หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
มองความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านพื้นที่วัฒนธรรมของท้องถิ่น
บทความโดย งามพล จะปากิยา
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.ย. 2555, 15:16 น.
เข้าชมแล้ว 5753 ครั้ง

มองความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านพื้นที่วัฒนธรรมของท้องถิ่น

 

 

งานมหกรรมกีฬาตาดีกาศรีสาครสัมพันธ์ครั้งที่ ๔

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยากล่าวว่า เราสามารถศึกษาโครงสร้างทางสังคมหนึ่งๆ ได้โดยผ่านการพิจารณาระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสภาพแวดล้อม ตลอดจนคนกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติในระบบความเชื่อต่างๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นชีวิตวัฒนธรรมและภูมิวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมท้องถิ่น 

 

ในสังคมมลายูท้องถิ่นใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้นั้น “งานแต่งงาน” แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์การเชื่อมโยงของคนในสังคมได้อย่างดี

 

การจัดงานแต่งงานในอดีตนั้นต้องใช้เวลาในการเตรียมงานเป็นเดือนๆ  ต้องถางพงดายหญ้าเตรียมพื้นที่ ต้องไปตัดไม้ไผ่ในป่ามาทำที่ทำงานกันแดดฝน ต้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น มะพร้าว ข้าวสาร จานหม้อ คนทั้งหมดในหมู่บ้านต้องออกมาช่วยกัน ช่วยออกแรง ช่วยออกของ หรือให้หยิบยืมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการดำเนินงาน ญาติพี่น้องที่อยู่ไกลเดินทางมาช่วยงานก็ไม่ได้มาคนเดียว แต่หอบลูกจูงหลานมาเป็นโขยง เหลือแต่พวกผู้ชายเฝ้าบ้าน มาอยู่ช่วยงานก่อนวันงานเป็นอาทิตย์ๆ หลังจากวันงานแล้วก็ยังไม่กลับ อยู่ต่ออีกหลายวัน ยิ่งใกล้วันงานก็แทบไม่ได้หลับได้นอนกัน บ้านงานเต็มไปด้วยผู้คนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ กลางคืนนอนกันยาวเหยียดเต็มบ้าน หากบ้านงานมีที่ไม่พอก็ต้องแบ่งไปนอนบ้านญาติคนอื่นใกล้ๆ กัน 

 

พิธีกรรมการแต่งงานเสมือนเป็นพื้นที่ซึ่งญาติพี่น้องและคนในสังคมท้องถิ่นนั้นได้พบปะกัน เด็กๆ ได้รู้จักญาติพี่น้องของเขาที่อยู่ไกลๆ เป็นการเริ่มต้นการสืบสานความสัมพันธ์ของคนรุ่นต่อไป คนหนุ่มสาวได้รู้จักและมีโอกาสคุยกัน กลุ่มผู้ชายผู้หญิงได้พบปะพูดคุยกันแลกเปลี่ยนข่าวสาร คนที่นี่ได้รู้เรื่องราวของคนที่อื่นที่มาช่วยงาน และคนแก่ได้พบลูกหลานได้ทบทวนความทรงจำในอดีต

 

ในงานแต่งงานมีคนหลายกลุ่มมาช่วยกัน แต่ละกลุ่มจะมีความชำนาญของตัวเอง กลุ่มเชือดวัว กลุ่มแล่เนื้อ กลุ่มหุงข้าว กลุ่มปอกมะพร้าว กลุ่มขูดมะพร้าว กลุ่มต้มซุป เหล่านี้เป็นงานพวกผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีกลุ่มหั่นผัก กลุ่มปอกหัวหอม กลุ่มหุงข้าวเหนียว พวกวัยรุ่นชายช่วยล้างจาน งานบริการ วัยรุ่นหญิงไปเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ผู้หญิงในส่วนกลุ่มต่างๆ แล้วยังมีคนในตำแหน่งอื่นๆ อีกมาก เช่น แม่งานพ่องาน คนประสานงานย่อย เจ้าสาว เพื่อนเจ้าสาว พวกเขาจะมีความชำนาญในงานของตัวเอง เมื่อมีงานแต่ละคนจะรู้เองว่าตนเองต้องไปอยู่ที่จุดไหน นและแต่ละกลุ่มจะมีความสัมพันธ์ด้านอื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น กลุ่มดื่มกาแฟร้านเดียวกัน กลุ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุก กลุ่มบ้านใกล้กัน ฯลฯ

 

ข้าวของเครื่องใช้ในการแต่งงานต้องไปหยิบยืมมาล่วงหน้าก่อนวันงาน ในการยืมข้าวของเครื่องใช้คนอื่นนั้น จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก่อน หากความสัมพันธ์ไม่ดีหรือไม่เคยช่วยเหลือคนอื่น เขาก็ไม่ให้ยืม เป็นการสร้างสำนึกการพึ่งพาช่วยเหลือกันและกัน

 

ส่วนบรรยากาศในงาน หน้างานหลังงานเต็มไปด้วยเสียงจ้อกแจ้กของผู้คน บวกกับเสียงโฆษกที่เปิดเพลงอยู่ตลอดเวลา ดังบ้างเบาบ้าง และคอยพูดต้อนรับแขกเหรื่อที่มาถึง พูดขอบคุณและกล่าวอวยพรให้แขกที่กินข้าวเสร็จแล้วเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

 

หลังงานเลิกรา ชาวบ้านแต่ละกลุ่มจะกุลีกุจอกับงานของตัวเอง ต่างส่งเสียงสั่งของที่ตนเองขาดอยู่ เสียงแซวกันไปแซวกันมาของแต่ละกลุ่ม สำทับเหน็บแนมกันว่าอีกฝ่ายทำงานช้า วิพากษ์วิจารณ์ภายในกลุ่มว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ทำงานไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ไม่มีใครถือโกรธ เพราะเป็นน้ำเสียงที่สนุกสนานเฮฮา กลุ่มผู้หญิงก็พูดซุบซิบกันเล่าเรื่องเหตุการณ์ในหมู่บ้านตนเอง เล่าเรื่องคนในหมู่บ้านไม่กล้าไปกรีดยางเพราะมีทหารมาลาดตระเวนบริเวณนั้น บางทีมีเรื่องสนุกเกิดขึ้น เช่น ระหว่างงานมีเฆมสีดำทะมึนคลุมทั่วท้องฟ้าพร้อมกับสายลมที่แรงขึ้นเรื่อยๆ หลายคนกังวลใจและมีเสียงพูดถามว่าเจ้าของงานไปทำพิธีห้ามฝนหรือยัง บ้างบอกว่าทำแล้ว บ้างบอกว่าไม่รู้ บางคนเล่าเรื่องบอมอ (หมอพื้นบ้าน) ที่ทำพิธีห้ามฝนว่ามีอยู่ที่นั่นที่นี่ สักครู่กระแสลมเริ่มแรง ฝนเริ่มตกและหนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงบอมออีกแล้ว ต่างคนต่างวิ่งหาที่หลบฝนกันจ้าละหวั่น

 

เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรมงานแต่งงานในท้องถิ่นมลายู ซึ่งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมพื้นที่หนึ่งที่สามารถสะท้อนเรื่องราวและมุมมองความสัมพันธ์ในสังคมท้องถิ่นได้ระดับหนึ่ง

 

ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ในสังคมท้องถิ่นในอีกพื้นที่ทางวัฒนธรรมหนึ่งคือ ใน “งานตาดีกา” (‘ตาดีกา’ เป็นโรงเรียนสอนพื้นฐานด้านศาสนาและวัฒนธรรมมลายูมุสลิมแก่เด็กในท้องถิ่น ส่วนใหญ่อยู่บริเวณเดียวกับมัสยิด) งานหนึ่งในท้องถิ่น ในใบโครงการมหกรรมตาดีกาสัมพันธ์มีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ เป็นคณะทำงานร่วมยี่สิบ และคณะกรรมการรวมกันแล้วเกือบ ๒๐๐ คน มีตั้งแต่ข้าราชการตำแหน่งสูงของอำเภอ ข้าราชการท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการหลายหน่วยงานของอำเภอ ผู้นำศาสนาประจำอำเภอ และผู้นำศาสนาในท้องถิ่น เป็นต้น

 

 

เด็กๆ กับการเล่นกีฬา

 

มีโรงเรียนตาดีกาเกือบทุกมัสยิดในอำเภอมาร่วม รวมแล้วประมาณ ๓๕ แห่ง ทั้งครูตาดีกาและนักเรียนรวม ๕๐๐ คน ในงานที่ผู้เขียนไปร่วมได้พบความไม่สะดวกหลายๆ อย่าง อาทิ ห้องน้ำมี ๔ ห้อง สร้างแบบชั่วคราวโดยล้อมรั้วสังกะสี ใช้เชือกเถาวัลย์ผูกให้ติดกัน เข้าไปมีอุจจาระเต็ม น้ำในถังไม่มี ที่ละหมาดใช้โรงสีร้างที่อยู่ใกล้กัน น้ำดื่มมีจำนวนจำกัด อีกด้านเป็นร้านขายเครื่องดื่มและอาหาร บางครั้งน้ำดื่มขาดและไม่มีคนคอยทำหน้าที่ประสานงานเพื่อความสะดวกในงาน 

 

ครูตาดีกาคนหนึ่งกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้แย่มาก กว่าจะได้เริ่มงานก็เกือบ ๑๑ โมงเช้า ทั้งที่เด็กๆ เดินพาเหรดเสร็จตั้งแต่ ๙ โมงเช้า น้ำดื่มขาด อาหารไม่ครบ ไม่มีคนคอยประสานงาน  คนในท้องถิ่นคนหนึ่งกล่าวว่า นายก อบต. กับกำนันในท้องถิ่นไม่ถูกกัน ทำให้งานสับสนไปหมด สมาชิก อบต. บางคนก็ไม่มาช่วย บางคนขอให้ช่วยอะไรไม่ได้เลย  ในงานแม้จะมีปัญหามาก แต่สังเกตได้ว่าเป็นชาวบ้านธรรมดาและครูตาดีกาที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการต่างช่วยกันอย่างเต็มที่ ช่วยตามที่พวกเขาเคยช่วยในงานแต่งงานหรืองานตาดีกาภายในท้องถิ่นของตนเอง ทำให้งานพอดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง   

 

ตัวอย่างจากการจัดงานทั้งสองแห่งเกิดขึ้นในสังคมมลายูท้องถิ่นเดียวกัน แต่ลักษณะความสัมพันธ์ที่ปรากฏให้เห็นในกิจกรรม เช่น ความร่วมมือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันแตกต่างกันมาก

 

ผู้เขียนพบว่าโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างเป็นธรรมชาตินั้น ต้องเกิดขึ้นจากภายในสังคมท้องถิ่นนั้นก่อน ต้องผ่านการทำงานร่วมกัน ผ่านการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นความคุ้นเคย จึงจะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

 

ส่วนความสัมพันธ์ในสังคมที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งจากภายนอก เป็นความสัมพันธ์ที่พวกเขาแสดงต่อกัน ความคิดและการกระทำผ่านพื้นที่วัฒนธรรมที่มีโครงสร้างความสัมพันธ์แบบจัดตั้งนั้นเป็นเพียงเสมือนการแสดงให้ผ่านๆ ไป          

      

ในสังคมมลายูท้องถิ่นปัจจุบัน ความสัมพันธ์ในท้องถิ่นที่เกิดจากโครงสร้างความสัมพันธ์ที่คนในท้องถิ่นกำลังถูกคุกคามอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจจากอิทธิพลจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ส่วนใหญ่แล้วยังขาดความเข้าใจต่อลักษณะความสัมพันธ์ของพื้นที่ เมื่อต้องทำกิจกรรมผ่านพื้นที่วัฒนธรรมของท้องถิ่น การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นผู้ประสานความสัมพันธ์ในกิจกรรมให้งานดำเนินลุล่วงไปด้วยดีไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง  ทำให้กิจกรรมไม่สะดวกราบรื่น กลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี และที่สำคัญกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ในพื้นที่วัฒนธรรมเดียวกัน ผู้เขียนคิดว่าเป็นรอยร้าวที่ค่อยๆ แตกและค่อยๆ แยกความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นให้กลายเป็นความขัดแย้งในอนาคตต่อไป

 

 

งามพล  จะปากิยา

นักวิจัยในกลุ่มศึกษานิเวศวัฒนธรรมสามจังหวัดชายแดนใต้ จากอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส

 

หมายเหตุจากผู้อ่าน : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๕ (กรกฎาคม–กันยายน ๒๕๕๕)

ภูมิวัฒนธรรม >ชีวิตวัฒนธรรม

อัพเดทล่าสุด 28 ก.ค. 2559, 15:16 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.