หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สรุปโครงการสังสนทนา ครั้งที่ ๑ “ตัวตน” ของคนจีนกรุงเก่า วันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๗
บทความโดย วริณาฐ พิทักษ์วงศ์วาน
เรียบเรียงเมื่อ 30 พ.ย. 542, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 3811 ครั้ง

         ในสภาวการณ์ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ได้ละเลยเรื่องราวและประวัติศาสตร์​สังคมของท้องถิ่นตนเอง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในช่วงชีวิตของปู่ย่าตายายที่สืบเนื่องมาถึงวิถีชีวิตของคนอยุธยาในปัจจุบัน ส่งผลให้การกำหนดทิศทางและแผนการใช้ทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าต่อผู้คน ชุมชน ดังที่เคยเป็นมาเมื่อครั้งอดีต ดังเห็นได้จากกรณีการย้ายสุสานชาวจีนที่วัดพนัญเชิง ซึ่งอาจกลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในอนาคต 

         จากกรณีดังกล่าวทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จึงเล็งเห็นว่าการจัดกิจกรรมสัญจรตามสถานที่ต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการเข้ามาของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงบทบาทของคนจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินและร่วมสร้างบ้านเมืองพร้อมคนกลุ่มอื่นๆ จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงวิถีวัฒนธรรมความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน นับเป็นโอกาสอันดีที่จะนำไปสู่การหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

 

 

         มูลนิธิฯ จึงได้เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน รวมถึงผู้อาวุโสในท้องถิ่น มาสังสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ตัวตน” ของคนจีนกรุงเก่า ณ สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา อันประกอบด้วยคุณพิมพ์ประไพ  พิศาลบุตร ซุน (นักประวัติศาสตร์และนักเขียนสารคดีด้านจีนศึกษา ที่วันนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมท้องถิ่นอยุธยา) คุณสมชัย กวางทองพานิชย์(ผู้ศึกษาเรื่องคติวัฒนธรรมจีนและบรรพบุรุษเป็นชาวจีนกรุงเก่า) และคุณประสาน  ประสานวงศ์ (นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

กิจกรรมสัญจร

 


         กิจกรรมสัญจรครั้งนี้เริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวดัตช์หรือเนเธอแลนด์ที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และต่อมารัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้กับบริษัทวีโอซี (VerenigdeOostindischeCompagnie) เพื่อสร้างสถานีการค้า จากการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะพบหลักฐานของดัตช์แล้วยังได้พบเครื่องถ้วยจีนซึ่งเป็นร่องรอย

 

 

ที่สามารถประติดประต่อเรื่องราวของชาวจีนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาได้  ในการนี้คุณพิมพ์ประไพได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับถนนย่านชีกุน ถนนย่านในไก่ ซึ่งเป็นแหล่งการค้าของชาวจีนสมัยอยุธยาในเกาะเมืองให้แก่ผู้ร่วมสัญจรด้วย 

         จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังศาลเจ้าพ่อปากน้ำแม่เบี้ยเป็นจุดจอดเรือสินค้าที่ล่องขึ้นมาตามลำน้ำเจ้าพระยา ทั้งยังเป็นย่านที่มีความเกี่ยวเนื่องไปจนถึงบริเวณวัดพนัญเชิงซึ่งเป็นย่านที่มีคนจีนเข้ามาตั้งรกรากเป็นจำนวนมากต่อด้วยวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายโดยพระราชบิดาของรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี และได้มีการปฏิสังขรณ์โดยราชวงศ์จักรีเรื่อยมา เป็นที่น่าสนใจว่าวัดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับกับบริเวณวัดพนัญเชิง คลองข้าวสารและคลองสวนพลูที่มีคนจีนเข้ามาตั้งรกรากจำนวนมาก อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ชี้ชวนให้สันนิษฐานได้ว่าราชวงศ์จักรีอาจมีเชื้อสายชาวจีนกรุงศรีอยุธยา

สำหรับสถานที่สุดท้ายในการสัญจรคือ สะพานประตูเทพหมี หรือสะพานวานร ปัจจุบันสะพานดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมเป็นเส้นทางที่เชื่อมถนนบ้านแหทางทิศตะวันออกของสะพานและถนนพระงามทางทิศตะวันตกของสะพาน ซึ่งถนนบ้านแหนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับถนนจีน ซึ่งเป็นย่านชุมชนชาวจีนทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา

 

กิจกรรมสังสนทนา

       หลังจากทัศนศึกษาจรแล้ว ได้กลับมาร่วมสังสนทนาในประเด็น ตัวตนของคนจีนกรุงเก่าเริ่มจากคุณพิมพ์ประไพ  พิศาลบุตร ซุนได้ศึกษาความสัมพันธ์ของคนจีนครั้งกรุงศรีอยุธยาผ่านเครื่องเบญจรงค์ซึ่งเป็นศิลปวัตถุอย่างหนึ่งที่ไม่มีในสมัยสุโขทัยหากแต่มีการค้นพบในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสามารถช่วยประติดประต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีหลักฐานชั้นต้นเหลือไม่มากนัก อันเป็นผลจากความเสียหายของบ้านเมืองครั้งกรุงแตก

 

         ในสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิงบาทหลวงเยซูอิตได้นำเทคนิคการเขียนสีเครื่องกระเบื้องด้วยโลหะเคลือบสีลงยาแบบยุโรปเข้ามา ช่างหลวงจึงพัฒนาวิธีการเขียนต่อมา โดยใช้สีนุ่มที่มีสีชมพูเป็นหลักในการเขียนประดับเรียกว่า เฟิ่นฉ่าย(fencai) ซึ่งรสนิยมใหม่ของวังหลวงดังกล่าวได้แพร่ขยายออกไปยังแหล่งผลิตของเอกชน จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของเครื่องเบญจรงค์ในยุคดังกล่าว และหลักฐานเครื่องเบญจรงค์ของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมดพบว่าไม่เก่าไปกว่าสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเครื่องเบญจรงค์ที่พบในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นการเขียนสีในลักษณะที่เป็นสีหนาทึบและนูนออกมาจากภาชนะ มีความแตกต่างไปจากงานของช่างจีนวังหลวง

         ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับจีนผ่านการค้าเครื่องเบญจรงค์แบบเฟิ่นฉ่ายนี้นอกจากจะสะท้อนภาพความสัมพันธ์อันดีผ่านการดำเนินกิจกรรมการค้าแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมือง อีกทั้งสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงกลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้คงมีอิทธิพลในกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก เห็นได้จากขุนนางชาวจีนที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งออกญาสมบัติธิบาล (พระยาโกษาจีน) ผู้ดูแลควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมืองทั้งหมด

         สำหรับในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนจีนอยุธยาฯ ในบริบทร่วมสมัย คุณประสาน  ประสานวงศ์ ซึ่งเป็นทายาทชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากที่ตลาดหัวรอรุ่นที่ ๒ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนจีนฮกเกี้ยนในพระนครศรีอยุธยามีเหลืออยู่น้อยมากส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้ามาโดยมากแล้วมักมาเปิดกิจการร้านโชวห่วยส่วนจีนแคะเป็นกลุ่มคนที่มีฝีมือเป็นช่างเย็บผ้า ไหหนำหรือไหหลำส่วนใหญ่ทำธุรกิจ โรงแรม และโรงเลื่อยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         นอกจากนี้คุณประสานยังกล่าวอีกว่า ความกตัญญูต่อพ่อแม่บรรพบุรุษ เป็นคุณธรรมที่ติดตัวคนจีนไปทุกหนทุกแห่ง ซึ่งการนำพ่อแม่ไปฝังสุสานถือเป็นประเพณีอันดีงามของคนจีนที่ลูกหลานแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ในวาระสุดท้ายของชีวิต  เหตุนี้การรื้อสุสานชาวจีนที่วัดพนัญเชิงจึงได้กลายเป็นประเด็นที่กระทบต่อความรู้สึกของลูกหลานชาวจีนเป็นอย่างมาก

 

         สุสานวัดพนัญเชิงแห่งนี้มีความสืบเนื่องมาตั้งแต่ในสมัยอดีตเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิญท่านเจ้าคุณโบราณคณิสสร(แกร สุมโน) เป็นผู้ริเริ่ม ท่านได้เรียกคณะกรรมการพ่อค้าชาวจีนเข้าไป โดยยกพื้นที่เพื่อให้ใช้ในการทำสุสานแล้วให้กลุ่มพ่อค้าเป็นผู้ลงทุนทำสุสานกันเอง (เริ่มปี พ.ศ. ๒๔๙๕)  จนกระทั่งปัจจุบันทางวัดต้องการให้รื้อสุสานเพื่อที่จะเอาพื้นที่ไปใช้ทำกิจกรรมของวัด ทางคุณประสานจึงได้เรียกร้องให้ทางวัดคำนึงถึงความรู้สึกของบรรดาลูกหลานชาวจีน แม้ในสุสานดังกล่าวจะมีเพียงร้างไร้วิญญานก็ตาม

 

ภาพเมื่อได้พื้นที่สร้างสุสาน


         ทางด้านคุณสมชัย กวางทองพานิชย์ซึ่งมีเชื้อสายจีนกรุงเก่าและบรรพบุรุษได้ฝังไว้ในสุสานที่วัดพนัญเชิงแห่งนี้เช่นกัน ให้ข้อมูลว่าฮวงซุ้ยนอกจากเป็นสมบัติที่พ่อแม่ใช้เงินซื้อหามาเพื่อตระเตรียมไว้ก่อนตนเองจะเสียชีวิตแล้ว ยังเป็นพื้นที่กลางของครอบครัวที่ลูกหลานทุกคนมีสิทธิ์ในพื้นที่นั้นเท่าเทียมกัน เป็นพื้นที่ที่ลูกหลานจะมาพบปะกันในช่วงวันเช็งเม้ง ซึ่งการพบปะกันในแต่ละปีทำให้เกิดการสังสรรค์รู้จักเครือญาติและเกิดการเกื้อกูลกันต่อไป

         ขณะเดียวกันสุสานยังสามารถบอกเล่าเรื่องราว สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่แห่งนั้นในแต่ละห้วงเวลาเป็นอย่างดี เห็นได้จากป้ายสุสานที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นเป็นใครมาจากไหน มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานกับคนกลุ่มไหน ซึ่งในกรณีของสุสานวัดพนัญเชิงนั้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานระหว่างคนจีนกับคนไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นที่น่าสนใจว่าที่แห่งนี้ยังเป็นสุสานของคนจีนทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นนัยสำคัญอันแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมอยุธยา ซึ่งมีความสืบเนื่องต่อมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต ทั้งยังเป็นสิ่งที่สามารถเกาะเกี่ยวความสัมพันธ์กับคนจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคปัจจุบันที่จีนมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มประเทศในอาเซียนอีกด้วย

 

        

 

 

 

อัพเดทล่าสุด 30 พ.ย. 542, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.