เรือนแถวไม้โบราณที่เชื่อมต่อกันตลอดริมคลองภาษีเจริญ
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๕ เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคมได้จัดกิจกรรม “เที่ยวตลาด ๕ แผ่นดิน พลิกฟื้นวิถีเกษตร” ณ ย่านบางแคและคลองภาษีเจริญ ตามโครงการท่องเที่ยววิถีถิ่นเพื่อเรียนรู้ชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมพื้นที่สวนผักชานเมืองริมคลองบางแวกของกลุ่มเกษตรกรบางแคเหนือ-บางไผ่ เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำสวนผัก พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนสนทนากับกลุ่มเกษตรกรเกี่ยวกับการอนุรักษ์วิถีการเกษตร ท่ามกลางสังคมเมืองแบบอุตสาหกรรมที่รุกเข้ามาสู่พื้นที่ชานเมืองฝั่งธนบุรีอย่างต่อเนื่อง
ลำดับต่อมาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวตาม “เส้นทางวัฒนธรรมย่านวัดนิมมานรดี บางแค” จุดเริ่มต้นอยู่ที่ “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค”สถานสงเคราะห์คนชราแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๖ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้เข้าเยี่ยมชมและอุดหนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่างๆ ที่ทำขึ้นโดยผู้สูงอายุ ก่อนที่จะเดินเท้าชมย่านการค้าเก่าเลียบริมคลองราชมนตรี คลองภาษีเจริญ และกราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถวัดนิมมานรดี วัดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน
เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำสวนผัก : ภาพจาก facebook เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม
ในอดีตพื้นที่บริเวณจุดตัดกันของคลองราชมนตรีและคลองภาษีเจริญใกล้กับวัดนิมมานรดีนั้น เคยเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี เรียกกันว่า“ตลาดน้ำบางแค” หรือ “ตลาดน้ำวัดนิมมานรดี” ที่เจริญขึ้นหลังจากการขุดคลองภาษีเจริญตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ ก่อนจะเลิกราไปพร้อมการเกิดขึ้นของถนนเพชรเกษม ร่องรอยความรุ่งเรืองทางการค้ายังคงเหลือให้สืบย้อนอดีตได้จากเรือนแถวไม้โบราณที่เชื่อมต่อกันตลอดริมคลอง
ปัจจุบันตลาดริมคลองราชมนตรี มีร้านค้าเปิดขายอย่างคึกคักและยังคงบรรยากาศแบบตลาดโบราณ มีทั้งร้านของกิน ของใช้ ของเล่นต่างๆ บางร้านเปิดกิจการมานานนับสิบปี เช่น ร้านขายยาเอี๊ยะหลงโอสถ จำหน่ายยาแผนจีนและยาแผนปัจจุบัน ร้านวิมลภัณฑ์ จำหน่ายไอศกรีมหลากรสชาติ เป็นต้น จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของตลาดริมคลองราชมนตรีคือ เป็นแหล่งรวมร้านตัดผมและร้านตัดเสื้อสตรี นับดูแล้วมีมากกว่า ๑๐ ร้านเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีท่าเรือหางยาวรับจ้าง ให้บริการแบบเหมาลำไปส่งผู้คนตามคลองราชมนตรีหรือลัดเลาะเข้าคลองสายเล็กๆ ไปตามบ้านสวน
หลังเดินเลาะเลียบริมคลองราชมนตรีแล้วข้ามไปอีกฝากฝั่งหนึ่งของคลองภาษีเจริญ ถึงแม้ว่าจะดูเงียบเหงามากกว่าตลาดริมคลองราชมนตรี แต่ความน่าสนใจของบริเวณนี้อยู่ที่เรือนแถวไม้โบราณที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ในอดีตยุคที่การค้าขายทางลำคลองยังคงรุ่งเรือง เรือนแถวเหล่านี้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและร้านค้า ด้วยจุดเด่นนี้เองทำให้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้มีความพยายามฟื้นฟูตลาดริมคลองขึ้นใหม่โดยสำนักงานเขตภาษีเจริญ ภายใต้คำโปรยว่า “ตลาดน้ำวัดนิมมานรดี ตลาดเก่า ๕ แผ่นดิน”
ลูกสาวของคุณลุงอู๊ด เอี่ยมกำเนิด บรรยายลักษณะของเรือประเภทต่างๆ ผ่านเรือจำลองลำเล็กๆ ฝีมือของลุงอู๊ด
อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำวัดนิมมานรดีไม่ถือว่าประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวมากนัก หากจะวัดกันตามปริมาณของนักท่องเที่ยวเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดเก่าอื่นๆ บรรยากาศการค้าที่คึกคักเหมือนช่วงเปิดตลาดใหม่ๆ จึงลดลงเป็นลำดับ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งบรรยากาศการค้าที่เรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป และไม่หวังผลกำไรมากจนเกินพอดี น่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนน้อยที่สุด
เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม จึงได้พยายามดึงจุดเด่นอีกด้านหนึ่งของตลาดแห่งนี้ขึ้นมา โดยใช้การท่องเที่ยวควบคู่ไปกับเรียนรู้วิถีชุมชน โดยจัดทำเป็นแผนที่วัฒนธรรมย่านวัดนิมมานรดีขึ้น รวบรวมสถานที่ที่น่าสนใจ และได้แลกเปลี่ยนความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากคำบอกเล่าโดยคนเก่าแก่ในย่านนี้
“เรือชะล่า” ภาพสะท้อนการค้าและการขนส่งทางลำคลอง ในอดีตใช้ขนส่งผลผลิตต่างๆ เช่น ข้าว มะพร้าว
อาจารย์สุโชติ ดาวสุโขหรือ อ.เล็ก เป็นคนเก่าแก่ในย่านวัดนิมมานรดี บ้านของท่านเคยเป็นร้านค้าใหญ่ริมคลองภาษีเจริญ ท่านเล่าให้ฟังว่าอดีตคลองภาษีเจริญ คลองราชมนตรี คลาคล่ำไปด้วยเรือสินค้านานาชนิด โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรหลายๆ อย่าง ทั้งที่เป็นของในละแวกนี้ เพราะสมัยก่อนพื้นที่แถบบางแค บางแวก ภาษีเจริญ เต็มไปด้วยพื้นที่นาและสวน และอีกทางหนึ่งก็มีเรือของพ่อค้าแม่ค้าจากแห่งอื่น เช่น บางช้าง ราชบุรี เป็นต้น ต่างนำผลผลิตของตนล่องเรือลงมาจำหน่ายแลกเปลี่ยนกัน
อ. สุโชติ ดาวสุโข เปิดหน้าบ้านริมคลอง บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของชุมชนย่านคลองภาษีเจริญ
กิจการร้านค้าของบ้านท่านริเริ่มโดยก๋งของท่านซึ่งมาจากเมืองจีน ก่อนมาตั้งรกรากอยู่ริมคลองภาษีเจริญ ต่อมาได้เปิดกิจการขายของกิน ของใช้สารพัดชนิด เหมือนอย่างห้างสรรพสินค้าทุกวันนี้ ซึ่งร้านลักษณะนี้มีเปิดอยู่หลายร้านด้วยกัน นอกจากนี้บ้านของท่านยังทำกิจการโรงสีข้าว รับข้าวเปลือกจากละแวกใกล้เคียง ซึ่งเดิมบริเวณนี้มีโรงสีข้าวอยู่หลายโรง เพราะในอดีตเป็นท้องนาเกือบทั้งหมด
นอกจากบ้านของ อ. เล็ก ยังมีร้านค้าที่น่าสนใจอยู่หลายร้าน เช่น ร้านลุงอู๊ดเรือจำลอง ประดิษฐ์เรือชนิดต่างๆ ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ร้านแพทย์แผนไทย ร้านกาแฟโบราณ และถ้าเดินเลาะริมคลองภาษีเจริญไปจากตลาดวัดนิมมานรดีไม่ไกลนัก ก็มีร้านเก่าแก่อยู่หลายร้าน เช่น ร้านขายขนมเปี๊ยะจังเซ่งเฮง โรงทำเต้าหู้ ที่ยังคงใช้กรรมวิธีแบบโบราณ เป็นต้น
โรงทำเต้าหู้ ยังคงใช้กรรมวิธีแบบโบราณ
หนึ่งวันกับการท่องเที่ยวและเรียนรู้ ย่านบางแค-ภาษีเจริญ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ต้องการสร้างคุณค่าของย่านเก่า ให้เป็นมากกว่าต้นทุนในการสร้างผลกำไรจากการท่องเที่ยว โดยแสดงให้เห็นความสำคัญของย่านเก่าแก่เหล่านี้ในแง่ของชีวิตวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ทั้งคนภายในชุมชนเองและคนจากภายนอก อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็งและยั่งยืน