หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
เปิดบ้านนราศิลป์
บทความโดย จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
เรียบเรียงเมื่อ 5 มิ.ย. 2561, 09:17 น.
เข้าชมแล้ว 9612 ครั้ง

คุณพินิจ สุทธิเนตร หรือพี่ปู ทายาทผู้สืบทอดบ้านนราศิลป์

 

“บ้านนราศิลป์” เป็นบ้านไม้ที่ถูกประดับตกแต่งด้วยต้นไม้น้อยใหญ่สีเขียวเย็นตาตั้งอยู่ริมถนนหลานหลวง  ถือกำเนิดโดยนายแม่ละม่อม สุสังกรกาญจน์ และสามีซึ่งเป็นนายห้างเจ้าของแป้งตราสโนว์  เมื่อราวสมัยรัชกาลที่ ๖ สืบทอดการเป็นบ้านโขนละครที่มีชื่อเสียงเรื่อยมา มีสมาชิกนักแสดงมากมายจนสามารถแยกตัวละครออกไปตามโรงละครต่างๆ ได้ถึง ๓ โรง โดยการใช้นักแสดงครั้งละหลายสิบคน  ในยุคของการเกิดช่อง ๔ บางขุนพรหมบ้านนราศิลป์ได้มีบทบาทสำคัญของการเป็นคอสตูมหรือการทำเครื่องแต่งกายนักแสดง โดยหลักๆ มี ๓ บ้านที่มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญชัดเจนแตกต่างกันออกไป เช่น  เรื่องการแสดงเป็นหน้าที่หลักของบ้านนาฏศิลป์สัมพันธ์โดยครูสัมพันธ์ พันธุ์มณี บ้านดนตรีคือบ้านดุริยะประณีต และบ้านเครื่องคือหน้าที่ของบ้านนราศิลป์

 

บ้านนราศิลป์ ถนนหลานหลวง

 

ในยุคของภาพยนตร์บ้านนราศิลป์ได้มีทีมงานด้านโปรดักชันผลิตภาพยนตร์ในยุคแรกๆ ตั้งแต่มีการทำเป็นภาพยนตร์ใบ้หรือหนังพากย์ โดยใช้ชื่อว่า “นราศิลป์ภาพยนตร์” ซึ่งเมื่อก่อนการทำหนังเครดิตไม่มีว่าเป็นภาพ เสื้อผ้า ดนตรี หรือชื่อการกำกับซึ่งยังไม่มีใครทำ แต่ของบ้านนราศิลป์มีมาตั้งแต่ ๖๐ กว่าปีที่แล้ว

 

คุณพินิจ สุทธิเนตร หรือพี่ปู ทายาทผู้สืบทอดบ้านนราศิลป์

 

หน้าด่านตลาดนางเลิ้ง

คุณพินิจ สุทธิเนตร หรือพี่ปู ทายาทผู้สืบทอดบ้านนราศิลป์มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ให้ความเป็นบ้านนราศิลป์คงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ โดยจะทำบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนนางเลิ้งไว้สำหรับผู้ที่สนใจงานด้านสังคมวัฒนธรรมได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ รวมไปถึงการรับมือและปรับตัวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

 

พี่ปูเล่าว่า “บ้านเราอยู่ริมถนนหาง่ายและเหมือนเป็นออฟฟิศ ขนมที่ใช้จัดเลี้ยงในงานกิจกรรมที่บ้านเราจะเน้นขนมจากตลาดนางเลิ้งเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนของในชุมชนด้วย  คนผ่านไปผ่านมานางเลิ้งต้องมาผ่านตรงนี้ เช่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  บ้านเราค่อนข้างสะดวกพร้อมให้บริการ”

 

นอกเหนือจากบ้านนราศิลป์แล้วย่านนางเลิ้งถือเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของพื้นที่เมืองเก่าของกรุงเทพฯ กลุ่มบ้านโขนละคร ดนตรี โรงหนังมหรสพต่างๆ รวมไปถึงเป็นย่านที่มีอาหารคาวหวานที่มีชื่อเสียง ทำให้ย่านนางเลิ้งเป็นที่สนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินสำรวจชุมชนชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน

 

ฝีมืองานปักของบ้านนราศิลป์

 

บ้านนราศิลป์แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชน

ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมงาน “เปิดบ้านนราศิลป์” แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชน จัดขึ้นโดยบ้านนราศิลป์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๗.๓๐ น. ณ บ้านนราศิลป์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

 

กิจกรรมประกอบไปด้วยพิธีเปิดกล่าวรายงานโดย ผู้อำนวยการกองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม กล่าวเปิดงานโดยอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางพิมพ์วรี วัฒนวรางกูร จากนั้นเป็นการเสวนา เรื่อง “สนุกสืบสานงานหัตถศิลป์” โดยอาจารย์ภุมรี ปานสมุทร์ นายพินิจ สุทธิเนตร และครูวัลลภา สุทธิเนตร ดำเนินรายการโดยนายวิษณุ เอมประณีตร์ ซึ่งช่วงเสวนานี้เป็นการเสวนาแบบมีส่วนร่วมระหว่างวิทยากรหลัก ๓ ท่านบนเวทีกับผู้ร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและประเด็นต่างๆ ร่วมกัน และช่วงสุดท้ายการสาธิตการปักเครื่องโขน ละคร ๔ รายการ ได้แก่ สาธิตการปักสะดึงเนาผ้า สาธิตการปักเครื่องโขน ละคร สาธิตการตัดสะดึง และสาธิตการเนา สอย เข้าตัว โดย ครูวัลลภา สุทธิเนตร ครูบุษบา ทับผล และทีมงานจากบ้านนราศิลป์

 

หัวโขนภายในบ้านนราศิลป์ฝีมือของครูชิต แก้วดวงใหญ่

ภายในบ้านเป็นส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการโดยส่วนแรกเป็นการชมภาพยนตร์โดยทีมสร้างของ “นราศิลป์ภาพยนตร์” ฟิล์ม ๑๖ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “หนุมานถวายแหวน” แสดงโดยครูจำนง พรพิสุทธิ (รับบทพระราม) และ  ครูพรรณี สำเร็จประสงค์ (รับบทนางสีดา) และภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ของนางเลิ้ง

 

ส่วนที่สองเป็นการแสดงการสาธิตการปักเครื่องโขน ละคร โดยนำนักเรียนส่วนหนึ่งที่ได้ทำการฝึกหัดโดยครูจากบ้านนราศิลป์มาร่วมสาธิตและแนะนำวิธีการปักสะดึง

 

ส่วนสุดท้ายคือนิทรรศการหัวโขนซึ่งหัวโขนทั้งหมดที่บ้านนราศิลป์นี้เป็นฝีมือของครูชิต แก้วดวงใหญ่ ทั้งหมด ยกเว้นในส่วนของงานใหม่ วัตถุประสงค์ของนิทรรศการชุดนี้คือการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเนื้องานที่เป็นของเก่าถึงแม้ว่าจะมีการชำรุดไปบ้าง เพราะการทำหัวโขนเป็นเสมือนกับลายเซ็น แม้ว่าสืบทอดฝีมือโดยการเป็นทายาท มีกระบวนการทุกอย่างเหมือนกันแต่ท้ายที่สุดแล้วขั้นตอนการลงลายเป็นการใช้ฝีมือเฉพาะตัวของช่างทำหัวโขนแต่ละท่านเอง

 

 

กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นของบ้านนราศิลป์นี้ “พี่ปู” ตั้งใจที่จะให้เกิดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวบ้านนราศิลป์ และชุมชนโดยไม่ได้หวังผลกำไรในเชิงพาณิชย์และได้พยายามขับเคลื่อนกิจกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมของบ้านนราศิลป์มาโดยตลอด ถือเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และที่อยู่อาศัยในคราวเดียวกัน พร้อมจะเปิดต้อนรับผู้ที่สนใจใคร่รู้ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมสามารถแวะเวียนเข้ามาได้ทุกเมื่อเพราะถือว่าการเผยแพร่ความรู้กับการอนุรักษ์ให้คงอยู่นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน

 

กิจกรรมการเรียนปักสะดึงของบ้านนราศิลป์

 

 

อัพเดทล่าสุด 6 มิ.ย. 2561, 09:17 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.