อันเนื่องมาจาก 31 August “Hari Merdeka”
สำนึกการสร้างชาติ Malaysia ในรัฐมลายู และ สำนึกสยามในรัฐชาติไทย
ในห้วงเวลา 55ปี นับตั้งแต่คืนวันที่ 30สิงหาคม 1957ที่ฝูงชนรวมตัวกันที่สนาม Royal Selangor club ในกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเป็นสักขีพยานการรับมอบอำนาจจากอังกฤษ ไม่เพียงแต่เป็นการประกาศถึงความเป็นอิสระของสหพันธรัฐมาลายาจากการปกครองอาณานิคมของอังกฤษเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประเทศ Malaysia อันหมายถึงการรวมตัวของรัฐต่างๆ เป็นหุ้นส่วนในการสร้างประเทศใหม่ขึ้นมาในนาม “ประเทศมาเลเซีย”
เมือง Kuala Lumpur เมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครองของประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ในดินแดนของรัฐ Selangor ก็ถูกซื้อโดยรัฐบาลกลางมาเลเซีย ประกาศเป็นเขต Wilayah Perseketuan แปลว่า Federal Area หมายถึง พื้นที่ของรัฐบาลกลางมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่กลางของทุกๆ รัฐที่ร่วมเป็นหุ้นส่วนในการก่อตั้งประเทศมาเลเซีย ถึงแม้ว่าจะตั้งอยู่ใจกลางรัฐ Selangor ก็ตาม
เมื่อถามชาวมาเลเซียถึงถึงวีรบุรุษหรือบุคคลสำคัญของมาเลเซีย คำตอบที่เราจะได้คือ ตนกูอับดุลเราะห์มาน, ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนหรือแม้กระทั่ง ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด และเมื่อถามถึงวีรบุรุษที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์มลายู และรู้จักกันอย่างแพร่หลายในโลกมลายู เช่น Hang Tuah คำตอบที่ได้รับคือ Hang Tuah เป็นวีรบุรุษของมลายูและเป็นวีรบุรุษของมะละกา ไม่ใช่วีรบุรุษของชาติมาเลเซีย
ในด้านภาษาและขนบธรรมวัฒนธรรม คนในรัฐต่างๆ เช่น Kelantan, Terengganu, Kedah, Negeri Sembilan, Johor ต่างก็มีสำเนียงภาษาและขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ก็จะปรับเปลี่ยน Mode เป็น Bahasa (หมายถึง ภาษามลายูสำเนียงกลาง) หรือภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็วและไม่สับสน เมื่อพูดกับคนในรัฐอื่น ส่วนคนมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดียหรือคนต่างชาติ จะพูดภาษาถิ่นเฉพาะกับคนในรัฐเดียวกับตนเท่านั้น
ในระบบการปกครอง แต่ละรัฐต่างก็มีกฎหมายเฉพาะของรัฐ นอกเหนือจากกฎหมายกลางของประเทศ สุลต่านของรัฐต่างๆ มีความสำคัญเฉพาะในรัฐของตนองเท่านั้น และภารกิจต่างๆ ในราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับสุลต่านที่จะต้องปฏิบัติในนามประเทศมาเลเซีย จะถูกปฏิบัติผ่าน Agong ซึ่งเป็นประมุขของบรรดาสุลต่าน ที่ผ่านการคัดเลือกจากมติของบรรดาสุลต่าน โดยจะดำรงอยู่ในวาระ 4ปี (แต่สุลต่านประจำรัฐ จะอยู่ในวาระตลอดพระชนม์ชีพ และสืบทอดโดยทายาทในสายตระกูลสุลต่าน)
วันหยุดต่างๆในประเทศมาเลเซีย ก็จะถูกแยกออกเป็นวันสำคัญของชาติซึ่งเป็นวันหยุดของทั้งประเทศ เช่น วันประกาศเอกราช ต่างจากวันสำคัญของรัฐ เช่น วันประสูติของสุลต่าน ก็จะประกาศเป็นวันหยุดเฉพาะรัฐนั้นๆ ส่วนวันสำคัญทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวัน Aidil Fitri และ Aidil Adha ของชาวมุสลิม Depawali ของชาวฮินดู และ Kongsi Fachai หรือ ตรุษจีนของชาวจีน ต่างก็เป็นวันหยุดของชาติที่มีจำนวนวันหยุดเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
สิ่งต่างในประเทศมาเลเซียที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่มีการประกาศเอกราชมา รัฐบาลมาเลเซียมีความพยายามตลอดมาในการสร้างสำนึกของความเป็นชาติมาเลเซีย และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการก้าวพ้นสำนึกของแต่ละรัฐ ซึ่งเคยเป็นรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นต่อกันมาก่อน ไปสู่สำนึกรวมของการเป็นชาติมาเลเซีย ร่วมกันพัฒนา นำพาชาติมาเลเซียไปสู่การแข่งขันระดับสากล โดยที่แต่รัฐบาลชาติมาเลเซีย ไม่เคยที่จะมีนโยบายใดๆ ในการกลืนหรือลบล้างประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของรัฐดั้งเดิมเหล่านั้น
หันมาดูประเทศไทย ในห้วงเวลาเกือบ 80ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อ 24มิถุนายน พ.ศ. 2475และการสละราชสมบัติของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 2มีนาคม พ.ศ.2477รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามมาเป็น “ประเทศไทย” เมื่อ วันที่ 24มิถุนายน พ.ศ. 2482นั้น ควรจะนับได้ว่าเป็นการตกลงที่จะยุติบทบาทการเป็นประเทศสยาม เปลี่ยนมาเป็นประเทศใหม่ในนาม “ประเทศไทย” อันหมายความว่า เป็นการรวมตัวของคนเชื้อชาติต่างๆ ในอาณาเขตของประเทศ มาร่วมหุ้นเพื่อสร้างประเทศชาติสมัยใหม่ที่มีนามว่า “ประเทศไทย”
ตลอดระยะเวลาที่รัฐชาติไทยใช้ชื่อว่า “ประเทศไทย” ตั้งแต่เริ่มแรกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน รัฐชาติไทยไม่เคยมีพัฒนาการในการสำนึกถึงความเป็น “ชาติไทย” ได้อย่างแท้จริง ซ้ำร้ายรัฐชาติไทยกลับสลัดสำนึกความเป็น “ชาติสยาม อยุธยา– รัตนโกสินทร์” ไม่พ้น
ในเรื่องนี้ คงต้องยกเครดิตให้กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ที่สามารถสร้างสำนึกความเป็น “ชาติสยาม อยุธยา–รัตนโกสินทร์” ในประเทศไทยอย่างได้ผลจนเกือบค่อนประเทศ ยกเว้นในดินแดนที่เคยเป็นรัฐปาตานีเท่านั้นที่การยัดเยียดสำนึกความเป็น “ชาติสยาม อยุธยา– รัตนโกสินทร์” ไม่เคยประสบความสำเร็จ หรืออาจกล่าวได้ว่า “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”
การเปลี่ยน “สยามประเทศ” มาเป็นประเทศไทย ควรเป็นการรวมคน เชื้อชาติและรัฐประเทศราชต่างๆในประเทศ มาร่วมกันสร้างสำนึกใหม่ในนามสำนึกของ “ชาติไทย” ซึ่งเป็นชาติใหม่ เพื่อร่วมกันนำพา “ประเทศไทย” ไปสู่การพัฒนาและแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างผาสุก เหมือนเช่นที่ประเทศมาเลเซียสามารถก้าวพ้นสำนึกของรัฐ ไปสู่สำนึกของประเทศได้อย่างปราศจากอุปสรรค
เหตุใดที่การยัดเยียดสำนึกความเป็น “ชาติสยาม อยุธยา–รัตนโกสินทร์” ไม่เคยประสบความสำเร็จในดินแดนรัฐมลายูปาตานี ทั้งนี้เพราะ อาณาจักรสยามอยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ กับ รัฐปาตานี มีสถานะที่เป็นเจ้าประเทศราชและเมืองประเทศราชมาก่อน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในสถานะที่มีความต่างกันในศักดิ์ศรี มีสถานะที่เป็นนายและเชลย รวมทั้งความต่างจากพื้นที่ที่เคยเป็นประเทศราชของสยามในด้าน เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต
นโยบายที่สร้างสำนึกของความเป็น “ชาติสยาม อยุธยา–รัตนโกสินทร์” ที่กล่าวมาข้างต้นยิ่งทวีความรุนแรงเท่าใด คนมลายูปาตานี ก็จะยิ่งสร้างสำนึกของ “รัฐปาตานี”อย่างเข้มข้นเท่านั้น เพื่อเป็นการตอบโต้ และรักษาไว้ซึ่งอัตตลักษณ์ของตน จนนำไปสู้ปัญหาความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและกระจายไปในวงกว้างในที่สุด
ไส้ในของสำนึก “ชาติสยาม อยุธยา– รัตนโกสินทร์” ที่ถูกห่อหุ้มด้วยและโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น “สำนึกประเทศไทย” ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ก็คือ เรื่องวีรบุรุษของชาติไทย ซึ่งในแบบเรียนที่มีมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบัน ก็มีการเชิดชู วีรกรรมของพระมหากษัตริย์อยุธยา มาเป็นวีรบุรุษของชาติไทย ยัดเยียดให้กลุ่มเมืองประเทศราชเดิมให้นับถือและเชิดชู เป็นเรื่องผิดธรรมชาติที่คนในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งแต่เดิมจะหันไปยอมรับคู่ขัดแย้งฝ่ายตรงข้ามได้อย่างสนิทใจ
จริงอยู่ที่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ที่ควรยกย่องเชิดชูอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ควรยกย่องเชิดชูจำกัดเฉพาะพื้นที่ที่บุคคลเหล่านั้นมีคุณูปกรณ์เท่านั้น หาใช่ทั้ง “ประเทศไทย” ไม่ ตัวอย่างเช่น ในกรณีสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีพระปรีชาสามารถสูงยิ่งในหลายๆด้าน และทรงมีบุญคุณที่พลเมืองของ “เมืองอยุธยา” ต้องสำนึก เพราะวีรกรรมการกอบกู้เอกราชจาก “หงสาวดี” แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นบุญคุณที่ “เมืองปาตานี” หรือ “เมืองเชียงใหม่” ต้องสำนึกที่ตรงไหน เพราะคือการเปลี่ยนสถานะจากการเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีมาสู่การเป็นเมืองขึ้นของเมืองอยุธยา ซึ่งอยู่ในสถานะของเมืองประเทศราชอยู่ดี (หาได้เป็นเอกราชไม่)
ต่างกับกรณีของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี (ที่นับเฉพาะ)ตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนมาถึงพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของ “ประเทศไทย” เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำนั้น เป็นสิ่งที่พลเมืองของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น “ปาตานี” หรือ “เชียงใหม่” ต่างก็ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น เช่น ในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สละพระราชอำนาจของพระองค์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งประเทศ และ พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่คำนึงถึงผลประโยชน์และความผาสุกของพลเมืองทั้งหมดใน “ประเทศไทย”
สำนึกของข้าราชการใน “ประเทศไทย” โดยเฉพาะสำนึกเบื้องลึกของข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เป็นสำนึกของข้าราชการ “ชาติสยาม อยุธยา–รัตนโกสินทร์” ในคราบ “ชาติไทย” หรือ เป็นสำนึกของข้าราชการ “ชาติไทย” อย่างแท้จริง ถ้าสำนึกของข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เป็นสำนึกของข้าราชการ “ชาติสยาม อยุธยา– รัตนโกสินทร์” ในคราบ “ชาติไทย” ก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้วที่การแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นไปด้วยความรุนแรง แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และไม่จำเป็นต้องมีความปรานี เพราะ ”ปาตานี” คือ เมืองประเทศราช เป็นปรปักษ์ เป็นศัตรู และเป็นขบถ แต่ถ้าสำนึกของข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เป็นสำนึกของข้าราชการ “ชาติไทย” อย่างแท้จริงแล้ว ก็ย่อมดำเนินนโยบายที่เป็นธรรม และมีความเมตตา ปรานี เพราะ “คนปาตานี” ได้เปลี่ยนจากคนในเมืองประเทศราช กลายเป็น “เพื่อนร่วมชาติไทย” นับตั้งแต่ พ.ศ.2475ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการสละราชสมบัติของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 2มีนาคม พ.ศ.2477รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามมาเป็น “ประเทศไทย” เมื่อ วันที่ 24มิถุนายน พ.ศ. 2482
80ปีมาแล้ว ที่ประเทศไทยหลงทางกับจิตสำนึกที่คลาดเคลื่อน ถึงเวลาหรือยังที่ “ประเทศไทย” จะทบทวนและตั้งหลักเสียใหม่ เพื่อร่วมมือกันสร้าง “สำนึกประเทศ” ที่แท้จริงอย่างที่ควรเป็น เหมือนอย่างที่ประเทศมาเลเซียเริ่มต้นสร้างเมื่อ 55ปีก่อน
Najib Bin Ahmad
August 31, 2012