว่าเป็นคนไทยชั้นที่สองมาโดยตลอด  แต่นั่นก็เป็นเรื่องการสร้างความขัดแย้งในด้านความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองเป็นสำคัญ  แต่ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา จนกระทั่งบัดนี้ เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น อันเป็นเรื่องที่มาจากทางเศรษฐกิจและการเมือง

 

ชีวิตที่เรียบง่ายและสมดุลทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในมิติของเศรษฐกิจแบบพอเพียงและยั่งยืนของคนตานีถูกคุกคามโดยอมนุษย์จากภายนอก ทำให้เกิดความเกลียดชังอย่างสะสมของคนตานีที่มีต่อบรรดาอมนุษย์ที่มาจากข้างนอกและที่อยู่ภายในอย่างเหลืออด ความรุนแรงถึงขั้นฆ่าฟันกันจึงเกิดขึ้น 

 

ซ้ำร้าย รัฐและสังคมมหาชนกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการประนามคนตานีว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน จึงต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดด้วยการปราบปรามด้วยกำลังทหาร ตำรวจ และอาวุธ รวมทั้งประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่มาตุภูมิของคนตานี

 

 

ในขณะนี้ความรุนแรงเริ่มบานปลายจนไม่น่าจะควบคุมสถานการณ์อันใดได้ ไม่มีความสงบสันติสุขในพื้นที่อันเป็นมาตุภูมิของคนตานี รัฐประสบความสำเร็จในการทำให้สังคมมหาชนของประเทศไทยยอมรับความชอบธรรมในการปราบปรามที่รุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะและตากใบ

 

แต่ในสังคมของคนมุสลิมทั้งที่อยู่บนคาบสมุทรและหมู่เกาะที่มีผู้คนกว่า ๓๐๐ ล้านคนไม่พอใจต่อการกระทำรุนแรงต่อมุสลิม ที่คนไทยพุทธในสังคมมหาชนของประเทศไทยที่มีเพียง ๖๐ ล้านคนแลเห็นว่าเป็นการชอบธรรม จึงเป็นสิ่งที่กลายมาเป็นจุดสนใจของผู้คนในระดับมหาโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อันความคิดและการกระทำของรัฐและสังคมมหาชนที่เกี่ยวกับความรุนแรงดังกล่าวนี้ เป็นการมองแต่เพียงภายในของตนเองและบ้านเมือง หาได้ตระหนักถึงการที่จะต้องอยู่ในสังคมโลกร่วมกับสังคมอื่นภายนอกไม่ 

แต่ความเป็นจริงที่ต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งก็คือ ไม่มีประเทศไหน บ้านเมืองไหนอยู่โดดๆ ตามลำพังได้ในโลกนี้  การกล่าวหาใน

เรื่องการแบ่งแยกดินแดนอาจจะเป็นที่รับรู้โดยสังคมของมหาโลก ในมุมกลับกันกับสังคมมหาชนของประเทศไทยก็ได้ นั่นคือมหาโลกอาจจะเห็นด้วยกับการให้ดินแดนสามจังหวัดภาคใต้แบ่งแยกออกไปเป็นอิสระตามความต้องการของคนมุสลิม ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็นับเป็นการเข้าทางของกลุ่มผู้มุ่งหวังจะแยกดินแดนที่อาจจะมีเพียงคนไม่กี่คนเท่านั้น 

 

ความเจ็บปวดเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นกับคนตานีและคนไทยพุทธส่วนใหญ่ที่ไม่เคยบอกและเคยคิดว่าจะแยกดินแดนไปจากสยามประเทศแต่อย่างใด

 

แต่ที่น่ากลัวและต้องระวังก็คือ พวกที่เป็นมหามิตร เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และพรรคพวกที่แม้จะเป็นปรปักษ์กับคนมุสลิม แต่ก็ต้องการสร้างสงครามเย็นด้วยการแสดงบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์โลก ได้ตัดสินว่าดินแดนตานีไม่น่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทย และให้กลายเป็นรัฐอิสระไป

 

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นรัฐไทยและสังคมมหาชนกล้าหาญอันใดที่จะขัดขืนมหามิตร เช่น อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสเลย ทำให้นึกถึงการเสียเขาพระวิหารครั้งสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อ ๔๐ ปีที่ผ่านมา

 

เหตุอย่างหนึ่งที่คล้ายเป็นลางบอกเหตุก็คือ คนในสามจังหวัดภาคใต้ได้ปฏิเสธรัฐบาลในการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว

 

ศรีศักร วัลลิโภดม : บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๑ ฉ.๑ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๔๘)

 

 

อัพเดทล่าสุด 15 ธ.ค. 2560, 15:13 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.