หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
พระนครบันทึก : วันวานที่ย่านบางลำพู
บทความโดย อภิญญา นนท์นาท
เรียบเรียงเมื่อ 6 พ.ค. 2559, 10:14 น.
เข้าชมแล้ว 29715 ครั้ง

 

ภาพคลองบางลำพู ตอนล่างของภาพคือสะพานนรรัตน์  ทางฝั่งขวาของคลอง

คือตลาดทุเรียน ส่วนฝั่งตรงข้ามกันเป็นตลาดนานา

 

ปัจจุบันบางลำพูเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หากย้อนกลับไปเมื่อราว ๗๐-๘๐ ปีก่อน บางลำพูก็เป็นย่านการค้าที่คึกคักมากแห่งหนึ่งในเวลานั้น ตลาด ห้างร้าง แหล่งบันเทิงต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อรองรับผู้คนหลากหลายฐานะ ตั้งแต่เจ้านาย ข้าราชการ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกันในย่านนี้  บรรยากาศการค้าในวันวานของย่านบางลำพูจึงเป็นหนึ่งสีสันที่แต่งแต้มภาพประวัติศาสตร์ของบางลำพูให้มีชีวิตชีวา ทั้งยังสะท้อนวิถีชีวิตอันหลากหลายของผู้คนที่ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุคสมัย  

 

บางลำพูเริ่มเติบโตเป็นย่านการค้าจากการค้าขายตามลำคลองในยุคแรกๆ ผ่านทางคลองสำคัญของย่านคือ คลองบางลำพู จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ บางลำพูได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความศิวิไลซ์ตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกไม่ต่างจากย่านอื่นๆ มีถนนหลายสายตัดผ่าน พร้อมการสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นบนสองฟากถนน การคมนาคมรูปแบบใหม่อย่างรถรางรถเมล์ก็เดินทางมาถึง บางลำพูจึงกลายเป็นทำเลทองในการขยายกิจการร้านค้า มีตลาดและห้างร้านเกิดขึ้นมากมาย เรียกได้ว่ามีครบสมบูรณ์ ตั้งแต่ของกินไปถึงของใช้ ทั้งที่มีราคาถูกหรือของฟุ่มเฟือยราคาแพง ใครอยู่ย่านบางลำพูแทบไม่ต้องไปหาซื้อของจากที่อื่นเลย

 

ตลาด ๓ แบบของคนบางลำพู

ที่ว่ามีตลาด ๓ แบบที่บางลำพูนั้น เพราะย่านนี้มีตลาดสดถึง ๓ ตลาด ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน คือ ตลาดเช้า ตลาดผลไม้ และตลาดของกินยามค่ำคืน ตลาดทั้งสามอยู่ใกล้กับสะพานนรรัตน์--สะพานโค้งข้ามคลองบางลำพู อันเป็นจุดเด่นของย่านบางลำพูสมัยนั้น

 

ภาพลายเส้นตรงสะพานนรรัตน์ ซึ่งในอดีตมักเรียก บางลำพูประตูใหม่

 

ตลาดยอด เป็นตลาดเช้า ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานนรรัตน์ฝั่งทิศใต้ ปัจจุบันคือที่ตั้งห้างนิวเวิลด์ (ปิดตัวไปแล้ว) ตรงสี่แยกบางลำพู  ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น  ตลาดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนขยายใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีการปรับปรุงตลาดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ลักษณะของตลาดยอดเป็นอาคารโรงสูง ทำด้วยไม้ มุงหลังคากระเบื้อง ซึ่งเป็นแบบแผนเดียวกันกับตลาดในยุคนั้น ภายในมีแผงสินค้าตั้งเรียงรายกัน มีทางเข้าออก ๔ ช่องทาง คือ เข้าทางถนนพระสุเมรุ ๒ ช่อง ทางถนนจักรพงษ์ ๒ ช่อง แล้วยังมีตรอกที่เป็นทางเดินไปออกทางถนนสิบสามห้างและทางถนนตานี (แต่ก่อนเรียกถนนบ้านแขก)

 

พ่อค้าแม่ค้ามาเปิดแผงขายกันตั้งแต่ตอนเช้ามืด ส่วนใหญ่เป็นพวกของสดประเภทต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งแบบสดและแบบแห้ง ผักผลไม้ ตามแบบตลาดเช้าทั่วไป ไม่ใช่แค่คนฝั่งพระนครเท่านั้นที่มาซื้อขายสินค้ากันที่ตลาดยอด ชาวสวนจากฝั่งธนฯ ก็นำผลผลิตจากสวนใส่เรือมาขายด้วยเช่นกัน    

 

“พวกทางฝั่งธนฯ จะต้องไปตลาดที่บางลำพู ไปขายใบตอง ขายผัก ขายอะไรต่างๆ เรียกว่าเป็นตลาดใหญ่พอสมควร  มีทั้งของสด ของเค็มก็อยู่ท้ายตลาด... เด็กๆ ฉันอยู่กับตายายก็จะนั่งหัวเรือ พายเรือเอาชมพู่ไปขาย เอาเงาะไปขายที่ตลาดยอด  ถ้าของสวยหน่อยก็จะขายได้ราคาดี บางทีร้อยละบาท ห้าสลึง แต่ถ้าไม่ค่อยสวยขายได้แค่ ๕๐ สตางค์ เราขายเป็นร้อยไม่ได้ชั่งกิโลเหมือนสมัยนี้ แต่ว่าจะขายคนอื่นนะ พวกร้านที่เขายกแผง เขาไม่ซื้อเราหรอก เพราะเขาซื้อแต่ของสวยๆ แล้วไปขาย ๑๒ ใบ ราคา ๑ เฟื้อง ถ้าเหลือนะเขาเททิ้งลงคลองตรงเชิงสะพานนรรัตน์ปัจจุบัน” คุณยายสังวาลย์ สุนทรักษ์ วัย ๙๕ ปี ผู้เคยอาศัยอยู่ในสวนแถบบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี ก่อนย้ายมาอยู่ที่บางลำพู เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งนำของจากสวนที่บ้านมาขายที่ตลาดยอด

 

พอตกบ่ายร้านของสดประเภทต่างๆ เริ่มปิดแผง แต่บรรดาของแห้ง อาหาร ขนม และของใช้ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบุง ตะกร้า ถ้วยโถโอชาม เครื่องหนัง เครื่องประดับ ฯลฯ ยังคงมีขายตลอดจนถึงช่วงเย็น ร้านหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในตลาดยอดคือ ร้านบัวสอาด เป็นร้านขายน้ำอบไทย ธูปเทียนชนิดต่างๆ เช่น ธูปเทียนแพ เทียนพรรษา เทียนอบขนมกลิ่นกำยาน รวมไปถึงดอกไม้ พวงมาลัย พอตกค่ำตลาดยอดก็มีข้าวต้มกุ๊ย เป็นอาหารแบบ ‘ยองยองเหลา’ ซึ่งเป็นคำเรียกล้อกับอาหารเหลาหรืออาหารที่ขายในภัตตาคารหรู ซึ่งเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ ๗  เพราะเป็นอาหารที่นั่งกินกันข้างทางและมีราคาถูก

 

ตรงข้ามกับตลาดยอดทางด้านถนนพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของตลาดขายผลไม้ คือ ตลาดทุเรียน คุณยายอรุณศรี รัชไชยบุญ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ มาอยู่ที่บางลำพูตั้งแต่อายุ ๑๐ ปี บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับย่านบางลำพูที่เกี่ยวกับตลาดทุเรียนไว้ในหนังสือพิมพ์ ‘ข่าวบางลำพู’ ของประชาคมบางลำพู  ตอนหนึ่งว่า

 

“ในหน้าทุเรียน ทุเรียนจะมาขึ้นที่คลองบางลำพู โดยขนมาจากเมืองนนท์ เขาเอาไม้ระแนงมากั้นเป็นคอก กว้าง x ยาวประมาณ ๒ เมตร ทุเรียนจะตั้งเป็นกองๆ สมัยนั้นมีแต่ทุเรียนนนท์และบางยี่ขัน ทุเรียนเมืองจันท์ยังไม่มี ทุเรียนที่แพงที่สุดจะเป็นทุเรียนก้านยาว ลูกละ ๑-๑๐ บาท อีรวงเป็นทุเรียนชั้นต่ำ ลูกละไม่ถึง ๑ สตางค์ ถ้าเป็นทุเรียนกบจะแพงนิดหน่อย คนจึงชอบหลอกว่าอีรวงเป็นกบ”

 

ทุเรียนในสมัยนั้นจัดเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ สวนเมืองนนท์ล่ม ทำให้ราคาทุเรียนยิ่งแพงขึ้นมาอีก คนที่ได้ลิ้มรสทุเรียนอย่างดีส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มคนมีเงิน แต่ก็ใช่ว่าตลาดทุเรียนจะมีแค่ทุเรียนขายเพียงอย่างเดียว ยังมีผลไม้นานาชนิดที่ชาวสวนฝั่งธนฯ แถบบางยี่ขันแจวเรือข้ามฟากมาขาย เช่น เงาะบางยี่ขัน ชมพู่สาแหรก มังคุด กระท้อน เป็นต้น นอกจากนี้มีอาหารขายอยู่หลายร้าน ทั้งข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวผัด หมูสะเต๊ะ หอยแครงลวก ขนมเบื้องไทยและญวน ล้วนแต่มีราคาย่อมเยา คนทั่วไปจึงนิยมมาหาของกินที่นี่  ทางด้านหลังตลาดริมคลองบางลำพูมีอาคารห้องแถวขายของจิปาถะ ส่วนใหญ่เป็นของใช้ราคาถูก

 

ทุเรียนตั้งขายเป็นกองอยู่ภายในตลาดทุเรียน

 

เมื่อข้ามคลองบางลำพูมาฝั่งตรงข้ามกับตลาดทุเรียน มีตลาดอีกแห่งหนึ่งคือ ตลาดนานา เจ้าของตลาดคือคุณเล็ก นานา มุสลิมย่านคลองสาน ในตอนกลางวันตลาดนานามีบรรยากาศเงียบเหงา ผิดกับยามค่ำคืนที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน เพราะใกล้บริเวณตลาดมีโรงหนังและวิกลิเกตั้งอยู่ จึงมีร้านอาหารต่างๆ ขายกันจนถึง ๒ ยาม พอดีกับตอนโรงหนังและลิเกเลิก ร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นพวกหาบเร่ แผงลอย มีทั้งข้าวแกง บะหมี่ เย็นตาโฟ ซึ่งกลุ่มลูกค้าขาประจำเป็นคอหนังคอลิเก หรือพวกวัยรุ่นที่จับกลุ่มเที่ยวเตร่กันตอนกลางคืน 

 

นานาห้างร้าน แหล่งสินค้า ‘มีระดับ’

นอกจากแผงขายของในตลาดสด ย่านบางลำพูมีห้างร้านที่จัดว่ามีระดับอยู่หลายร้าน ร้านค้าเหล่านี้เป็นร้านตึกแถวตั้งอยู่ที่ริมถนนต่างๆ ที่สำคัญคือถนนพระสุเมรุ ถนนจักรพงษ์ ถนนสิบสามห้าง มีทั้งร้านตัดเสื้อผ้าอาภรณ์ รองเท้า เครื่องประดับ รวมไปถึงของฟุ่มเฟือยประเภทต่างๆ ที่สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น สบู่ น้ำหอม ของเล่น อันถือเป็นของนำสมัยและค่อนข้างมีราคาสูง ลูกค้าจึงเป็นกลุ่มผู้ดีมีฐานะที่มีอยู่มากในย่านบางลำพู   

 

ด้านหน้าห้าง ต.เง็กชวน ประดับรูปครุฑ เนื่องด้วยได้รับพระบรมราชานุญาต

จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องหีบเสียงและจานเสียง

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ร้านที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนก็เช่น ห้าง ต. เง็กชวน อยู่ริมถนนพระสุเมรุ เป็นร้านจำหน่ายสินค้าหลากชนิด ตั้งแต่เครื่องประดับ ของใช้ ของเล่น สินค้าที่กล่าวขานกันมากคือสร้อยและกำไลทองชุบ เรียกว่าเป็นทองวิทยาศาสตร์ มีราคาถูก จึงเป็นที่นิยมกันมาก นอกจากนี้ ต. เง็กชวน เป็นร้านบันทึกเสียงในยุคแรกๆ ด้วย ปัจจุบันร้าน ต. เง็กชวน เปลี่ยนมาขายขนมเบื้องไทย ซึ่งเป็นของอร่อยขึ้นชื่ออย่างหนึ่งในย่านบางลำพู

 

ร้านเครื่องแต่งกายก็มีอยู่หลายร้าน ขายเสื้อผ้าทันสมัยในยุคนั้น เช่น ร้านนพรัตน์ ขายพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้านสมใจนึก เดิมเป็นร้านขายของใช้ทั่วๆ ไป ต่อมาจึงเปิดรับจ้างตัดเสื้อผ้าและผลิตเสื้อเชิ้ตสำเร็จรูปยี่ห้อ Seamaster ก่อนจะผลิตชุดนักเรียนจนมีชื่อเสียงมาถึงปัจจุบัน ร้านไทยประณีต ขายเสื้อผ้า ผ้าไหม ร่ม ห้างแก้วฟ้า ร้านตัดรองเท้าหนังที่มีชื่อเสียงมากในหมู่ข้าราชการและนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีร้านไทยไพรัช ปัจจุบันคือที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ร้านนี้ขายหุ่นโชว์เสื้อ อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย และรับสอนเย็บจักร ซึ่งสะท้อนการเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าชั้นนำของบางลำพูได้เป็นอย่างดี

 

แผ่นใบปลิวของห้าง ต.เง็กชวน  โฆษณาขายสินค้านานาชนิด

 

ส่วนย่านทันสมัยที่สุดในบางลำพูต้องยกให้ สิบสามห้าง เดิมเป็นห้องแถวไม้ ยาวจากถนนบ้านแขกถึงมุมถนนพระสุเมรุ มีร้านขายของโปเกหรือของเก่า ร้านขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ ต่อมาห้องแถวไม้นี้โดนไฟไหม้จึงสร้างเป็นตึกแถวสองชั้น ช่วงหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา สิบสามห้างโด่งดังเรื่องความล้ำสมัย มีของแปลกใหม่หลายอย่างบริการลูกค้า เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น เช่น ร้านขายไอศกรีม บางร้านมีบริการโทรทัศน์  แผงขายหนังสือ ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสิบสามห้างคือกลุ่มจิ๊กโก๋หรือนักเลงวัยรุ่นชายที่มีรสนิยมตามอย่างวัฒนธรรมอเมริกันที่เข้ามาในรูปแบบภาพยนตร์ ทั้งในด้านการแต่งกายและกิริยาท่าทางเลียนแบบดาราดังสมัยนั้น อดีตย่านบางลำพูมีนักเลงทำนองนี้อยู่หลายพวก ตั้งตนเป็นเจ้าถิ่นอยู่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ  ซึ่งหลายคนในยุคปัจจุบันคงคุ้นเคยภาพนักเลงเหล่านี้จากภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง ‘๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง’ ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ดี

 

โรงหนัง โรงละคร วิกลิเก แหล่งบันเทิงยามค่ำคืน  

ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้บางลำพูสมัยก่อนคึกคักตลอดทั้งกลางวันกลางคืน คือแหล่งบันเทิงต่างๆ ที่เริ่มเกิดมากขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง โรงละคร วิกลิเก มีให้เลือกชมกันตามรสนิยม

 

ยุคที่กิจการภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ กำลังเฟื่องฟู บางลำพูมีโรงหนังเกิดขึ้นด้วย โรงหนังบุศยพรรณ ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนรรัตน์ฝั่งเหนือ เดิมชื่อ ตงก๊ก ภาพยนตร์ที่ฉายส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยมีนักพากย์ชื่อดังคือทิดเขียว หรือนายสิน สีบุญเรือง แต่ละรอบฉายมีคนมาออซื้อตั๋วกันที่หน้าโรงเป็นจำนวนมาก นายสมัคร สุนทรเวช ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ตรอกหลังวัดสังเวชฯ บางลำพู ได้เล่าภาพของโรงหนังแห่งนี้ ไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ ‘จดหมายเหตุกรุงเทพฯ’ ว่า

 

                “โรงหนังบุษยพรรณมีหลังคาโค้ง มี ๒ ชั้นตามแบบโรงหนังทั่วไป ชั้นล่างเป็นที่ตั้งเก้าอี้เป็นแถวยาว นั่งได้แถวละ ๗-๘ คน ตั้งเรียงกันตั้งแต่หน้าเวทีเรียงถอยหลังไปเป็นล็อกๆ ส่วนชั้นบนทำเป็นเฉลียงอยู่บนหลังคาของห้องฉาย ยื่นออกไปทั้งซ้ายขวาเติมที่นั่งได้ทั้งสองด้าน ที่นั่งด้านหลังยกสูงเป็นอัฒจันทร์ ด้านนอกโรงเป็นห้องขายตั๋ว มีที่ให้คนมาชมภาพตัวอย่างหนัง เรียกกันว่า ‘หนังแผ่น’ คนที่บอกว่าได้ไปดูแค่หนังแผ่น คือคนที่ไม่มีเงินไปดูหนังจริงๆ ใน โรงหนังแห่งนี้เคยมีฉายตอนกลางวัน โดยต้องใช้ผ้าดำมาบุโรง บุหน้าต่างให้มืดพอจะฉายได้ เหตุที่ฉายหนังกลางวันเพราะต้องการเอาสตางค์แดงที่ทำด้วยทองแดงไปทำหัวลูกปืน ส่วนราคาตั๋วนั้น ถ้ากลางคืน คนละ ๕ , ๑๐ หรือ ๑๕ สตางค์ก็แล้วแต่ แต่ตอนกลางวันประกาศว่าเอาแค่สตางค์แดงเดียวเท่านั้น...”  เมื่อข้ามฟากคลองบางลำพูไปที่ตลาดทุเรียนก็มีอยู่อีกหนึ่งโรงคือ โรงหนังน่ำแช ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีบางลำพู  มีคนดูมากไม่แพ้กัน                

 

ตรงริมคลองบางลำพูใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ โรงละครแม่บุนนาค ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ แสดงละครร้อง ซึ่งเป็นมหรสพที่เริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องที่นำมาแสดงละครร้องส่วนใหญ่มักเป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาร่วมสมัยหรือวรรณกรรมแปล เช่นเรื่องสาวเครือฟ้า ละครร้องจึงเป็นความบันเทิงที่ถูกรสนิยมชนชั้นสูงในสมัยนั้น

  

ตรงกันข้ามกับลิเกหรือยี่เก มหรสพที่นิยมแพร่หลายกันมากในหมู่ชาวบ้าน แต่เป็นที่เหยียดหยามของหมู่ผู้ดีมีฐานะ จนเกิดบทดอกสร้อยที่ว่า “อันยี่เกลามกตลกเล่น รำเต้นสิ้นอาย ขายหน้า” แต่ด้วยเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวแบบชาวบ้าน ดำเนินเรื่องรวดเร็ว สอดแทรกความตลกขบขัน ลิเกจึงเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไป วิกลิเกชื่อดังในย่านบางลำพูคือ วิกลิเกหอมหวล มีชื่อเสียงมากในทศวรรษ ๒๔๙๐ ตั้งอยู่ในตลาดทุเรียน ทางฝั่งตลาดนานาก็มีวิกลิเกอยู่เช่นกัน โดยเริ่มเล่นกันตั้งแต่ ๒ ทุ่ม เลิกตอน ๒ ยาม สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ด้านหน้าโรงลิเกคือหาบขายของกินสารพัดอย่าง ตั้งคอยบริการผู้ชมที่มารอดูลิเกกันแน่นขนัดในทุกคืน

 

โฉมหน้าของบางลำพูย่อมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ปัจจุบันตลาดทั้งสามแบบของบางลำพู คือ ตลาดยอด ตลาดทุเรียน และตลาดนานา ไม่เหลือร่องรอยใดๆ ไว้นอกจากในความทรงจำ ตลาดยอดหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เจ้าของได้สร้างเป็นห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ต่อมา แต่อยู่ได้ไม่นานก็มีคำสั่งจาก กทม. ให้รื้อทิ้ง เนื่องจากมีความสูงเกินกำหนดของอาคารที่อยู่ใกล้กับเขตกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ปัจจุบันจึงเหลือเพียงอาคารร้างที่ยังรื้อถอนไม่เสร็จตรงสี่แยกบางลำพู ตลาดทุเรียนเริ่มซบเซาลงเพราะมีการตัดถนนเข้าถึงเมืองนนทบุรี ปัจจุบันจึงเหลือเพียงตลาดสดขายของเล็กๆ น้อยๆ เรียกกันว่า ตลาดนรรัตน์ ส่วนตลาดนานากลายสภาพเป็นโรงแรม ห้างร้านเก่าแก่ต่างๆ ที่เคยคึกคักเริ่มทยอยปิดตัวลง ที่ยังเปิดอยู่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับแหล่งบันเทิงต่างๆ ที่เลิกราตามๆ กันไป

 

เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาพจำของบางลำพูจึงกลายเป็นภาพนักท่องเที่ยวนานาชาติเดินขวักไขว่กันตามท้องถนน มีสถานเริงรมย์ยามค่ำคืน แต่อย่างไรก็ดี ‘บางลำพู’ ยังไม่ทิ้งภาพย่านการค้าที่รุ่งเรือง เพราะยังคงเป็นแหล่งรวมอาหารอร่อย ห้างร้านหลายระดับราคาเปิดบริการอยู่มากมาย และคนจำนวนมากยังแวะเวียนมาสร้างความทรงจำใหม่ๆ ที่ย่านบางลำพูแห่งนี้

 

พระนครบันทึก :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๓ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๕)

อัพเดทล่าสุด 18 เม.ย. 2561, 10:14 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.