กอและลำเล็กนำคณะมุ่งหน้าไปสู่ป่าชายเลนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งที่บ้านดาโต๊ะ
บนแหลมตาชีในอ่าวบางปูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานี
กอและ ลำเล็กติดเครื่องยนต์แล่นฝ่าคลื่นลมมุ่งหน้าไปสู่ป่าชายเลน แบเลาะห์(พี่ชาย)จาก บ้านดาโต๊ะ ผู้ช่ำชองชีวิตทะเลยืนท้าลมแรงขับเรืออย่างมั่นใจ โสร่งที่ใส่พลิ้วลู่และสะบัดปลายไสว เขาช่างดูสง่างาม สงบ มุ่งมั่น และรู้ซึ้งในสิ่งที่ตนเองควบคุม
พวกเรากำลังเดินทางไปดูป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แม้จะเป็นเขตป่าสงวนของกรมป่าไม้ แต่ชาวบ้านดาโต๊ะซึ่งมีประชากรราวสองพันคนก็เป็นกำลังสำคัญในการรักษาและฟื้นฟูผืนป่าชายเลนอันอุดมเหล่านี้ไว้หลังจากสัมปทานตัดไม้โกงกางเพื่อทำถ่านหมดลง หากเมื่อใดมีการรุกล้ำป่าชาวบ้านจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดการกันเองภายในชุมชน ซึ่งได้ผลดีกว่าการใช้กฎหมายควบคุมเพียงอย่างเดียว ดังที่พวกเราได้มาเห็นกับตา แม้จะสูญเสียพื้นที่ป่าไปกว่า ๑๐ ไร่ เพื่อสร้างสถาบันเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเลของราชการ ทิวป่าก็ยังทึบหนาแน่นไม่เหมือนทางแถบฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทยตอนในที่คุ้นเคยแต่อย่างใด
ในอ่าวปัตตานีมีสันทรายที่เรียกว่าแหลมตาชี ยื่นจากฝั่งตะวันออกทางอำเภอยะหริ่งแหลมโค้งจนเกือบบรรจบกับอีกฝั่งอ่าวหนึ่งทางเมืองปัตตานี สภาพภูมิศาสตร์แบบนี้ทำให้นึกภาพการเกิดขึ้นของทะเลสาบสงขลาและบ้านเมืองที่ฝั่งสทิงพระได้ทันที บนแหลมตาชีมีหมู่บ้านหลายแห่ง บ้านดาโต๊ะอยู่ทางชายฝั่งในอ่าวบางปูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานีมีทั้งหาดทรายและป่าโกงกาง รู้กันว่าอดีตเคยเป็นหมู่บ้านประมงที่สวยงามจนเจ้านายแห่งปัตตานีข้ามฝั่งมาพักผ่อนและล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ ในหมู่บ้านมีมัสยิดเก่าแก่และกูโบร์หรือสถานที่ฝังศพเรียกว่า กูโบร์ดาโต๊ะปันยัง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีกูโบร์ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ฝังศพของสุลต่านมูฮัมหมัด(ตนกูปะสา) เจ้าเมืองปัตตานีคนแรกหลังจากปัตตานีถูกกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็นเจ็ดหัวเมือง
เรือกอและขนาดเล็กวาดลวดลายสดใสและการเลี้ยงปลาดุกบ่อซึมในพื้นทรายรอบหมู่บ้าน
บ้านดาโต๊ะในปัจจุบันเป็นหมู่บ้านใหญ่บ้านเรือนหนาแน่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงที่ใช้เรือกอและขนาดเล็กวาดลวดลายสดใสตกปลาลงอวนบริเวณริมฝั่งรอบอ่าวปัตตานี และเลี้ยงปลาดุกบ่อซึมในพื้นทรายรอบๆ หมู่บ้าน ส่วนการทำข้าวเกรียบปลาก็เป็นอีกอาชีพหนึ่ง
ในป่าชายเลนมีลำคลองหลายสายสามารถลัดเลาะไปสู่แม่น้ำยะหริ่งและชุมชนภายในได้ ก่อนที่ถนนจะมีบทบาทสำคัญสายน้ำในป่าโกงกางเหล่านี้ใช้สัญจรโดยคนค้าขายและชาวบ้านที่เดินทางไปแลกข้าวแลกเกลือกับปลาสดปลาแห้ง การแลกข้าวปลาอาหารระหว่างชุมชนชายฝั่ง ชาวนาและชาวสวนผลไม้ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินทำให้รู้จักกลายเป็นเพื่อนเป็นเครือญาติที่พึ่งพายามทุกข์ร้อนกันได้
ลำคลองสายเล็กๆ ในผืนป่าที่ยังคงความสงบร่มรื่น
เมื่อค่อยๆ ปล่อยเรือให้ไหลเอื่อยไปตามสายน้ำ จากแดดกล้าลมแรงกลางทะเลก็กลายมาเป็นความร่มครึ้มฉ่ำเย็นของแมกไม้ที่เอนลู่เข้าหากัน พวกเราผูกเรือเข้ากับกิ่งไม้ เสียงนกร้องประสานก้องคุ้งน้ำ การสนทนาอย่างออกรสกลางป่าชายเลนระหว่างชาวบ้านดาโต๊ะผู้รอบรู้ในแผ่นดินบ้านเกิดและผู้ถูกเรียกว่านักวิชาการที่แทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอ่าวปัตตานีก็เริ่มต้น
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่นานนัก พวกเรารู้สึกเสมือนเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องที่กำลังแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน พวกเรากำลังเริ่มงานเพื่อสร้างความรู้จากอ่าวปัตตานี โดยผู้คนที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางเรื่องราวในอ่าวปัตตานี คราวนี้แบเลาะห์จากบ้านดาโต๊ะจะเป็นผู้กำหนดองค์ความรู้ท้องถิ่นขึ้นด้วยตัวเอง
ความไว้วางใจเริ่มจากการแนะนำและรับรองอย่างแข็งแกร่งจากบุคคลที่ชาวบ้านให้ความนับถือ ซึ่งถือเป็นสายใยเชื่อมโยงให้เกิดบทสนทนากลางป่าชายเลนเช่นนี้ได้ พวกเราต่างเรียนรู้ร่วมกัน จึงไม่มีกำแพงที่แสดงความเหินห่างระหว่างชีวิตชาวมุสลิมในพื้นที่อ่อนไหวทางการเมืองและชีวิตชาวพุทธจากเมืองหลวง เพราะต่างสะท้อนความคิดและมุมมองที่มีต่อสังคมของเรา ทรัพยากรของเรา และชีวิตวัฒนธรรมของเราไปในทางเดียวกัน
ชาวมุสลิมแห่งบ้านดาโต๊ะต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีรากเหง้าและหวงแหนในแผ่นดินเกิด มนุษย์ย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกันและไม่อาจถูกทำลายได้ ปัญหาเพียงประการเดียวที่ต้องเผชิญแต่เป็นดั่งไฟสุมขอนก็คือ การแย่งชิงทรัพยากรจากกลุ่มอำนาจทั้งรัฐและนายทุนซึ่งละเมิดกฎกติกาที่สังคมส่วนใหญ่ได้บัญญัติไว้
เมื่อล่องเรือออกจากป่าชายเลน แบเลาะห์ชี้ไปที่ฝั่งอ่าวในเมืองปัตตานี เรืออวนลากอวนรุนกำลังออกจากชายฝั่ง คืนนี้จะลากกันทั้งคืนและคงเหลือไว้เพียงผืนน้ำที่ว่างเปล่า เรือกอและเล็กๆ ของแบเลาะห์เทียบไม่ได้เลยกับเรือประมงจากในเมืองปัตตานี
แม้จะยื่นเรื่องร้องเรียนแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดมานานนับทศวรรษ จัดยามเฝ้าตระเวนเพื่อยิงปืนขู่ แจ้งตำรวจ จนถึงประคารมกับอดีตอธิบดีกรมประมงที่ดังๆ คนนั้น ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในอ่าวปัตตานีได้แต่อย่างใด
พื้นหลังจากเรืออวนลากอวนรุนแลเห็นปล่องไฟจากโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นเป็นกลุ่มๆ นั่นคือเขตอุตสาหกรรมที่รัฐส่งเสริมและกำลังรุกที่ถมทะเลเข้ามาเรื่อยๆ และแน่นอนโรงงานเหล่านี้ปล่อยมลพิษสู่อ่าวปัตตานีสะสมต่อเนื่องกันมาหลายปี
นาเกลือบริเวณปากน้ำปัตตานีจนถึงบ้านบางปู
ส่วนนาเกลือแห่งเดียวในแหลมมลายูคือบริเวณปากน้ำปัตตานีมาจนถึงบ้านบางปู เคยเป็นที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ พ่อค้าชาวตรังกานูซึ่งเดินเรือค้าขายสินค้าในอ่าวไทยสมัยก่อนมักขึ้นไปนำเกลือจากบ้านแหลมที่เมืองเพชรมาขาย เพราะเพียงเกลือจากปัตตานีแห่งเดียวนั้นไม่พอใช้หากปีใดฝนตกชุกมากก็ทำเกลือไม่ได้ ในปัจจุบัน เกลือจากบ้านแหลมมาทางรถยนต์ซึ่งขนส่งอย่างสะดวกสบาย นาเกลือโบราณส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุจึงให้เช่าใช้ทำนากุ้งและโรงงานอุตสาหกรรม และสงวนพื้นที่ไว้ทำนาเกลือเพียงเล็กน้อยพอที่จะได้ชื่อว่าเคยเป็นนาเกลือแห่งเดียวเท่านั้นในภาคใต้
วันนี้ในอ่าวปัตตานีที่เคยได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแหลมมลายู อาจถูกเปลี่ยนเป็นเขตอุตสาหกรรมที่หวังประโยชน์เฉพาะหน้าโดยการทำลายทรัพยากรธรรมโดยตรง และกำลังทำลายชีวิตวัฒนธรรมของชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีอย่างรุนแรง
เขตอุตสาหกรรมบริเวณอ่าวปัตตานี
หากไม่ได้มาเห็นผืนป่า ไม่ได้ล่องเรือเข้าไปในลำน้ำที่สงบและสวยงาม ไม่มีประสบการณ์ล่องเรือในอ่าวปัตตานี ก็คงไม่รู้ไม่เห็นและไม่เข้าใจว่า ชีวิตของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังถูกรื้อถอนความมั่นคงในชีวิตไปได้อย่างไร
การรุกไล่ยึดชิงทรัพยากรไปจากบ้านเกิด ย่อมกลายเป็นแรงกดทับมหาศาลแก่ชีวิตผู้คนที่ยังพึ่งพาธรรมชาติอย่างพอเพียง ทุกย่อมย่านบนชายฝั่งทะเลตะวันออกที่รัฐหมายมั่นจะทำให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมจะเพาะเชื้อแห่งความขัดแย้งที่นับวันจะเริ่มเข้าสู่ทางตัน นำไปสู่การเผชิญหน้าและแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
หากไม่รามือและยุติการบีบคั้นชุมชนและชีวิตผู้คนให้จนมุม ก็คงไม่มีใครยอมสูญเสียแผ่นดินแม่ของตนเอง
ชีวิตในเปลวไฟชายแดนใต้ : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๔๔ (ก.ย.-ต.ค. ๒๕๔๖)