ประวัติศาสตร์บาดแผลและประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่
กิจกรรมทางวิชาการเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จัดโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติที่เป็นชุดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “แผ่นดินล้านนา” ชวนไปพูดเรื่อง “ความจริงและตำนานกบฏเงี้ยวเมืองแพร่” คงจะเพราะต่อเนื่องมาจากการทำงานวิจัยท้องถิ่นและพิมพ์เผยแพร่เอกสารเรื่อง “นครแพร่ จากอดีตมาปัจจุบัน : ภูมินิเวศวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ที่จัดจำหน่ายในวงแคบๆ ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว
งานวิจัยดังกล่าวทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแต่ประสบผลล้มเหลว เพราะความตั้งใจแรกเริ่มที่ต้องการทำให้เป็นผลงานของคนท้องถิ่น เป็นประวัติศาสตร์จากภายใน และการสำรวจนิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในนครแพร่ โดยคนท้องถิ่นที่มีความมั่นใจ มีหลักที่ดีและรู้ข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ผลสุดท้ายโครงการที่ได้รับโอกาสสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยนั้น ก็ทำได้แต่เพียงผลิตเอกสารรวบรวมเนื้อหาเรื่องราวของแอ่งที่ราบเมืองแพร่และมุมมองทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่วิพากษ์และสังเกตมาจากภายนอก กระบวนการทำงานร่วมกันและมุมมองที่จะแบ่งปันกันสำหรับการมองท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเจาะเข้าหาคนเมืองแพร่ได้ เพราะกระบวนการชุมชนเข้มแข็งปลอมๆ ที่เกิดขึ้นโดยคนที่เสมือนเป็นคนท้องถิ่นนั่นเอง
ผู้จัดน่าจะเห็นประเด็นปัญหาว่า ประวัติศาสตร์และตำนานนั้นมีความแตกต่างกัน ในกระแสของการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยนั้นต้องยอมรับว่ามีความสับสนอยู่มากและนำไปสู่ความไม่เข้าใจ ความขัดแย้งและความเชื่อที่แตกต่างจนกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกสะกิดให้ปะทุเป็นอารมณ์ของสังคมในท้องถิ่นต่างๆ ได้ง่าย หากสังคมนั้นขาดความเข้าใจ หมกมุ่น หรือถูกกระแสการเมืองปลุกเร้าในช่วงขณะหนึ่งได้สำเร็จ
การศึกษาเรื่องของอดีตจำต้องแยกแยะให้ชัดเจนก่อนที่จะนำเอาผลของการศึกษาไปใช้ ประวัติศาสตร์ เป็นกระบวนการศึกษา วิจัย วิเคราะห์หลักฐานข้อมูลทั้งตัวหลักฐานที่จะนำมาศึกษาและผลจากการศึกษานั้นทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเล่าเรียนกันตามสำนักต่างๆ แต่ในประเทศไทยมีอีกคำหนึ่งที่เคยใช้เรียกเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตทั้งที่เป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะสืบต่อมาและบันทึกไว้เป็นเอกสารที่เรียกว่า ตำนาน ตำนานเหล่านี้มีหลายรูปแบบ แต่โดยสรุปรวมการเขียนหรือเล่าเรื่องจะเจือไปกับความเชื่อหรือถูกใช้ประกอบกับประเพณีพิธีกรรมเป็นวัตถุประสงค์หลักมากกว่าต้องการตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงในอดีต โดยวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังๆ ใช้กัน
วัตถุประสงค์ รูปแบบ และวิธีการเขียนตำนานซึ่งเทียบได้กับคำว่า Myth จึงแตกต่างอย่างชัดเจนกับการเขียนงานทางประวัติศาสตร์และการศึกษาทางประวัติศาสตร์ [Historiography, Historical method] ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาในยุคสมัยใหม่ [Modern age]
อย่างไรก็ตามเนื้อหาจากการศึกษาทั้งสองรูปแบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะหาข้อยุติเพื่อตัดสินถูกผิดกันได้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง พลังของประวัติศาสตร์และตำนานยังคงเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความคิด โลกทัศน์ ของผู้คนในสังคมและไม่มีทางที่จะหยุดนิ่ง
เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า มองประวัติศาสตร์และตำนานอย่างเคลื่อนไหวมีพลวัตนั้นสวนทางกับความรู้สึกของคนในสังคมไทยโดยพื้นฐานที่เล่าเรียนศึกษาในโรงเรียนโดยใช้วิธีท่องจำเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้คิดวิเคราะห์ ถกเถียง หาสาเหตุหรือทำความเข้าใจชีวิต สังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและผ่านมาแล้ว และเชื่อมั่นยึดถือแต่เพียงว่าประวัติศาสตร์คือเรื่องราวในอดีตที่ไม่มีความสำคัญต่อปัจจุบันและอนาคตเพราะเป็นสิ่งล่วงพ้นไปแล้ว ทั้งๆ ที่เรานั้นแท้ที่จริงกำลังเผชิญภาวะความจริงทางประวัติศาสตร์แบบเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา [Change through time History] ซึ่งยังไม่ได้จบสิ้นไปแต่อย่างใด
สาเหตุเหล่านี้เองที่ทำให้คนในสังคมไทยยึดติดกับรูปแบบการเรียนเรื่องในอดีตเพียงฉาบฉวย ท่องเนื้อหา เวลาที่เกิดขึ้น และหลงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความถูกต้องโดยไม่ตั้งคำถาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่คนในสังคมจะถูกชักจูงให้เชื่ออย่างง่ายๆ จากแหล่งข้อมูลหลากหลายโดยไม่สนใจถึงที่มาที่ไปของความเคลื่อนไหวเหล่านั้น
เรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปี มาปัจจุบันกลายเป็นประเด็นปัญหาอย่างไร
ต้องยอมรับว่า การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและจัดการปกครองรูปแบบใหม่จากหัวเมืองประเทศราชให้กลายเป็นมณฑลเทศาภิบาลและจังหวัดต่างๆ ในปัจจุบัน คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างทางสังคมของท้องถิ่นต่างๆ อย่างขุดรากถอนโคน เมื่ออำนาจการจัดการทางการเมืองและสังคมเปลี่ยนมือมาสู่ขุนนางข้าราชการจากภายนอกเข้ามาดูแล สิ่งเหล่านี้กลายเป็นตะกอนตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่รอวันคุกรุ่นเรื่อยมา มากบ้างน้อยบ้างก็ขึ้นอยู่กับเชื้อปะทุภายในท้องถิ่นที่จะหลอมรวมหรือมีปัจจัยอื่นใดทำให้เกิดเชื้อแห่งความไม่พอใจที่ขยายวงกว้างขึ้นมา และต้องยอมรับอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลกในสังคมของการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงยุคอาณานิคมและหลังสมัยอาณานิคม รัฐโบราณจึงกลายเป็นเพียงความทรงจำอันหวานหอมของอดีตในท้องถิ่นที่เคยเป็นเมืองอิสระต่างๆ
เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่องค์สุดท้าย ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนพวกไทใหญ่หรือเงี้ยวสุดท้ายจึงลี้ภัยไปอยู่ที่หลวงพระบาง (ภาพจากหนังสือ นครแพร่จากอดีตมาปัจจุบัน ภูมินิเวศวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น) |
กรณีของกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ซึ่งเป็นประโยคที่ดูเหมือนจะตอกย้ำความผิดพลาดของผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย คือ เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ที่ปล่อยให้เกิดการปล้นสะดมและฆ่าฟันข้าราชการที่ส่งมาปกครองจากส่วนกลางโดยคนเงี้ยวที่เข้ามาเป็นลูกจ้างบริษัทสัมปทานไม้สักนั้นคือ ประวัติศาสตร์บาดแผล ที่พูดขึ้นมาครั้งใด ก็เหมือนจะเข้าไปแทงใจคนเหนือหรือคนเมืองแพร่ หากพูดแบบรวมๆ
นั่นคือสิ่งที่เป็นประเด็นการมองจากภายนอก ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนชั้นนำในสังคมเมืองแพร่ในสมัยที่ยังเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือในวันคืนที่กำลังถูกริบอำนาจการปกครองจากส่วนกลางและสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลจากค่าสัมปทานไม้สักแบบผูกขาดที่ทำลายสภาพแวดล้อมของเมืองแพร่ไปจนไม่เหลือให้จินตนาการในปัจจุบัน
นักโทษเงี้ยวทั้ง ๑๖ คนที่ถูกจับกุมได้ในการจลาจลในเมืองแพร่และลำปางได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพฯ โดยแยกนักโทษในบังคับสยามไปจำคุกที่กองมหันตโทษ กระทรวงยุติธรรม ส่วนนักโทษในบังคับอังกฤษส่งไปจำคุกที่สถานทูตอังกฤษ (ภาพจากหนังสือ นครแพร่จากอดีตมาปัจจุบัน ภูมินิเวศวัฒนธรรม ระบบความเชื่อและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น) |
ถามว่าทุกวันนี้คนในจังหวัดแพร่เจ็บแค้นกับประวัติศาสตร์บาดแผลนี้อย่างไร ในฐานะผู้สนใจศึกษาและทำโครงการในเมืองแพร่มาระยะหนึ่งไม่แน่ใจว่า บาดแผลนี้จะบาดลึกลงไปในจิตใจของผู้ใดและกลุ่มใด แต่ที่ชัดเจนคือ ทุกวันนี้เรื่องเกี่ยวกับกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ไม่ใช่ภาระบนบ่าอันหนักอึ้งของคนเมืองแพร่ทุกคนแน่
หลังจากการผนวกเมืองแพร่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามแล้ว ผู้คนและลูกหลานเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ก็ผ่านสังคมและเศรษฐกิจในรูปแบบการรับเหมาช่วงสัมปทาน สร้างโอกาสในการทำมาหากินกับระบบเหมาช่วงรับจ้างลากจูงไม้ในป่าให้กับบริษัทฝรั่ง ทำให้เศรษฐกิจเมืองแพร่ดีกว่าหัวเมืองอื่นๆ แต่เศรษฐกิจเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนฐานของการผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นการผลิตอย่างแท้จริง ป่าไม้สักเมืองแพร่ไม่นานก็หมดไป บริษัทฝรั่งก็ล่าถอยทิ้งไว้แต่ร่องรอยของความเฟื่องฟูร่ำรวยของคนในยุคหนึ่ง ต่อมาสัมปทานของรัฐที่ให้กับคนไทยกันเองจึงทำให้ป่าไม้เมืองแพร่หมดสิ้น ทุนที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ตรงนี้กลายเป็นฐานสำหรับนักการเมืองท้องถิ่นเมืองแพร่ในปัจจุบันที่แทบจะตัดขาดการรับรู้เรื่องราวในอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นคนเชื้อสายจีนที่เข้ามาใหม่
สำหรับชาวบ้านที่เป็นคนแพร่พื้นฐานดั้งเดิมก็ต้องปรับตัวจากการเป็นผู้อยู่ร่วมกับป่ามาเป็นผู้อาศัยป่าโดยผิดกฎหมายบ้าง แสวงหาผลประโยชน์จากป่าสัมปทานแม้จะเคยเป็นถิ่นฐานท้องถิ่นที่อยู่อาศัยมานานก็ตาม ตลอดระยะเวลาแห่งการครอบครองป่าโดยระบบสัมปทาน ชาวบ้านเห็นนายทุนและรัฐร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนรวมในอดีตที่กลายมาเป็นสมบัติเอกชนโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากเท่ากับ การปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดเป็นระยะๆ
ไม่ต้องถึงกับไปถามชาวบ้านที่สะเอียบซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำสัมปทานป่าไม้มานานว่ารู้สึกอย่างไรต่อเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ หากถามคนเมืองแพร่ที่เป็นกลุ่มทุนหรือนักการเมืองหรือผู้บริหารในปัจจุบันก็คงจะไม่ได้คำตอบที่ดุเดือดเลือดพล่านแต่อย่างใด
การจุดประกายเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการฟื้นความรู้สึกว่า อดีตเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ และการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับเมืองเก่าของกลุ่มลูกหลานเมืองแพร่ในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ จึงเป็นเพียงประเด็นของคนกลุ่มหนึ่งในเมืองแพร่ที่เรียกร้องและหวนหาอดีตแบบที่เรียกว่า Nostalgic mood ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากอดีตที่เป็นอารมณ์ร่วมของสังคมส่วนใหญ่
แต่ประวัติศาสตร์จากช่วงเวลาใกล้เคียงกันในอีกท้องถิ่นหนึ่งและในอีกบริบทหนึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์การสูญเสียบ้านเมืองของชาวมลายูปัตตานีและการลุกขึ้นต่อต้านการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง การปฏิรูปการปกครองที่ดูเหมือนจะยึดรวบทุกอย่างไปจากผู้ปกครองเดิม และที่สำคัญที่สุดคือความไม่เข้าใจในความต่างวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีและวิถีชีวิตของผู้ปกครองในรัฐใหม่ เปิดโอกาสให้มีความรุนแรงในการแก้ปัญหาหลายครั้ง และแต่ละครั้งนั้นคือความทรงจำร่วมกันที่เจ็บปวดของคนในพื้นที่ ปัญหาที่สะสมมาตลอดเวลาในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของชาวมลายูปัตตานีได้กลายเป็นมากกว่า ประวัติศาสตร์บาดแผล แต่กลายเป็น ประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่ ที่พร้อมปะทุความรุนแรงในการต่อต้านการกดงำครอบครองได้เท่ากันหรือมากกว่าการปฏิบัติที่ได้รับรู้มาในประวัติศาสตร์
กรณีหะยีสุหลง กรณีที่ถูกเรียกว่ากบฏดุซุงญอ กรณีการล้อมปราบในการสร้างความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะหรือกรณีตากใบ และอีกมากมายหลายเรื่องที่สั่งสมเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาในช่วงสี่ห้าปีนี้ เมื่อรวมกับประวัติศาสตร์ที่ถูกครอบครองรุกรานชาวปัตตานีโดยรัฐไทย สิ่งเหล่านี้ถูกดูดกลืนเข้าสู่ประวัติศาสตร์ในชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้ผ่านช่วงเวลาที่ไม่มีวันจบ กลายเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่ที่ถูกเติมเต็ม สดใหม่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
หะยีสุหลง ผู้นำของมุสลิมที่ออกมาเรียกร้องในกรอบของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรมแก่คนมุสลิม (ภาพจากหนังสือ เล่าขานตำนานใต้) |
สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายการจัดการปัญหาในระดับสูงต่อเรื่องความยุติธรรม ความเป็นธรรม และการกระจายอำนาจทั้งการปกครอง การศึกษาและวัฒนธรรมสู่ท้องถิ่น การไม่ตั้งรับทำความเข้าใจประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นการสั่งสมของปัญหาที่ต้องการความคิดวิเคราะห์มากกว่าเดิม ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิชาการจะออกมาชี้นิ้วว่า กระบวนการเหล่านี้คือเรื่องของท้องถิ่นนิยม เป็นเพียงความรู้สึกโหยหาอดีตของคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นรูปแบบการวิเคราะห์ที่ล้าหลังและหยาบๆ เกินไป
ประวัติศาสตร์บาดแผลมีโอกาสขยายผลจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่ได้ หากเราไม่ทำความเข้าใจบริบทของท้องถิ่นต่างๆ อย่างระมัดระวัง และเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในการให้การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์แก่คนในสังคม การวิเคราะห์ คิด และถกเถียงอย่างสร้างสรรค์คงช่วยให้มีความเข้าใจในพลังของประวัติศาสตร์ที่ไร้ข้อยุติได้
แต่ก็มีนักวิชาการประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่ขุดคุ้ยข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมืองไทยบางกลุ่มกำลังยึดถือตรรกะแบบเอาเป็นเอาตาย ถกเถียงกันเฉพาะตรรกะว่าของใครผิดและถูกก็กำลังหาข้อยุติ ข้อสรุปให้เข้ากับสมมติฐานของตนเอง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน
แล้วจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตแบบ Change through time History ได้อย่างไรกัน
จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๗๗ (มีนาคม-เมษายน ๒๕๕๒)