รู้จักปอเนาะ
![]() |
การบรรยายของนักวิจัยท้องถิ่นในปอเนาะที่ปัตตานี |
บ้านภูมี (ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี) เป็นที่ตั้งของปอเนาะที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งชื่อว่าปอเนาะภูมีหรือบืรมิง ซึ่งมีอายุเกือบหนึ่งร้อยปีแล้ว ในส่วนนี้จะทำให้เราได้ทราบถึงวิถีดำเนินชีวิตของชาวบ้านภูมีว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีความสัมพันธ์กันในลักษณะใดบ้าง เพราะปอเนาะภูมีเป็นบ่อเกิดแห่งชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน
”ปอเนาะ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า ปอนด็อก (Pondok) ในภาษาอาหรับ แปลว่า “กระท่อม” แต่โดยความหมายและความเข้าใจทางการศึกษาแล้ว หมายถึง สถาบันที่ทำการสอนและเรียนศาสนาอิสลาม หรือสถานที่อบรมสั่งสอนศาสนาอิสลามของชาวไทยมุสลิม เพื่อให้มีความรู้ในทางศาสนา สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ ให้รู้จักบำเพ็ญกิจประจำวัน การประกอบพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา ให้รู้จักกฎหมายที่ศาสนาได้บัญญัติขึ้นแล้วนำไปปฏิบัติได้
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นที่ยอมรับกันว่า ปอเนาะจัดตั้งขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดปัตตานี และเป็นสถานศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปอเนาะมีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วนจังหวัดอื่นๆก็มีบ้างไม่มากนัก สถานที่ตั้งปอเนาะส่วนใหญ่จะอยู่นอกเมืองและจะปลูกสร้างในที่ดินของโต๊ะครูเองหรือที่ดินที่ประชาชนบริจาคให้เป็นสาธารณะกุศล การจัดตั้งปอเนาะในที่ห่างไกลความเจริญนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่อยู่ในชนบทซึ่งขาดโอกาสในการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม จัดได้ว่าเป็นลักษณะของการบริการทางวิชาการโดยไม่คิดมูลค่า เป็นการสอนแบบให้เปล่า
ปอเนาะเป็นสถานศึกษาของเอกชน รัฐบาลหรือองค์กรใดๆไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งแต่อย่างใด ตามค่านิยมและความเชื่อของชาวมุสลิม ผู้ที่จะเป็นโต๊ะครูและจัดตั้งปอเนาะได้นั้น จะต้องมีความแตกฉานในความรู้ทางด้านศาสนาเป็นอย่างดี เป็นผู้ที่มีความประพฤติ กิริยามารยาทที่ดีงามเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป และโดยส่วนใหญ่ของบรรดาโต๊ะครูหรือผู้ก่อตั้งปอเนาะ มักเป็นผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียมาแล้ว
การเล่าเรียนในปอเนาะทั่วไปรวมทั้งปอเนาะภูมีนั้น ไม่มีการเก็บค่าใช่จ่ายหรือค่าศึกษาเล่าเรียนใดๆ ปอเนาะภูมีจัดตั้งขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่จะถ่ายทอดเจตนารมณ์ของอัลลอฮ์ คือเพื่อให้มนุษย์ภักดีและศรัทธาต่อพระองค์ โดยทำหน้าที่เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า นำบทบัญญัติที่มีในอัล-กุรอาน ซึ่งเป็นถ้อยคำของพระเจ้าไปเผยแพร่ หรือทำการสอนเผย แพร่ศาสนา พัฒนาและช่วยเหลือสังคม
แรกเริ่มผู้ที่มีความสนใจในการเรียนศาสนา และต้องการวิชาความรู้เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจากท้องถิ่นอื่น จะปลูกสร้างปอเนาะ (ที่พัก)รอบๆ บ้านโต๊ะครู เมื่อศึกษานานวันเข้าจนเป็นผู้รู้ มีความแตกฉานในด้านการศาสนาแล้วก็จะกลับไปยังภูมิลำเนาของตน ที่พักซึ่งสร้างไว้เดิมก็จะทำการบริจาคให้เป็นทรัพย์สินของปอเนาะ ผู้ที่เข้ามาเรียนในรุ่นต่อมาก็จะเข้าไปอยู่แทนที่โดยไม่ต้องสร้างปอเนาะขึ้นมาใหม่ แต่อาจจะทำการซ่อมแซมบ้างเป็นครั้งคราว สำหรับอาหารการกินนั้น ผู้เรียนต้องทำการช่วยเหลือตัวเองโดยหุงหาอาหารด้วยตัวเองทั้งสิ้น บางคนอาจจะหุงหาอาหารและทานกันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก อาหารที่มักสำรองไว้ตามปอเนาะได้แก่ ข้าวสาร ปลาเค็ม ไข่ โดยอาจซื้อหามาจากละแวกใกล้เคียงหรือผู้เรียนนำมาเองจากบ้านเป็นครั้งคราว ผู้เรียนบางคนก็จะประกอบอาชีพไประหว่างที่เรียนด้วย เช่น การเลี้ยงเป็ด ไก่ การปลูกผักสวนครัว รับจ้างกรีดยาง ก่อสร้าง ทาสี แล้วแต่ว่าจะมีงานประเภทใดในละแวกนั้น
ปอเนาะภูมีไม่มีการกำหนดเวลาในการเข้านอน ผู้เรียนต้องการเข้านอนเวลาใดก็ได้เพียงแต่ต้องตื่นให้ทันละหมาดซุบฮี (ละหมาดก่อนตะวันขึ้น เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น.)ผู้ที่ตื่นไม่ทันหรือไม่ได้เข้าเรียนในวิชาอัลกุรอานหลังจากละหมาดถือว่ามีความผิด บทลงโทษที่ผู้เรียนจะได้รับจะไม่แน่นอนตายตัว อาจลงโทษให้กวาดขยะ ล้างห้องน้ำ ถูกตี หรือวิ่งรอบบาลาเซาะฮ์ก็มี แล้วแต่ว่าทำผิดบ่อยครั้งแค่ไหน
โต๊ะปาเก (ผู้เรียน) มักจะใช้เวลาหลังเลิกเรียน (ประมาณ ๒๒.๐๐ น.)ในการทบทวนและท่องจำบทเรียน ในส่วนนี้เองมีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยก่อนนั้นโต๊ะปาเกจะเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนเป็นอย่างมาก มักจะอยู่ท่องหนังสืออยู่จนดึกจนดื่น แม้เวลาตีสามแล้วก็ยังไม่เข้านอน บางคนเพื่อให้สามารถอ่านหนังสือได้ตลอดทั้งคืนและไม่ต้องการให้ความง่วงมาเป็นอุปสรรค ก็จะปีนขึ้นไปบนต้นไม้ ใช้มือข้างหนึ่งเกาะลำต้นไว้มืออีกข้างหนึ่งถือหนังสือ ขาเหยียบกิ่งไม้ไว้หรือบ้างก็นั่งบนกิ่งไม้ วิธีการนี้คนอ่านจะไม่กล้าหลับหรือง่วงเพราะกลัวตก ทำให้สามารถอ่านหนังสือได้ตลอดทั้งคืน วิธีการอ่านหนังสือและขจัดความง่วงในสมัยก่อนนั้นมีอีกมากมายหลายแบบ ที่แปลกๆ ก็มีมาก แต่ที่สำคัญที่เราได้รับจากการฟังเรื่องเหล่านี้ก็คือ ทำให้ทราบว่าคนในสมัยก่อนนั้น มีความมุ่งมั่น จริงใจในการเล่าเรียนเป็นอย่างมาก
ระหว่างโต๊ะปาเก (ผู้เรียน)กับบาบอจะมีการประชุมร่วมกันอยู่เสมอ โดยกำหนดให้คืนวันพฤหัสบดี เวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น. เป็นวันประชุมประจำสัปดาห์ โดยบาบอจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมามาสรุปให้ฟังว่ามีส่วนใดที่ผู้เรียนควรแก้ไขปรับปรุง ส่วนใดที่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และมักมีการขอความคิดเห็นจากโต๊ะปาเกอยู่เสมอๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นส่วนรวม นอกเหนือจากที่กล่าวมายังมีการประชุมกันเมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น หรือเมื่อมีการจัดงานทำบุญ ประกอบพิธีกรรม สิ่งที่กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของปอเนาะ มีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็น วิถีการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์ของโต๊ะปาเกกับบาบอในปอเนาะนั้น เปรียบเสมือนพ่อกับลูก เรื่องใดที่เป็นปัญหาก็จะมีการเล่าสู่กันฟัง และแก้ไขปัญหาร่วมกันอยู่เสมอ (โดยมากแล้วโต๊ะปาเกจะเป็นฝ่ายสร้างปัญหา ส่วนบาบอก็จะเป็นผู้แก้ปัญหา) โต๊ะปาเกที่เป็นผู้ชายมักจะนำเอาบาบอเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ส่วนผู้หญิงก็จำดูตัวอย่างจากมามา(ภรรยาของบาบอ) ผู้คนในปอเนาะจะมีการประกอบกิจกรรมร่วมกันอยู่ทุกวี่วัน ละหมาดร่วมกันอย่างน้อยวันละ ๕ครั้ง บางครั้งก็รับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เมื่อมีงานก็จะช่วยกันทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นานวันเข้าจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เป็นหลายๆ ปี ทุกคนจึงมีความรักซึ่งกันและกัน รักปอเนาะ รักในศาสนา รักพระเจ้า เมื่อถึงคราวมีครอบครัว ด้วยความรักความผูกพันที่มีมานานจึงไม่อยากจากปอเนาะไปไหน จึงปักหลักสร้างเรือนสร้างครอบครัวอยู่ที่ปอเนาะต่อไป นี่เองที่เป็นบ่อเกิดแห่งความผูกพันกันระหว่างโต๊ะปาเก-บาบอ,ปอเนาะ-ชุมชน จนกระทั่งเกิดเป็นบ้านภูมีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
สำหรับบาบอหรือโต๊ะครูนั้นนอกเหนือจากการสอนเป็นปกติแล้ว ก็ยังมีการประกอบอาชีพเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป รายได้หลักของบาบอคือรายได้ที่มาจากผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม การทำสวน เช่น สวนละมุด มะพร้าว ลองกอง รายได้อีกส่วนหนึ่งที่บาบอได้รับคือ ซะกาต หรือการบริจาค ซึ่งมุสลิมทุกคนที่อยู่ในข่ายที่ศาสนาได้กำหนดไว้จะต้องบริจาคเมื่อถึงกำหนดในทุกๆปี โดยที่บาบอมีสิทธิในการรับบริจาคในฐานะที่เป็นผู้อุทิศเวลา และสั่งสอนความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ชาวมุสลิมมีการดำเนินชีวิตผูกพันกับศาสนามาก ถือได้ว่าหลักการศาสนาเป็นกฎหมายเป็นหลักยึดถือของชีวิตที่เหนียวแน่ ศาสนาสำหรับชาวมุสลิมแล้วไม่ใช่เพียงแค่ที่พึ่งทางใจ แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต
![]() |
การบรรยายของนักวิจัยท้องถิ่นในปอเนาะที่ปัตตานี |
การเรียนที่ปอเนาะภูมี มีทั้งแบบนั่งพื้นโดยเรียนที่ชั้นสองของบาลาเซาะฮ์ และการเรียนในห้องเรียน ซึ่งเรียนตรงชั้นล่าง หากเป็นการเรียนชั้นบน จะเป็นการเรียนร่วมกันระหว่างนักเรียนชายและหญิงโดยจะมีผ้าและผนังกั้นไว้ โต๊ะครูจะทำการสอนด้วยการเปิดตำราอ่านและอธิบายโดยอาศัยความรู้ที่เรียนมาและจากประสบการณ์ของตนเอง โต๊ะปาเกก็จะทำการจด ทั้งการจดจำและเขียนในสิ่งที่สำคัญที่ต้องขยายความไว้ หลังการเรียนโต๊ะครูมักให้เวลา ๑๐-๑๕ นาที ให้นักเรียนทั้งหลายจับกลุ่มกันอภิปรายและทบทวนบทเรียนกันเอง นัยว่าเป็นการเรียนซ้ำ ๒ ครั้งและเป็นการฝึกการสอนไปในตัว ปอเนาะภูมีได้จัดหลักสูตรและการเรียนรู้ไว้ดังนี้
๑. วิชาที่เกี่ยวกับภาษา ได้แก่ การเรียนภาษามลายูอักษรยาวีและภาษาอาหรับ เนื่องด้วยตำราที่เกี่ยวกับศาสนานั้น โดยมากหรือเกือบทั้งหมดเป็นภาษามลายูและภาษาอาหรับ การเรียนรู้วิชาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น นักเรียนที่มีความรู้และสามารถใช้ทั้งสองภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว จะสามารถศึกษาความรู้จากตำราได้เอง นอกเหนือจากที่ทางปอเนาะได้ทำการสอน
๒. วิชาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ได้แก่
๒.๑ วิชาฟิกฮ์ เป็นวิชาที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลาม ข้อกฎหมาย บทบัญญัติ และการดำเนินชีวิตประจำวันตามครรลองของศาสนา อันเป็นจริยวัตรของชาวมุสลิม
๒.๒ วิชาตะเซาอุฟ เป็นวิชาที่เกี่ยวกับหลักการพัฒนาจิตใจ
สถานที่จัดการเรียนการสอนของที่นี่ มีอยู่ ๓ แห่งหลักๆ ด้วยกัน คือ ที่บาลาเซาะฮ์หลัก (ทั้งชั้นบนและล่าง), บาลาเซาะฮ์บริเวณหน้าบ้านบาบออาวุโส (บาบอเลาะห์),และบาลาเซาะฮ์ทางฝั่งผู้หญิง
เวลาสำหรับการเรียนนั้นจะคลอบคลุมตลอดทั้งวัน โดยทำการสอนหลังการละหมาดทั้ง ๕ เวลา และเวลาเสริมช่วง ๐๗.๓๐- ๐๘.๓๐,๐๙.๐๐- ๑๑.๐๐ และ ๒๑.๓๐- ๒๒.๑๐ ซึ่งสามารถแบ่งเวลาในการปฏิบัติศาสนกิจ เวลาเรียนและวิชาเรียนได้ดังนี้
๐๕.๐๐– ๐๕.๓๐ ละหมาดซุบฮี (การนมัสการพระเจ้าช่วงก่อนตะวันขึ้น)
๐๕.๓๐- ๐๖.๓๐ วิชาอัล-กุรอาน (อ่านพระคัมภีร์)
๐๖.๓๐- ๐๗.๓๐ วิชาอรรถาธิบายอัล-กุรอาน
๐๗.๓๐– ๐๘.๓๐ วิชาไวยากรณ์อาหรับ
๐๙.๐๐– ๑๑.๐๐ วิชาไวยากรณ์อาหรับ,นิติศาตร์อิสลาม
๑๒.๓๐– ๑๓.๐๐ ละหมาดดุฮ์รี (การนมัสการพระเจ้าช่วงเที่ยง)
๑๓.๐๐– ๑๔.๐๐ วิชาหลักการพัฒนาจิตใจ
๑๕.๓๐– ๑๖.๐๐ ละหมาดอัสรี (การนมัสการพระเจ้าช่วงบ่าย)
๑๖.๐๐– ๑๗.๐๐ วิชาหลักการพัฒนาจิตใจ,นิติศาสตร์อิสลาม
๑๘.๓๐–๑๙.๐๐ ละหมาดมัฆริบ (การนมัสการพระเจ้าช่วงเย็น)
๑๙.๐๐– ๑๙.๔๕ วิชานิติศาตร์อิสลาม
๑๙.๔๕– ๒๐.๑๕ ละหมาดอิชา (การนมัสการพระเจ้าช่วงค่ำ)
๒๐.๑๕– ๒๑.๐๐ วิชาอัล-กุรอาน (อ่านพระคัมภีร์)
๒๑.๓๐– ๒๒.๑๐ วิชาการจัดการมรดก
จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนของปอเนาะจะมีการเรียนการสอน ครอบคลุมไปตลอดทั้งวัน การเรียนระบบปอเนาะนั้นเข้มข้นทั้งภาคเนื้อหาและภาคปฏิบัติ ผู้เรียนได้เรียนและได้ปฏิบัติจริงลักษณะนี้เองที่ทำให้ผู้เรียนที่คลุกคลีอยู่กับศาสนาวันละหลายๆชั่วโมง ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตนเองด้วยความรู้ที่ได้จากการเรียนและการปฏิบัติ หล่อหลอมจนกลายเป็นคนที่มีทั้งกิริยาและจริยารวมทั้งจิตใจที่ดีงาม โดยเฉพาะจิตใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้เรียนคนใดก็ตามที่สามารถเอาชนะและควบคุมจิตใจของตัวเองได้แล้ว จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จและปฏิบัติกิจอื่นๆ ได้โดยไม่ยากเย็น
มูฮำหมัด อาดำ, ชารีฟ บุญพิศ, รอไกยะ อาดำ
นักวิจัยท้องถิ่นในโครงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์
โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ความเห็นเรื่องปอเนาะจาก “คนใน”
๑...ปอเนาะเป็นอุดมการณ์และชีวิตของท้องถิ่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ดังนั้น ในการจัดการเขาไม่รู้สึกว่าเขามีปัญหา เรียนแล้วเขาสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ เป็นคนดีของสังคม สังคมมุสลิมยอมรับ เขาไม่ได้คิดว่าเขาจะรวย อันนี้เป็นแนวคิด
เมื่อเขามองลักษณะที่เป็นอย่างนี้ การที่จะมีอิสระที่จะมีตัวเลือกในการสร้างคนดีนี้เขาก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่สิ่งที่มีปัญหาก็คือว่าการเรียนการสอนตามมีตามเกิดตามสภาพที่มีอยู่นั้นคนอื่นมองว่ามันไม่เจริญ เพราะเป็นลักษณะของการให้ทาน ไม่ได้รับเงินงบประมาณจากรัฐ นี่คือข้อเสีย เพราะว่าถ้าเขาทำตามความต้องการของเขาได้โดยมีงบประมาณมาสนับสนุน สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น แต่จะให้เขาเลิกเพื่อไปสู่ระบบที่เป็นปัจจุบันที่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมเสียนั้น เขารับไม่ได้...
๒...ผมอยากจะเปรียบเทียบให้ดูว่าความดีของปอเนาะเป็นอย่างไร เมื่อเด็กกลับบ้านไปแล้ว ส่วนใหญ่เทียบกับเด็กที่เรียนปอเนาะ คือว่าเวลาละหมาดเขาจะแต่งตัวแล้วก็มาละหมาด แต่เด็กที่ไปเรียนข้างนอก เช่น โรงเรียนราษฎ์หรือเอกชนจะไม่ค่อยปฏิบัติกันเท่าไร แสดงให้เห็นว่าทางปอเนาะมีวิธีและการปฏิบัติที่แน่น แต่ที่น่าเสียใจคือบางท่านที่ในอยู่กระทรวงศึกษาธิการก็ยังไม่เห็นแก่ศีลธรรมของปอเนาะ....
มีบางท่านบอกว่าปอเนาะคือสถาบันเถื่อน หมายถึงว่าเรียนไม่มีหลักสูตร แล้วก็ลงท้ายว่าปอเนาะคือผู้ผลิตคือสร้างคนให้มีจิตสำนึก มีความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า
แล้วคนที่มีความสำนึกต่อพระผู้เป็นเจ้านี้แหละคือส่วนหนึ่งของผู้ก่อการร้าย...
บันทึกจากท้องถิ่น :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๔๗ (มี.ค.-เม.ย. ๒๕๔๗) |