“ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ของไทยได้ถูกอธิบายว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิม แต่ ยังมีสิ่งที่น่าติดตามมากกว่าที่มองเห็นด้วยตา”
โดยYap Lih Huey เขียน จากAsia news ฉบับวันที่3 March 2006
Arifin bin Chik : แปล
ผู้แปลเห็นว่าเป็นบทความที่ยังทันสมัยและสะท้อนให้ทราบถึงความรู้สึกลึกๆของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส จึงได้แปลให้ท่านผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบอาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
ฉันได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ เปาะดาล์ อายุ ๕๕ ปี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้มีใบหน้าและสุ้มเสียงที่อ่อนโยน เราพูดกันด้วยภาษามาเลย์ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวมลายูในภาคใต้ของไทยคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
เราต้องการความเป็นส่วนตัวเล็กน้อย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจภาษามาเลย์ การพูดคุยกันของเราเริ่มจากเรื่องบ้าน ครอบครัวและเพื่อนๆ จนไปถึงปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เปาะดาล์ เพ่งสายตาไปยังเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังสนทนาหยอกล้อกับนักเรียน โรงเรียนของเขาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของทหาร มีนักเรียนประมาณ ๑,๐๐๐ คน จาก ๕ หมู่บ้าน เปาะดาล์ ชวนผมเข้าไปข้างในแล้วกระซิบว่า “ มันเป็นเรื่องของ ตำรวจ ทหาร ผู้ก่อการร้าย กลุ่มมาเฟีย นักการเมือง ผู้มีอำนาจ เกี่ยวข้องกับเงิน ยาเสพติด และการอาฆาตพยาบาท ” เขามองรอบๆเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครแอบฟัง
ความรู้สึกตึงเครียดขึ้นเมื่อได้พูดถึงความไม่สงบของที่นี่ ชาวบ้านทุกคน ปัญญาชนมุสลิม นักกฎหมาย อดีตผู้ก่อการร้าย และอาชญากรรมที่ฉันพูดถึง พื้นที่ตรงนี้มาจากหลายๆพวกที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน ความเชื่อของคนทั่วไปและข่าวสารของทางราชการไทยเอง แสดงให้เห็นว่า ความไม่สงบในภาคใต้นั้นไม่เฉพาะเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และความขัดแย้งทางศาสนาเท่านั้น
แม้คนจำนวนน้อยจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการแบ่งแยกดินแดนและความแตกต่างทางศาสนา แต่พวกเขาสามารถแยกจากกัน ระหว่างความคิดและพฤติกรรม
“ พวกก่อการร้ายทำอะไรบ้าง นอกจากสร้างปัญหา ถ้าถามพวกทหารและตำรวจ แต่การกระทำของพวกเขา (เจ้าหน้าที่)สิบครั้ง เกิดผลร้ายมากกว่าการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายเสียอีก ” รุชดี อธิบาย เขาเป็นผู้ช่วยทำงานให้กับทนายความคนหนึ่ง จึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในนราธิวาส ปกติเขาชอบที่จะขี่รถจักรยานยนต์ไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อติดต่อกับชาวบ้าน
ชาวบ้านบางคนพูดว่าความไม่สงบ มาจากการรวมอำนาจไปสู่ส่วนกลาง การฉ้อราษฎร์บังหลวง และการขาดการบริหารจัดการที่ดีของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ปัญหาได้ทวีมากขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.(The Southern Border Provinces Administrative Committee (SBPAC) และก่อตั้งใหม่ที่เรียกว่า ศูนย์ประสานงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กอส.จชต.( Southern Border Provinces Coordination Center / SBPCC) ในต้นปี ๒๐๐๒, ปัจจุบันเรียกว่า กองอำนวยการรักษาความสงบชายแดนภาคใต้ ( กอ.รส.จชต.) หรือSouthern Border Province Peace Building Command
“ ทักษิณ ได้รับการแนะนำจากนายตำรวจเพื่อนของท่านเองว่า จะต้องปรับยุบ ศอ.บต. ตำรวจบอกอีกว่า ตำรวจจะสามารถแก้ปัญหาในภาคใต้ได้ภายในระยะเวลา ๖ เดือนเท่านั้น นี่ก็เป็นเวลา ๒ ปีแล้วอะไรดีขึ้นบ้าง ” คำพูดของฮะญีอะหมัด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี
กอ.รส.จชต.ได้มอบอำนาจต่างๆให้แก่ฝ่ายตำรวจฝ่ายเดียว เป็นการลดอำนาจของฝ่ายทหาร นโยบายที่ผิดพลาดของ กอ.รส.จชต.ทำให้เกิดความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆหลายกลุ่ม เดิมนั้น การบริหารภายใต้ ศอ.บต.อำนาจได้ถูกกระจายไปยังหน่วยที่เรียกว่า พตท.๔๓ ที่เป็นหน่วยผสมระหว่างพลเรือน ตำรวจและทหาร อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมี หน่วยตำรวจปราบจราจล ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา ครู กลุ่มนักธุรกิจ เข้าด้วยกัน ศอ.บต จึงเป็นหน่วยงานกลาง ประสานระหว่างรัฐบาลที่กรุงเทพฯกับองค์กรบริหารในพื้นที่จังหวัดภาคใต้
ความขัดแย้งในอำนาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ที่สนับสนุนโดยฝ่ายนักการเมืองกังฉินในภาคใต้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อได้มีการควบคุมผู้นำมุสลิม นักสังเกตการณ์ให้ความเห็น โดยชี้ถึงการรวมอำนาจและกำหนดนโยบายไว้ที่ส่วนกลางโดยการบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ นักวิชาการคนหนึ่งเปิดเผย ประเทศไทยไม่เคยปล่อยวางจากการปกครองแบบรวมอำนาจมาก่อน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายชาวมุสลิมในภาคใต้.
การเปลี่ยนแปลง ศอ.บต.จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากอดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย เมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๐๐๒ เขาวิจารณ์ว่ารัฐบาลทักษิณได้ยกเลิกศอ.บต.และพตท.๔๓ โดยไม่เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่แท้จริงในภาคใต้ “ รัฐบาลไม่ยอมรับการชี้แนะในการออกระเบียบใหม่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในภาคใต้ ซึ่งได้ทำลายความเป็นเอกภาพของหน่วยงานผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่หมดสิ้น นโยบายในอดีตควรจะได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า (การยกเลิกไปเสียเลย) ” เขากล่าว พร้อมกับเสริมว่าองค์กรทั้งสอง(ที่เลิกไป)ได้ร่วมแก้ไขปัญหาภาคใต้สำเร็จมาร่วม ๒ ศตวรรษแล้ว
“ เป็นการง่ายที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้หากทุกหน่วยงานสามารถนั่งโต๊ะเจรจาร่วมกัน ” ฮะญีอะหมัดกล่าว
“ แต่เมื่อมีการขัดแย้งในการใช้อำนาจ จึงทำให้เกิดความยุ่งยาก ตำรวจไม่อาจจะรักษาความสงบได้ ครั้นเมื่อทหารเข้ามา(ภายใต้กฎหมายกฎอัยการศึก) อำนาจจึงตกอยู่กับทหารเรือและทหารบก ” รุชดีกล่าวด้วยอารมณ์
ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันจึงได้ตกอยู่ภายใต้กฎหมายกฎอัยการศึกมาตั้งแต่ ๑๕ กรกฎาคม (ค.ศ.๒๐๐๕) ที่แล้ว กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจทหารควบคุมผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องมีหมาย(จับ) ห้ามการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน ดักฟังโทรศัพท์ได้ ควบคุมข้อมูลข่าวสาร การกระทำละเมิดใดๆของเจ้าหน้าที่โดยอ้างกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่มีความผิด
ทนายความนักสิทธิมนุษยชน(ทนายสมชาย นีละไพจิตร) ที่ได้ให้การปกป้องช่วยเหลือชาวบ้านได้เป็นประเด็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลไทย
“ ความจริงแล้ว ความไม่สงบเรียบร้อยได้เป็นโอกาสให้แก่บุคคลบางกลุ่ม เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด ทหารต้องการงบประมาณจากรัฐบาลมากยิ่งขึ้น โดยอ้างว่าจะต้องใช้ในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย เมื่อสิ่งสาธารณถูกเผาทำลาย รัฐบาลจะต้องผ่านงบประมาณให้ทหารเพื่อฟื้นฟู คุณรู้ไหมว่า ประเทศไทยมีการคอรัปชั่นมากน้อยแค่ไหน? ”
ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๐๐๔ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๐๐๕ ทรัพย์สินสาธารณะเช่นที่ทำการของรัฐและโรงเรียนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ได้ถูกทำลายมากกว่าโรงเรียนสอนศาสนา ๖๓๕ แห่งทรัพย์สินสาธารณะถูกเผาทำลายในนราธิวาส ๓๙๓ แห่งในปัตตานี และ ๓๑๗ แห่งในยะลา อันเป็นสถิติของ กอ.รส.จชต.
จากรายการวิทยุสุดสัปดาห์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๐๐๕ ท่านกล่าวว่า ท่านเชื่อว่าการล่มสลายของขบวนการยาเสพติดในเมืองสำคัญๆของภาคใต้ เช่นสุไหงโกลก จะทำให้ปัญหาความรุนแรงหยุดการขยายตัว ทักษิณได้พบกับผู้นำทางทหารเมื่อ ๓ เดือนก่อน ได้เจรจาหารือที่จะใช้เงินงบประมาณ ๕๖๗ ล้านล้านบาท(Bt567 billion/ US $ 14.46 Billion) ในการใช้จ่ายในปีต่อไป
ชาวบ้านพูดถึงความไม่สงบ เรื่องหลักเป็นการแสวงหาความยุติธรรม แต่ดูเป็นเรื่องตลกสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอคติต่อชาวบ้านมุสลิม ผลก็คือ พวกเขาจะประสบกับการฆาตกรรมหรือการสูญหายไปหากพวกเขากล่าวโจมตีการกระทำของพวกเจ้าหน้าที่หรือพวกก่อการร้าย ชีวิตขึ้นอยู่กับสถานที่หรือเวลา เขาได้เห็นสิ่งที่เขาไม่อยากจะเห็น การกระทำที่ขาดการควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ปรากฏในการรายงานข่าว ชาวบ้านส่วนมากจึงปิดปากเงียบเพื่อความปลอดภัย
“ คุณบอกมาซิ ใครที่ผมจะไว้ใจเชื่อถือได้บ้าง คนระดับผู้นำย่อมรู้ดี อะไรกำลังเกิดขึ้น ผู้ที่สร้างปัญหามากที่สุดเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง มีทั้งทหารดีและทหารชั่ว ตำรวจด้วยเช่นกัน เราไม่เชื่อสื่อมวลชนในท้องถิ่น เพราะพวกเขาจะบิดเบือนข่าว พวกเขาจะยกย่องเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจประชาชน การฆาตกรรม การระเบิด การยิง เป็นเรื่องเบื่อหน่ายของทหาร มักจะถูกโยงกับผู้ก่อการร้ายมุสลิม ทำให้ศาสนาอิสลามเสียภาพลักษณ์ที่ดีไป ” รูชดีกล่าว
สถิติของตำรวจแสดงว่า ในรอบ ๒ ปีที่ผ่านมา มากกว่าครึ่งของการฆาตกรรม ที่เป็นเรื่องส่วนตัว (ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง) เกิดขึ้นต่อชาวมุสลิม เช่นในปัตตานี เกิดขึ้นต่อมุสลิม ๓๓๐ ราย ต่อไทยพุทธ ๑๔๑ ราย,ในยะลา เกิดขึ้นต่อมุสลิม ๒๒๒ ต่อ ไทยพุทธ ๙๙ , และนราธิวาสเกิดต่อมุสลิม ๑,๔๐๖ ต่อไทยพุทธ ๒๓๗ เจ้าหน้าที่แถลงว่า เชื่อว่าเหยื่อชาวมุสลิมส่วนใหญ่เป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการ ระหว่าง ๔ มกราคม ๒๐๐๔ ถึง ๔ มกราคม ๒๐๐๖ จำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๗๖ คนถูกฆ่าตาย และ ๑,๖๐๐ คนได้รับบาดเจ็บ ตามตัวเลขของกองทัพภาค ๔ ตัวเลขของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เกิดจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้ก่อการร้ายที่เกี่ยวโยงกับการแบ่งแยกดินแดน
กลุ่มก่อการร้ายที่เรารู้จักเช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น, กลุ่มพูโล, เบอร์ซาตู มูจาฮิดดีน (จีเอ็มไอพี) และพูซากา เป็นเวลาไม่นานที่เข้ามาสร้างอิทธิพลใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ต่อมาก็แทนที่ด้วยกลุ่มก่อการร้าย เป็นเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่ถ่ายทอดไปสู่บุคคลต่อบุคคล ที่ต้องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและการล้างแค้น ชีวิตมีความไม่แน่นอน ผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ไม่มีความผูกพันกับกลุ่มเก่าที่กล่าวถึง พวกเขาไม่มีใครรู้จัก
“ พวกเขาอาจจะเป็นใครก็ได้ ..เราไม่รู้ว่าพวกเขามีลักษณะอย่างไร แต่อย่างหนึ่งที่ประจักษ์ คือ พวกเขาไม่กลัวความตาย เมื่อบิดามารดารู้ว่าสูญเสียลูกชาย ถูกฆ่าโดยไม่รู้เหตุผล เขาจะอยู่ไปทำไม ? เยาวชนถืออาวุธปืนอย่างเปิดเผย มีการระเบิด การข่มขู่คุกคาม เขาเสียเลือดและร่างกาย โดยไม่เกรงกลัวสิ่งใดๆ ตราบใดที่ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น ” รุชดี กล่าว
“ จำนวนมุสลิมที่มีมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของประชากรทั้งหมดในภาคใต้ ตำแหน่งในราชการมีอยู่ระหว่าง ร้อยละ ๔ ถึง ๒๐ เท่านั้นที่เป็นของชาวมุสลิม ” ฮะญีอะหมัด พูดบ้าง
ในคืนหนึ่งที่รุชดีพาผมซ้อนมอเตอร์ไซค์ของเขาไปยังหมู่บ้าน ที่เรียกว่า บ้านบาลูกาสะนอ ประมาณ ๔๕ นาทีจากเมืองนราธิวาสถึงที่นั่น เขาพูดว่า “ ไม่มีใครกล้าเข้าไปในหมู่บ้านในเวลากลางคืน เราอาจจะถูกฆ่าได้ตลอดเวลาโดยใครก็ไม่รู้ ” เขาพูดกับผม
มีประมาณ ๑,๓๐๐ หลังคาเรือนในหมู่บ้านบาลูกาสะนอ ทุกแห่งที่ผ่านไป ชาวบ้านจะหยุดทักทายกับรุชดี และสอบถามข่าวคราวของญาติพี่น้องที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ เราได้รับการเสนอชวนรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มทุกแห่ง ผมได้รับการแนะนำให้รู้จักกับหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งกำลังเข้ายามรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านโดยมีปืน เอ.เค.๔๗ อยู่ในมือ “ ทหารไทยเราไม่อยากให้เข้ามาป้องกันหมู่บ้านเรา นอกจากพวกเราดูแลกันเอง ทั้งหญิงและชาย ต่างหมุนเวียนกันทุกค่ำคืน ” หัวหน้าหมู่บ้านพูด.
เส้นทางที่เรากลับ รุชดีและผมได้มองเห็นชายสองคนกำลังเข็นรถยนต์กระบะคันหนึ่งอยู่ในดินทรายบนเส้นทางจะไปยังเมืองนราธิวาส ดูเขากระวนกระวาย กลัว และยุ่งยากใจบนใบหน้า พวกเขาไม่ใช่มุสลิม ก่อนที่เราจะเข้าไปให้การช่วยเหลือ รถปิคอัพก็พ้นจากทราย โดยมีชายมุสลิมสองคน ช่วยลากรถกระบะของเขา ไปยังเมืองนราธิวาส ที่พวกเขาทั้งสอง (ไทยพุทธ)กำลังจะไป ชายดังกล่าวพยักหน้าและจับมือรุชดีและขอบคุณพวกเขา(มุสลิม) รุชดีหันมาทางผมและถามว่า “ คุณว่ามีความขัดแย้งทางศาสนา ไงล่ะ ? ”
ผมบอกเขาว่า หากรัฐบาลไทยได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและไม่กระทำรุนแรงต่อผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นพวกก่อการร้าย. เขาชิงสอดว่า “ สิ่งที่พวกมุสลิมไปเป็นผู้ก่อการร้าย มิใช่เพียงปัญหาของความยากจน ปัญหาขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติเท่านั้น เมื่อศาสนาของคุณ และสิทธิของคุณถูกคุกคาม คนรักของคุณถูกฆ่า พวกคุณปราศจากความยุติธรรม คุณจะทำอย่างไร คุณจะหยิบปืนขึ้นต่อสู้หรือไม่ ?” เขาพูดและความเงียบก็เข้ามาแทนที่เป็นเวลานาน มันช่างฝังเข้าไปในความคิดของผมจริง.ๆ... !!!
หมายเหตุ ชื่อบุคคลได้ถูกเปลี่ยนเป็นนามสมมติ เพื่อความปลอดภัย และเพื่อเป็นส่วนตัวในการสัมภาษณ์ การสนทนากันนี้ได้เรียบเรียงขึ้นที่มาเลเซีย