หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
เก็บตกเสวนา : สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจายการค้นหาประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมปาตานี
บทความโดย ใหม่มณี รักษาพรหมราช
เรียบเรียงเมื่อ 28 ม.ค. 2555, 11:40 น.
เข้าชมแล้ว 6324 ครั้ง

 

สืบเนื่องจากวันที่ ๒๗ - ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ,มูลนิธิเอเชีย, พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาขึ้นในหัวข้อ ‘สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย การค้นหาประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมปาตานี’ ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทั้งนี้ ในแต่ละวันเริ่มต้นด้วยการปาฐกถาโดยนักวิชาการ ๒ ท่าน คือ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร. Patrick Jory นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้เสนองานที่ศึกษาเรื่อง มัสยิด ‘แดง’: ทอนความรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมมนุษย์ โดยกล่าวว่า ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์มีอยู่ทั่วโลกนับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน แต่เมื่อความรุนแรงเมื่อได้ถูกล่วงละเมิดเข้าไปยังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของอีกฝ่ายแล้ว ความรุนแรงจะยิ่งก่อตัวเพิ่มมากขึ้น ดังกรณีตัวอย่างในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ ส่งผลให้มีมุสลิมจำนวนมากเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐไทย (จำนวนหนึ่งเสียชีวิตภายในมัสยิดกรือเซะ) แต่การตายดังกล่าวกลับไม่ได้แสดงถึงความพ่ายแพ้ ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นแห่งชัยชนะที่ผู้ก่อการร้ายบางกลุ่มใช้เหตุการณ์การสูญเสียเป็นชนวนในการติดอาวุธและก่อความรุนแรง ทั้งยังเพิ่มจำนวนความเกลียดชังให้แก่มุสลิมที่เป็นชาวบ้านทั่วไปให้มากขึ้นด้วย

 

ปัจจุบันปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากมากขึ้น อาจารย์ได้ให้เหตุผลสามประการว่า ๑.วาทกรรมด้านความมั่นคงทางการเมือง ที่มีตรรกะและระบบของมัน เช่น การทหารที่ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้จริง ๒.ด้านอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง เพราะยิ่งไม่มีความมั่นคง เงินทุนมหาศาลยิ่งลงไปยังพื้นที่มากขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบางกลุ่ม ในขณะเดียวกัน วาทกรรมยังสามารถผลิตซ้ำขายออกได้เรื่อยๆ ๓.ทั้งสองสิ่งดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความลวงในสังคมไทย เช่น การสามารถหลอกตัวเองว่าเป็นประเทศรักสันติ แต่จริงๆแล้วไม่มีเลย ดังนั้นเมื่อมีความเชื่อเช่นนี้เวลาเจอความรุนแรงเลยไม่สามารถหาทางออกได้

 

อาจารย์ชัยวัฒน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากความรุนแรงที่ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับมลายูมุสลิมหยุดอยู่ที่หน้ามัสยิด จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับในพื้นที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะช่วยหยุดยั้งความรุนแรงได้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐไทยเข้าไปล่วงละเมิดในพื้นที่ดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงกฎเกณฑ์ใดๆเลย ทำให้เหตุการณ์ยิ่งบานปลายและยากจะทำให้สงบลงในอนาคตอันใกล้นี้

 

ด้าน ดร. Patrick Jory กล่าวปาฐกถาเรื่อง Problems of Modernity in Patani and Thailand: The Emergence of  ‘the People’ in Patani’s Past and Present  โดยได้มุ่งประเด็นสำคัญไปที่ความเป็นสมัยใหม่จากภายนอกที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งในอดีตงานการศึกษาในเรื่องนี้มีอยู่น้อยมาก แต่หลังเหตุการณ์ความไม่สงบใน พ.ศ.๒๕๔๗ ทำให้งานเขียนเสนอด้านความรุนแรงเผยแพร่ออกมาอย่างหลากหลาย ทว่ากลับยังขาดงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างจริงจัง แต่เมื่อ ๒-๓ ปี ให้หลังมานี้ งานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปาตานีได้ถูกนำเสนอในด้านประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น 

 

โดยพัฒนาการการศึกษาประวัติศาสตร์มีผลมาจากการแพร่ขยายของลัทธิการปกครองแบบใหม่จากตะวันตกไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือแม้แต่คอมมิวนิสต์ ต้องยอมรับว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยในยุคเริ่มแรกได้รับอิทธิพลจากมาจากสกุลอันนาลซ์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ในรูปแบบของราชาชาตินิยม ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยทางการเมืองนำไปสู่การกำหนดวิถีทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างนักประวัติศาสตร์ผู้บุกเบิกคนสำคัญในไทย คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ต่อมาในยุคหลังแนวคิดประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์เฟื่องฟู ทำให้หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ งานเขียนประวัติศาสตร์สกุลมาร์กซิสเฟื่องฟูมากขึ้น เช่น งานของ จิตร ภูมิศักดิ์ และนำไปสู่การมุ่งเน้นสนใจด้านเศรษฐกิจ เกิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในสมัยหลัง เช่น งานเขียนของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เป็นต้น

 

สืบเนื่องจากกระแสความเป็นประชาธิปไตยแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ในยุคหลังจึงนำไปสู่การสนใจประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม โดยการเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่บุกเบิกในยุคเริ่มแรกที่สำคัญ คือ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และอาจารย์ธิดา สาระยา ดังนั้น ดร. Patrick จึงเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นควรได้รับการสนใจ เพราะจะทำให้เห็นภาพหลากหลายด้านในการทำความเข้าใจพื้นที่ นอกจากนี้ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ยังเป็นการลดภาพด้านความเลวร้ายของปัตตานีในการรับรู้จากคนนอกอีกด้วย แต่ปัญหาคืองานส่วนใหญ่ยังเป็นการศึกษาจากคนภายนอก ซึ่งงานการศึกษาจากคนภายในยังมีอยู่น้อยนั่นเอง

 

สำหรับงานวิจัยชิ้นต่างๆที่นำมาเสนอในงานนี้ก็ได้นำเสนอสภาวะความเป็นสมัยสมัยใหม่ในมลายูปาตานี เช่น ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นช่วงที่สังคมตะวันตกมีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ทำให้ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่สนใจแก่ชาวตะวันตก เพื่อเดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรและศึกษาเรียนรู้ท้องถิ่นเอเชียอาคเนย์ ดังนั้นงานศึกษาเรื่องปาตานีผ่านแว่นของจักรวรรดิและดวงตาสมัยใหม่: การสำรวจทางมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๐” โดย พุทธพล มงคลวรวรรณ ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องราวการเดินทางเข้ามาของชาวอังกฤษเพื่อเข้ามาศึกษาทางมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยาในมลายูในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ แม้ในยุคนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ข้อมูลของนักปราชญ์ชาวอังกฤษเหล่านี้ก็กลายมาเป็นข้อมูลในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาในมลายูกระทั่งปัจจุบัน

 

งานวิจัยของพุทธพล ตั้งข้อสังเกตว่า ดินแดนปาตานีมีลักษณะเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาก่อน จึงทำให้คนในท้องถิ่นมีความคุ้นเคยกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความเชื่อและวัฒนธรรม และมีการรับเอาความเป็นสมัยใหม่จากภายนอกมาปรับใช้ในท้องถิ่น โดยที่ยังรักษาความเป็นท้องถิ่นมลายูปาตานีที่มีความหลากหลาย จึงอาจกล่าวได้ว่าสมัยราวคริสตศตวรรษที่ ๑๘- ๑๙ เป็นยุคจารีตของปาตานี

 

แต่พอเข้าสู่ยุคที่มีแนวคิดความเป็นรัฐชาติ ทำให้รัฐไทยส่วนกลางได้ผนวกดินแดนมลายูปาตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่ง และได้ถ่ายทอดความเป็นสมัยใหม่จากรัฐส่วนกลางมายังปาตานี ซึ่งความเป็นสมัยใหม่นี้รัฐไทยก็รับมาจากตะวันตกอีกทอดหนึ่ง ดังเห็นจากความเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน และสะท้อนออกมาผ่านงานวิจัยเรื่อง  “เส้นทางสู่ความทันสมัย: ประวัติศาสตร์สังคมของถนนทางหลวงสายใหม่สู่ปาตานี” โดย นิยม กาเซ็ง ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับถนนทางหลวงที่ตัดผ่านมายังปาตานี ซึ่งสามารถถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่ด้วย และยังนำมาซึ่งผลดีและผลร้ายในด้านต่างๆ แก่ท้องถิ่นด้วย 

 

ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจและให้ภาพของสังคมมลายูปัตตานี เช่น ณ ระหว่างพื้นที่ : ประสบการณ์  อัตลักษณ์  มุสลิมมะฮฺปาตานี บนเส้นทางการศึกษาสมัยใหม่” โดย ทวีลักษณ์ พลราชม, วารชา การวินพฤติ อันเป็นการนำเสนอเรื่องราวของหญิงชนชั้นสูงพื้นถิ่นที่เดินทางไปศึกษายังปีนัง อันแสดงถึงการปรับตัวตามสภาวะความเป็นสมัยใหม่จากตะวันตก เปลี่ยน ‘ป่าดิบ’ ให้เป็น ‘บ้าน’: ชุมชนในฝัน ณ ทัณฑนิคมธารโต, พ.ศ. 2478-2500” โดย ดร. ภมรี สุรเกียรติ การศึกษาทัณฑนิคมธารโต มรดกทางความคิดของคณะราษฎร์ ซึ่งทำตามแผนเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีย์ พนมยงค์ ที่รับกระแสแนวคิดมาจากตะวันตก แม้ว่าทัณฑนิคมธารโตจะไม่เป็นดังที่คิดนัก หรือ ตำรวจมลายู: ลูกผสมของความสมัยใหม่ แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง” โดย อสมา มังกรชัย ก็ได้ให้ภาพสภาวะการผนวกกันระหว่างคนของรัฐส่วนกลางและคนของท้องถิ่นและผลที่ตามมา

 

สำหรับงานวิจัยบางชิ้นยังได้สะท้อนถึงกระแสแนวคิดทางการเมืองใหม่แบบตะวันตกจากชนกลุ่มน้อยส่วนกลางอีกขั้วที่แผ่เข้ามายังปาตานีจนนำมาสู่การเคลื่อนไหวภายใน เช่นงาน กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย: เรื่องเล่าที่หายไปของความสัมพันธ์ระหว่าง พคท. และองค์กรติดอาวุธมลายู” โดย เจริญพงศ์ พรหมศร ซึ่งศึกษาเรื่องราวการเข้ามาของกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบใหม่และพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยป่าที่ปาตานีเป็นอีกพื้นที่ที่ถูกเลือกเป็นแหล่งที่เคลื่อนไหว และเลือกกลุ่มมุสลิมชนกลุ่มน้อยเป็นแนวร่วมในการสนับสนุนอุดมการณ์ของกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเรื่องความเป็นสมัยใหม่เมื่อเข้ามากระทบก็ขนบจารีตท้องถิ่นเดิม ก็นำมาสู่ความคิดและคำอธิบายของท้องถิ่นต่อสิ่งใหม่ งาน “การตีความความเป็นสมัยใหม่: ต่วนกูรูอิสมาแอล สะปันยัง (๒๔๙๘- ) อูลามาอ์สายจารีต ในสังคมปาตานีสมัยใหม่ โดย มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ที่ได้เข้าไปศึกษาแนวความคิดของต่วนกูรูอิสมาแอล สะปันยัง ซึ่งเป็นอูลามาอ์ (ผู้มีความรู้ทางศาสนาอิสลาม) สายจารีตและถือว่ามีอิทธิพลทางความคิดในท้องถิ่น ดังนั้นอูลามาอ์จึงเป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญในการพยายามอธิบายแนวคิดสมัยใหม่ เช่น ประชาธิปไตย ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สังคมพหุนิยม และบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะเข้ากับหลักมัสลาฮะและอัดดูรอเราะฮ ซึ่งเป็นการต่อสู้กับการแผ่ขยายเข้ามาของความเป็นสมัยใหม่

 

ที่ยกมาเป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยที่นำเสนอในสองวันเท่านั้น ซึ่งยังมีงานที่น่าสนใจอีกหลายชิ้น งานศึกษาวิจัยครั้งนี้จะทำให้ผู้สนใจสามารถปะติดปะต่อภาพของพัฒนาการความเป็นสมัยใหม่ด้านประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมได้หลากหลายมุมมอง อันจะนำไปสู่การเข้าใจอัตลักษณ์ท้องถิ่นมลายูปาตานีมากขึ้น

 

ในตอนท้าย ศ.ดร.Craig Reynolds ได้มาเป็นผู้กล่าวแสดงความเห็นต่อโครงการและงานวิจัย ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้ ดังนี้

  1. การวิพากษ์เนื้อหาภายนอกจากชิ้นงานโดยรวม หากมองชิ้นงานโดยรวมถือได้ว่ามีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรวมไปถึงด้านศาสนาอิสลาม แต่อาจยังขาดการนำเสนอประเด็นพุทธศาสนาในพื้นที่ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ในส่วนของเนื้อหานั้นมีทั้งทฤษฎีและข้อมูล แต่ในบางชิ้นก็มีเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ลักษณะของการเสนอข้อมูลมีลักษณะคล้ายนักโบราณคดีที่ขุดค้นพบข้อมูลใหม่ๆ แต่การนำเสนอประเด็นยังไม่ลุ่มลึก และตัวเนื้อหาของงานเขียนออกไปในทิศทางที่มีความหวังต่ออนาคต (Optimistic) ไม่ได้สิ้นหวัง
  2. การวิพากษ์เนื้อหาจากภายในของชิ้นงาน จากบริบททางสังคมของดินแดนแถบปาตานีมีความแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ยังมีสิ่งรวมกันนั่นคือ ศาสนาพุทธ ในขณะที่ปัตตานีคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม รวมไปถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ดังนั้นจึงทำให้เกิดความรู้สึกเป็นว่าเป็นผู้ถูกกระทำ นอกจากนี้บริบททางสังคมภายในพื้นที่ของแต่ละยุคสมัยก็มีความแตกต่างกัน โดยยุคหนึ่งเป็นแบบหนึ่ง และยุคต่อมาเป็นอีกแบบหนึ่ง
  3. ชื่อโครงการสภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย น่าใช้คำว่า ความเป็นภาวะความเป็นสมัยใหม่ที่หลากหลาย (Alternative) มากกว่าคำว่าความแตกกระจาย (Fragmented) ในขณะที่ความเป็นสมัยใหม่นั้นเกิดมาจากภายนอก และการที่เราไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของพลวัตรความเป็นสมัยใหม่จากภายใน เพราะความเป็นสมัยใหม่ได้แพร่มาจากภายนอกก่อน และกลายเป็นตัวเลือกให้เราเลือกสิ่งที่คิดว่าดี
  4. ความเป็นสมัยใหม่ที่เป็นลักษณะเฉพาะ ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกต่างๆที่ประสบได้ เช่น ทำไมชาวปาตานีถึงปรับตัวได้ดีในอดีต โดยมีข้อน่าสังเกตว่าปาตานีเคยเป็นท่าเรือมาก่อน จึงน่าจะคุ้นเคยวิถีสังคมในรูปแบบการต่อรองมากกว่าการต่อต้าน และมีโอกาสพบเจอคนหลายชาติหลายภาษา โดยปาตานีได้ถูกเชื่อมเข้ากับโลกมลายูมากกว่ารัฐส่วนกลาง
  5. ความเป็นสมัยใหม่ ทำให้ปาตานีมีทางเลือกในการสร้างตัวเอง ทำให้เกิดวิธีการแสวงหาตัวเองได้ชัดเจนขึ้นว่าเราคือใคร ในเมื่อเราเป็นอื่นในพื้นที่นี้ เป็นอื่นในพื้นที่อื่น หรือเป็นอื่นในพื้นที่แปลกๆ ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น แม้บางครั้งเนื้อหาความทันสมัยอาจไม่เข้ากับหลักความเชื่อของศาสนา
  6. ความเป็นสมัยใหม่ด้านเทคโนโลยีทำให้เกิดการค้นพบพลังทางการผลิต ทำให้ค้นพบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้มองเห็นอัตลักษณ์ของปัตตานีว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และเทคโนโลยีได้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งเป็นทั้งในรูปแบบพื้นที่สาธารณะ(public space) และพื้นที่ส่วนตัว(private space)

 

สุดท้าย ศ.ดร. Craig Reynolds ได้กล่าวปิดท้ายว่า “สำหรับคนมลายูปาตานีนั้น ต้องการเพียงแต่การได้รับการปฏิบัติแบบเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับชาวพุทธที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา หรือสังคมก็ตาม”

 

หมายเหตุ : สามารถอ่านงานเขียนฉบับเต็มได้ที่เว็บไซด์รุไบยาต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ http://rubaiyat.wu.ac.th/main/index.php

 

ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ ฉ.๙๓ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๕)

อัพเดทล่าสุด 10 ต.ค. 2561, 11:40 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.