“...ผองชนชมชื่อทั้ง ธรณิน สมโภชรัตนโกสินทร์ ศักดิ์ซร้อง
สองศตพรรษโสภิณ เพ็ญภาค พ้นแฮ อันภาพพจน์เพรงพ้อง ภาพย้ำ นำสมัย
กรุงรัตนโกสินทร์ยินยศ ดังทั้ง ธรณี ทิ้งกรุงรุ่งเรืองทวีมีครบ ภาพอาบ อิ่มงาม
ชนไทยใจเริงรื่น โลกชมชื่น ตื่นตาตาม สองร้อยคล้อยปียาม งามบรรจบ สบสมัย...”
ส่วนหนึ่งของบทสดุดีกรุงรัตนโกสินทร์สมโภชครบ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕สะท้อนภาพ อันงดงามยิ่งใหญ่ของงานเฉลิมฉลองครั้งนั้น ที่มีประชาชนร่วมแห่แหนยินดีกับงานพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช ที่จัดขึ้นอย่างใหญ่โตกว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่ก่อนหน้านั้น ครึ่งศตวรรษ กรุงเทพฯ ได้มีงานสมโภชเช่นเดียวกันนี้และมีความยิ่งใหญ่สำคัญไม่แพ้กัน
สีสันบรรยากาศย้อนยุค
ย้อนกลับไปก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงปรารภ ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ว่า อีกไม่กี่ปีกรุงรัตนโกสินทร์จักมีอายุสมัยครบ ๑๕๐ ปี เห็นควรจะสร้างสิ่งรำลึกถึง และเป็นสาธารณะประโยชน์ไว้ด้วย ท้ายสุดจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไว้เป็นสิ่งสักการะ พร้อมกันนั้นทรงมอบให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์(ต่อมาเป็นกรมพระยา) เป็นผู้ออกแบบ โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้น และยังสร้างสะพานเชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการสัญจร สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นผู้อำนวยการสร้างในส่วนนี้ โดยมีกองแบบแผน กรมรถไฟหลวง เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบ และบริษัท ดอร์แมนลอง เป็นผู้ประมูลก่อสร้าง ตัวสะพานนอกจากสร้างด้วยโครงเหล็กที่สามารถยกเปิด-ปิดได้ด้วยกำลังไฟฟ้าแล้ว แนวสะพานยังออกแบบคล้ายลูกศร โดยหัวศรพุ่งไปทางฝั่งธนบุรีและปีกสองข้างท้ายศรอยู่ทางฝั่งพระนคร รูปลูกศรนี้สื่อถึงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๗
สะพานดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระราชทานนามว่า สะพานพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
จากวันนั้นถึงวันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๕) เป็นเวลาได้ ๘๐ ปี พอดี ทางส่วนราชการจึงจัดงาน “เปิดตำนานสะพานพุทธฯ ๘๐ ปี วิถีไทย” ขึ้น ณ บริเวณลานหน้าปฐมบรมราชานุสรณ์ (ร.๑) เชิงสะพานพุทธฝั่งพระนคร ระหว่างวันที่ ๕-๙ พฤษภาคม ตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงค่ำ
จากชื่องานนอกจากมีเรื่องราวของสะพานพุทธฯ ให้ได้ทราบกันแล้ว ยังแสดงวิถีชีวิตแบบไทยๆ ในอดีตให้ดื่มด่ำย้อนยุคอีกด้วย
นิทรรศการเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพาน
บรรยากาศตั้งแต่ย่างกรายเข้าสู่ส่วนจัดงาน ที่สะดุดตาแต่แรกคือ การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ ภายในงานเป็นแบบย้อนยุค ทั้งยังมีกลุ่มคุณลุงสามล้อถีบ อันเป็นวิวัฒนาการการขนส่งที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการสร้างสะพานแห่งนี้ คอยบริการรับ-ส่ง ผู้ร่วมงานเข้าไปด้านใน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามล้อจะพาวนรอบงานและส่งผู้โดยสารตามจุดต่างๆ ที่เต็มไปด้วยซุ้มและเวทีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ส่วนจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเก่าเล่าเรื่องครั้งสร้างสะพาน ที่ได้รับความรู้และเห็นภาพในอดีตพอสังเขป ซุ้มร้านถ่ายภาพเก่าด้วยกล้องแบบโบราณ สังเกตว่าจุดนี้มีผู้เข้าใช้บริการถ่ายภาพจำนวนมาก อาจด้วยมีภาพถ่ายตัวอย่างดาราอย่างอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ แต่งตัวโบราณ ยืนหน้าฉากภาพวาดวิวทิวทัศน์ เป็นสภาพห้องหับย้อนอดีตเป็นตัวโฆษณาเชิญชวน นอกจากนี้ยังมีซุ้มขายสินค้าจิปาถะและของกินกึ่งๆ รูปแบบงานวัด เช่น พวกกะละแม ทองหยิบ ทองหยอด ลูกชุบ ข้าวเกรียบว่าว ฯลฯ รวมถึงซุ้มสินค้า งานหัตถกรรมไทย เช่น เครื่องปั้นดินเผามอญ เกาะเกร็ด การทำหัวโขน หัวโขนจำลอง ให้รำลึกถึงข้าวของแบบไทยที่คุ้นเคยในวัยเยาว์
สำหรับส่วนเวที มี ๒ จุด คือเวทีเล็กด้านข้าง ไว้แสดงนาฏกรรมต่างๆ เช่น รำไทย มวยไทย กระบี่กระบอง ดาบสองมือ ละครย้อนยุค ฯลฯ ที่นับวันจะหาชมยากในสังคมเมือง ส่วนเวทีใหญ่ด้านหน้าปฐมบรมราชานุสรณ์ นอกจากใช้เปิดงานและจัดพิธีการต่างๆ แล้ว ยังเป็นส่วนพื้นที่ตั้งวงเสวนาหลากหลายหัวข้อ เช่น ๘ ทศวรรษเพลงไทยสากล ขนมไทย ประวัติการถ่ายภาพ ประวัติความเป็นมา อันเกี่ยวเนื่องกับการสร้างสะพานพุทธฯ แม้หัวข้อสุดท้ายนี้ได้รับความสนใจจากสื่อและผู้เข้าร่วมงานน้อยกว่าส่วนแสดงรื่นเริงอื่นๆ แต่จากผู้ร่วมพูดคุยซึ่งประกอบด้วยอาจารย์เพ็ญพรรณ เจริญพร คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลับศิลปากร คุณจันทกาญจน์ คล้ายสาย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ เฉลิมพระนคร และคุณพฤฒิพล ประชุมผล รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระนคร ก็ดูน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ลายเส้นรูปแบบสะพานพุทธที่ทำเป็นหัวลูกศร
การเสวนาดังกล่าวมีเนื้อหาหลักถึงเรื่องราวความเป็นมาและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการสร้างสะพานพุทธฯ พร้อมกับทางพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระนคร ยังนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ล้ำค่าที่เกี่ยวข้อง อาทิ เหรียญที่ระลึกการสร้างสะพาน โดยบริษัทดอร์แมนลองสร้างขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง ๗๐ เหรียญถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อมอบให้กับข้าราชบริพารและผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างสะพาน ถ้วยพระราชทานชนะเลิศการประกวดมหรสพที่มีผู้ชมมากที่สุด เมื่อครั้งวันงานฉลองเปิดสะพานรวมถึงหนังสือพิมพ์เก่าจากประเทศฝรั่งเศส “Le Petit Journal” ที่ลงข่าวเสร็จเปิดสะพานและปฐบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๗๕
นอกจากนี้ยังมีการถาม-ตอบปัญหากับประชาชนทั่วไปซึ่งร่วมฟังการเสวนา มีลอตเตอรี่รูปสะพานพุทธฯ ซึ่งออกรางวัลในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ มอบให้เป็นรางวัลสำหรับผู้ตอบคำถามถูกต้อง สร้างความสนุกสนานและเพิ่มพูนความรู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนงานจัดแสดงอื่น
โดยภาพรวมแล้ว “งานเปิดตำนานสะพานพุทธฯ ๘๐ ปี วิถีไทย” นอกจากได้รับความรู้เกี่ยวกับสะพานแห่งนี้เพิ่มเติมแล้ว ยังได้รับความเพลิดเพลินและกลิ่นอายแบบ “วิถีไทย” ทั้งการแสดงงานหัตถกรรมและอาหารการกิน แม้ว่าสัดส่วนอย่างหลังจะมีมากไปกว่าสาระความรู้เรื่องสะพาน ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการจัดงานครั้งนี้ก็ตาม