หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ชุมชนป้อมมหากาฬ : ฟื้นพลังชุมชนจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง
บทความโดย วันใหม่ นิยม
เรียบเรียงเมื่อ 1 พ.ค. 2553, 10:39 น.
เข้าชมแล้ว 5898 ครั้ง

ชุมชนป้อมมหากาฬ :

ฟื้นพลังชุมชนจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง

หากบทความนี้จะมีคุณงามความดีใดๆ แล้ว ขออุทิศให้แก่ประชาชนไทยทุกคนที่สูญเสียและเจ็บปวดจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปี ๒๕๕๓ นี้

 

ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคมจนถึง ๑๔ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ได้เกิดการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. ตลอดบริเวณถนนราชดำเนิน รวมทั้งบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงวันที่ ๑๔ เมษายน กลุ่ม นปช. จึงย้ายเวทีจากถนนราชดำเนินไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์จนถึงแยกศาลาแดง

             

ระหว่างการชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินและสะพานผ่านฟ้าลีลาศเกิดความตึงเครียดและเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้ง มีการควบคุมความปลอดภัย การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ การลอบยิงวัตถุระเบิด โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนเสียชีวิตหลายคน

             

พื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินมีชุมชนอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายแห่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่เก่าแก่ของกรุงเทพฯ รวมทั้งชุมชนป้อมมหากาฬที่มีมาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ซึ่งอยู่บริเวณหลังเวทีปราศรัยของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จึงเป็นที่น่าสนใจว่าชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ความรุนแรงทางการเมืองเช่นนี้ ได้ใช้พลังอันยาวนานของตนที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้จนอยู่รอดอย่างเข้มแข็งมาได้อย่างไร

             

ป้อมมหากาฬเป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งอยู่บริเวณแยกคลองรอบกรุงและคลองมหานาค ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินหน้าป้อมให้แก่ขุนนางข้าราชบริพาร ในระยะต่อมาพื้นที่บริเวณนี้จึงพัฒนามาเป็นย่านชุมชน โดยชาวบ้านอยู่อาศัยในบารมีของขุนนางข้าราชการ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็นระบบการเช่าที่

   

         

สะพานผ่านฟ้าลีลาศและย่านชุมชนป้อมมหากาฬ : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

ลักษณะของชุมชนสมัยนั้นจะเป็นชุมชนอิงกำแพงพระนคร มีตรอกซอยเพื่อเชื่อมการติดต่อภายในชุมชน และเนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดตัดคลอง รวมทั้งเป็นชุมทางคมนาคมสำหรับด้านตะวันออกของพระนคร เนื่องจากคลองมหานาคที่อยู่หน้าป้อมมหากาฬนี้เป็นคลองเส้นเดียวกับคลองแสนแสบ ซึ่งต่อเนื่องไปถึงแม่น้ำบางปะกง จึงมีเรือมาจอดมากจนเป็นย่านค้าขายสำคัญแห่งหนึ่ง เช่น มีเรือขายถ่าน เรือขายผลไม้ โดยมีวัดสระเกศ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดา และป้อมมหากาฬ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีเจ้าพ่อปู่สถิตอยู่ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนจนถึงทุกวันนี้แวดล้อม ถือเป็นย่านสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมเก่าแก่ของพระนครแห่งหนึ่ง

             

นอกจากนี้ในย่านชุมชนแห่งนี้ได้สร้างมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญๆ ได้แก่ ลิเกพระยาเพชรฯ เครื่องดนตรีไทยสายวังหลวง (รัชกาลที่ ๔) กรงนก (คนที่มาจากปักษ์ใต้ได้ถ่ายทอดวิชาเอาไว้) เครื่องปั้นดินเผา การนวดคลายจุด การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ฯลฯ

             

ด้วยความเป็นชุมชนที่อยู่สืบทอดมานาน จึงทำให้รู้จักกันแทบทุกครัวเรือน มีอะไรก็แบ่งกัน มีงานธุระทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจจนสำเร็จลุล่วง แม้ในระยะต่อมาความเป็นย่านชุมชนดั้งเดิมของป้อมมหากาฬจะลดบทบาทลงก็ตาม เนื่องเพราะผู้คนเคลื่อนย้ายออกไป คนใหม่ๆ เข้ามา โดยในปัจจุบันนี้มีประชากร ๓๑๗ คน ๖๖ ครอบครัว บ้าน ๕๕ หลังคาเรือน จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางราชการได้ออกกฎหมายเวนคืนที่ดินชุมชนริมป้อมมหากาฬเพื่อสร้างสวนสาธารณะ โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถที่จะย้ายออกไปได้ เนื่องจากไม่ได้รับค่าชดเชยที่สามารถไปตั้งหลักฐานในที่อยู่อาศัยใหม่ได้ และด้วยความรู้สึกรักและผูกพันกับชุมชนที่อยู่อาศัยมานาน จึงได้มีการต่อสู้และต่อรองกับทางกรุงเทพมหานครจนกระทั่งทุกวันนี้

             

เมื่อกลุ่ม นปช. ได้ประกาศตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๓ ว่าจะชุมนุมในวันที่ ๑๒ มีนาคม ทางชุมชนป้อมมหากาฬจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่จะป้องกันรักษาตนเอง โดยจัดเตรียมอุปกรณ์สิ่งของที่มีในท้องที่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยวางมาตรการสำคัญได้แก่ ๑) การวางเวรยามจากที่เคยมีเฉพาะกลางคืนให้เป็นเวรยามตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยกลุ่มแม่บ้านจะทำหน้าที่ในตอนกลางวัน ส่วนกลุ่มชายฉกรรจ์จะทำหน้าที่ในตอนกลางคืน รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มวัยรุ่นเฉพาะกิจสำหรับดูแลการดับเพลิงและการอพยพคนชราและเด็กเล็ก ๒) ตั้งแผงสังกะสีล้อมชุมชนเพื่อป้องกันบุคคลภายนอกรุกล้ำ พร้อมกับประกาศห้ามคนภายนอกเข้า ๓) เตรียมอพยพหากเกิดเหตุอันตรายกับชุมชน โดยกำหนดให้อพยพไปที่โรงเรียนสงฆ์ธรรมวิลาส วัดเทพธิดาราม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมชน มีกลุ่มวัยรุ่นเฉพาะกิจทำหน้าที่นี้

             

เมื่อเกิดการชุมนุมบนถนนราชดำเนินตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ได้มีการจัดตั้งเวทีปราศรัยบนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งจะต้องมีการใช้เครื่องขยายเสียงให้ได้ยินทั่วทั้งถนนราชดำเนิน และมีกลุ่มกำลังรักษาความปลอดภัยหรือ “การ์ด นปช.” ควบคุมความปลอดภัยทั้งในและรอบพื้นที่ ดังนั้นจึงเกิดผลกระทบต่อผู้คนในชุมชนป้อมมหากาฬอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเสียงการปราศรัยสลับกับเสียงดนตรีการแสดงที่ดังกึกก้องตลอดทั้งคืน ได้ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถพักผ่อนได้ในเวลากลางคืน ทำให้สุขภาพทางกายของคนในชุมชนหลายคนต้องทรุดโทรมลง โดยเฉพาะคนชราที่สุขภาพไม่ดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

               

และด้วยมาตรการการรักษาความปลอดภัยของทางกลุ่ม นปช. ชาวบ้านที่จะเข้าออกบ้านของตัวเองจึงต้องถูกตรวจค้นแทบทุกครั้ง และถูกห้ามไม่ให้เอารถเข้าออกเขตชุมชน ต้องจอดข้างนอก แม้บางรายจะพาคนเฒ่าคนแก่ไปรักษาพยาบาลก็ถูกห้ามไม่ให้เรียกรถไปรับในตำแหน่งที่ใกล้บ้าน ต้องไปเรียกรถที่แยกสำราญราษฎร์ (ประตูผี) เพราะผิดวินัยความปลอดภัย

               

นอกจากนี้หน่วยงานและห้างร้านในพื้นที่รอบข้างชุมชนต่างพากันปิดทำการระยะหนึ่ง ชุมชนจึงขาดรายได้จากการจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาในชุมชน เช่น กรงนก เครื่องปั้นดินเผา กระเพาะปลา ฯลฯ แทบจะไม่สามารถทำงานใดๆ เพื่อเลี้ยงปากท้องอย่างจริงจังได้

               

อย่างไรก็ตามในระหว่างการชุมนุม ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬได้เจรจากับตัวแทนกลุ่ม นปช. ว่าชุมชนนี้เป็นกลุ่มชาวบ้านที่อยู่มาแต่เดิม ทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริตโดยตลอด ไม่ได้เป็นกองกำลังที่จะทำร้ายใคร จึงขอให้ทางกลุ่ม นปช. อย่าได้ระแวงสงสัยและทำอันตรายอย่างใดแก่ชุมชน ซึ่งทางกลุ่ม นปช. ก็ตกลงด้วยดี

               

จากสภาวะอัมพาตของชุมชนที่เกิดขึ้นนี้ “...เหมือนกับชีวิตตัวตนของพวกเราได้ขาดหายไป เพราะไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตตามปกติได้...” และในเวลาต่อมาเมื่อหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ได้เข้ามาตรวจสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่ ปรากฏว่าทุกคนมีโรคเครียดจากสภาวะที่ตนเองประสบมาเป็นระยะเวลา ๑ เดือนเศษ ส่วนใหญ่ต้องได้รับการบำบัดจากจิตแพทย์จึงจะคลายจากอาการดังกล่าว

               

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ในวันที่ ๑๐ เมษายน เมื่อมีสิ่งบ่งชี้ว่าจะเกิดเหตุรุนแรง ทางชุมชนป้อมมหากาฬจึงได้ดำเนินการระวังป้องกันชุมชน โดยส่งชาวบ้านเข้าร่วมชุมนุมเพื่อดูท่าทีและรายงานสถานการณ์ให้ชุมชนทราบตลอดเวลา คนส่วนที่เหลือเตรียมถังดับเพลิงรวมไว้ในจุดเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเด็กวัยเรียนชั้นประถมช่วยกันเตรียมถังน้ำไว้สำหรับล้างแก๊สน้ำตา โดยที่ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนสั่งให้ทำ เมื่อเกิดการสลายชุมนุมในวันนั้น ปรากฏว่ามีแก๊สน้ำตาตกลงมาในพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านจึงรีบเอาถังน้ำครอบไว้ก่อนที่จะระเบิดออกมา

               

จากพลังความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนป้อมมหากาฬในการฝ่าฟันช่วงวิกฤติของชุมชนครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความผูกพันอันแน่นแฟ้นของชุมชนที่ยังทรงพลังอยู่ คุณธวัชชัย ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนได้กล่าวว่า ที่ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีความผูกพันจนก่อเกิดเป็นพลังชุมชนเช่นนี้ได้ เป็นเพราะความรู้สึกอบอุ่นจากความผูกพันฉันเครือญาติที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน รวมทั้งความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน เนื่องมาจากทุกคนได้เคยช่วยเหลือทำงานทำบุญร่วมกันมาแต่อดีต

               

ผู้นำชุมชนป้อมมหากาฬได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า พลังชุมชนที่ร่วมกันปกป้องดูแลและต่อสู้อย่างอดทนต่อความเครียดและความหวาดกลัวต่างๆ นับแรมเดือน ซึ่งเกิดขึ้นจากการชุมนุมของ นปช. ในครั้งนี้ จะเป็นฐานพลังอันเข้มแข็งที่จะใช้ต่อสู้กับการขับไล่เพื่อเอาพื้นที่ของชุมชนทำสวนสาธารณะโดย กทม. ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

 

ขอบคุณ คุณธวัชชัย วรมหาคุณ ผู้นำชุมชนป้อมมหากาฬ

 

บันทึกจากท้องถิ่น :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๘๔ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๕๓)

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ย. 2561, 10:39 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.