หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
การศึกษาท้องถิ่นกับสงครามกองโจร
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 26 พ.ค. 2559, 16:14 น.
เข้าชมแล้ว 99893 ครั้ง

สามจังหวัดภาคใต้วันนี้กำลังก้าวเข้าสู่สงครามการสู้รบแบบกองโจร [Guerrilla warfare]

          

หลังจากโครงการวิจัยทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชาติพันธุ์ ได้เริ่มต้นเมื่อกลางปี ๒๕๔๖ ทั้งนักวิชาการจากภาคกลางและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ได้ข้อมูลทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่เป็นตัวแทนในจุดเล็กๆ จนพอเข้าใจสังคมมุสลิมท้องถิ่นสำหรับคนต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมอยู่บ้าง ก็เกิดเหตุการณ์ที่ดูเหมือนคล้ายคลึงในสิ่งที่กังวล

หลุมระเบิดกลางถนนสายรามัน-สายบุรี

          

สังคมมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นั้นห่างไกลจากการรับรู้หรือเรียนรู้ของสังคมไทยพุทธจนเกิดเป็นช่องว่างมหาศาล มีความซับซ้อนในความต่างทางวัฒนธรรมที่ “คนไทย” สมัยนี้คงจะมีโอกาสคิดหรือทำความเข้าอกเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ได้ยากเต็มที

          

เมื่อแรกเข้าไปในหมู่บ้าน รับรู้ได้ว่ามีความคุกรุ่นของความขัดแย้งสะสมและตกตะกอนมาอย่างยาวนาน และรู้สึกหวั่นไหวไปกับความอ่อนไหวของสถานการณ์ที่ส่อเค้าว่าอาจเกิดเหตุร้ายในเร็ววัน ปัญหาที่หนักหนาสาหัสคือ การแย่งชิงทรัพยากรจากขบวนการทุนนิยมที่รัฐเอื้อเฟื้อและสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยชอบ เพราะสามารถทำลายล้างสังคมมุสลิมที่ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ย่อยยับไปถึงระดับครอบครัวที่เป็นรากฐานแห่งชีวิตทีเดียว

          

ในขณะที่วัฒนธรรมของชาวมุสลิมในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้เป็นเนื้อเดียวกับระบบความเชื่อในศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นเกราะแห่งชีวิตและก่อให้เกิดสังคมที่แข็งแรง ยากแก่การเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตเสรีนิยมแบบปัจเจก มีทั้งนักคิดและผู้รู้ที่ผ่านการเคี่ยวกรำอยู่กับตำรา ความคิด การตีความ ศรัทธา และความเชื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนกลายเป็นสถาบันหลักในการดำรงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาวมุสลิมที่ยากแก่การสั่นคลอน นอกจากจะถูกกดขี่บังคับหรือทำลายเสียเท่านั้น

          

และการกดขี่บังคับทำลายสถาบันหลักของชาวมุสลิมในท้องถิ่นนี้เกิดขึ้นและคงอยู่เรื่อยมาตั้งแต่เกิดการ รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ซึ่งพยายามทำลายความแตกต่างทางวัฒนธรรมของผู้คนมากกว่าที่จะปล่อยให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป ปฏิกิริยาจึงเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว

          

ที่เห็นชัดคือ การร้องขอให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวกและให้สิทธิที่เสมอภาคแก่การดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชาวมุสลิม ซึ่งเป็นการเจรจาในระดับนักคิดหรือผู้รู้ของสังคมที่ไม่เป็นผลสำเร็จ การต่อต้านโดยใช้วิธีรุนแรงสำหรับคนธรรมดาๆ ที่ต้องการแสดงออกถึงความไม่พอใจ จึงกลายเป็นทางเลือกที่ขยายวงกว้างขึ้นๆ จนเข้าขั้นสงครามระหว่างรัฐกับชาวบ้านผู้ถูกกดขี่ที่ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงเดี๋ยวนี้

          

เพราะชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้อยู่ภายใต้การจองจำของ การสร้างประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี ที่มักจะนำมาใช้อ้างอิงจนกลายเป็นข้อสรุปสำเร็จรูปสำหรับเหตุผลในการเรียกร้องรัฐอิสระ ทั้งจากกลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ และนักวิชาการของรัฐที่มองภาพความไม่สงบในพื้นที่นี้ แล้วมักสะท้อนสาเหตุสำคัญว่ามาจากรากเหง้าปัญหาทางประวัติศาสตร์เป็นการอารัมภบทกันอยู่เสมอ

          

จนรัฐบาลในขณะนี้จึงเห็นเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่จะต้องรีบแก้ไข คือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดขบวนการ “แบ่งแยกดินแดน” สิ่งที่รัฐทำคือ การหาข่าว ใช้กองกำลังตำรวจ ทหารปกติและหน่วยรบพิเศษที่ฝึกมาเพื่อกิจการการล่าสังหารโดยเฉพาะ นับเป็นการใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขความรุนแรงเช่นกัน

          

ในขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาอีกด้านหนึ่งสำหรับรัฐบาลยุควัตถุนิยมเฟื่องฟู คือ การถมงบประมาณลงไปเพื่อส่งเสริมและสร้างอาชีพเกษตรอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวแบบที่เคยทำๆ กันมาในหลายรัฐบาล เลียนแบบประชานิยมที่ดี นำไปสร้างเป็นโครงการเพื่อชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สร้างรายได้โดยภาพรวม แต่ไม่ระมัดระวังการกระจายรายได้ให้เสมอภาคและเท่าเทียมกัน ผลที่ได้จะแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหายุ่งเข้าไปอีกคงเห็นได้ในเวลาไม่นานนี้

          

แต่ทั้งหมดคือการเบี่ยงเบนต้นตอปัญหาสำคัญ โดยไม่ได้ระแคะระคายว่าตนเองกำลังนั่งอยู่บนภูเขาไฟที่กำลังรอวันปะทุ อีกทั้งถูกโหมด้วยประกายไฟอันเกิดจากสงครามความขัดแย้งของโลกมุสลิมกับผู้นำ โลกเสรีนิยมที่พลเมืองไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม ย่อมถูกผลสะเทือนจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งนั้น

          

แม้ทุกภูมิภาคของประเทศไทยจะผ่านกระบวนการหลอมรวมให้กลายเป็นประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเหนือ อีสาน เคยพบเห็นความเจ็บปวด ถูกกระทำอย่างรุนแรงต่อทั้งผู้นำและชาวบ้าน เกิดเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ขบวนการผีบุญ หรือรัฐเรียกว่า กบฏผีบ้าผีบุญ ขึ้นหลายคราวในศตวรรษที่แล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมาแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ดูไม่สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและไม่มีผลสะเทือนต่อรัฐในอดีตมากมาย

          

แต่เมื่อถึงยุคนี้ ปฏิกิริยาต่อต้านแบบเดียวกันกำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ของสังคมชาวมุสลิมท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมในภูมิภาคอื่นอย่างชัดเจน และในขณะเดียว ในเอกภาพของสังคมมุสลิมท้องถิ่นนี้ก็มีความหลากหลายของวัฒนธรรมปลีกย่อยที่ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมอันแตกต่างทั้งเขตภูเขาสูง เนินเขา ที่ราบ ท้องทุ่งและชายฝั่งทะเล และการผสมผสานของผู้คนต่างวัฒนธรรมในบางแห่งบางพื้นที่ ซึ่งอยู่ร่วมกันมาได้นานนับศตวรรษก่อนหน้านี้

 

เอกภาพและความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ จึงควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันและรักษาสมดุลอยู่ตลอดเวลา

          

การจะเข้าใจความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นได้นั้น คงต้องเข้าไปศึกษาจนเห็นถึงความคิดของผู้ที่อยู่ในสังคมนั้น และมองให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุจากสิ่งใดบ้าง จึงพอจะประเมินสถานการณ์ได้ถูก ซึ่งที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยมีการทำความเข้าใจหรือศึกษาสังคมท้องถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้มากพอที่จะนำมาใช้สนับสนุนการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นชัดกระจ่างได้แต่อย่างใด

          

เวลาผ่านไปจนพอจะเห็นเค้าลางของคู่กรณีได้ก็คือ อำนาจรัฐผ่านตัวแทนที่ใช้อำนาจจนเกินพอดี และชาวบ้านที่มีตัวแทน คือ คนรุ่นหนุ่มสาวผู้อุทิศจนถึงที่สุดแก่ศรัทธาในวิถีทางของตนเอง

หน่วยเก็บกู้ระเบิดของรัฐที่เสี่ยงอันตราย

          

การต่อสู้ของชาวบ้านในรูปแบบเดียวกับเมื่อศตวรรษกว่าที่แล้วเกิดขึ้นซ้ำรอย แต่ในยุคนี้ปฏิกิริยาต่อต้านการกดขี่บังคับทำลายสังคมของชาวมุสลิมท้องถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้เติมเชื้อรุนแรงจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน และยิ่งเพิ่มความรุนแรงซับซ้อนแก่ปัญหายิ่งไปกว่าเดิม

          

ความโกลาหลครั้งนี้กำลังขยายไปสู่สงครามกองโจรที่เป็นสงครามภายใน ทั่วทุกแห่งตกอยู่ใต้ความหวาดกลัวเพราะการสู้รบนั้นเป็นการก่อการร้ายที่ไม่มีรูปแบบและยุทธวิธี ไม่เห็นศัตรูที่ชัดเจน เพราะแฝงเร้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง และชาวบ้านทุกคนอาจถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงนี้ได้ตลอดเวลา คนบริสุทธิ์หลากหลายที่มาคือเหยื่อของสถานการณ์ และเมื่อเริ่มก่อรูปเป็นขบวนการเช่นนี้แล้วก็ยากจะยุติ

          

มีเพียงการเรียนรู้ ประนีประนอม ปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความคับแค้น และทำความเข้าใจต่อสังคมอันหลากหลายภายใต้เอกภาพของชาวมุสลิมในท้องถิ่นนี้เท่านั้น จึงจะเป็นวิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ก้าวเข้าสู่สงครามกองโจรที่ยังไม่เคยมีรัฐแห่งใดสามารถยุติปัญหาโดยวิธีปราบปรามด้วยความรุนแรงได้สำเร็จ

อัพเดทล่าสุด 26 พ.ค. 2559, 16:14 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.