หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
“ปาตานี” นครแห่งความทรงจำ
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 3 มิ.ย. 2559, 15:38 น.
เข้าชมแล้ว 61586 ครั้ง

เมืองท่าภายในที่ยะรัง

เมืองที่รุ่งเรืองในยุคสหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัย

 

เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินราวๆ ๑๕-๑๖ กิโลเมตร มีผู้รู้จักมาเป็นเวลานานแล้ว และทราบว่าเป็นเมืองสำคัญที่พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเป็นเมืองและพบศาสนาสถานจำนวนมาก อาจจะเป็นชุมชนโบราณที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานที่ซับซ้อนและใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรมลายูทีเดียว

 

จากการศึกษาทางโบราณคดีในเขตบ้านปราแวและบ้านวัด ในอำเภอยะรัง รวมทั้งระบุถึงการกระจายของแหล่งศาสนสถานกว่า ๓๕ แห่ง ซึ่งผู้บุกเบิกเริ่มต้นศึกษาคือ นายอนันต์ วัฒนานิกร[๑]ปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานี ได้ทำการศึกษาค้นคว้ามากว่า ๔๐ ปี แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และมีการสืบเนื่องที่เห็นได้ชัดเจนกว่าแห่งอื่นๆ ในดินแดนภาคใต้ทั้งหมด

 

เมื่อตรวจสอบร่องรอยของลำน้ำก็พบว่า น่าจะมีร่องรอยของลำน้ำเก่าที่มาจากเขตบ้านกรือเซะหรือเมืองปัตตานีในสมัยอยุธยาเข้าถึงชุมชนโบราณในเขตอำเภอยะรังพบว่ามีร่องรอยทางน้ำที่ไปสัมพันธ์กับคลองตุหยงหรือคลองหนองจิกทางฝั่งตะวันตกด้วย แหล่ง แสดงให้เห็นว่าบริเวณชุมชนโบราณนี้คงติดต่อทางทะเลไปตามลำน้ำเก่าดังกล่าวทั้งที่บริเวณเมืองหนองจิกและอ่าวปัตตานีบริเวณบ้านกรือเซะอันเป็นบริเวณที่ตั้งของเมืองปาตานีในระยะต่อมา

 

ชุมชนโบราณแบ่งออกเป็น ๓ บริเวณ มีลักษณะขยายตัวจากทิศใต้สู่เหนือ อาณาบริเวณทั้งสามเมืองอยู่ในพื้นที่ราว ๙ ตารางกิโลเมตร เรียงตามเมืองที่น่าจะมีอายุน้อยที่สุดทางด้านทิศเหนือไปสู่เมืองที่น่าจะมีอายุมากที่สุดต่ำลงมาทางทิศใต้ ได้แก่

 

- เมืองโบราณบ้านวัด มีการวางระเบียบผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ซับซ้อน ขนาดราว ๘๓๐x๘๕๐ เมตร ใช้คูเมืองแบ่งเป็นส่วนต่างๆ โดยกำหนดให้เมืองหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีการจัดแบ่งพื้นที่ค่อนข้างเด่นชัด เช่น ศูนย์กลางเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกลุ่มโบราณสถานในเมืองและทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และนอกเมืองกระจัดกระจายอยู่ราว ๒๕ แห่ง

 

- เมืองโบราณบ้านจาเละมีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดราว ๙๕๐x๘๙๐x ๑๔๗๐ เมตร (ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้)พบแนวคันดิน กำแพงเมือง คูน้ำด้านทิศเหนือขนานไปกับคูน้ำคันดินของเมืองปราแว ส่วนคูเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ขุดขึ้นตั้งฉากกับลำน้ำเก่าทางด้านทิศตะวันออก เมืองทั้งสองแห่งซ้อนและเชื่อมกันด้วยแนวลำน้ำ ๒ สาย แนวคูน้ำคันดินทั้งสองเมืองห่างกันราว ๑ กิโลเมตร ศูนย์กลางของเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่ ๑ แห่ง มีโบราณสถานภายในและภายนอกเมือง ๑๑ แห่ง และป้อมมุมเมือง ๒ แห่ง เมืองโบราณบ้านปราแวเชื่อมต่อเมืองโบราณบ้านจาเละด้วย

 

- เมืองโบราณบ้านปราแว ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดราว ๕๒๐x๕๖๐ เมตร มีแนวคูน้ำ คันดิน กำแพงล้อมรอบ และมีป้อมทั้ง ๔ มุมเมือง ภายในมีโบราณสถาน ๒ แห่ง และมีบ่อน้ำ ๗ แห่ง คำว่า ปราแว สันนิษฐานกันว่าหมายถึง พระราชวัง

 

ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ หนังสือราชอาณาจักรมลายูปัตตานี [Kerajaan Melayu Patani]โดยอิบราฮิม สุกรี ได้กล่าวว่าเนื่องจากพระราชวังและบ้านเมืองที่กรือเซะถูกทำลายจนย่อยยับแทบไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ตวนกูลามิเด็นจึงไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ โกตาปราวัน บริเวณเมืองโบราณที่ปราแวในปัจจุบัน แม้ตวนกูลามีเด็นจะได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินสยามให้ปกครองปัตตานีก็ตาม แต่ก็ยังคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพของปัตตานีให้กลับคืนมา จึงมอบหมายให้ ดาโต๊ะ ปังกาลัน เป็นผู้ดูแลเมืองที่กรือเซะ รับผิดชอบดูแลกิจการท่าเรือที่ กาแลบือซา (ท่าเรือใหญ่) ใกล้อ่าวปัตตานี เมืองโบราณภายในจึงยังคงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมา

 

กรมศิลปากรขุดแต่งโบราณสถานในกลุ่มโบราณสถานที่บ้านจาเละเมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๑ กลุ่มที่เลือกศึกษาคือโบราณสถานหมายเลข ๓ เป็นศาสนสถานก่อด้วยอิฐ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารตอนบนเป็นรูปกากบาท ภายในเป็นห้องขนาดใหญ่พบชิ้นส่วนของพระพิมพ์ดินดิบและสถูปจำลองดินเผาจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบสถูปนั้นไม่เก่าไปถึงสมัยทวารวดี แต่น่าจะร่วมสมัยกับยุคศรีวิชัย  บางชิ้นปรากฏหลักฐานมีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตที่กล่าวถึงถ้อยคำมงคลทางพุทธศาสนา เศษภาชนะดินเผาชนิดต่างๆ รวมทั้งเศษเครื่องถ้วยเคลือบสีฟ้าอมเขียวแบบเปอร์เซีย

 

ความสำคัญของเมืองโบราณในระยะแรกเริ่มที่ยะรังก็คือ การถูกตีความโดยนักวิชาการยุคเริ่มแรกว่าสัมพันธ์กับรัฐโบราณที่ชื่อ “ลังกาสุกะ” โดยนำไปเปรียบเทียบกับคำว่า “ลั่งยะสิ่ว”[๒]ซึ่งเป็นชื่อสถานที่หนึ่งในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถังที่มีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมา แม้จะพบหลักฐานสำคัญบางอย่าง เช่น พระพุทธรูปแบบทวารวดีและศิวลึงค์รุ่นเก่าที่เทียบเคียงอายุได้ประมาณนั้น แต่หลักฐานทางโบราณคดีซึ่งพบบริเวณเมืองโบราณยะรังชี้ให้เห็นว่า มีการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานในรูปแบบศิลปะที่เรียกว่าแบบปาละ ซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเมืองของคาบสมุทรมลายู หมู่เกาะทั้งชวาและสุมาตรา ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า “อาณาจักรศรีวิชัย ที่รุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา และสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่เป็นเครือข่าย “สหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัย”

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ก็เชื่อว่า กลุ่มเมืองโบราณที่ยะรังคือเป็นเมืองปัตตานีเก่าและเป็นเมืองที่กล่าวถึงในตำนานมะโรงมหาวงศ์ที่ชื่อ “ลังกาสุกะ” ซึ่งเจริญขึ้นมาร่วมสมัยกับยุคสหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัย โดยมีพื้นฐานบ้านเมืองแรกเริ่มเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่๑๒ ที่บริเวณเมืองโบราณบ้านวัด[๓]

 

ดังนั้น “ลังกาสุกะ” คือบ้านเมืองซึ่งเป็นเมืองท่าภายในติดต่อกับโลกภายนอกในกลุ่มสหพันธรัฐศรีวิชัยในช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา และมีความสำคัญต่อบ้านเมืองภายในด้วยกันโดยมีการแลกเปลี่ยนหรือซื้อสินค้าทรัพยากรของป่าและแร่ธาตุและสามารถติดต่อกับกลุ่มเมืองโบราณอีกฝั่งทะเลหนึ่งที่ “หุบเขาบูจัง” [Bujang Valley]ในรัฐเคดาห์หรือไทรบุรีและชุมชนโบราณอื่นๆ ในรัฐเประ โดยการใช้เส้นทางเดินทางข้ามคาบสมุทรผ่านช่องเขาและสันปันน้ำของเทือกเขาสันกาลาคีรี

 

นักวิชาการรุ่นหนึ่งถกเถียงกันว่า[๔]ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ไหน ที่ปาเลมบังและจัมบีในเกาะสุมาตราหรือที่ไชยาในสุราษฎร์ธานีหรือที่เมืองอื่นๆ เพราะเชื่อกันว่า ศรีวิชัยเป็นอาณาจักใหญ่โต มีอำนาจทางการเมืองและการค้าครอบคลุมบ้านเมืองในหมู่เกาะและคาบสมุทรมลายู เพราะวิธีคิดของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า อาณาจักรที่ใหญ่โตนั้นน่าจะมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางซึ่งมีกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ปกครองอยู่ ขนาดของบ้านเมืองใหญ่โตและศาสนสถานของเมืองก็ใหญ่โตตามไปด้วย

 

แต่ในระยะหลัง ราวครึ่งหลังทศวรรษที่ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา มีผู้เสนอแนวคิดในการมองภาพศรีวิชัยใหม่ โดยเสนอว่า ศรีวิชัยคือเครือข่ายบ้านเมืองที่ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน อินเดีย กับเมืองท่าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจการค้าในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ลักษณะทางศิลปกรรมในความเชื่อทางศาสนาพุทธแบบมหายานร่วมกัน ซึ่งแสดงออกได้ในหลายรูปแบบ เช่น การนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือการใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาสำคัญทางศาสนา เมืองท่าต่างๆ เหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่มีศูนย์กลางอยู่ในหลายแห่งตามเมืองสำคัญต่างๆ ทั้งในหมู่เกาะและคาบสมุทรในลักษณะ “เมืองท่าทางการค้า” [Port polities][๕]ซึ่งหมายถึงเป็น “สหพันธรัฐเมืองท่า” ที่มีหลายศูนย์กลางและเคลื่อนย้ายไปตามช่วงเวลา[๖]ลักษณะทางการค้าและความก้าวหน้าของการเดินทางติดต่อรวมถึงความสามารถของผู้นำของบ้านเมืองแต่ละแห่ง

  

ที่ตั้งของชุมชนโบราณที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านปราแว สะท้อนให้เห็นว่ามีลักษณะของการเป็นเมืองท่าที่อยู่เข้ามาในลำน้ำใหญ่ ไม่อยู่ติดชายทะเล การตั้งเมืองใหญ่เป็นเมืองท่าภายในเช่นนี้ มักพบเห็นได้ทั่วไปในช่วงระยะเวลานั้น เช่น ในกรณีเมืองท่าภายในสมัยทวารวดีในภาคกลางช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมา เช่น เมืองคูบัว เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง เมืองศรีมโหสถ เป็นต้น มักอยู่ริมลำน้ำใหญ่ห่างไกลเข้ามาในแผ่นดินมากพอสมควร[๗]

 

เมืองโบราณที่ยะรังนี้ในภายหลังปรับเปลี่ยนลัทธิความเชื่อทางศาสนาจากพุทธมหายานและฮินดูมาเป็นอิสลามและเปลี่ยนศูนย์กลางของบ้านเมืองมาอยู่ที่เมืองปาตานี ริมอ่าวใกล้ปากแม่น้ำปัตตานี บริเวณบ้านตันหยงลูโละ บานาและกรือเซะในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองท่าสำหรับการค้าทางทะเลโดยตรงที่สืบเนื่องมาจากเมืองท่าภายใน ลังกาสุกะ ที่ยะรังนั่นเอง

               

“ปาตานี” นครรัฐริมอ่าวชายฝั่งทะเล

 

เส้นทางข้ามคาบสมุทรมลายูมีอยู่ด้วยกันหลายสายและมีอายุเก่าแก่ไปจนถึงต้นพุทธศตวรรษ เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็ก เส้นทางเหล่านี้เชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางติดต่อระหว่างแหล่งอารยธรรมของโลกสองเขต คือ กรีก โรมัน อินเดีย อาหรับทางตะวันตกและจีนทางตะวันออก การเดินเรือเลียบชายฝั่งในยุคเริ่มแรกนั้นเมื่อจะต้องผ่านคาบสมุทรมลายู การเดินทางในยุคแรกๆ นั้นใช้วิธีขึ้นบกแล้วเดินทางผ่านข้ามฝั่งมหาสมุทรจากอันดามันสู่อ่าวไทยและทะเลจีนใต้แล้วต่อเรือในอีกฝั่งหนึ่ง

 

เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ใช้กันมาทั้งในช่วงแรกๆ ที่อยู่ในบริเวณคาบสมุทรของไทยที่มีการค้าทางทะเลและเป็นเส้นทางภายในของชุมชนในเขตคาบสมุทรที่ใช้ต่อเนื่องมาตลอดมีอยู่หลายเส้นทาง เช่น มะริด-กุยบุรีและเพชรบุรี กระบุรี-ชุมพร ตะกั่วป่าและกระบี่-อ่าวบ้านดอน พังงา-อ่าวบ้านดอนและนครศรีธรรมราช ตรัง-พัทลุง เคดาห์หรือไทรบุรี-สงขลา และเคดาห์-ปัตตานี เป็นต้น

 

เมื่อเส้นทางข้ามคาบสมุทรหมดความสำคัญลงในเวลาต่อมา เพราะการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกานั้นสามารถทำได้ดีขึ้นหรือสะดวกกว่าในอดีตโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพาหนะแล้วต้องเดินทางบกข้ามเขามาตามลำน้ำซึ่งมีอันตรายและใช้เวลามาก คนในท้องถิ่นจึงใช้เป็นเส้นทางติดต่อภายในระหว่างชุมชนบ้านเมืองในคาบสมุทรและกลายเป็นเส้นทางภายในท้องถิ่นมากกว่าที่จะใช้เพื่อการค้าระหว่างภูมิภาคดังในระยะเริ่มแรก

 

เมื่อเปรียบเทียบจากหลักฐานโบราณคดีก็พบว่า บริเวณเมืองท่าทางฝั่งอันดามันที่มีการติดต่อหรือการค้าลูกปัดและสินค้าอื่นๆ ในเส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนบนนั้นมีความเก่าแก่กว่าเส้นทางในบริเวณเมืองไทรบุรีหรือเคดาห์ที่ข้ามมาสู่ที่ราบลุ่มปัตตานีอยู่มาก เพราะมีหลักฐานที่โยงไปถึงช่วงเวลาในต้นพุทธกาลและรูปแบบของลูกปัดที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าก็มีความหลากหลายในอิทธิพลทางวัฒนธรรมความเชื่อจากแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก เช่น  อียิปต์ กรีก โรมัน อินเดีย เป็นต้น[๘]

 

ส่วนบริเวณเส้นทางข้ามคาบสมุทรตอนล่างบริเวณเคดาห์หรือไทรบุรีซึ่งปรากฏกลุ่มโบราณสถานและชุมชนที่หุบเขาบูจังในเทือกเขาเจไรใกล้ปากแม่น้ำเมอร์บก [Sugai merbok] ในเคดาห์ ผ่านต้นน้ำบริเวณสันปันน้ำของเทือกเขาสันกาลาคีรีเดินทางผ่านหุบเขาและที่สูงลงสู่ที่ราบลุ่มของลุ่มน้ำปัตตานีและสายบุรีมีหลักฐานพบจันทิในศาสนาฮินดูหลายแห่งและโบราณวัตถุในพุทธศาสนาคติมหายานตลอดจนเครื่องถ้วยแบบเปอร์เซียอาหรับซึ่งทำให้เห็นว่ามีการเดินทางติดต่อและค้าขายจากบ้านเมืองในอาหรับและอินเดียสู่เมืองท่าบริเวณนี้ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

 

เมืองโบราณที่ยะรังซึ่งมีร่องรอยของการอยู่อาศัยในระยะเวลานานและมีการสร้างแนวกำแพงเมืองเหลื่อมหรือซ้อนทับในบางส่วน และย้ายตำแหน่งตัวเมืองในพื้นที่ราว ๙-๑๐ ตารางกิโลเมตรในช่วงเวลายาวนานก่อนเมืองโบราณริมชายฝั่งทะเลที่อ่าวปัตตานีจะเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑  มีแนวเส้นทางน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลแต่ถูกปรับเปลี่ยนทางเดินของน้ำจนเห็นว่าแม่น้ำปัตตานีในปัจจุบันนั้นอยู่ห่างกลุ่มเมืองโบราณที่ยะรังกว่า ๑๕-๑๖ กิโลเมตร

 

เมื่อภูมิภาคนี้พัฒนาจากยุคการค้าโบราณในสมัยศรีวิชัย ซึ่งมีการค้าขายกับหมู่เกาะต่างๆ และบ้านเมืองทางจีนและอินเดีย มาสู่ยุคการค้าทางทะเลในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ พื้นที่บริเวณต่ำกว่าจังหวัดสงขลาลงมาจนถึงตากใบ ในจังหวัดนราธิวาส มีลำน้ำหลายสาย ได้แก่ ลำน้ำ จะนะ เทพา หนองจิก ปัตตานี สายบุรี และโกลก แต่บริเวณปากน้ำปัตตานีที่มีอ่าวและแหลมยื่นออกไปกำบังลมทะเลมีภูมิสัณฐานดีกว่าในบริเวณปากน้ำทั้งหมดและมีทั้งพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงกว้างขวางเหมาะแก่การเพาะปลูก ในขณะที่ชายฝั่งทะเลมีทั้งบริเวณที่เป็นสันทรายเหมาะแก่การตั้งเมืองท่าริมทะเลโดยอาศัยเวิ้งอ่าวปัตตานีเป็นที่จอดพักเรือสินค้า ในเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งที่เป็นเส้นทางค้าสำคัญของภูมิภาคและของโลกในยุคนั้นก็ว่าได้

 

จึงไม่น่าแปลกแต่อย่างไร ที่บ้านเมืองบริเวณนี้จะมีพัฒนาการของเมืองท่าภายในซึ่งมีรากฐานมาจากการตั้งถิ่นฐานในระยะเริ่มแรกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ แล้วมาเจริญสูงสุดในยุคสหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัยในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา จึงมีความร่ำรวยและน่าจะเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญของบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูในยุคศรีวิชัยที่มีการเดินทางค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามภูมิภาคกันอย่างคึกคัก อีกทั้งเมืองลังกาสุกะที่ยะรังเป็นจุดเชื่อมต่อบ้านเมืองทั้งสองฝากฝั่งทะเลจากอันดามันถึงอ่าวไทย จนขยับขยายสร้างเมืองใหม่ที่ริมอ่าวใกล้ปากน้ำปัตตานีเป็นเมืองท่าชายฝั่งริมอ่าวอย่างสมบูรณ์ในยุคที่เรียกกิจกรรมหลักของบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยหนึ่งว่า “ยุคแห่งการค้า” เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓

 

รากฐานของบ้านเมืองที่เป็นปึกแผ่นต่อเนื่องนานหลายร้อยปีในสังคมของการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานและมีบางส่วนที่นับถือฮินดู ทำให้สถานะของผู้ปกครองค่อนข้างมั่นคง การปรับเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีความเชื่อว่าเกิดเพราะปัจจัยภายนอก คือ เรื่องของโต๊ะครู[๙]ผู้เข้ามารักษาโรคให้รายาและเมื่อหายก็ต้องรักษาคำพูดที่ว่าจะเปลี่ยนศาสนาในที่สุด ซึ่งนักวิชาการ เช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์[๑๐]เสนอว่า แสดงให้เห็นนัยยะของการเข้ามาของผู้เผยแพร่ศาสนาที่เข้มแข็งซึ่งใช้ฐานจากชาวบ้านเป็นพื้นก่อน เพราะโต๊ะครูนั้นสามารถสื่อเข้าถึงคนหมู่มากได้โดยธรรมชาติ และเป็นธรรมชาติที่แตกต่างไปจากศาสนาพุทธมหายานหรือฮินดูที่ผู้ปกครองจะเป็นกลุ่มผู้รับศาสนาเริ่มแรกและอุปถัมภ์ศาสนสถานและนักบวชด้วยการสร้างศาสนสถานต่างๆ มากมาย ศาสนาอิสลามในบ้านเมืองแห่งใหม่นี้จึงเกิดขึ้นมาจากฐานของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งควรจะมีหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเนื่องจากลักษณะของการเป็นเมืองท่าก่อนที่ผู้ปกครองจะเปลี่ยนมารับศาสนาอย่างเป็นทางการ

 

อาจารย์นิธิ ยังเสนอในบทความเดิมต่อไปอีกว่า ศาสนาอิสลามที่เริ่มเข้ามานี้ น่าจะได้รับอิทธิพลนิกายซูฟี[๑๑]ที่ผ่านมาจากอินเดียหรืออาจจะมาจากทางจีนตอนใต้ เพราะเชื่อในการเข้าถึงในพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง มีการทำสมาธิและมีพิธีกรรมเกี่ยวกับศพมาก และนับถือหลุมฝังศพของโต๊ะครู คนศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านศรัทธา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับความเชื่อท้องถิ่นทั้งทางพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษที่มีมาแต่เดิม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแตกต่างไปจากความเป็นมุสลิมอาหรับทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คนท้องถิ่นสามารถรับอิสลามได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนสังคมและวัฒนธรรมของตนเองมากนัก และปัจจุบันก็ยังพบว่ามีผู้เลื่อมใสในนิกายนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะชาวมุสลิมในสิงคโปร์ที่พบว่านิกายนี้เข้าถึงจิตใจผู้คนที่เป็นปัจเจกและเพิ่มจำนวนผู้นับถือมากขึ้นๆ ในทุกวันนี้

 

เมื่อศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ผ่านอินเดียเข้าสู่แหลมมลายู โดยพบหลักฐานเป็นศิลาจารึกสำคัญที่รัฐตรังกานู ซึ่งเป็นศิลาจารึกหลักเดียวที่เขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวีเป็นข้อความในกฎหมายอิสลามลงศักราชราว พ.ศ. ๑๘๔๖ และได้เผยแผ่เข้ามาที่ลังกาสุกะจนเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ เมื่อรายาอินทิราขึ้นปกครองที่เมืองท่าริมอ่าวปัตตานีและเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่าน อิสมาแอล ชาฮ์  กุโบร์ฝังศพของท่านยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันที่บ้านปาเระ มีหลักหินเหนือเนินดินหลุมศพใช้หินแกรนิตแกะสลักเป็นรูปก้อนเมฆไว้ที่ส่วนบน ส่วนกลางสลักด้วยอักษรอาหรับ

 

มีการบันทึกชื่อเมืองริมอ่าวปัตตานีให้เข้ากับศาสนาอิสลามในภาษาอาหรับในภายหลังว่า “ปาตานี ดารุสสาลาม” หรือ “ปาตานี นครแห่งสันติภาพ”

 

ดังนั้น การนับถือศาสนาอิสลามในบริเวณชายฝั่งทะเลฝากตะวันออกของคาบสมุทรมลายูจึงมีการบ่มฟักและมีอยู่กว้างขวางในหมู่ชาวบ้านชาวเมืองในช่วงเวลาเกือบสองศตวรรษ การรับศาสนาอิสลามในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สังคมของการเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์และเกิดขึ้นน่าจะพร้อมๆ กับการรับถืออิสลามของรายาผู้ปกครองสามารถบูรณาการผู้คน ความเชื่อและวัฒนธรรมให้เข้ามาอยู่ในระบบของเมืองใหญ่ทางการค้าได้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นปึกแผ่นสูงสุดในยุคนี้ และเป็นจุดกำเนิดของบ้านเมืองที่ผู้คนที่มีรากเหง้าต่างๆ กัน นิยามตนเองว่าเป็นมลายูมุสลิม ในเวลาต่อมา

 

เมืองในระยะแรกที่เรียกว่า โกตา มหลิฆัย[๑๒]ซึ่งน่าจะอยู่บริเวณใกล้กับเมืองโบราณยะรังซึ่งมีหลักฐานร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนในระดับเมืองสืบเนื่องตลอดมา โดยไม่ได้ทิ้งร้างแต่อย่างใด แม้จะมีการย้ายเมืองมาอยู่ที่ริมอ่าวปัตตานีในระยะต่อมา หยั่งรากฐานเป็นปึกแผ่นบริเวณริมอ่าวปัตตานี ซึ่งก็คือบริเวณบ้านตันหยงลูโละและกรือเซะ ใกล้ตัวเมืองปัตตานีในปัจจุบัน

 

อนันต์ วัฒนานิกร ผู้บุกเบิกสำรวจเมืองเก่าปาตานีที่อ่าวปัตตานีบันทึกหลักฐานไว้ว่า เคยพบเห็นแนวกำแพงเมืองและเศษภาชนะดินเผาเคลือบที่เป็นของจีนและของต่างประเทศ เช่น ดัชท์จำนวนมากริมลำน้ำเก่าที่ผ่านท้ายเมืองในเขตบ้านกรือเซะไปออกทะเลที่ปากคลองปาเระพบร่องรอยของเตาเครื่องปั้นดินเผาทั้งแบบเผาแกร่งและแบบเคลือบที่มีอายุขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น จุดที่คลองปาเระร่วมกับคลองบ้านดีมีร่องรอยของเนินดินริมฝั่งน้ำที่เคยเป็นชุมชนดั้งเดิม พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบมากมาย ชนิดที่ไม่เคลือบนั้นเป็นภาชนะดินเผาที่มีลวดลายหลายรูปแบบที่เกิดจากการประทับด้วยแม่พิมพ์มีรูปลายแปลกกว่าที่อื่นและบริเวณที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะ บนพื้นดินมีเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบกระจายอยู่มากมาย โดยเฉพาะเครื่องเคลือบของจีนแบบราชวงศ์เหม็ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) ลงมา[๑๓]

 

ภูมิทัศน์ของเมืองปาตานีที่ตั้งอยู่บนแนวสันทรายริมอ่าวปัตตานีในปัจจุบัน ในบริเวณบ้านกรือเซะ-บานา-ตันหยงลูโละ-ปาเระ ในพื้นที่ผสมผสานระหว่างนิเวศภายในของที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำสามารถปลูกข้าวได้ตามฤดูกาลและนิเวศแบบน้ำกร่อยและชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นอ่าวและแหลมด้านหน้าเมือง ทำให้คลื่นลมสงบกว่าทะเลนอกเหมาะสำหรับเป็นอ่าวจอดเรือสินค้าขนาดกลางๆ โดยธรรมชาติรวมทั้งระบบนิเวศแบบน้ำกร่อยป่าชายเลนนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากสามารถเลี้ยงผู้คนได้จำนวนมาก ทั้งบริเวณนี้ยังมีฤดูกาลที่มีแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมจนทำให้สามารถทำนาเกลือได้ดีกว่าชายฝั่งอื่นๆ ในแหลมมลายู ความเป็นตลาดค้าเกลือนี้เองก็พอเพียงที่จะทำให้เมืองปาตานีกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วกว่าเมืองท่าใดๆ ในคาบสมุทร

 

บันทึกของพ่อค้าชาวอังกฤษเมื่อราว พ.ศ.๒๒๒๑ กล่าวถึงสภาพของเมืองในช่วงเวลานั้นว่า ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างราว ๘ ไมล์ (๑๒-๑๓ กิโลเมตร) ระหว่างปากแม่น้ำ ๒ แห่ง จึงมีลักษณะเหมือนเกาะและมีความลึกเข้าไปตอนใน ๑๒ ไมล์ (๑๙-๒๐ กิโลเมตร) ในสมัยก่อนเกาะนี้เป็นแหล่งการค้าแต่เพียงแห่งเดียวในย่านนี้ บนเกาะมีกำแพงเชิงเทินและคูน้ำล้อมรอบ[๑๔] จากข้อมูลนี้ก็น่าจะเทียบเคียงได้ว่า พื้นที่เกาะดังกล่าวนั้นอยู่ระหว่างปากน้ำปัตตานีและปากน้ำยะหริ่งในปัจจุบันส่วนอาณาบริเวณที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินก็ราวๆชุมชนโบราณที่ยะรัง ซึ่งแสดงว่า บริเวณเมืองเก่าบริเวณยะรังนั้นก็ไม่ได้ถูกทิ้งร้างไปแต่อย่างไร

 

ส่วนบริเวณที่เป็นเขตเมืองชั้นใน กำแพงทำด้วยซุงเรียงกันเหมือนเสากระโดงเรือ ประตูวังมี ๒ แห่ง คือ ประตูช้างด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าคือกูโบร์บาราโหม ซึ่งเป็นสุสานหลวง บริเวณนี้จะพบว่ามีกูโบร์ของรายาของปัตตานีหลายองค์ คือ รายาอินทิรา รายาบีรู รายาฮิเยา และรายาอูงู ปากลำน้ำกัวรารูยังมีร่องรอยเป็นซากไม้ชาวบ้านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นด่านสำหรับเก็บภาษีการค้า ตรงกันข้ามคลองกัวรารูคือบ้านกะดีและใกล้ๆ กันที่แหล่งเตาเครื่องปั้นดินเผาของเมืองปัตตานี ข้ามฝั่งคลองมาก็คือหมู่บ้านจีนและบริเวณที่ต่อเนื่องเข้ามาด้านใน คือ กาแลบือซา หรือท่าเรือใหญ่ที่เรือสำเภาสามารถเข้าถึงได้ ส่วนประตูฮังตูวะห์ อยู่ด้านตรงข้ามทางฝั่งด้านทิศตะวันตกใช้คลองกรือเซะเป็นคูน้ำธรรมชาติ ด้านหน้าเป็นลานหน้าเมืองและตลาด มีมัสยิดประจำเมืองอยู่ด้านหน้าพระลาน บริเวณนี้มีบ่อน้ำจืดที่สำคัญเพราะชาวเมืองใช้สำหรับบริโภคหลายบ่อ ที่สำคัญๆ ก็คือ บ่อ “ฮังตูวะห์” [Hang Tuah] ซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนานของชาวมลายูเป็นแม่ทัพชาวมะละกาที่รบชนะไปทั่วร่วมกับเพื่อนอีก ๔ คนและมีตำนานว่าเดินทางเข้ามาถึงปาตานี บ่อเชค ดาวุด (หรือบ้างออกเสียงว่า ชัยคฺ ดาวุด) ในหมู่บ้านปาเระเชค ดาวุด ผู้เป็นนักการศาสนาคนสำคัญชาวปัตตานีที่มีอายุระหว่างช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และแต่งหนังสือสำหรับไว้มากมาย ทางด้านนี้มีกูโบร์สำคัญอีกแห่งคือ กูโบร์ดาแฆ ซึ่งเป็นกูโบร์ของพวกพ่อค้า

 

กำแพงเมืองด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง สร้างเป็นเนินดินขนานกับชายฝั่ง ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร ส่วนภายในกำแพงไม้ซุง คือ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีสระน้ำอยู่ภายใน บริเวณใกล้เคียงสามารถกำหนดพื้นที่ได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่หล่อปืนใหญ่ ส่วนพื้นที่โดยรอบก็น่าจะเป็นบ้านเรือของขุนนางและบุคคลสำคัญที่มีฐานะทางสังคม ดังนั้น เมื่อมีการทำถนนสายปัตตานี-นราธิวาสหรือที่เรียกในยุคแรกๆว่า ถนนเกาหลี ได้ตัดผ่านตัวเมืองปาตานีเก่าและเชื่อว่าน่าจะทำลายร่องรอยของซากโบราณสถานวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเมืองปาตานีในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ ไปมากทีเดียว[๑๕]

 

ปาตานีจึงมีรากฐานมาจากการเป็นเมืองท่าภายในอยู่เป็นเวลานาน จนกลายเป็นรัฐริมอ่าวบริเวณชายฝั่งที่เจริญทางด้านเศรษฐกิจ มีการค้าขายทางทะเล มีอ่าวจอดเรือได้ดี มีลำน้ำยาวลึกเข้าไปจนจรดเทือกเขาสูง บริเวณสองฝั่งน้ำมีที่ราบลุ่มให้ตั้งชุมชนบ้านเมืองได้หลายแห่ง ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับกลุ่มคนที่อยู่ภายใน เพราะมีป่าเขาเป็นแนวยาวพาดผ่านซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เป็นสินค้าป่าและแร่ดีบุก หากเดินทางข้ามเทือกเขาตามเส้นทางติดต่อภายในภูมิภาคก็จะลงสู่ฝั่งทะเลด้านตะวันตก ซึ่งเป็นบ้านเมืองในเขตแดนของไทรบุรีและเประ

 

เมืองปาตานีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ ซึ่งอยู่ในช่วงราชวงศ์ศรีวังสาที่มีรายาเป็นหญิงถึง ๔ องค์ก่อนจะเปลี่ยนเป็นราชวงศ์กลันตันนั้น มีชื่อเสียงด้านความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสูงสุดในฐานะเมืองท่าค้าขายนานาชาติในคาบสมุทรมลายูทางตอนเหนือควบคู่กับเมืองมะละกาทางฝั่งตะวันตกทางตอนใต้ 

 

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความเป็นเมืองกึ่งกลางทั้งอำนาจรัฐที่ขนาบจากอยุธยา โดยมีนครศรีธรรมราชและพัทลุงเป็นศูนย์กลางและมะละกาซึ่งเป็นสถานีการค้าใหญ่ที่ถูกช่วงชิงโดยชาวตะวันตกและทางการเมืองภายใน รวมทั้งการแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบทางการค้าของผู้ปกครองจากนครอื่นๆ ทำให้เกิดการขัดแย้งต่อสู้ รวมทั้งระบบการเมืองระหว่างขุนนางและรายาผู้ปกครองภายในก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ รัฐปาตานี ไม่มีเสถียรภาพมากพอที่รายาผู้ปกครองจะสร้างสถาปนาเครือข่ายอำนาจและการเมืองได้เช่นเดียวกับเมืองท่าร่วมสมัยอื่นๆ เช่น ที่อยุธยา อังวะและสะเทิมในลุ่มอิรวดี

 

รัฐปาตานีในเวลาต่อมาจึงลดความสำคัญลงเนื่องจากปัญหาดังกล่าว ในขณะที่การค้าทางทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังดำเนินอย่างต่อเนื่องและขยับขยายสร้างเครือข่ายเมืองท่าการค้าใหม่ๆ ต่อไป 

  

ความเป็นเมืองกึ่งกลางในระหว่างอำนาจรัฐและวัฒนธรรม

 

ความทรงจำหรือความคิดเกี่ยวกับอดีตถึงรากเหง้าความเป็นมาของคนมลายูในคาบสมุทรสะท้อนให้เห็นได้จากตำนานหรือ Hikayat และพงศาวดารมลายู หรือ Sejarah Melayuทางตอนเหนือนั้นทั้งชายฝั่งตะวันตกทางเคดาห์ในตำนานมะโรงมหาวงศาและปาตานีทางฝั่งตะวันออกในตำนานเมืองปาตานีที่อ้างอิงว่าสืบทอดมาจาก ลังกาสุกะ ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรมลายู ในขณะที่ทางมะละกาและยะโฮร์ ปรเมศวร ผู้ก่อตั้งมะละกาถือว่าตนเองสืบทอดมาจากบ้านเมืองที่ปาเลมบังบนเกาะสุมาตรา ซึ่งก็เป็นบ้านเมืองร่วมสมัยในสหพันธรัฐศรีวิชัยที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมาเช่นกัน

 

กระแสความนึกคิดของชาวมลายูทางตอนเหนือและตอนล่างจึงมีความแตกต่างในทางรากเหง้าความเป็นมา และปาตานีจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางอุดมคติที่สำคัญของบ้านเมืองของชาวมลายูทางตอนเหนือ ในขณะที่มะลากาเป็นศูนย์กลางทางอุดมคติของมลายูทางตอนล่าง[๑๖]  

 

ดังนั้น บ้านเมืองมลายูในคาบสมุทรตั้งแต่เขตเทือกเขาสันกาลาคีรีลงไปจึงมีภูมิหลังในความเป็นกลุ่ม เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองที่แตกต่าง ซึ่งเห็นโดยชัดเจนว่าสร้างรูปแบบความแตกต่างของอำนาจทางการเมืองในศูนย์กลาง ๒ บริเวณในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ลงมา คือ ตอนเหนือในเขตตรังกานู กลันตัน ปาตานีและเคดาห์หรือไทรบุรี และทางใต้อันมีศูนย์กลางที่มะละกา เประ ยะโฮร์ ปาหัง หมู่เกาะรีเยา เตมาเสคหรือสิงคโปร์ และบ้านเมืองในเกาะสุมาตราฝั่งตะวันออก

 

ลักษณะการเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูดำรงอยู่ในช่วงเกือบสองศตวรรษ ทั้งมะละกา ยะโฮร์ และปาตานีรวมถึงเมืองท่าที่เป็นสถานีการค้าระดับใหญ่ต่างๆ ก็เผชิญปัญหาหลายประการ ทั้งจากปัญหาภายในของการต่อสู้รบพุ่งของสุลต่านเจ้าผู้ครองนครรัฐต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาการสืบทอดอำนาจ โจรสลัดในน่านน้ำและช่อแคบที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เรือสำเภาการค้า การเมืองจากภายนอกของบริษัทการค้าของชาวตะวันตกที่ทำให้เกิดระบบผูกขาดสินค้าและยึดครองเมืองท่าหลายแห่ง ตลอดจน การเมืองในระบบประเทศราชที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นจากอำนาจของสยามที่เปลี่ยนศูนย์กลางจากอยุธยามาอยู่ที่กรุงเทพฯ

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้บ้านเมืองต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การปกครองและรักษาสถานภาพการเป็นเมืองท่าการค้าได้โดยตลอด

 

งานของอาจารย์ชุลีพร วิรุณหะ ซึ่งค้นพบว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มเมืองทั้งสองแห่งดังกล่าวโดยการตั้งข้อสังเกตจากตำนานเมืองสามเรื่องที่เขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ คือ Serajah Meyayu ซึ่งเป็นตำนานบ้านเมืองทางใต้แถบยะโฮร์และมะละกา Hikayat Patatani และ Hikayat Marong Mahawangsa ซึ่งเป็นตำนานเมืองทางตอนเหนือ โดยชี้ว่าทางปาตานีและเคดาห์นั้นมีลักษณะของบ้านเมืองแบบขยายตัวและเน้นในการทำการเกษตร รวมทั้งความเป็นรัฐกึ่งกลางที่ไม่ได้อยู่ในอาณาบริเวณหรือมันดาลา [Mandala] แบบมลายูและไทย แต่มีการปรับรับ มีความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กึ่งกลางทั้งทางศาสนาพุทธและอิสลาม และประสานกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมมากกว่าจะแยกเป็นส่วนๆ รวมทั้งมีการแต่งงานในระหว่างกลุ่มผู้ปกครองแม้จะต่างศาสนา

 

ในขณะที่ทางมะละกาและยะโฮร์เน้นในเรื่องการค้าเป็นหลักของบ้านเมือง ที่เชื่อว่าหากมีอำนาจครอบครองที่ใดที่นั่นก็คือทองคำ ซึ่งสะท้อนเรืองเศรษฐกิจการเมืองอันเป็นนโยบายของเมืองท่าการค้าอย่างชัดเจนและแตกต่างจากที่สะท้อนในตำนานทางเหนือที่เน้นความสำคัญในการแผ่ขยายการตั้งถิ่นฐานภายในและความสำคัญของการปลูกพืช การขุดคลองเพื่อปรับปรุงเส้นทางน้ำเพื่อทำการเกษตรแก่ชาวเมืองหรือเน้นในเรื่องการค้าเกลือ ซึ่งเป็นรายได้ของรายาคือการเก็บภาษีการค้าและภาษีจากการเพาะปลูกและเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้บ้านเมืองทั้งเคดาห์และปาตานีมีความใกล้ชิดกับหัวเมืองในวัฒนธรรมและการเมืองของสยามที่นครศรีธรรมราชและพัทลุงซึ่งมีลักษณะของตำนานเมือง (ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและเพลานางเลือดขาว) ซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงกัน[๑๗]

 

การตั้งข้อสังเกตโดยใช้หลักฐานงานวรรณกรรมประเภทเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อมูลจากภายใน ทำให้เห็นได้ว่า จากสภาพที่ตั้งของปาตานี ซึ่งอยู่ระหว่างวัฒนธรรมและการเมืองของกลุ่มอำนาจสองแห่ง คือรัฐสยามในลุ่มเจ้าพระยาที่มีหัวเมืองทางคาบสมุทรดูแลอีกชั้นหนึ่งกับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองเจ้าอาณานิคมตะวันตกในสำนึกของความเป็นชาวมลายูมุสลิม ทำให้เกิดสภาพของความเป็นเมืองกึ่งกลาง ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดในทางประวัติศาสตร์กับผู้คนภายในท้องถิ่นและบ้านเมืองสำคัญในคาบสมุทรไทย เช่น นครศรีธรรมราชและพัทลุงตลอดจนสงขลาในภายหลังมากกว่าบ้านเมืองที่อยู่ทางปลายคาบสมุทรมลายูที่เป็นศูนย์กลางการค้าการพาณิชย์นานาชาติที่ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในเชิงอุดมการณ์ นโยบายและลักษณะของการเป็นเมืองท่า และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับเกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติภายใน แม้ว่าหากพิจารณาโดยฉาบฉวยแล้วจะเห็นภาพของผู้คนที่เป็นชาวมลายูและนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่เหมือนๆ กันก็ตามที

 

เมื่อมีการครอบครองของอาณานิคม ทำให้เกิดการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อแบ่งแยกและปกครองบ้านเมืองกึ่งกลางทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูที่ต่อเนื่องกับคาบสมุทรสยาม โดยไม่ได้นำเอาปัจจัยความเหมือนหรือความต่างจากภายในเข้ามาคิดคำนึง นอกจากผลประโยชน์ในทางการเมืองและในเชิงเศรษฐกิจที่ที่ปรึกษาชาวตะวันตกเสนอให้เห็นรวมทั้งปัญหายืดเยื้อของบ้านเมืองผู้ปกครองชาวมลายูที่ต่อต้านกับอำนาจรัฐของสยามตั้งแต่เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ลงมา ทำให้เห็นว่าเป็นการไม่สะดวกหากสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ จะรักษาบ้านเมืองที่เประ เคดาห์ กลันตันและตรังกานูไว้ในราชอาณาจักรสยาม แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่สามารถปล่อยให้ปาตานีแยกตัวออกไปอย่างเด็ดขาด เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในอารักขาของบ้านเมืองในคาบสมุทรไทยนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องหลายศตวรรษ รวมทั้งผลประโยชน์จากเจ้าเมืองจากสงขลาที่ส่งคนไปดูแลหัวเมืองทั้ง ๗ ก็มีผลประโยชน์อย่างยิ่งกับสัมปทานการค้าแร่ธาตุภายใน เหมืองดีบุกและเหมืองทองคำยังเป็นทรัพย์สินที่ศูนย์กลางอำนาจการปกครองที่กรุงเทพฯ ยังไม่สามารถหาเหตุผลใดที่จะยอมละทิ้งไปเสีย แม้จะมีเหตุความวุ่นวายทางการเมืองปรากฏขึ้นมาเป็นระยะๆ ก็ตาม

 

ความต่างทางวัฒนธรรมและรูปแบบการดำรงชีวิตของกลุ่มบ้านเมืองมลายูทางตอนเหนือและตอนใต้นั้น ยังคงปรากฏให้เห็นในรัฐสมัยใหม่ของประเทศมาเลเซีย ที่แบ่งเขตวัฒนธรรมออกเป็นเขตเหนือที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมแบบมลายูดั้งเดิมไว้ได้มากกว่า ภาษาสำเนียงที่แตกต่าง ตลอดจนความเป็นพื้นที่เกษตรกรรมการปลูกข้าว สวนเกษตรเชิงพาณิชย์ ต่างไปจากกลุ่มบ้านเมืองทางใต้ที่มีความเป็นคนมลายูแบบสมัยใหม่ ปรับตัวไปกับกระแสโลก อุตสาหกรรม การค้าในลักษณะทุนนิยมมากกว่ากลุ่มบ้านเมืองตอนเหนือ

 

การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ที่ขีดเส้นแบ่งแยกประเทศตามลักษณะภูมิศาสตร์และการเมืองมากกว่าจะคำนึงถึงอาณาบริเวณทางวัฒนธรรม การขีดเส้นดังกล่าวทำให้คนในรัฐกลันตัน เคดาห์ ปะลิสที่เคยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางสังคมกับรัฐสยามมากกว่าบ้านเมืองอื่นๆ ในการปกครองของอังกฤษรู้สึกตื่นตระหนกในระยะแรกและพยายามปรับตัวจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายาและเป็น “ชาวมลายูทางเหนือ” ของประเทศมาเลเซียหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเต็มภาคภูมิ

 

ในขณะที่ชาวปาตานีใน ๗ หัวเมืองต่างต้องประสบปัญหาทางอัตลักษณ์ของคนมลายูในวัฒนธรรมไทยในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจนต่อเนื่องไปถึงการจัดรูปแบบขบวนการแบ่งแยกดินแดนจนถึงกระบวนการก่อความรุนแรงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

การทำให้รัฐสยามกลายเป็นรัฐไทยหรือประเทศไทยทุกวันนี้ คือ การจำกัดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในนามชื่อประเทศที่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นแผ่นดินของชาวไทยซึ่งถูกอุปโลกขึ้นมาว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่มีอำนาจสิทธิเด็ดขาดและเป็นตัวแทนของแผ่นดินสยามในอดีต ทำให้เกิดปัญหาของอัตลักษณ์ในผู้คนกลุ่มต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ความสับสนนี้เกิดจากการปฏิเสธความเป็นสังคมพหุลักษณ์ที่เคยมีอยู่ในสังคมดั้งเดิมของสยามประเทศ ซึ่งมีกระบวนการทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ได้โดยไม่ต้องบีบคั้นหรือใช้ภาวะกดดันทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ถือปฏิบัติโดยราชการจนถึงทุกวันนี้

 

กระบวนการทำให้คนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยที่ถูกกดดัน จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สับสนโกลาหลวุ่นวายต่อต้านอำนาจรัฐและสร้างปัญหาแก่ดินแดนกึ่งกลางในอาณาบริเวณเมืองปาตานีเก่าที่กลายมาเป็นพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้จนทุกวันนี้ และมีทีท่าว่าจะไม่จบสิ้นหากประเทศไทยซึ่งผู้คนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศรวมทั้งคนผู้มีเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามและผู้ปกครองที่ใช้อำนาจรัฐยังไม่เข้าว่า

 

จะสร้างสรรค์สังคมแบบพหุลักษณ์ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งมีความเชื่อถือศรัทธา อุดมการณ์ในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ให้มีความเคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเดียวกันได้อย่างไร

 


               เชิงอรรถ

[๑]นายอนันต์ วัฒนานิกร เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ที่ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในครอบครัวเชื้อสายจีน บิดามีอาชีพค้าขาย ศึกษาค้นคว้าประวัติเมืองลังกาสุกะ เมืองปัตตานี จากคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ก่อนไปรับราชการที่อำเภอยะรัง โดยสนใจศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ได้ออกสำรวจภูมินิเวศของเมืองโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมายตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ รวบรวมและเขียนเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมทั้งของชาวพุทธและมุสลิมไว้มากมาย เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการค้นคว้าของคนรุ่นหลัง  

               [๒]เอกสารโบราณของมลายู คือตำนานมะโรงมหาวงศ์หรือตำนานเมืองไทรบุรี กล่าวว่า “ลังกาสุกะ” เป็นเมืองที่ไม่ติดทะเลและเป็นที่ประทับของกษัตริย์มะโรงมหาวงศ์   

               [๓]ศรีศักร วัลลิโภดม. “ปัตตานีในภาพประวัติศาสตร์ศรีวิชัย” เมืองโบราณ (๑๙, ๑) มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๖ (๑๙-๓๔)

               [๔]นักวิชาการในรุ่นนี้มีแนวคิดที่เชื่อว่าศรีวิชัยเป็นอาณาจักรใหญ่โตที่ปกครองบ้านเมืองบริเวณคาบสมุทรและหมู่เกาะอย่างเบ็ดเสร็จ จึงพยายามค้นหาที่ตั้งของเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่ปรากฏชื่อในจดหมายเหตุต่างๆ และศาสนสถานรวมทั้งความรุ่งเรืองทางศิลปกรรมเพื่อจะยืนยันว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยนั้นอยู่ที่ใด ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดย์ สรุปว่าอาณาจักรเชลิโฟชิ ในจดหมายเหตุจีน หลวงจีนอี้จิง คือ อาณาจักรศรีวิชัยอันเป็นอาณาจักรหนึ่งที่มีอำนาจทางการเมืองมั่นคง มีอาณาเขตกว้างขวางครอบคลุมหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรมาเลย์ ตลอดขึ้นมาถึงดินแดนบางส่วนของคาบสมุทร โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียแต่ก็มีนักวิชาการ เช่น ราเมชจันทร์ มาชุมดาร์, ควอริทช์ เวลส์ และหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี มีความเห็นว่าศูนย์กลางของศรีวิชัยควรจะอยู่บนคาบสมุทรมาเลย์ โดยเฉพาะหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี มีความเห็นว่า จารึกที่กล่าวถึงอาณาจักรศรีวิชัยที่พบที่ไชยา สุราษฎร์ธานีนั้น เป็นจารึกภาษาสันสกฤตซึ่งตรงกับบันทึกของหลวงจีนอี้จิงในขณะที่จารึกที่พบบนเกาะสุมาตราเป็นภาษามลายูโบราณและการเดินเรือเพียง ๒๐ วัน ของหลวงจีนอี้จิง ควรถึงแค่เมืองไชยา สุราษฎร์ธานี และคงไม่ผ่านเส้นศูนย์สูตรไปถึงเกาะสุมาตราเนื่องจากอยู่ในเขตลมสงบ [Doldrum]รวมทั้งทางภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้พบโบราณวัตถุ โบราณสถาน ซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่าศิลปกรรมแบบศรีวิชัยมากกว่า  

               [๕]เครือข่ายเมืองท่าหรือ Port polity ซึ่งแตกต่างจาก Port city หรือเมืองท่าโดยทั่วไป เพราะหมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งคาบเกี่ยวกับทางการเมืองด้วย สามารถสร้างผลกำไรหรือผลประโยชน์ให้กับรัฐ [State] และแลกเปลี่ยนติดต่อทางการค้าและวัฒนธรรม ผู้ปกครองควบคุมสินค้าแลกเปลี่ยนต่างๆ ทั้งบ้านเมืองภายในและภายนอก ทำให้มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในมือด้วย

               [๖]แนวคิดเรื่องเมืองที่มีหลายศูนย์กลาง ซึ่งการเมืองของความสัมพันธ์นั้นเรียกว่าระบบมณฑล หรือ  Mandala ซึ่งแตกต่างไปจากความสัมพันธ์ระหว่างเมืองใหญ่ที่ศูนย์กลางซึ่งปกครองเมืองขนาดเล็กๆ ให้ขึ้นตรงในลักษณะอาณาจักรที่มีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้ปกครองเพียงองค์เดียว ความสัมพันธ์นี้เป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์แบบเครือญาติโดยใช้การแต่งงานทำให้เกี่ยวดองหรือเป็นญาติกัน หรือ Cognatic relationship ซึ่งเสนอโดยนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญผู้หนึ่งคือ ศ.โอ.ดับบิลยู. โวลเตอร์ส [Prof. O.W Wolters] โปรดดูใน History, Culture and Region in Southeast Asian Perspectives.Institute of Southeast Asian Studies, 1982.

                               [๗] เหตุผลมีหลายประการ เพราะบริเวณปากแม่น้ำพื้นดินมีลักษณะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่น้ำมักท่วมในฤดูน้ำหลากและแห้งแล้งในฤดูร้อน การควบคุมการเพาะปลูก เช่น ข้าวยังทำไม่ได้มากนัก อีกทั้งตะกอนดินยังไม่สูงมากพอที่จะตั้งชุมชนขนาดใหญ่ ปากน้ำจึงเป็นเพียงสถานีการค้าย่อยๆ เท่านั้น การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ภายในก็เหมาะสมต่อความมั่นคงจากผู้รุกรานทางทะเลหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้น และเหตุผลที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ รูปแบบการค้าทางทะเลหรือการค้าเลียบชายฝั่งในยุคแห่งการค้านั้นเพิ่งเริ่มต้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ และรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ จึงเกิดเมืองท่าขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้หรือประชิดกับชายฝั่งทะเลเพื่อค้าขายตามชายฝั่งตลอดทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

               [๘]ดูรูปแบบลูกปัดและโบราณวัตถุที่พบในคาบสมุทรภาคใต้ใน , บัญชา พงษ์พานิช. รอยลูกปัด สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ ,๒๕๕๒

               [๙]จากตำนานดังกล่าวมีการบันทึกไว้ใน Hikayat Pataniยังมีการเล่าสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ทำให้รายาอินทิราเปลี่ยนมานับถืออิสลามคือ แซะห์ ซาอิดซึ่งเป็นโต๊ะครูจากเมืองปาไซ ซึ่งอพยพมาอยู่ที่เมืองปาตานี และยังมีหมู่บ้านปาไซอยู่จนทุกวันนี้ และยังมีกูโบร์ของท่าน ชัยคฺ ซาอิด [Sheikh Said]หรือ โต๊ะปาไซหมู่บ้านปาไซเป็นหมู่บ้านที่นับถือศาสนาอิสลามแห่งแรกๆ และอยู่ใกล้กับเตอมางัน

               [๑๐]นิธิ เอียวศรีวงศ์. “สังเขปประวัติศาสตร์ปัตตานี” ใน มลายูศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้, นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์อมรินทร์, ๒๕๕๐

               [๑๑]ลัทธิซูฟีที่มีผู้สรุปไว้ให้เข้าใจก็คือ “ผู้นิยมซูฟีในยุคแรกๆ มักสวมเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากหนังสัตว์ จึงถูกเรียกว่าพวกซูฟีหรือพวกที่นิยมนุ่งห่มหนังสัตว์ ตามแบบอย่างที่พระคริสเตียนในซีเรียนิยมสวมใส่ รวมทั้งรับแนวความคิดเรื่องระบบวัดของศาสนาคริสต์และได้รับแนวความคิดเรื่องนิพพานของศาสนาพุทธ หลังจากอิสลามได้ขยายเข้าไปในอินเดียจึงได้มีการบำเพ็ญตบะทำตัวเป็นนักพรต นักบวชเลียนแบบพระของศาสนาคริสต์ในซีเรีย เลียนแบบพระของศาสนาพุทธและพราหมณ์ของศาสนาฮินดูในอินเดีย มาประยุกต์ใช้ในหมู่สาวก ลัทธิซูฟีเน้นการหาทาง (ฎอริเกาะฮฺ, ตะริกัต) เข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า โดยวิธีการปฏิบัติตนแบบสมถะมักน้อย ปลีกตัวออกไปยังที่เงียบสงบ เพื่อทำสมาธิ (กุชั๊วอฺ) เช่นกลางทะเลทราย ในถ้ำตามหุบเขาหรือตามป่าเขาลำเนาไพร ฯลฯ เพื่อค้นหาความสว่างภายใน (รู้แจ้ง) หรือได้รับการดลใจ (อิลฮาม) จากพระเจ้า แทนที่จะศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางที่ศาสดาและบรรดาศอฮาบะฮฺเคยปฏิบัติหรือสั่งสอนไว้ พวกเขากลับพยายามแสวงหาความลี้ลับ (เฆ้บ)ที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ มาเป็นเครื่องชำระล้างจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ (ตะเซาวุฟ) โดยเชื่อว่าเมื่อสามารถทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจจนถึงระดับสุดยอดได้ ก็จะสามารถเข้าถึงพระเจ้าและสามารถรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้าได้

               บางพวกใช้วิธีรวมกลุ่มกันตั้งวงหรือตั้งแถว ร่วมกันกล่าวนามของพระเจ้าซ้ำๆ เป็นจำนวนนับหมื่นนับแสนครั้ง โดยการเริ่มต้นอย่างซ้ำๆ และเร็วขึ้น แรงขึ้นจนถึงระดับเข้าสู่ภวังค์ (ที่เรียกว่า “แซะห์เข้า”) จนสามารถรวมจิตวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้าได้ ฯลฯ การกระทำด้วยวิธีต่างๆ ตามที่บรรดาหัวหน้า (อามีรฺหรือโต๊ะแซะห์) หรือเจ้าลัทธิได้คิดค้นขึ้นนั้น ล้วนมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้าได้ จนสามารถรู้สึกได้ว่า “พระเจ้าคือตน คนคือพระเจ้า”  (หนังสือบางเล่มก็ใช้สำนวนว่า “กูคืออัลลอฮฺ”) อันเป็นเป้าหมายสูดสุดของสาวกซูฟีเกือบทุกคณะ ในระยะหลังๆ แนวความคิดแบบซูฟีได้รับความนิยมแพร่หลายออกไปทั่วโลกมุสลิม (แม้บรรดาสาวกเหล่านี้จะได้เลิกการใช้เครื่องนุ่งห่มที่ทำจากสัตว์แล้วก็ตาม โดยเปลี่ยนมาเป็นการสวมเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้าฝ้ายธรรมดา) เนื่องจากการเดินทางจาริกออกไปเผยแพร่ของบรรดาเหล่าสาวกของลัทธิในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการนำศาสนาอิสลามแบบซูฟีไปเผยแพร่ยังดินแดนที่ห่างไกล เช่น เข้าไปยังหมู่เกาะอินโดนิเซีย (ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “โต๊ะวาลีซองโงทั้ง ๙ ท่าน”) และเข้าไปยังดินแดนในทวีปแอฟริกาและเอเชีย จนถึงประเทศจีนและรัสเซีย” (อ้างอิงจาก “ความจริงที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้ (ตอนที่ 1)” โดย อ. มุรีด ทิมะเสน,  www.mureed.com/article/Tableak/TL1/Tableak.doc

               ข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ในที่นี้ คือ ผู้นับถืออิสลามในอินเดียมักจะอยู่ในกลุ่มนิกายซูฟีซึ่งเข้ามากับการค้าในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖  มุสลิมซูฟีจะมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์รวมทั้งเรื่อง ผู้มีบุญ ซึ่งมุสลิมแท้ๆโดยทั่วไปจะไม่มีเรื่องนี้ รวมไปถึงชาวมุสลิมซินเกียงที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างจีน เอเชียกลางและเอเชียใต้บนเส้นทางสายไหม ศาสนาอิสลามที่เผยแพร่ผ่านพ่อค้ามุสลิมมาในช่วงเดียวกันก็เป็น นิกายซูฟี ดังนั้น ผู้นับถืออิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีโอกาสรับศาสนาอิสลามที่มากับพวกพ่อค้าทั้งทางด้านการค้าทางทะเลที่ผ่านจีนตอนใต้ที่มากับพ่อค้านักเดินทางชาวหุยหรือจีนที่เป็นมุสลิมและพ่อค้าทางอินเดียจึงมีโอกาสที่จะนับถือนิกายซูฟีที่มีการปฏิบัติทางความเชื่อใกล้เคียงกับศาสนาดั้งเดิมของพวกตน

               [๑๒]อนันต์ วัฒนานิกร สันนิษฐานเหตุความเป็นมาของชื่อ โกตามหลิฆัย ที่น่ารับฟัง คือ โกตาหมายถึงเมืองหรือป้อมปราการและเป็นชื่อเมืองที่รัฐราชสถานทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียใต้ซึ่งมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบและวัดมากมาย นอกจากนี้ โกตายังหมายถึงชนเผ่าหนึ่งในรัฐทมิฟนาดูทางอินเดียใต้ ส่วน มลิฆัย (maligei) หมายถึง เจดีย์หรือปราสาทราชวัง ซึ่งมีชื่อเป็นหลักฐานคือ เจดีย์มหลิฆัย ในนครศรีธรรมราช ทั้งสองคำเป็นภาษาทมิฬทางฝั่งอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก ดังนั้น โกตามหลิฆัยจึงเป็นชื่อเมืองซึ่งเป็นคำยกย่องสรรเสริญบ้านเมืองยุคนั้นที่แสดงออกถึงการเป็นเมืองพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาจากอินเดียใต้ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอิสลามในสมัยของรายาอินทิรา

               [๑๓]อ้างใน บทความของศรีศักร วัลลิโภดม. “ปัตตานีในภาพประวัติศาสตร์ศรีวิชัย” เมืองโบราณ (๑๙, ๑) มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๖ (๑๙-๓๔) ซึ่งได้รับการบอกเล่าจาก อนันต์ วัฒนานิกร

               [๑๔]ครองชัย หัตถา. ประวัติศาสตร์ปัตตานี, ๒๕๔๘, อ้างใน กรมศิลปากร. บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ ๑๗ เล่ม ๒ , ๒๕๑๒

               [๑๕]ประมวลจากเอกสารของครองชัย หัตถาที่อ้างถึงแผนที่แสดงบริเวณวังปัตตานีและสถานที่สำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ Bougus, Wayne  A. Patani Selama Pemerintahan Raja Ijau (1584-1616 A.D.) 1988  และคำบอกเล่าจากแผนที่ของชาวบ้านในพื้นที่

               [๑๖]นิธิ เอียวศรีวงศ์. “สังเขปประวัติศาสตร์ปัตตานี” ใน มลายูศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้, นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อมรินทร์, ๒๕๕๐

               [๑๗]Chuleeporn Virunha. Historical Perceptions of Local Identities in the Upper Peninsula, Thai South and Malay North, Ethnic Interactions on a Plural Peninsula, NUS Press, 2008

 

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง  “ความทรงจำในอ่าวปัตตานี” โดย ดอเล๊าะ เจ๊ะแต,มะรอนิง สา,วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

อัพเดทล่าสุด 14 มิ.ย. 2560, 15:38 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.