ยาหอมตำรับต่างๆ ของร้านหมอหวานที่กลับมาผลิตใหม่ด้วยหีบห่อที่ทันสมัยถูกใจผู้ซื้อ
เล่ากันในครอบครัวของหมอหวานว่า เริ่มแรกหมอหวานตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณแยกถนนอุณากรรณที่ต่อกับย่านชุมชนถนนบ้านลาวที่กลายมาเป็นถนนเจริญกรุงในเวลาต่อมาซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของวัดสุทัศน์ฯ ต่อมาจึงย้ายมาอยู่ฟากถนนตีทองที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกใกล้กับถนนบำรุงเมือง แม้ไม่ได้สร้างเป็นอาคารร้านค้าริมถนนแต่ก็อยู่ในจุดที่สามารถเดินเท้าเข้าถึงได้จากถนนทั้งสองแห่งทั้งถนนตีทองและถนนบำรุงเมือง ร้านยาหมอหวานเป็นตึกสวยออกแบบตามสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หน้าอาคารมีตัวอักษรแปลกตาเขียนติดกันว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ถัดลงมามีสัญลักษณ์ตาเหลวและชื่อหมอหวาน เจ้าของผู้สร้างอาคารหลังนี้
ที่ร้านหมอหวานในปัจจุบัน ทายาทรุ่นเหลนตา “ภาสินี ญาโณทัย” และคณะ ศึกษาและค้นคว้าหลักฐานจากสมบัติตกทอดสืบกันมาภายในบ้าน พบว่ามีฉลากยาเก่าเขียนว่า “ร้านขายยาไทยตราชะเหลว” ของหมอหวานตั้งอยู่มุมถนนอุณากรรณแสดงว่าหมอหวานน่าจะมีกิจการปรุงยามาตั้งแต่ก่อนสร้างบ้านหมอหวานหลังนี้นานพอสมควร เพราะสามารถสร้างบ้านเป็นตึกหลังงามขนาดย่อมบนที่ดินของตนเองและเป็นบ้านตึกที่แสดงถึงฐานะอย่างภูมิฐาน
ร้านยาหมอหวานนั้นสร้างขึ้น ๑ ปีภายหลังจากมี “พระราชบัญญัติการแพทย์พุทธศักราช ๒๔๖๖” ซึ่งมีเนื้อความว่า การรักษาโรคนั้นเป็น “การประกอบโรคศิลปะ” ที่มีอิทธิพลต่อสวัสดิภาพของประชาชน กรุงสยามยังไม่มีระเบียบบังคับควบคุม ประชาชนยังไม่มีความคุ้มครองจากอันตรายอันอาจจะเกิดจากการประกอบโดยผู้ไร้ความรู้และไม่ได้ฝึกหัด เป็นต้น ในพระราชบัญญัตินี้กล่าวเฉพาะถึงการปรุงยาเท่านั้นแต่ยังไม่ได้ครอบคลุมถึงการขายยาด้วย ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงควบคุมให้สถานขายยา การโฆษณายาต่างๆ ให้อยู่ในการประกอบโรคศิลปะด้วย การแพทย์แบบสากลคือแบบตะวันตกได้แพร่หลายเข้ามามากและเป็นระยะเวลานานแล้ว อาจจะถือว่าเริ่มต้นเมื่อมีการสร้างโอสถศาลาของมิชชันนารีชาวอเมริกันตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “หมอบรัดเลย์” เปิด “โอสถศาลา”ขึ้นเป็นที่แรกในสยามราว พ.ศ. ๒๓๗๙ เพื่อทำการรักษา จ่ายยาและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้ จนเริ่มมีการสร้างโอสถศาลาตามหัวเมืองต่างๆ โดยรัฐในเวลาต่อมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕
ฉลากยาเก่า หลักฐานจากสมบัติที่สืบทอดกันมาภายในบ้าน
ในพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๔๖๖ เแบ่งการแพทย์เป็น ๒ แผน คือ แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนโบราณ โดยแพทย์แผนโบราณแบ่งออกเป็น ๔ สาขา ได้แก่ สาขาเวชกรรมแผนโบราณ เภสัชกรรมแผนโบราณ ผดุงครรภ์แผนโบราณ และสาขานวดแผนโบราณ ดังนั้นทั้งการปรุงยาและการขายและโฆษณายาต่างๆ จึงถูกควบคุมด้วยพระราชบัญญัติการแพทย์มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๖ และร้านหมอหวานก็อยู่ในขอบข่ายของการควบคุมดังกล่าวและทำใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
จากหลักฐานที่เหลืออยู่ที่บ้านหมอหวาน ภาสินีพบว่ามีหูฟังและปรอทวัดไข้เหมือนแพทย์แผนปัจจุบันและขวดยาที่ตั้งไว้ภายในร้านก็มีตัวอักษรภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วย ด้วยจากยาที่เป็นยาต้มยาหม้อ ยาผงแต่ส่วนใหญ่ยาที่เหลือติดก้นขวดจะเป็นยาเม็ด และมีบล็อกพิมพ์ แสดงถึงการปรับตัวจากยาไทยให้เป็นยาเม็ดแบบฝรั่ง การตรวจรักษาก็นำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาผนวก หมอหวานจึงเป็นบุคคลประเภทผสานความรู้ทั้งของดั้งเดิมและแบบแผนสมัยใหม่ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งเป็นสากลเมื่อเปิดร้านยานี้
การแพทย์ท้องถิ่นและการรักษาโดยยาท้องถิ่นถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนที่สืบทอดกันมาและมักเป็นความรู้ที่อยู่กับวัด อันเป็นสถานศึกษาแบบเดิม มีตำรายาต่างๆ มากมายที่เก็บรักษาไว้ตามวัด หมอสมุนไพรก็มักเป็นพระสงฆ์ตามวัดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีตระกูลของหมอยาผู้รู้ต่างๆ เก็บรักษาตำรายาและความรู้อยู่ในตระกูลตามบ้านอีกจำนวนมาก การรักษานั้นส่วนใหญ่ควบคู่ไปกับการรักษาแบบจารีตและความเชื่อ จึงดูไม่เป็นสากลแบบสมัยใหม่ตามระบบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่เป็นกระแสครอบงำโลกยุคสมัยใหม่ [Modernization] ในช่วงเวลาดังกล่าว
เมื่อมีกฎหมายควบคุม หมอไทยและหมอพื้นบ้านเริ่มรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ บางส่วนต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำเพราะส่วนใหญ่เป็นการรับสืบทอดความรู้และการฝึกฝนกันในตระกูลหรือเรียนจากพระจากตำราวัด และไม่ได้เรียนในระบบและมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ปรุงยาก็กลัวว่าจะมีความผิด ทำให้บางส่วนก็เลิกอาชีพไป ตำรายาหลายขนานก็หายไป จนเริ่มมีความนิยมนำยาไทย สมุนไพรต่างๆ มาเผยแพร่อีกครั้งโดยการแพทย์ทางเลือกที่มีการผลิตสมุนไพรต่างๆ และแพทย์แผนไทยที่เปิดสอนในหลายสถาบันในระยะราว ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา
อาคารร้านขายยาหมอหวานที่สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ และมีแผ่นป้าย "บำรุงชาติสาสนายาไทย"
ภาสินีได้รับรู้จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่า หมอหวานมีโอกาสได้ถวายการรักษาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับพระราชทานกล่องไม้จากพระธิดาพระองค์หนึ่งว่า “ขอบใจหมอหวาน ที่ช่วยปรนนิบัติเสด็จพ่อ เมื่อคราวประชวร” หมอหวานอาจจะเข้าไปตรวจรักษาพระองค์ท่านเมื่อคราวประทับอยู่ที่วังเดิมเชิงสะพานถ่านหรือวังสะพานถ่านที่ตั้งอยู่บนถนนตีทอง ไม่ไกลจากบ้านหมอหวานที่ถนนอุณากรรณนัก ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างวังพระพระราชทานบนที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และย้ายไปประทับอยู่ ณ วังเทวะเวศม์ แถบบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อมาบริเวณวังสะพานถ่านถูกรื้อและกลายเป็นตลาดบำเพ็ญบุญ
กล่องไม้ที่หมอหวานได้รับพระราชทาน หลังจากถวายการรักษาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ที่คุณภาสินีได้รับรู้คำบอกเล่าจากบรรพบุรุษ
หมอหวานปรุงยาแผนโบราณหลายตำรับ ทั้งยาระบาย ยากวาดคอเด็ก ยาหอม ยาแก้ปวดหัวตัวร้อน เป็นร้านยาสำหรับชาวบ้านในพระนครทั่วไป มีคนไข้มารักษาที่บ้านบ้าง มาซื้อยาไปรักษาเองบ้าง บ้านหมอหวานจึงเป็นทั้งคลินิกรักษาและสถานที่ปรุงยา และเมื่อย้ายสถานที่อยู่อาศัยและปรุงยาจากมุมถนนอุณากรรณมาเป็นถนนตีทองและบำรุงเมือง ฉลากยาก็เปลี่ยน
ในฉลากยาจะมีเขียนไว้ว่าขายส่งขายปลีก และน่าจะขายดีมากเพราะมีการปลอมเกิดขึ้น ต้องทำฉลากยาที่บางชิ้นเขียนว่า “ของหมอหวานแท้ต้องมีตราหมอหวาน” ลงในเอกสารกำกับยาซึ่งจะเว้นที่ไว้ เข้าใจว่าเตรียมไว้สำหรับเอาตราประทับลงไป พบตราประทับประมาณ ๔-๕แบบ แบบแรกๆ จะเป็นแบบลายมือแล้วพัฒนามาเป็นแบบกึ่งพิมพ์ ซึ่งพิมพ์ที่ถนนตีทองนี่เอง ยาหมอหวานจึงมียี่ห้อขึ้นมาในช่วงนั้น และถึงช่วงเวลาที่กำลังสร้างตึกหลังนี้ ก็เริ่มมีการใส่ประโยคที่ว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ลงไปในเอกสารกำกับยาตั้งแต่อยู่ที่ถนนอุณากรรณก่อนย้ายมาที่นี่ และตำรับ “ยาหอมมหาสว่างภพ” มีเอกสารกำกับยาเป็นเล่มเพราะสรรพคุณมากมายและพิมพ์เป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตำรับยาหอมที่ขายดีที่สุด
ภาสินี ญาโณทัย ผู้สืบทอดร้านยาหมอหวานในปัจจุบัน
ภาสินียังค้นพบเรื่องราวของหมอหวานด้วยตนเองต่อไปอีกคือ โครงสร้างของบ้านหมอหวานแบ่งออกเป็นสองส่วนชัดเจน แต่หากมองจากด้านหน้าเข้ามาแล้วเหมือนมีเพียงตึกเดียวที่คงออกแบบโดยสถาปนิกชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอิตาเลียนซึ่งเข้ามารับราชการและที่ทำการรัฐบาล อาคารวังต่างๆ รวมทั้งออกแบบตึกแถวร้านค้า ซึ่งร้านหมอหวานก็น่าจะเป็นการออกแบบของสถาปนิกชาวต่างชาติท่านหนึ่งท่านใดในยุคนั้น ถัดไปคือบ้านไม้ที่เป็นเรือนพักอาศัยของคนในบ้าน ตัวตึกนั้นคงตั้งใจจะทำให้เป็นร้านขายยาแบบตะวันตกที่มีหน้าร้าน มีบานประตูสูง ด้านข้างมีการจัดแสดงสินค้าหน้าร้าน วางขวดยาเพื่อให้ทราบว่าที่นี่คือร้านขายยา ภายในร้านมีเคาน์เตอร์ยา ข้างหลังเคาน์เตอร์จะเป็นตู้ยาวางแสดงขวดยาหรือตัวยาต่างๆ และเมื่อตรวจสอบเอกสารเก่าๆ ดูก็พบว่ามีตำรายาที่จดในสมุดฝรั่งบ้าง แต่สมุดไทยแบบผูกมากที่สุด และน่าจะเป็นสูตรยาหอมและมีหลายตำรับซึ่งยังตกทอดมาจนปรุงอยู่ถึงปัจจุบัน
หมอหวานมีบุตรสาวที่เป็นคุณยายของภาสินี ซึ่งรับสืบทอดการปรุงยาร้านหมอหวานสืบมา โดยแต่งงานและมีบุตร ๓ ท่าน หนึ่งในหลานสาวของหมอหวานคือคุณป้าออระ วรโภคป้าของภาสินีซึ่งเกิดทันได้เห็นได้พบคุณตาคือหมอหวาน จำได้ว่าท่านเป็นคนที่พูดน้อย หน้าไม่ค่อยยิ้ม เหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่ดุ อาเจ็กที่ขายยาพวกเครื่องยาสมุนไพรตรงเสาชิงช้าเล่าให้คุณภาสินีฟังว่า เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นก็เคยพบหมอหวาน ท่านมักเดินไปซื้อเครื่องยามาปรุงยาด้วยตัวเองเป็นประจำ หลังจากสงครามสงบหมอหวานก็ถึงแก่กรรมที่บ้านซึ่งท่านสร้างขึ้นมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ รวมอายุของท่านราวๆ ๗๗ ปี
ป้าออระ วรโภค เรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วจึงข้ามฝั่งไปทำงานที่ศิริราช เป็นเลขาของคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์เงินเดือนเดือนแรกที่ได้เอามาให้แม่ซื้อเครื่องบดยาไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้แรงคน เพราะมีแต่ผู้หญิงในบ้านเป็นส่วนใหญ่ เมื่ออายุ ๒๖-๒๗ ปี ท่านไปเรียนเภสัชกรรมไทยที่วัดโพธิ์เพื่อให้ได้ใบประกอบโรคศิลปะและรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพรและการปรุงยาที่มีการสอนกัน ช่วงนี้เป็นยุคที่ร้านหมอหวานยังมีลูกจ้างช่วยงานและการขายยายังเป็นไปด้วยดี เป็นรายได้หลักของครอบครัว ยายและป้าของภาสินีที่เป็นผู้หญิงและมีลูกมือท่านหนึ่งเป็นผู้ชายเป็นเสมือนเครือญาติ แต่ก็มีงานประจำมาช่วยหั่นยา บดยาปรุงยาในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งต้องใช้แรงงานมาก หลังจากหมอหวานเสียชีวิตไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผลิตลดลงไปจากเดิมมาก ยาบางตำรับก็ไม่ได้ทำเหมือนเช่นในสมัยหมอหวานยังมีชีวิตอยู่ แต่พอราว พ.ศ. ๒๕๒๖ บุตรสาวของหมอหวานที่เป็นยายของภาสินีเสียชีวิตลง จึงถึงจุดเปลี่ยนเพราะคิดว่าจะยุติกิจการไปและคืนทะเบียนทุกอย่างหมด แต่ลูกค้ากลุ่มที่ซื้อเก่าแก่ก็ยังขอให้ทำขาย แต่ผลิตกันอย่างไม่เป็นทางการรู้กันเองในหมู่ของลูกค้าเก่าแก่จนเมื่อราว ๗ ปีที่แล้ว
ภาสินี ญาโณทัยจึงลาออกออกจากงานประจำก็มาทำเต็มตัว สานต่อกิจการที่แทบจะเลิกไปทั้งหมดแล้วขึ้นมาใหม่
ในท้องตลาดจึงมียาหอมหลากหลายสูตรให้เลือกซื้อหา แบ่งออกเป็นยาหอมที่มุ่งแก้ลมกองหยาบและกองละเอียด คนที่เป็นลมซึ่งเกิดจากลมกองหยาบจะมีอาการคลื่นไส้ ท้องเฟ้อ ส่วนคนที่เป็นลมซึ่งเกิดจากลมกองละเอียดเป็นลมเบื้องสูง มีอาการแน่นหน้าอกใจสั่น วิงเวียนหน้ามืด
ยาหอมทั่วไปมีสมุนไพรที่มุ่งเน้นแก้ลมกองหยาบ ส่วนตัวยาแก้ลมกองละเอียดมีน้อย เพราะตัวยาแพง หากไปขายในท้องตลาดราคาแพงจะขายยาก หนึ่งในจำนวนยาหอมโบราณ มียาหอมตำรับหมอหวานที่ขึ้นชื่อด้วยสรรพคุณในการรักษามุ่งเน้นแก้ลมกองละเอียด จึงมีราคาค่อนข้างสูงกว่ายาหอมทั่วไป
ยาหอมโบราณ ๔ ตำรับของหมอหวานที่เคยได้รับความนิยมในอดีต
สมัยที่หมอหวานมีชีวิตอยู่ สืบเนื่องมาจนกระทั่งบุตรสาวมารับช่วงปรุงยาต่อนั้นเป็นช่วงที่มีตำรับยาแผนโบราณหลายขนาน มีทั้งยาสำหรับเด็ก เช่น ยากวาดคอเด็ก และยาสำหรับผู้ใหญ่ เช่น ยาลดไข้ ยาหอม ต่อมาขาดช่วงไป การปรุงยาหลายขนานจึงต้องเลิกไป
เหลือเพียงยาหอมโบราณเพียง ๔ ตำรับของหมอหวาน ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต ปัจจุบันยังคงมีการถ่ายทอดทั้งกรรมวิธีและกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ด้วยเครื่องมือโบราณที่ใช้ในการปรุงยาขายให้กับลูกค้ามากว่าร้อยปี
ตำรับยาหอมของหมอหวาน ๔ ตำรับ ได้แก่
๑. ยาหอมสุรามฤทธิ์แก้อาการใจสั่น เป็นลม บำรุงหัวใจ ทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๑ เม็ด มีตัวยาสำคัญ คือ โสมเกาหลี พิมเสนเกล็ด อำพันทอง หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด คุลิก่า
๒. ยาหอมอินทรโอสถแก้เหนื่อยอ่อนเพลีย แก้ไอ แก้เสมหะ ทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๓-๕ เม็ด ตัวยาสำคัญได้แก่ รากฝากหอม อบเชยญวน เห็ดนมเสือ หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด โคโรค
๓. ยาหอมประจักร์แก้จุกเสียดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๕-๙ เม็ด ตัวยาสำคัญได้แก่ โสมเกาหลี พิมเสนเกล็ด ชะมดเช็ด หญ้าฝรั่น เหง้าขิงแห้ง
๔. ยาหอมสว่างภพ แก้อาการวิงเวียนหน้ามืด แก้ไขสวิงสวาย ทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๕-๗ เม็ด ตัวยาสำคัญได้แก่ ใบพิมเสน พิมเสนเกล็ด หญ้าฝรั่น โสมเกาหลี ชะมดเช็ด
ยาหอมทั้ง ๔ ตำรับ มีสรรพคุณที่คล้ายคลึงกันคือ เน้นการบำรุงหัวใจ บำรุงธาตุในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ แต่เพื่อความสะดวกในการเลือกใช้ของคนในยุคปัจจุบัน เราจึงพยายามจำกัดข้อความและสรรพคุณของยาแต่ละขนานให้ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ยาหอมสุรามฤทธิ์ มีสรรพคุณแก้อาการใจสั่น เป็นลมหมดสติ จุกแน่นหน้าอก
“ยาหอม” มีตัวยาหลายชนิดที่หายากมาก บางอย่างต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น “หญ้าฝรั่น” ที่มีราคาแพงมาก สรรพคุณใช้บำรุงหัวใจ หญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพดีต้องมาจากสเปน กล่องหนึ่งน้ำหนักประมาณ ๔๐-๕๐ กรัม ราคา ๑๒,๐๐๐ บาท ราคาสูงมาก เป็นตัวยาสำคัญทางร้านไม่ต้องการลดทอนปริมาณตัวยาลง
การปรุงยาแต่ละขนานต้องใช้ตัวยาจำนวนมาก ผู้ที่บดยาต้องใช้พละกำลังอย่างมาก ส่วนใหญ่จึงต้องให้ผู้ชายเป็นคนบดยาโดยใช้หินบดยา ส่วนวัตถุดิบหรือตัวยาต่างๆ ในสมัยก่อนมีชาวบ้านนำวัตถุดิบมาส่งให้ที่ร้านโดยตรง ดังนั้นโอกาสที่จะเลือกเฟ้นหาวัตถุดิบดีๆ ที่มีคุณภาพมีลักษณะตรงตามตำรับยาตามสรรพคุณที่ระบุไว้ได้ง่าย แต่ในปัจจุบันวัตถุดิบถูกขนส่งมาเป็นทอดๆ กว่าจะมาถึงมือเราก็ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางมาถึงร้านค้า เราจึงมีโอกาสเลือกได้น้อยกว่าสิ่งที่พอจะทำได้คือสั่งซื้อจากร้านขายยาที่เราซื้ออยู่เป็นประจำ เช่น ร้าน
เจ้ากรมเป๋อ และร้านค้าสมุนไพรโบราณอื่นๆ
ปกติเมื่อยาเหลือน้อย ทางร้านก็จะผลิตเพิ่ม เคยมีบางครั้งต้องรอตัวยาสำคัญในการผลิตเป็นเวลานาน จนรู้สึกกังวลกลัวว่าจะผลิตไม่ทัน บางครั้งดินฟ้าอากาศไม่อำนวย เช่น ฝนตกไม่มีแดดพอที่จะตากเครื่องยาก็เป็นอุปสรรคในการปรุงยาเนื่องจากเครื่องยาส่วนที่เป็นสมุนไพรต้องตากแดดให้กรอบเพื่อที่จะบดได้ง่าย เมื่อบดเสร็จต้องนำมากรองส่วนละเอียดออกมา สำหรับส่วนที่หยาบก็นำไปบดใหม่ ทำอย่างนี้หลายๆ ครั้งให้เหลือน้อยที่สุด จนกระทั่งขั้นตอนการผสมยาโดยใช้หินบดยา ซึ่งต้องใช้แรงผู้ชายบดตัวยาให้เข้ากัน เสร็จแล้วนำมาผสมลงในโกร่งบดยาอีกครั้งหนึ่ง เป็นขั้นตอนที่ใส่ส่วนผสม เช่น พิมเสน หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด แล้วนำผงยาที่กรองไว้ผสมกับตัวยาอื่นๆ อีกหลายสิบอย่าง ระยะเวลาตั้งแต่ซื้อเครื่องยาจนกระทั่งผลิตออกมาเป็นเม็ดยา ต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ แล้วแต่ว่ายาขนานใดใช้ตัวยามากน้อยเพียงใด
ยาที่ผสมแล้วจะมีลักษณะคล้ายดินเหนียว นำมาหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาปั้มเป็นเม็ดทีละเม็ด เมื่อทำเสร็จแล้วต้องนำมาตากแดดอ่อนๆ อีกครั้งเพื่อไล่ความชื้น ห้ามตากแดดแรง เพราะกลิ่นของยาหอมจะระเหยไปหมด แล้วค่อยทยอยนำยาหอมที่หั่นไว้เป็นชิ้นๆ มาผสมกับน้ำดอกไม้เทศ แล้วปั้นทีละเม็ด เครื่องปั้มก็ต้องใช้มือ เราไม่มีเครื่องจักรในการผลิตเลยแม้แต่น้อย เมื่อได้เม็ดยาแล้วนำมาใส่โถอบเก็บไว้ แล้วจึงนำมาบรรจุลงขวดหรือใส่ซองยาหอมสามารถเก็บไว้ได้นานนับปี แต่ที่สำคัญอย่าให้ถูกความชื้นและห้ามเก็บในตู้เย็น ช่วงฤดูฝนก็อย่าให้ถูกละอองฝน ยาหอมจะชื้นและสูญเสียสรรพคุณในที่สุด
เม็ดคุลิก่า เป็นเม็ดปรวดหรือเม็ดนิ่ว ในถุงน้ำดีของค่าง
ตัวยาหายากและราคาแพง เช่น
“ชะมดเช็ด”เพราะเป็นตัวยาที่หายากและราคาแพง ในสมัยก่อนหมอหวานเลี้ยงชะมดไว้ในกรงที่บ้าน เมื่อชะมดโตขึ้นจะขับไขสีขาวลักษณะคล้ายสีผึ้ง ขับออกทางผิวหนังตรงช่องอวัยวะเพศ เวลาที่ชะมดถ่ายจะไปเช็ดกับกรง สิ่งที่ชะมดเช็ดไว้เป็นไขสีขาวเข้มข้นติดกับกรง จะเอาไม้มาขูดตามกรงเพื่อเก็บไขน้ำมันหากเป็นช่วงฤดูร้อนชะมดจะไม่ค่อยขับไขนี้ออกมา ตัวยาก็จะขาดตลาด แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวก็จะไม่มีปัญหาเรื่องนี้สรรพคุณของน้ำมันชะมด ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง สิ่งสำคัญที่ได้จากชะมดเช็ดคือกลิ่น ตัวน้ำมันจากชะมดไม่ค่อยมีกลิ่นหอมเท่าใดนัก แต่เป็นตัวช่วยให้ตัวยาอื่นๆ มีกลิ่นหอมทน หอมนาน จะเห็นได้ว่าเครื่องหอมต่างๆ เช่น เทียนหอม น้ำอบไทยจะมีส่วนประกอบของชะมดเช็ดเป็นตัวยาสำคัญ
“คุลิก่า” เป็นเม็ดปรวดหรือเม็ดนิ่วในถุงน้ำดีของค่าง ก้อน คุลิก่าหายากจึงมีราคาแพงมาก ตามสรรพคุณยาโบราณ กล่าวว่ามีรสเย็น ใช้เป็นน้ำกระสายยาแทรกยาอื่นๆ เป็นยาดับพิษร้อน ดับพิษกาฬ ดับพิษทั้งปวง กล่าวกันว่าราคากิโลกรัมละ ๑ ล้าน ๒ แสนบาท
“เห็ดนมเสือ” เป็นตัวยาสำคัญใบยาหอมอินทรโอสถ บางช่วงจะหาไม่ได้เลย เพราะเป็นเห็ดที่เกิดจากน้ำนมเสือแม่ลูกอ่อน คัดไหลลงสู่พื้นดิน เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดเป็นเห็ดต้นกลมสูง รูปร่างคล้ายร่ม มีรากเหมือนต้นไม้ เห็ดนี้มีสรรพคุณบำรุงกำลัง ครั้งสุดท้ายเราได้เห็ดนมเสือที่ฉะเชิงเทรา แปดริ้ว ราคาแพงมาก แต่ก็ต้องยอมเพราะไม่รู้จะไปหาที่ไหน ต้องอาศัยน้ำนมของเสือโคร่งเท่านั้น
“อำพันทอง” เป็นของเหลวที่คัดหลั่งจากท้อง (ปลา) วาฬตัวผู้หลังผสมพันธุ์ เป็นต้น
ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๐ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๕๙)