หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
“ไตเย็บใหม่” ร้านค้ากระดุมเก่าแก่ในย่านพาหุรัด
บทความโดย พัชรินธร เดชสมบูรณ์รัตน์
เรียบเรียงเมื่อ 26 ก.ค. 2559, 16:00 น.
เข้าชมแล้ว 15811 ครั้ง

ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวมอญ ชาวญวน ชาวลาว ชาวตะวันตก แม้แต่ชาวอินเดีย กลุ่มคนเหล่านี้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากินตั้งแต่ก่อนช่วงที่มีการเริ่มสร้างเมืองขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ล้วนส่งผลทำให้ประเทศเกิดการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ และการค้าต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ย่านเยาวราช ย่านสำเพ็ง ย่านพาหุรัด ฯลฯ

 

ร้านไตเย็บใหม่ ตั้งอยู่บนตึกแถวริมถนนจักรเพชร

 

ย่านพาหุรัดเป็นย่านการค้าแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวญวนที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย จนถึงช่วงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเหตุไฟไหม้จนทำให้ชาวญวนย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นจึงทำให้เกิดเป็นที่ว่าง รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนพาหุรัดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ และดำริให้สร้างตึกแถวริมถนนพาหุรัดทำให้มีคนอินเดียหรือแขกจำนวนมากเปิดเป็นร้านขายผ้าและสินค้านำเข้าจากประเทศอินเดียจนกลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญ

 

พาหุรัดกลายเป็นแหล่งค้าผ้าแห่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ สมัยก่อน เพราะความหลากหลายของสินค้านำเข้าประเภทผ้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีผ้าไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นผ้าจากประเทศอังกฤษ เช่น ผ้าดิบ ผ้าแฟนซี ผ้าคอตตอน ผ้ากันหนาวของประเทศอิตาลี และผ้าจากประเทศอื่นๆ ทำให้ย่านพาหุรัดได้รับความนิยมจากลูกค้าคนไทยและต่างชาติในยุคที่มีการตัดเย็บชุดเสื้อผ้าสำหรับใส่เอง ซึ่งนอกจากผ้าที่เป็นองค์ประกอบหลักในการตัดชุดแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ “กระดุม” และ “ลวดลายลูกไม้” เย็บปักต่างๆ สำหรับตกแต่งเพื่อให้ชุดเกิดความสวยงามมากขึ้น

 

ร้านขายกระดุมเก่าแก่ที่สุดร้านหนึ่งในย่านพาหุรัด “ร้านไตเย็บใหม่” ตั้งอยู่บนถนนจักรเพชร เป็นร้านที่มีอายุ ๗๐ กว่าปีแล้ว ปัจจุบันมีการสืบทอดกิจการมาจนถึงรุ่นที่ ๓  ซึ่งคุณกิตติพงษ์ วงศ์มีนา เจ้าของร้านปัจจุบันกล่าวว่าชื่อร้านมีที่มาจากพี่ชายของคุณพ่อชื่อ ‘ไตเย็บ’ เป็นคนมุสลิมจากประเทศอิหร่านที่อยู่อาศัยในประเทศอินเดียและย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นผู้เปิดร้านไตเย็บใหม่คนแรกและยังเป็นชาวมุสลิมเพียงห้องเดียวที่อาศัยอยู่ในตึกแถวท่ามกลางคนจีนเช่นนี้ด้วย

 

หลังจากคุณลุงเสียชีวิตไป คุณพ่อก็สืบกิจการต่อจากพี่ชาย และเปลี่ยนชื่อร้านใหม่เป็น “ร้านไตเย็บใหม่” กิจการขายกระดุมและลูกไม้สมัยก่อนไม่ได้มีร้านมากนักบางครั้งจึงมีนางสนมจากในวังแวะมาซื้อลูกไม้นำไปติดมุ้งและคุณหญิงคุณนายเข้ามาซื้อกระดุมย่านพาหุรัดกันเป็นจำนวนมาก

 

คุณกิตติพงษ์  วงศ์มีนา เจ้าของร้านรุ่นที่ ๓ ของร้านไตเย็บใหม่

 

กระดุมที่นำเข้ามาขายรุ่นแรกๆ ส่วนใหญ่จะมาจากทางฝั่งยุโรป เช่น ประเทศออสเตรีย เยอรมนี หรือเชโกสโลวาเกีย ทั้งสามประเทศนี้จะมีการผลิตกระดุมเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบในการทำกระดุมเยอะ ส่วนลำดับการนำเข้ามาของกระดุม คุณกิตติพงษ์เล่าว่า “จะเริ่มจากกระดุมแก้วของเยอรมันและเชโกสโลวาเกียก่อน แล้วตามมาด้วยกระดุมคริสตัลสวารอฟสกี้ของประเทศออสเตรีย และกระดุมพลาสติกของประเทศไต้หวัน ส่วนกระดุมไฟเบอร์ของฝรั่งเศสจะเป็นกระดุมแบบที่นำแก้วคริสตัลไปหลอม กระดุมของไทยก็มีกระดุมพลาสติกของวีนัส”

 

การสั่งกระดุมสมัยแรกจะนำเข้าโดยการสั่งทางจดหมาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ต่อครั้ง ต่อมาพัฒนามาเป็นการใช้เครื่องแฟกซ์ที่ช่วยย่นระยะเวลาในการสั่งกระดุมเข้ามาได้มาก และปัจจุบันจะสั่งของนำเข้าด้วยอีเมลแทน ในการสั่งกระดุมนำเข้าต่อครั้งต้องสั่งทีละหลายๆ กุรุส [Gross] ๑ กุรุสของกระดุมจะเท่ากับ ๑๔๔ เม็ดหรือ ๑๒ โหล ส่วนการขนส่งกระดุมจะมีการนำเข้ามา ๒ แบบด้วยกัน คือ ทางเรือ โดยเรือเข้ามาเทียบท่าที่คลองเตยและแหลมฉบัง จากนั้นชิปปิ้งจะนำสินค้ามาส่งให้ที่ร้านและทางเครื่องบิน ปัจจุบันจะมีการขนส่งสินค้าเข้ามาทางเรือในกรณีที่สินค้ามีน้ำหนักมากและทางเครื่องบินหากมีน้ำหนักน้อย

    

ราคาของกระดุมจะขึ้นอยู่กับประเภท ชนิด และวัสดุที่ทำโดยกระดุมที่ราคาแพงที่สุด คือ กระดุมเพชรจากสวารอฟสกี้ มีราคาถึง ๕๐ บาท เป็นราคาที่ยังไม่รวมค่าภาษี ในช่วงเวลาที่ค่าเงินดอลลาร์ต่อเงินบาทไทยอยู่ที่ ๒๕ บาทเท่านั้น ส่วนกระดุมที่ราคาถูกที่สุด คือ กระดุมพลาสติกที่ผลิตในไทยอย่างกระดุมวีนัส ซึ่งมีราคาไม่ถึง ๑ บาทต่อเม็ด
    

คนสมัยก่อนนิยมใช้กระดุมสวยงามทำเสื้อผ้ากันมากไม่ว่าจะลูกค้าทั่วไปหรือลูกค้าเจ้าประจำของร้านไตเย็บใหม่อย่างร้านตัดเสื้อหรือร้านบูติคที่มีชื่อเสียง เช่น ร้านไทยบูติคหรือร้านดวงใจบีส ที่เคยตัดชุดถวายให้กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีมาแล้ว ถ้าตัดชุดหรูส่วนใหญ่ก็จะใช้กระดุมเพชรของสวารอฟสกี้แบบออริจินัลของต่างประเทศกัน  “การซื้อขายกระดุมสมัยก่อนที่สภาพเศรษฐกิจดีมีคนเข้าร้านตลอดเพราะคนมีกำลังซื้อมากคนที่ไฮโซหน่อยก็ไปซื้อของแบรนด์เนมกัน แม้แต่การ์เมนต์ของร้านเสื้อ New City ของไทยก็ยังมารับกระดุมจากที่ร้านไป เขาก็ไปทำเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศแล้วคนไทยก็ซื้อกลับมาใส่อีก”

 

    

กระดุมหลากหลายชนิด วางขายในตู้ไม้สักแบบดั้งเดิมที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี

 

ทุกวันนี้ความนิยมของการใช้กระดุมนำเข้าลดน้อยลงตั้งแต่ผู้คนเลิกนิยมการตัดชุดเสื้อผ้าสวมใส่เปลี่ยนมาเป็นการใช้เสื้อผ้าสำเร็จรูปตามห้างสรรพสินค้า ด้วยความสะดวกสบาย ราคาถูกกว่าและมีให้เลือกสรรได้หลายรูปแบบ ทำให้ร้านตัดชุดเสื้อผ้าหลายร้านต้องทยอยปิดตัวลง เพราะคนตัดชุดน้อยลง กระดุมและลูกไม้ที่ผลิตทางฝั่งยุโรปก็ผลิตได้น้อยลงรวมถึงกระดุมก๊อปปี้จากเมืองจีนมีเข้ามามากส่งผลให้กระดุมนำเข้าค้าขายได้ลำบากขึ้น แม้ตอนนี้จะมีคนเฉพาะกลุ่มที่ยังให้ความสนใจกระดุมเช่นนี้อยู่บ้าง เช่น ดีไซเนอร์ ร้านบูติคต่างๆ แต่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปใช้กระดุมแบบแฮนด์เมดกันมากขึ้น และลูกค้าประจำหลายร้านที่เป็นการ์เมนต์ส่งออกต่างประเทศตั้งแต่สมัยก่อนก็เหลืออีกเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น

 

 

พาหุรัดยังคงเป็นแหล่งค้าปลีกผ้าของคนในย่านเก่าสำหรับคนที่ต้องการเลือกซื้อผ้าแบบเฉพาะทางและหาไม่ได้จากแหล่งขายผ้าอื่น การเกิดใหม่ของแหล่งค้าผ้าหลายๆ ที่เริ่มกระจายตัวอยู่ตามย่านอื่นหรือตามห้างสรรพสินค้าติดแอร์มากขึ้น ทำให้คนมีทางเลือกในการเดินทางและสามารถเลือกซื้อผ้าได้สะดวกขึ้น เกิดผลให้การค้าขายของพาหุรัดเริ่มซบเซาลงมากทั้งการค้าผ้า อุปกรณ์การตัดเย็บชุดต่างๆ ไปจนถึงเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการย้ายกลุ่มร้านค้าบริเวณสะพานเหล็กไปตั้งที่อื่นแทนด้วย ทำให้พาหุรัดในวันนี้อาจจะกลายเป็นแค่ย่านการค้าที่รุ่งเรืองมากครั้งหนึ่งเท่านั้น

 

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล

คุณกิตติพงษ์ วงศ์มีนา เจ้าของร้านไตเย็บใหม่, คุณสุเทพ ซิงห์ เลขาธิการสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (วัดซิกข์ )

 

พระนครบันทึก : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๐ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๕๙)

อัพเดทล่าสุด 13 มี.ค. 2561, 16:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.