หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ตุลาทมิฬและอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ
บทความโดย — วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ต.ค. 2551, 15:17 น.
เข้าชมแล้ว 5563 ครั้ง

ตุลาทมิฬและอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ

 

ตั้งอำเภอโกตาบารู เมืองหลวงรัฐกลันตัน

   

“ขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรอบรัฐสภาบนถนนต้นสายประชาธิปไตยในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑”

 

แม่น้ำโกลกคือเขตพรมแดนที่ถูกใช้เป็นเส้นแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ให้แยกบ้านเมืองสองฝั่งออกเป็นรัฐชาติสองประเทศฝั่งไทยมีด่านที่ท่าเรือตาบาในอำเภอตากใบ อีกฝั่งหนึ่งคือ กำปงเปงกลัน กูโบร์ ในรัฐกลันตันของมาเลเซียก่อน พ.ศ. ๒๔๕๑ รัฐสยามมีสิทธิเหนือ ดินแดนมลายูทั้ง ๔ รัฐ คือ ไทรบุรี กลันตันตรังกานู และปะลิส ใช้วิธีปกครองแบบหัวเมืองประเทศราช ให้สุลต่านปกครองกันเอง แต่จะส่ง ต้นไม้เงินต้นไม้ทองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการยอมรับอำนาจทางการเมืองมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย ๓ปีต่อครั้ง

 

หลังจากอังกฤษเริ่มเข้ามาค้าขายและล่าเมืองขึ้นในแหลมมลายู การเจรจาต่อรองระหว่างรัฐสยามกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษดำเนิน  เรื่อยมาราวสิบกว่าปี ในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนมลายูหลายครั้ง  และพยายามยกฐานะหัวเมืองเหล่านั้น  เช่น  ยกฐานันดรผู้ครองรัฐไทรบุรีเป็นเจ้าพระยา   และพยายามเอื้อเฟื้อให้เจ้าผู้ปกครองนครเหล่านั้นปกครองตนเอง และภักดีต่อ กรุงเทพฯ ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินนโยบายที่ปฏิบัติต่อหัวเมืองในล้านนาในช่วงเวลาเดียวกันอย่างชัดเจนแม้จะไม่   มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่การบีบบังคับสู้รบ  เช่นที่ฝรั่งเศสกระทำต่อดินแดนชายขอบที่เขมร  และลาว ใน พ.ศ. ๒๔๕๑  กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ  เสนาบดีการต่างประเทศของไทย  และนายราฟแพชยิต  ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ  ได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่  โดยรัฐบาลสยามยกดินแดนเฉพาะที่เห็นว่าอำนาจทางการเมืองของไทยครอบคลุมไปไม่ถึงเท่านั้น คือ ไทรบุรี กลัน ตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียง  ส่วนการแบ่งเขตแดนจะถือเอาสภาวะการปกครองเป็นหลัก   โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ  เช่น เรื่องภาษา ศาสนา หรือวัฒนธรรม

 

สุลต่านกลันตันและสุลต่านตรังกานูต่างคัดค้านการกระทำของไทย สุลต่านกลันตันส่งผู้แทนเข้ามาเจรจาที่กรุงเทพฯ และสุลต่าน ตรังกานูรีบยืนยันความจงรักภักดีของตนต่อเมืองไทย ด้วยการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการยกดินแดนให้อังกฤษให้อยู่ในสหพันธรัฐมลายูของอังกฤษ โดยที่เจ้าของดินแดนหรือชาวบ้านชาวเมืองไม่ได้เตรียมตัวและไม่ต้องการ เปลี่ยนแปลงสถานภาพตนเองโดยไม่ยินยอมแต่อย่างใด

 

ในขณะนั้นรัฐบาลสยามควบคุมกำกับดูแลบ้านเมืองที่ปัตตานีมาโดยตลอดและไม่อยากสูญเสียไป  แม้จะมองเห็นว่าการปกครองหัวเมือง เหล่านี้ซึ่งต่างศาสนาและต่างวัฒนธรรมน่าจะเป็นปัญหามากกว่า   ซึ่งเป็นเพียงการมองในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก   โดยเห็นว่าภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่ถูกแบ่งแยกใน บริเวณที่อาจเรียกว่า “ลังกาสุกะ” ในอดีต หรือในปัจจุบันเรียกบริเวณนี้ว่า ไทยตอนใต้และมาเลเซียตอนเหนือ  Thai south and Malay north]  ซึ่งมีภูมิหลังที่กล่าวมาแล้วคล้ายคลึงกันและอยู่ระคนกันไปในกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งมลายู จีน และไทย โดยคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่าและถือเป็นวัฒนธรรมหลักของบ้านเมืองบริเวณนี้

 

ความสัมพันธ์ของรัฐต่างๆ ในบริเวณนี้แม้จะถูกแบ่งแยกโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศให้เกิดพรมแดนเป็นรัฐชาติแบบใหม่ที่ตกลงกัน ด้วยผลประโยชน์ของอำนาจศูนย์กลาง จึงเป็นการปิดฉากรูปแบบรัฐโบราณที่เป็นรากฐานของบ้านเมืองในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา อย่างยาวนาน

 

ความอุดมสมบูรณ์บนที่ราบรัฐกลันตัน

แม่น้ำโกลก พรมแดนไทย-มาเลเซีย

 

แม้จะกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ไปแล้ว แต่รูปแบบทางสังคมวัฒนธรรมที่เคยมีอยู่ยังไม่สูญหายไปแต่อย่างใด ความเหมือนกันทาง สังคมและวัฒนธรรม ความเป็นเครือญาติ ความเป็นพี่น้อง ซึ่งกลายเป็นสิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองในพื้นที่ระหว่างรัฐที่อำนาจทางการเมืองไม่สามารถแบ่งแยกออกได้

 

กรณีเมื่อมีเอกสารที่เผยแพร่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง  ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ใหม่ๆ นั่นคือ  เบอร์จีฮาด ดิ ปัตตานี หรือ การต่อสู้ที่ปัตตานี ในเอกสารระบุว่า  เมื่อปฏิบัติการสำเร็จจะมีการสถาปนาราชวงศ์กลันตันขึ้นเป็นผู้ปกครองสูงสุด  แล้วนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุนนี  สำนักความคิดสายอิหม่ามซาฟีอี  จัดตั้งสภาสูงสุดที่มาจากนักวิชาการมุสลิมและตัวแทนบุคคลในสาขาอาชีพ ต่างๆ สภานี้มีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้งถอดถอนผู้นำได้ เป็นต้น   ข้อความเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการรวมดินแดนดั้งเดิมในราชวงศ์กลันตันที่ถือว่าเป็นราชวงศ์ที่รวมกลุ่มตระกูลเชื้อสายเจ้าเมืองจากวังยะหริ่งหรือเมืองรามันในอดีต และวังอื่นๆ ในดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ไว้ได้ชัดเจนที่สุด 

 

แม้แต่กรณีการหนีของคนไทย ๑๓๑ คนข้ามชายแดนบริเวณสุไหง-โกลกไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องในฝั่งมาเลเซีย เพราะกลัวเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยจากอำนาจรัฐ คนกลุ่มนี้เป็นชาวบ้านหลายรายจากอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ บางคนเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ถูกปล้นปืน แต่กลับถูกทางการไทยสงสัยว่า ร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ นำปืนของทางการไปใช้ก่อความไม่สงบ คนไทยเหล่านี้เดินทางหนีออกจากมาตุภูมิและขอไปอยู่อาศัยกับญาติพี่น้องทางฝั่งมาเลเซียและยังไม่ยอมกลับจนถึงปัจจุบัน

 

สิ่งเหล่านี้อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด กล่าวว่า ชาวบ้านจากประเทศไทยเหล่านี้เดินทางไปหาญาติพี่น้อง ของพวกเขาเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในขบวนการก่อการร้ายดังที่รัฐไทยหวาดกลัวและระแวงแต่อย่างใด

 

เมื่อเดินทางร่วมไปกับคณะของผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้าไปในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย โดยเฉพาะในบริเวณตั้งแต่เมืองปะแสร์ มาส [Pasir mas] ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสุไหง-โกลกทางฝั่งไทยจนถึงโกตาบารู และเมืองตุมปัตที่มีผู้คนที่เรียกตนเองว่า คนมาเลเซีย เชื้อสายไทย และคนจีนที่ถูกเรียกว่า จีนบก ซึ่งแตกต่างไปจากคนเชื้อสายจีนแถบชายฝั่งช่องแคบในอีกฝั่งทะเลอีกด้านหนึ่ง

 

ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในกลันตันมีอยู่มากเป็นอันดับสองรองจากรัฐเคดาห์หรือไทรบุรีในอดีต นอกจากนี้ยังมีอยู่บ้างประปรายที่    รัฐตรังกานูและปะลิส  เฉพาะในกลันตันมีทั้งคนเชื้อสายไทยที่เป็นชุมชนอยู่มากมายใน ๗ อำเภอ  ได้แก่ อำเภอตุมปัต  มีคนไทยอยู่  มากที่สุด  อำเภอปะแสร์ มาส  มีคนไทยอยู่ที่ตลาดปะแสร์ มาสในย่านธุรกิจด้วย และเขตที่ติดกับสุไหง-โกลก อำเภอตะเนาะแมเราะ   อำเภอปะแสร์ ปูเต๊ะ  อยู่ริมทะเลมีเศรษฐกิจดี มีคนไทยอยู่ที่บ้านเสมอรัก  อำเภอบาเจาะ  อำเภอโกตาบารู  ซึ่งเป็นเมืองหลวง  และอำเภอมาจัง ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย 

 

วัดไทย-จีน ในสังคมมุสลิม การอยู่อย่างสันติของคนกลันตัน

 

พื้นที่ราบระหว่างแม่น้ำโกลกและแม่น้ำกลันตันคือพื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์  ซึ่งกว้างใหญ่กว่าที่ราบของแม่น้ำตากใบและแม่น้ำโกลก ซึ่งมีคนไทยที่พูดภาษาสำเนียงที่เรียกว่า ภาษาเจ๊ะเห หรือ ภาษาไทยตากใบ  ในบริเวณนี้คือที่ตั้งของอำเภอตุมปัตที่มีวัดทางพุทธ ศาสนา จำนวนมาก ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนทั้งไทยและจีน ปะปนไปด้วยชุมชนมุสลิมจำนวนไม่น้อย   แม้กลันตันจะประกาศตัวเป็นรัฐมุสลิมอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็สามารถจัดการเชื่อมโยงกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธและคนจีนได้โดยการสนับสนุนงานทางวัฒนธรรม เช่น เทศกาลลอยกระทงที่ถือเป็นเทศกาลประจำเดือนพฤศจิกายนในปีท่องเที่ยวของรัฐในปีนี้

 

ความสงบร่มรื่นในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และความเป็นปกติสุขของสังคมพหุลักษณ์ในรัฐกลันตัน โดยเฉพาะบริเวณเมืองตุมปัตนี้ เป็นสิ่งที่หาไม่ได้อีกต่อไปในขณะนี้ในอีกฝั่งหนึ่งของชาติไทย

 

บ้านเมืองในเขตสามจังหวัดภาคใต้ในอดีตนั้นไม่ได้ต่างไปจากบ้านเมืองในอีกฝั่งแม่น้ำโกลกในรัฐกลันตันแต่อย่างใด เพราะอยู่ในวัฒนธรรมและบ้านเมืองเดียวกันมาก่อน แต่จะแตกต่างไปก็เพราะการเมืองของรัฐที่กระทำต่อพลเมืองทั้งสองประเทศนั้น “ไม่เหมือนกัน”

 

ในขณะที่รัฐไทย ชาวบ้านชาวเมืองโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ คงได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของความไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่สืบเนื่องมาจากอำนาจของรัฐที่จัดการปัญหาความขัดแย้งด้วยความรุนแรง  และต้องสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน   สิ่งเหล่านี้มีผู้แสดงความคิดเห็นมากมายว่า “เริ่มจะเข้าใจสาเหตุของความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่ไม่สงบเสียที”  นั้นเป็นเพราะเหตุใด

 

เมื่อเหม่อมองเมืองไทยจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโกลกที่กั้นพรมแดนบ้านเมืองที่เคยเป็นแผ่นดินเดียวกัน แต่ขณะนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้นมีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์หรือก็ไม่ใช่ ทางศาสนาหรือก็คงไม่ใช่เป็นสาเหตุมาแต่แรกเริ่ม

 

การเมืองในบ้านเมืองของเราต่างหากที่บั่นทอนพี่น้องชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้มาอย่างเนิ่นนาน และในปัจจุบันนี้ การเมืองที่กัดเซาะสังคมไทยก็เริ่มทำให้เห็นว่า แม้แต่ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน การเมืองที่นำไปสู่ความไม่ยุติธรรมในสังคมและเศรษฐกิจก็กำลังทำลายคนไทยทั่วทุกหัวระแหงอยู่ในขณะนี้

 

ชีวิตในเปลวไฟ : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ฉ.๗๔ (ก.ย.-ต.ค.๒๕๕๑)

อัพเดทล่าสุด 28 ก.ค. 2559, 15:17 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.