การเล่นลิเกเรียบต้องอาศัยความพร้อมเพรียง ทั้งในการร้อง ตีกลอง และปรบมือ ซึ่งต้องคอยดูสัญญาณจากหัวหน้าวงเป็นสำคัญ หัวหน้าวงคณะทับช้างนาลุ่มก็คือ ฮัจญีฮาวังมะหะหมัด ตาเฮด (คนคล้องผ้าสีดำในภาพ) |
ลิเกเป็นมหรสพการแสดงที่ชาวบ้านภาคกลางนิยมไม่แพ้ลำตัด ซึ่งทั้งสองอย่างมีที่มาจากการสวดของพวกแขกมุสลิม ซึ่งนักวิชาการอธิบายว่า “ลิเก” หรือ “ยี่เก” เพี้ยนมาจากคำเปอร์เซียว่า ซิกุร [Zikr] หรือ ซิเกรฺ หมายถึงพิธีสวดของพวกซูฟี ซึ่งร่องรอยของแหล่งที่มายังปรากฏในการแสดงลิเกทุกวันนี้ นั่นคือการเบิกโรงด้วยการ “ออกแขก” ที่ตอนหลังมาปรับปรุงเป็น “การออกภาษา” ไป
ในเรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือ ระเบียบตำนานละคร ว่า
“คำว่าดิเกเป็นภาษามลายูแปลว่าขับร้องเดิมนั้นเป็นแต่การสวดบูชาพระในทางศาสนาของพวกแขกอิสลามสำรับหนึ่งมีนักสวดตีรำมะนาประมาณ๑๐คนสวดเพลงแขกเข้ากับจังหวะรำมะนา..... ผู้เล่นลิเกหรือดิเกในขั้นต้นนั้นนั่งตีรำมะนาล้อมกันเป็นวงหลายๆคนปากก็ร้องเพลงภาษาแขกและมือก็ตีรำมะนากันไปด้วย คำร้องต่างๆที่พวกลิเกร้องนั้นรวมเรียกว่า‘บันตน’ คำว่าบันตนนี้มาจากคำว่า‘บันตุน’ ของชาวมลายูและชาวสุนดาซึ่งเรียกชื่อกวีนิพนธ์และเรื่องเล่าชนิดหนึ่ง เมื่อพวกลิเกได้ร้องบันตนและตีกลองรำมะนาไปสุดสิ้นกระบวนความก็เริ่มแยกการแสดงพลิกแพลงออกไปได้เป็น๒สาขาสาขาหนึ่งเรียกว่า‘ฮันดาเลาะ’ แสดงเป็นชุดต่างๆเช่นชุดต่างภาษาบ้างเรื่องเบ็ดเตล็ดบ้างอีกสาขาหนึ่งเรียกว่า‘ละกูเยา’ เป็นการแสดงว่ากลอนด้นแก้กันอันเป็นต้นทางของ‘ลิเกลำตัด’ หรือลำตัด”
ในช่วงแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๓ มุสลิมมลายูหัวเมืองภาคใต้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ได้นำเอารูปแบบการสวดสรรเสริญพระเจ้ามาดัดแปลงขับเล่น พร้อมกับการตีกลองรำมะนา จนกลายเป็นเอกลักษณ์การแสดงของชาวมลายูในกรุงเทพฯ และภาคกลาง เรียกกันว่า ลิเกเรียบ หรือ ลิเกกลอง เพราะนั่งเรียบเสมอไปกับพื้น ไม่ได้ลุกขึ้นมายืนหรือเต้นอย่างลิเกทั่วไป อีกทั้งเครื่องดนตรีที่ใช้คือ กลองรำมะนา อย่างเดียว
จากประวัติลิเกเรียบของ “คณะทับช้างนาลุ่ม” ในคลองประเวศม์ ที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมากล่าวว่า เริ่มเล่นตั้งแต่ราวต้น พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยมีโต๊ะครูดามัน ซึ่งเป็นชาวมลายูปัตตานีจากวัดตึก (วัดชัยชนะสงคราม) พาหุรัด พายเรือมาพักยังบ้านโต๊ะกีมุด ที่บ้านทับช้าง แล้วมาร้องเล่นกันที่นั่น เริ่มจากบ้านสองบ้าน ต่อมาโต๊ะกีซีนซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากได้สอนให้คนอื่น ๆ เล่นจนเผยแพร่กันไปทั่ว
ลิเกเรียบมีต้นเค้ามาจากลิเกเมาริดหรือการสวดสรรเสริญนบีของชาวมลายูภาคใต้ โดยการนำเอาคำโคลงคำกลอนภาษาอาหรับในหนังสือบัรซันญีของ อะบูซิดีน มาแปลงเป็นละฮูกลองหรือเพลงกลอง คือ ร้องเป็นทำนองและตีกลองด้วยการด้นสดเป็นภาษาไทย ซึ่งจะแต่งขึ้นเอง เป็นเรื่องสนุกสนานทั่วไป แต่ถ้าจะร้องสรรเสริญพระเจ้าก็จะใช้คำโคลงของอะบูซิดีน ร้องเป็นภาษาอาหรับด้วยท่วงทำนองของมลายู
การเล่นลิเกเลียบจะนำคัมภีร์อัลกุรอานมาร้องไม่ได้เลย ใช้ได้แต่คำกลอนในหนังสือ บัรซันญี ที่แต่งโดยอะบูซิดีนเท่านั้น หนังสือเล่มนี้มีหลายบท ทั้งบทที่เล่าเรื่องราวประวัติของท่านศาสดามะหะหมัด บทที่ว่าด้วยการรักษาโรค บทที่ว่าด้วยการป้องกันหรือขับไล่สิ่งอัปมงคล ภัยพิบัติต่าง ๆ บทร้องสรรเสริญสดุดีที่สนุกสนาน ซึ่งลิเกเรียบจะเลือกบทที่เป็นการสรรเสริญสดุดี มีความครึกครื้น ไม่ใช่บทที่โศกเศร้าหรือไล่สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ
การแสดงลิเกเรียบนอกจากจะต้องมีไหวพริบ ปฏิภาณในการด้นเพลงสดแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ ท่วงทำนองการร้องต้องร้องเสมอกัน ทั้งกลองที่ตีก็ต้องพร้อมกัน เสียงเสมอกัน ไม่มีเสียงเพี้ยนหรือโดดออกมา ดังนั้นการฝึกซ้อมให้ได้จังหวะพรักพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนไหนไม่ฝึกซ้อม ไม่มีทางทำได้ การร้องการตีกลองทุกอย่างต้องดูหัวหน้าวงเป็นสำคัญ เพราะจะเป็นผู้ให้สัญญาณในการเปลี่ยนทำนองเปลี่ยนจังหวะ
กลองรำมะนาปัจจุบันมีราคาแพงมาก ไม้ที่ทำเป็นหุ่นกลองต้องใช้ไม้มะค่า หรือไม้เต็ง ไม้แดงเขียงหนึ่งราคา (ราว ๑๐๐ ปีก่อน) ตกประมาณ ๘ บาท จัดว่าแพงมาก แต่ปัจจุบันตกราคา ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาทเมื่อกลึงเป็นรูปร่างแล้ว และยังต้องใช้หนังควายและหวายตะคร้าอีกด้วย ดังนั้นการดูแลรักษากลองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเล่นเสร็จทุกครั้งต้องจัดใส่ถุงผ้าให้เรียบร้อย
“ เวลาเล่นประชันวงการตัดสินเขาใช้วิธีฟังจากหนึ่งเสียงกลองมันพร้อมเพรียงกันไหม สองเสียงร้องต้องร้องเรียบเสมอกันไม่มีเสียงโดดออกมาเวลาเล่นลิเกเรียบขั้นตอนร้องแรกๆจะช้าแล้วจึงกระชั้นขึ้นเรื่อยๆพูดง่ายๆว่าลิเกครึ่งท่อนภาษาลิเกเรียบว่า "ยืน หรือ "องค์ " หนึ่งยืนหนึ่งก็ชั่วโมงหนึ่งหมายความว่ายกหนึ่งมีหลายทำนองร้องช้าท่อนแรกพอไปสักครึ่งก็เร็วหน่อยผู้ตัดสินจะฟังว่าใคร เสียงดีใครจะแหบดังใคร(เสียง) จะเรียบร้อยแพ้กันตรงนี้แหละ” ฮัจญีฮาวัง หัวหน้าวงทับช้างนาลุ่มขยายความให้ฟัง
ลิเกเรียบหนึ่งวงนั้นต้องมีผู้แสดงเต็มที่ไม่เกิน ๑๕ คน จะน้อยกว่านั้นก็ได้แต่ไม่ควรต่ำกว่า ๙ คน เพราะจะเสียเปรียบเมื่อมีการเปรียบวงกันด้วยเสียงกลองตีอาจไม่ถึง เสียงเบาไม่มีใครอยากเปรียบด้วย เพราะหากเปรียบแล้วปรากฏว่าวงที่มีกลองน้อยเป็นฝ่ายชนะ วงที่ไปเปรียบด้วยก็จะเสียชื่อ จำนวนคนเล่นเท่าใดก็ต้องมีจำนวนกลองเท่านั้น เพราะลิเกเรียบตัดสินกันด้วยกลอง แม้จะว่าจ้างหรือหาไปแสดง ผู้ว่าจ้างก็จะคิดราคาตามจำนวนกลอง ไม่ได้คิดตามจำนวนคนที่ไปซึ่งจะเอาไปผลัดกันตีกี่คนก็แล้วแต่ หากมีกลอง ๑๐ ใบ ก็คิดราคาหมื่นหนึ่งและผู้แสดงลิเกเรียบมีข้อกำหนดเลยว่าต้องเป็นชายเท่านั้น จะมีผู้หญิงร่วมเล่นอย่างลิเกฮูลูไม่ได้ เพราะเสียงผู้หญิงคนละโทนกับเสียงผู้ชาย หากร้องเสียงไม่เสมอเป็นอันใช้ไม่ได้ และที่สำคัญการตีกลองถือว่าหนักต้องใช้พละกำลังมากในการตีให้เสียงดังกระหึ่มขนาดที่ว่าหากตีในห้องแล้วไม่เปิดประตูหน้าต่าง เสียงกลองทำให้กระจกแตกได้ หรือแม้แต่ลำโพงฉีกขาดก็เคยเกิดมาแล้ว ลักษณะเช่นนี้กระมังที่คนไทยโบราณมักมีคำติดปากห้ามลูกหลานว่า “อย่าฟังกลองแขก มันมักใจแตก” ซึ่งชาวคณะทับช้างนาลุ่มต่างเห็นพ้องกับคำกล่าวนี้ ด้วยพวกเขาบอกว่าคนเล่นเป็นเขาจะไม่มาดูมาฟังเพราะของจะขึ้น มันจะคันไม่คันมืออยากโดดลงไปเล่นด้วย
ปัจจุบันลิเกเรียบแม้ยังมีสืบต่อกันหลายวงในกรุงเทพฯ แต่ก็น่าเป็นห่วง ด้วยผู้เล่นและผู้ฟังล้วนเปรียบเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ต่างสูงวัยกันทั้งสิ้น บรรดาเยาวชนไม่ให้ความสนใจต่อมหรสพดังกล่าว จึงไม่ต้องหวังว่าจะมีการรับช่วงสืบต่ออีกทั้งการทำกลองรำมะนาในปัจจุบัน ใบหนึ่งตกราคาเป็นหมื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาใครมาสนับสนุนมรดกวัฒนธรรมการแสดงประเภทนี้ของชาวมลายู
จดหมายข่าว มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ 91 (กรกฎาคม - กันยายน 2554)