สามจังหวัดภาคใต้..... เขตปกครองพิเศษแบบช่วยเหลือตนเอง
หลังจากหมดยุคของกลุ่มวาดะห์ และเริ่มเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนมลายูมุสลิมแทบจะไม่ได้ตั้งความคาดหวังใดๆกับหน่วยงานของรัฐไทยและนักการเมืองอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใดๆ, การหาเสียงของนักการเมืองที่เพ้อฝันถึงเมกาโปรเจค ที่อ้างว่าจะสร้างเพื่อพัฒนาสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น หรือราคายางพาราจะขึ้นหรือตก สำหรับคนมลายูมุสลิมในตอนนี้ ไม่ได้มีความสำคัญมากกไปกว่าลู่ทางในการไปทำงานที่มาเลเซีย ไม่มากไปกว่าการที่สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ของมุสลิม เปิดระดมหุ้นเพื่อสร้างโครงการต่างๆทางธุรกิจ
ในระบอบการศึกษาของประเทศไทย ไม่ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลใด ก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน คือ ระบบการศึกษาที่ยิ่งเรียน ยิ่งล้าหลัง เด็กคนมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ๆ ไม่ให้ความสำคัญกับการสอบเอนทรานส์เพื่อเข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศ ทัศนคติและค่านิยมในการติดเอนทรานส์มหาวิทยาลัยของรัฐ ก็ไม่เท่ากับการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐในมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ปัจจุบันคนมลายูมุสลิมเริ่มนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนในมาเลเซีย ในระดับมัธยมมากขึ้น เพราะไม่ว่าโรงเรียนของรัฐและเอกชนหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ก็มีมาตรฐานและคุณภาพที่แย่ลงไปทุกวัน
จุฬาราชมนตรี ประมุขทางศาสนาอิสลาม จะเป็นใคร จะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะออกฟัตวา(คำชี้ขาดทางาสนา)ใดๆ สำหรับคนมลายูมุสลิมแล้ว ไม่มีน้ำหนักเท่าคำคำพูดของ Datok Nik Azizมุขมนตรีรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
กฎหมายและระบบยุติธรรมจะเป็นอย่างไร มีความยุติธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่ คนมลายูมุสลิมก็ไม่ใส่ใจแล้ว แต่จะปล่อยไปตามเวรตามกรรมและให้ความคาดหวังกับความเมตตา ความโปรดปรานจากพระเจ้าแทน
และจากปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ที่แบ่งฝ่าย แบ่งพวก อย่างที่ยากจะปรองดองกันได้ การเมืองที่แพ้ในรัฐสภาแต่หวังที่จะชนะนอกสภา คนมลายูมุสลิมก็ไม่ได้คาดหวังใดๆกับ สส.ผู้ทรงเกียรติในพื้นที่และในประเทศไทยอีกแล้ว แต่กลับไปให้ความหวังและร้องขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองมาเลเซียแทน
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 Datok Seri Muhammed Nazri Bin Tanseri Abdul Azizรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ประเทศเทศมาเลเซีย ได้มอบอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนเอกชนสอยศาสนาอิสลามถึง 25แห่ง ในสามจังหวัดภาคใต้ ตามคำร้องขออนุเคราะห์ของคนมลายูมุสลิม โดยที่ไม่ผลได้ใดๆทางการเมืองเลย
ในวันที่ Datok Seri Muhammed Nazri Bin Tanseri Abdul Azizเดินทางมามอบทุนให้โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับสถานีตำรวจ หรือ แม้กระทั่งตัวแทนของ ศอบต.ก็มาร่วมต้อนรับอย่างพร้อมหน้า น่าขายหน้าที่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าบ้าน ยอมรับการช่วยแขกจากอาคันตุกะโดยไม่มีความตะขิดตะขวงใจใดๆเลย
หลายๆข้อที่ข้าพเจ้ายกตัวอย่างมาข้างต้น คงพอที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า คนมลายูมุสลิม หมดศรัทธาและไม่ได้ตั้งความหวังอะไรกับรัฐไทยแล้ว เสมือนว่า หากคนมลายูมุสลิมต้องการคุณภาพ มาตรฐานชีวิตที่ดีเทียบเท่าที่อื่น ก็ต้องหาทางพึ่งตนเอง
ก่อนที่จะบรรลุในการเรียกร้องเขตปกครองพิเศษ (ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดมาทุกรัฐบาล) คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัด ก็ได้รับสถานะ เขตปกครองตนเองโดยพฤตินัยมานานหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นเขตที่อยากจะได้อะไร ก็ขวนขวายหาเอาเอง หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ “เขตปกครองพิเศษ.... แบบช่วยเหลือตนเอง”
Najib Bin Ahmad
June 1, 2012