“สามจังหวัดชายแดนใต้”
หากรอแก้ปัญหาด้วยการเมืองก็สายเสียแล้ว
ชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวปัตตานีใช้ความพยายามอย่างยิ่งกว่าจะได้ปลากระบอกแต่ละตัว ชีวิตต่างจากอดีตในช่วงที่จำความได้อย่างลิบลับ |
เหตุระเบิดที่สามจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นเรื่องคู่ขนานกับการก่อการร้ายที่หมายจะเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้วในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หลายปีที่ผ่านมาเมืองไทยผ่านมรสุมทั้งภัยธรรมชาติอันร้ายแรงและความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมย่านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในยุคสมัยอันทุรนนี้ หากถือเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแง่มุมแบบเดิมๆ อันเป็นบทเรียนที่หาไม่ได้แล้วสำหรับผู้คนร่วมสมัยก็จะถือว่าใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างเท่าทันทีเดียว
จนถึงวันนี้ ในเมฆหมอกแห่งความคลุมเครือของปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้และในประเทศของเรานั้น สาเหตุต่างๆ ค่อยๆ ชี้นำไปสู่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏชัดเจนกว่าเรื่องอื่นๆ คือ “ปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง” บนฐานของปัญหาสารพันที่ซ่อนตัวรอวันปะทุใต้ผิวน้ำอันเย็นและสงบราบเรียบ
หลายปีที่แล้วเมื่อเหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ก่อตัวขึ้นมานั้น สมมุติฐานส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่ปัญหาของความแตกต่าง ทางชาติพันธุ์และศาสนา การถือตัวปฏิบัติตามหลักศาสนาในชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมที่เริ่มกลายเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วโลก กลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยของสังคมไทยที่มีมานานแล้วและคนทั่วไปส่วนใหญ่รับไม่ได้ใน “ความต่าง” เหล่านี้จนทำให้เข้าใจไปอย่างสุดโต่งว่า ปัญหาเหล่านี้คือเหตุแห่งความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
การประกอบระเบิดที่ใช้เทคนิคแบบจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือหรือระเบิดแสวงเครื่อง ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีอันชั่วร้ายจากชายแดนใต้ถูกนำมาใช้ในกรุงเทพฯ จะโดยผู้ใดก็ตามเถิด แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของการเลียนแบบเรื่องระเบิดนั้นอยู่ในแวดวงทางการเมืองที่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่พิเศษที่อำมหิตบางคนสนับสนุนในเรื่องเทคนิคหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ก่อการนั้นก็ยังแฝงเร้นตัวตนอยู่ต่อไป ในขณะที่เทคนิคการผลิตระเบิดเหล่านี้ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยผู้ทุกข์ทนของชาวมลายูมุสลิมในขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกนำเทคโนโลยีเพื่อการก่อการร้ายไปขยายผลแก่นักการเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนตนล้วนๆ ไม่มีอะไรอื่น
หากพิจารณากลับไปที่ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อมาถึงวันนี้แล้ว จะมองข้ามปรากฏการณ์ของปัญหาทางการเมืองที่กัดกร่อนสังคมไทยไปทั่วทุกภูมิภาคได้อย่างไร
จากการเฝ้ามองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงความรุนแรงครั้งหลังไม่ต่ำกว่า ๖-๗ ปีมานี้ ปรากฏแนวทางอย่างชัดเจนว่า แตกต่างไปจากขบวนการเรียกร้องเอกราชปาตานีในยุคก่อนหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยปรากฏ เพราะสามารถยึดเอาพื้นที่ในหมู่บ้านหรือในเมือง ในท้องถิ่น ที่รัฐเคยกุมความได้เปรียบให้กลายเป็นการก่อการร้ายในเมืองไปได้อย่างเด็ดขาด ขบวนการที่แฝงเร้นเหล่านี้ล้อเล่นกับอำนาจรัฐอย่างหมดเปลือก จนทำให้รัฐไทยในสามจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นรัฐล้มเหลวอย่างก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ
การก่อการร้ายในเมืองและในหมู่บ้านนั้นต้องมีฝ่ายสนับสนุนที่อาจจะร่วมมือด้วย หรืออาจจำใจเพราะถูกปิดปากด้วยความกลัว และเป็นความหวาดกลัวที่แผ่ขยายไปอย่างไม่สิ้นสุด จนแม้ในปัจจุบัน ความกลัวเหล่านี้กลายเป็นความชาชินเพราะเพียงรู้แนวทางว่า ทำอย่างไรจึงจะรักษาตนเองและครอบครัวได้บ้างก็เพียงพอแล้วที่จะอยู่ในบ้านของตนเองแบบเงียบๆ
กำลังทหารที่ใดในโลกก็ไม่อาจปราบปรามการก่อการร้ายไปได้ หากเกิดขึ้นแล้วมีแต่จะป้องกันหรือยินยอมในบางส่วนและเจรจาต่อรอง รวมทั้งใช้วิธีการสร้างฐานของการเจรจาโดยดึงเอามวลชนผู้ตกอยู่ในความหวาดกลัวให้กลายเป็นหญ้าแพรกที่ดันตัวเกิดขึ้นให้ทุกหัวระแหง และควรสร้างข้อเสนอที่หลุดไปจากกรอบแนวคิดแบบรัฐไทยเดิมๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อีกต่อไป
หมายถึงต้องมองไปที่การกระจายอำนาจและข้อเสนอที่ให้คนในพื้นที่มีสิทธิ์ในการตัดสินทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม โดยรัฐไทยเป็นพี่เลี้ยงและผู้อุปถัมภ์และต้องขยับไปพร้อมๆ กันทุกภูมิภาค ก่อนที่ปัญหาในแนวทางเดียวกันจะขยายไปใหญ่โต เพราะถูกเร่งรัดโดยปัญหาทางการเมืองและนักการเมืองต่างๆ
หากไม่กล้าเดินไปสู่หนทางที่ไม่คุ้นเคย อย่างไรเลยจะเริ่มต้นแก้ปัญหา...
แนวคิดเรื่องศาสนาอิสลามแบบเข้มข้นที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่มากว่า ๓๐ ปี ดูเหมือนจะสร้างปัญหาในหลายแง่มุมให้ขบคิด ในทางหนึ่ง กระแสความเป็นมุสลิมแบบสุดโต่งก็คือปัญหาของโลกทุนนิยมหรือในฟากที่เรียกตนว่าเสรีประชาธิปไตย กระบวนการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคย่อมส่งผลมาสู่กลุ่มผู้ก่อการในสามจังหวัดภาคใต้อย่างแน่นอน มีรูปแบบวิธีการหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าเป็นการลอกเลียนและรุนแรงโหดเหี้ยมชนิดที่ต้นฉบับอาจจะฉงน และผู้คนในท้องถิ่นหรือคนทั่วไปตระหนกจนไม่กล้าที่จะคิดว่าคนทำต่อคนด้วยกันเช่นนี้ได้อย่างไร จินตนาการและความใฝ่ฝันดังกล่าวนั้นใกล้เคียงกับการสร้างรัฐอิสระตามอุดมคติของผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก
เด็กๆ จากโรงเรียนบ้านดาโต๊ะริมอ่าวปัตตานีร้องอนาซีด ลำนำแห่งคำสอนทางศาสนา ความนิยมที่เข้ามาทดแทนการแสดงออกเชิงร้องรำแบบเดิมๆ ของชุมชน |
อีกด้านหนึ่ง กระแสของการสร้างตัวตนของกลุ่มผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้เข้าใกล้กับหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องที่สุดตามสายแนวคิดต่างๆ ในกลุ่มปฏิรูปทางศาสนาที่มีอยู่มากมายในสังคมของสามจังหวัดนี้ก็ส่งผลสะเทือนต่อสังคมแบบประเพณีของคนมลายูมุสลิมทั้งในวิถีชีวิตและการเมือง เกิดเป็นช่องว่างระหว่างคนต่างรุ่น คนรุ่นพ่อแม่ต่างสมานฉันท์กับสังคมไทยมาเนิ่นนานและพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับอำนาจรัฐและสังคมโดยรวม ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่กำลังงุนงงและเต็มไปด้วยตัวตนมั่นใจในแนวทางและหลักการที่ตนศึกษาเล่าเรียนมา ไม่ว่าจะในทางศาสนาหรือทางโลก ต่างคิดและมีความใฝ่ฝันที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเก่า พวกเขาต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน ผลจากความเปลี่ยนแปลงนี้สร้างปัญหาลงไปในระดับครอบครัวและสังคมในชุมชนแบบดั้งเดิมที่ยังคงอยู่
ในขณะที่ฐานดั้งเดิมของชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ยังคงอยู่กันแบบสังคมประเพณีที่มีพิธีกรรมอันเป็นรากเหง้ามาแต่เดิมกำกับอยู่ไม่น้อย การทำมาหากินยังอยู่ในรูปแบบสังคมชาวนาที่หาอยู่หากินและปรับมาเป็นการปลูกพืชแบบสวนเกษตร แต่ก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปพร้อมๆ กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเป็นการทำมาหากินในรูปแบบอุตสาหกรรมเกษตร ภาวะลักลั่นและไม่ทันกันเช่นนี้สร้างผู้คนกลุ่มใหม่ที่ไม่มีทางไปจนต้องเปลี่ยนอาชีพและออกหางานทำในต่างแดน กลายเป็นภาวะบ้านแตกที่ติดตามมา
กลุ่มที่มีโอกาสทางการศึกษาก็ตกกับดัก “ค่านิยมของผู้มีความรู้” ซึ่งมักมีตัวตนของตนเองสูงกว่าผู้อื่น ติดไปในทางใฝ่รู้และหาความรู้แบบบริสุทธิ์ที่ขาดความเข้าใจทางสังคมและวัฒนธรรม จนกลายเป็นช่องว่างระหว่างกลุ่มของผู้รู้กับชาวบ้านธรรมดาที่ถูกมองว่าไม่รู้ ซึ่งก็เหมือนกับค่านิยมในสังคมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ “ผู้รู้” มักมีตัวตนและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองรับรู้ จนไม่รู้ว่าโลกนี้ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ตนเองยังไม่รู้ กลุ่มคนเหล่านี้มักจะตัดสินใจให้สังคมโดยพลการ และทำให้สังคมมุสลิมท้องถิ่นเต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นในทางความคิดและค่านิยมทางศาสนาที่ยังไม่ลงตัว
ที่แน่ชัดก็คือ ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนที่เชื่อว่ารู้หลักการทางศาสนากับเป็นผู้รู้ถอยห่างไปจากสังคมท้องถิ่นและชาวบ้าน และสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้เข้าทุกที
คนในท้องถิ่นต่างไขว่คว้าหาโอกาสที่ถูกหยิบยื่นมาจากภายนอก งบประมาณจำนวนมหาศาลลงไปสู่ท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่ทั่วถึงทุกคน ปรากฏการณ์เหล่านี้คือการแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าที่จะเป็นการนำเอาปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นมาคิดพิจารณา
ไม่มีหนทางที่ง่าย เพราะปัญหาทางการเมืองและนักการเมืองท้องถิ่นในระบบการอุปถัมภ์สร้างค่านิยมในเรื่องการคอร์รัปชั่นที่ไม่ได้แตกต่างไปจากการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีอำนาจในทางการเมืองและอาชญากรรมในภูมิภาคอื่นๆ แต่อย่างใด การเมืองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งระบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่นักการเมืองสามารถควบคุมข้าราชการและระบบราชการไว้ได้มาก แต่ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ไม่สามารถควบคุมนักการเมืองเหล่านั้นได้ เพราะเสียท่าไปทุกกระบวนเมื่อมีเงินทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ปัญหาการคอร์รัปชั่นและนักการเมืองท้องถิ่นกลายเป็นคู่ที่ขาดกันไม่ได้ และส่งผลสั่นสะเทือนต่อองค์การทางศาสนาในพื้นที่ โดยทอดทิ้งปัญหาทางสังคมของชาวบ้านไว้ข้างหลัง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเสมือนเหรียญอีกด้านของขบวนการก่อการร้ายที่สร้างความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น
ชาวบ้านบางคนที่มีภูมิต้านทานในจิตใจต่ำต่างเห็นค่านิยมของการคอร์รัปชั่นที่กลายเป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อคนอื่นๆ ทำได้ ทำไมพวกเขาจึงทำไม่ได้บ้างเล่า ถึงแม้เพียงเล็กน้อย หากเมื่อมีโอกาสพวกเขาย่อมแสวงหาทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ ความมีหน้ามีตาในสังคม แม้แต่บุคลากรในทางศาสนาของสังคมท้องถิ่นก็ยังมีปัญหาในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและการคดโกงที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในโครงการต่างๆ ที่รัฐ องค์กรสารพัดอย่างเข้าไปสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปัญหาอันเนื่องมาจากการเมืองที่เสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งนี้สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วทุกภูมิภาค และมีผลต่อผู้คนทุกระดับชั้นในสังคมไทย
แต่ปัญหาที่เป็นปัญหาพื้นฐานที่เริ่มขึ้นจากในครอบครัว ในชุมชน ในสังคมท้องถิ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแบบเก่าและแบบใหม่ เกิดความโกลาหลในการปรับตัวและสร้างช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจที่นักวิชาการจำนวนมากไปแปลความว่าเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นและช่องว่างทางความคิด รู้จักผิดชั่วดี โดยเฉพาะปัญหาการคดโกงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับครอบครัวไปจนถึงระดับท้องถิ่นเหล่านี้ยังไม่มีการนำมาเป็นประเด็นเพื่อนำไปสู่การพูดคุยว่า สังคมของพวกเราล้วนแตกสิ้นและรอวันสลาย
มัวแต่สับสนและวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาทางการเมือง เพรียกหาประชาธิปไตยแบบสองวินาทีเพื่อเลือกตั้ง โดยเขี่ยทิ้งการคดโกงในทุกระดับไว้ใต้พรม
บทความนี้อุทิศแก่เพื่อนคนหนึ่ง คนที่ไม่อาจต้านทานค่านิยมในความโลภ ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่ถูกหยิบยื่นให้ ขอภาวนาแด่ผู้คนในสังคมไทยให้มีความแข็งแกร่งในจิตใจยิ่งขึ้นกว่านี้ เพื่อตนเอง ครอบครัว และบ้านเกิดเมืองนอน
ภาพประกอบ จาก (จดหมายข่าว ฉ.86 – กันยายน ถึง ตุลาคม 2553)
|