หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สวยงามบนความเจ็บปวดของเรือกอและ
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 26 พ.ค. 2559, 11:53 น.
เข้าชมแล้ว 19257 ครั้ง

 

เรือประมงพื้นถิ่นในแถบจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสรู้จักกันดีในชื่อของ เรือกอและ ด้วยสีสันฉูดฉาดสวยงาม รูปทรงแปลกตาไปกว่าเรือประมงชนิดอื่นๆ ทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวประมงมุสลิม และเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนราธิวาสที่นำไปทำจำลองขายเป็นของที่ระลึกขาย นักท่องเที่ยวอีกด้วย

 

เรือของชาวมุสลิมที่เรียกรวมๆ กันว่า เรือกอและ มีการแบ่งประเภทออกไปอีกมากมายตามลักษณะของลำเรือ เรือกอและเป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดใหญ่บรรทุกลูกเรือได้คราวละ ๘ - ๑๐ คน หัวท้ายเรือยกสูงวาดสีสันลวดลายวิจิตรลงบนตัวเรือโดยเฉพาะหัวและท้าย ปัจจุบันเรือกอและแทบไม่มีการใช้งานอีกแล้วเพราะไม้ทำเรือขนาดใหญ่ๆ หายากเข้าทุกที ค่าจ้างต่อเรือสูง เพราะขนาดใหญ่จึงกินน้ำมันมากเวลาออกทะเล ทั้งยังต้องจ้างลูกเรืออีกหลายคน ทำให้เรือขนาดย่อมลงมาที่เรียกว่า ปาตะกือฆะ ซึ่งเป็นเรือท้ายตัด เพื่อใช้ติดเครื่องยนต์ กราบเรือแบนราบไม่โค้งอย่างตกท้องช้าง แต่หัวเรือยังเชิดสูงและระบายสีงดงามเช่นเดียวกับเรือกอและเข้ามาแทนที่ เรือชนิดนี้ใช้ลูกเรือเพียง ๒ - ๓ คน เบากว่า ประหยัดน้ำมันกว่า ชาวประมงหันมาใช้เรือชนิดนี้ออกวางอวนแทนที่เรือกอและมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ( สกล ผดุงวงศ์ . อลังการแห่งกอและ . มติชน ๒๔ ก . ย . ๒๕๓๗ )

 

 

เรือกอและแต่เดิมใช้ใบในการแล่นโต้คลื่นลม เมื่อพัฒนามาเป็นแบบปะตะกือฆะ คือ ท้ายตัด เปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องยนต์วางที่ท้ายเรือแทนที่การประดับตกแต่งลวดลาย และปักเสากระโดง การวางอวนก็มีขนาดลดลงไปด้วยแต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงถ้าหากวางอวนแล้วไม่คุ้ม ทุน การพัฒนาของเรือกอและมาเป็นแบบท้ายตัด และมีขนาดเล็กลงบ่งบอกเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งที่ต้องปรับ เปลี่ยนตามสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ยากลำบากขึ้น

 

การรวมกลุ่มตั้งแต่ ๘ - ๑๐ คนขึ้นไปสำหรับการออกทะเลแต่ละครั้ง กลายเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับการประมงชายฝั่งทุกวันนี้ เรือกอและในปัจจุบัน คือ เรือลำเล็กใช้แรงงานในหมู่พี่น้อง ๒ - ๓ คน ออกเรือบ่ายๆ แล้วกลับเข้าฝั่งในช่วงสายของอีกวันหนึ่ง ใช้เวลาและความอดทนอุตสาหะมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์เริ่มหมดไป การประมงชายฝั่งของชาวมุสลิมกลายเป็นเหยื่อระบบทุนของนายทุนเรือตังเกจากปาก น้ำเมืองใหญ่ๆ เช่นปากน้ำปัตตานี ที่แย่งชิงทรัพยากรชายฝั่งทะเลทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่กฎหมายของเมืองไทยไม่เคยมีความศักดิ์สิทธิ์ เรือตังเกเหล่านี้จึงยังกวาด กุ้ง หอย ปู ปลา จากชายฝั่งไปจนแทบจะเหลือเพียงพื้นทรายเปล่าๆ ไว้ให้เรือกอและเท่านั้น

 

 

 

ที่หาดปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีเรือกอและจอดเรียงรายหลบแดดใต้หลังคาจากมากมาย ชาวประมงมุสลิมอยู่ในหมู่บ้านเลยชายหาดเข้าไปนิดหน่อย ผู้ชายออกเรือทำประมงชายฝั่ง ผู้หญิงแปรรูปผลผลิตจากทะเล เช่น ตากหมึก ตากปลา แกะเนื้อปู ส่งขายเถ้าแก่อีกทอดหนึ่ง

 

ในความมีเสน่ห์ของน้ำใจซื่อๆ แก่คนแปลกหน้า พรานประมงรุ่นหนุ่มบอกเล่าถึงการออกเรือที่อาศัยเวลานานขึ้น แม้จะไม่ต้องเสียค่าน้ำมันมากเหมือนเรือใหญ่ๆ แต่ก็มักวางอวนได้ไม่มากเหมือนก่อน สัตว์น้ำเล็กลงและหายาก รายได้เพียงพอแค่หาเช้ากินค่ำเท่านั้น สายตาที่เหม่อมองออกไปสู่ท้องทะเลเมื่อเห็นเรือตังเกใหญ่จากปากน้ำปัตตานี แล่นอยู่ไปมาหลายต่อหลายลำเหมือนมองความว่างเปล่า เรื่องนี้ชาวเรือกอและพยายามเรียกร้องขอความยุติธรรมจากอธิบดีกรมประมง และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมาเป็นเวลานานแล้ว ความขัดแย้งเคยเงียบหาย สักพักก็เป็นอย่างเดิมอีก เรือกอและไม่มีทางสู้เรือตังเกได้ การแย่งชิงทรัพยากรเห็นอยู่เต็มตาทุกเมื่อเชื่อวัน

 

หาดปะนาเระที่เคยใช้ตากหมึกตากปลา เริ่มกลายเป็นที่ทิ้งเปลือกปูและสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ขายไม่ได้ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว เพราะเถ้าแก่ต้องการเพียงเนื้อปู แต่ไม่ต้องการขยะ ดังนั้นชาวประมงต้องรับผิดชอบต่อความเน่าเหม็นเหล่านี้เอง

 

ชีวิตของชาวเรือกอและไม่ได้สวยสดเหมือนลวดลายบนลำเรือ เรือกอและถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนราธิวาส มีการทำเป็นของที่ระลึกดูสวยบนตู้โชว์ แต่ชีวิตของชาวเรือมุสลิมเหล่านี้กำลังถูกคุกคามและถูกแย่งชิงทรัพยากรโดย ไม่มีผู้ใดแก้ปัญหาให้ได้

 

อย่ามองเรือกอและแต่เพียงความสวยงามประดับตกแต่งท้องทะเลด้วยสีสันสดใสเท่านั้น ความเจ็บปวดของชาวเรือกอและจะมีใครรู้ว่าเมื่อไรจะจบสิ้นและกลับมาเป็นพราน ชายฝั่งที่ยิ่งใหญ่เช่นในอดีต

 

รายงานสำรวจ : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐ (ม.ค.-ก.พ.๒๕๔๑)

 

อัพเดทล่าสุด 20 เม.ย. 2561, 11:53 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.