แผนที่แสดงสภาพภูมิศาสตร์ในเขตภาคใต้ตอนล่าง
ข้าพเจ้า มีความเห็นว่าพื้นที่บริเวณสามจังหวัดภาคใต้มีลักษณะพิเศษในเรื่องสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากบรรดาพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ทางฝั่งทะเลตะวันออกด้วยกัน เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา คือ เป็นพื้นที่บนคาบสมุทรมลายูที่ถูกกำหนดโดย เทือกเขาสันกาลาคีรี เพราะบริเวณนครศรีธรรมราชและสงขลานั้นถูกกำหนดโดย เทือกเขานครศรีธรรมราชกับเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นทิวเขายาวเหยียดตรงขนานไปกับชายฝั่งทะเลตั้งแต่อำเภอสิชลลงมาจนถึง จังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ทำให้เกิดพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาว มีลำน้ำสายสั้นๆ ไหลลงจากเทือกเขามาออกทะเลทางด้านตะวันออก ไม่มีทิวเขาและที่สูงขั้นระหว่างลำน้ำสายต่างๆ ที่ไหลลงทะเล และโดยการกระทำของคลื่นลมที่ซัดเข้าฝั่งทะเล ทำให้เกิดเป็นแนวสันทรายยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเลหลายแนว
แต่ทำนองตรงข้าม พื้นที่ในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรีถูกกำหนดโดยเทือกเขาที่คดเคี้ยวจากเหนือลง ใต้ และมีแขนงเขาแยกลงมาทางด้านตะวันออกเป็น ๘ ทิวด้วยกัน โดยพื้นที่ระหว่างเขามีลำน้ำไหลผ่ากลางจากทิศตะวันตกไปออกชายฝั่งทะเลทาง ตะวันออก ได้แก่ ลำคลองนาทับ ลำน้ำเทพา แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำบางนรา พื้นที่ระหว่างเขาที่มีแม่น้ำทั้งห้าสายนี้ไหลผ่าน ล้วนเป็นพื้นที่ในหุบเขาที่กว้างมีทั้งที่ราบที่สามารถทำนาและทำสวนได้ แต่หุบเขาใหญ่ที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองสำคัญนั้น ได้แก่ หุบเขาทางลุ่มน้ำปัตตานีและลุ่มน้ำสายบุรี
ที่หุบปัตตานี แม่น้ำปัตตานีมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาทางตะวันออกที่กั้นแดนประเทศไทยกับ ประเทศมาเลเซีย ผ่านเขตอำเภอเบตงลงมาสู่บริเวณที่ต่ำกว่าซึ่งกลายเป็นเขื่อนบางลาง ไหลผ่านจากที่ลาดลงสู่บริเวณบ้านหน้าถ้ำที่มีเขาหินปูนขนาบอยู่ทั้งสองฝั่ง แม่น้ำ นับเป็นการสิ้นสุดของพื้นที่ราบระหว่างเขาเข้าสู่พื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่ เริ่มแต่เขตจังหวัดยะลาไปยังจังหวัดปัตตานี
ลุ่มน้ำปัตตานีถูกแยกออกมาจากลุ่มน้ำสายบุรี โดยทิวเขาทางด้านตะวันออกที่ผ่านเขตอำเภอบันนังสตามายังอำเภอเมืองยะลาแล้ว ลดระดับความสูงเป็นกลุ่มเขาขนาดเล็กอันทำให้เกิดช่องทางคมนาคมจากลุ่มน้ำ ปัตตานีไปยังเขตอำเภอรามันในลุ่มน้ำสายบุรี ต่อจากนั้นก็ยกระดับขึ้นสูงตั้งแต่เขตอำเภอทุ่งยางแดงผ่านอำเภอมายอไปจนจรด ชายทะเลที่อำเภอปะนาเระ
ทิวเขานี้ทำให้เกิดลุ่มน้ำสายบุรีขึ้น เพราะถูกขนาบด้วยเทือกเขาบูโดทางด้านตะวันออกที่เริ่มจากเขตอำเภอสุคิริน ผ่านอำเภอจะแนะ อำเภอรือเสาะ อำเภอบาเจาะ ไปจนถึงอำเภอกะพ้อ ทางด้านตะวันออกของเขาบูโดก็คือ ที่ราบลุ่มต่ำไปจนจรดชายทะเล เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีพรุขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ราบทั้งหมด และเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำบางนรา ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ของอำเภอสุไหงโกลก อำเภอยี่งอ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ และอำเภอไม้แก่น จังหวัดนราธิวาส
แม่น้ำสายบุรีในหุบสายบุรี
ลุ่มน้ำสายบุรีในหุบสายบุรี เป็นหุบที่มีที่ราบริมฝั่งแม่น้ำยาวไกลกว่าหุบปัตตานี โดยเริ่มแต่อำเภอสุคิรินมายังอำเภอศรีสาคร ซึ่งมีพื้นที่ราบกว้างเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ และตั้งแต่เขตอำเภอศรีสาครเป็นต้นมา ก็ยังมีลำน้ำสายเล็กๆ ไหลลงมาจากทิวเขาที่ขนาบทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออกไหลลงมาสมทบ โดยเฉพาะเขตอำเภอรือเสาะ จำนวนธารน้ำที่ไหลลงมาจากเขาทั้งสองข้างเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดหุบเขาเล็กๆ ที่ผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานได้
ความต่างกันของหุบเขาปัตตานีกับหุบสายบุรีก็คือ แม้จะมีลำน้ำยาวขนาดใหญ่พอกันก็ตาม แต่ลำน้ำปัตตานีไหลจากบริเวณต้นน้ำทางใต้ผ่านซอกเขาที่ไม่มีพื้นที่ราบมาจน ถึงเขตอำเภอบันนังสตา ซึ่งทำให้ทางราชการใช้ประโยชน์ในการสร้างเขื่อนบางลางขึ้น กว่าจะมีที่ราบพอตั้งถิ่นฐานชุมชนและที่ทำกินของผู้คนได้ก็ต้องผ่านมายังเขต อำเภอเมืองยะลา ในเขตบ้านหน้าถ้ำ ซึ่งนับเป็นเขตปากหุบปัตตานี
จากบ้านหน้าถ้ำ ลำน้ำปัตตานีจึงไหลลงพื้นที่ที่เป็นแอ่งใหญ่ มีลำน้ำหลายสายทั้งจากซอกเขาและหุบเขาใกล้ๆ ไหลมาสมทบเป็นแอ่งกว้างใหญ่ที่ทำให้เกิดบ้านเมืองในเขตอำเภอเมืองยะลา อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะรัง อำเภอหนองจิก อำเภอยะหริ่ง และอำเภอเมืองปัตตานี
ในทำนองตรงข้าม หุบสายบุรีกลับมีพื้นที่ราบตามลำแม่น้ำยาวลึกกว่าหุบปัตตานี แต่ต้นน้ำในเขตอำเภอสุคิรินลงมาก็มีพื้นที่ตั้งถิ่นฐานทำกินได้ พอถึงเขตอำเภอศรีสาครก็กลายเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ มีลำน้ำสาขาเล็กๆ ไหลลงมาจนสมทบกับลำน้ำสายบุรี ทำให้ลำน้ำใหญ่ขึ้นจนมีการเดินทางโดยทางเรือขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าเข้ามา ถึง
เมื่อเข้าเขตอำเภอรือเสาะ พื้นที่ราบจะมีลำน้ำเล็กๆ จากหุบเล็กและแอ่งเล็กๆ ไหลลงมาสมทบทำให้เกิดบริเวณที่ลุ่มน้ำขังที่เรียกว่า พรุ มากมาย แต่ละพรุก็คือ พื้นที่แก้มลิงที่กักน้ำและระบายน้ำตามธรรมชาติเข้าสู่ลำน้ำสายบุรี พรุที่สำคัญก็คือ พรุลานควายในเขตอำเภอรามัน ที่ทำให้ลำน้ำสายบุรีกว้างใหญ่ก่อนไหลไปออกทะเลที่อ่าวสายบุรี แต่ทว่าหุบสายบุรีแม้จะยาวลึกเป็นที่ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานได้ก็ตาม แต่ก็ไม่มีบริเวณที่เป็นแอ่งใหญ่ติดกับทะเล เช่น หุบปัตตานี
งานวิจัยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในเขตสามจังหวัดภาคใต้ที่ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เข้าไปเกี่ยวข้อง ได้เลือกพื้นที่ในการศึกษาที่อยู่ภายในของทั้งหุบปัตตานีและหุบสายบุรีเป็น สำคัญ เพราะการศึกษาในพื้นที่ราบชายทะเลได้ทำการศึกษาไปแล้ว
ในหุบปัตตานีได้เลือกชุมชนหมู่บ้าน [Village] ในเขต บ้านหน้าถ้ำและบริเวณใกล้เคียง เป็น แหล่งทำการศึกษารวบรวมข้อมูล พื้นที่บริเวณอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างที่ราบในหุบเขาตามลำน้ำปัตตานีกับที่ ราบของแอ่งปัตตานี อันเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไปจนถึงชายฝั่งทะเล
ในขณะที่ทางหุบสายบุรีนั้น เริ่มตั้งแต่บริเวณต้นน้ำในเขตอำเภอสุคิริน ริมสองฝั่งลำน้ำสายบุรี จะมีพื้นที่ราบพอแก่การเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของผู้คน จากเขตอำเภอสุคิริน พื้นที่ราบริมฝั่งน้ำก็ขยายใหญ่จนเป็นทุ่งราบในเขตอำเภอศรีสาครอีกทั้งมีธาร น้ำสายเล็กๆ จากทิวเขาทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออกมาสมทบด้วย เลยทำให้มีความสมบูรณ์ในเรื่องน้ำท่า อีกทั้งทำให้ลำน้ำสายบุรีกว้างขึ้นกลายเป็นท้องถิ่นที่มีหลายชุมชนเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นบริเวณที่เรือค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากทางฝั่งทะเลที่ปากแม่น้ำ สายบุรีเดินทางเข้ามาถึง
ณ บริเวณภายในนี้ ทางโครงการวิจัยได้เลือกชุมชน บ้านซากอและบ้านกาเยาะมาตี เป็น ตัวแทนในการศึกษาการเก็บข้อมูล ทำให้เห็นความสำคัญของท้องถิ่นนี้ในลักษณะที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ของบริเวณภายในของหุบสายบุรี เพราะนอกจากเป็นบริเวณที่เป็นท่าเรือจอดของเรือสินค้าจากปากน้ำสายบุรีเข้า มาถึง และนำสินค้าของกินจากทางชายทะเลเข้ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตรและของป่ากับ กลุ่มคนที่อยู่ภายในแล้ว ยังเป็นที่ซึ่งคนที่อยู่ในหุบเล็กและที่สูงในเขตอำเภอสุคิรินที่เป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์ เช่น คนซาไกเดินทางโดยช้างและล่องแพมาติดต่อ แต่ที่สำคัญ พื้นที่ซึ่งเป็นทุ่งราบของอำเภอศรีสาครนั้น เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงช้าง สัตว์ และโคกระบือได้ดี จึงทำให้กลายเป็นที่ตั้งของชุมชนหลายๆ ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
เมื่อเดินทางตามลำน้ำสายบุรี ผ่านเขตอำเภอศรีสาครขึ้นไปก็จะถึงเขตอำเภอรือเสาะ อันเป็นบริเวณที่มีชุมชนตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีเส้นทางผ่านช่องเขาบูโดไปยังอำเภอระแงะทางทิศตะวันออกไปลงแม่น้ำสายบุรี ทางตะวันตก มีชุมชนหลายชุมชนตามหุบเขาเหล่านี้ ชุมชนที่เลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนในการศึกษาครั้งนี้ คือ ชุมชนบ้านตะโหนด
เหนืออำเภอรือเสาะขึ้นไปตามลำน้ำสายบุรีไปยังเขตอำเภอรามัน ภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ต่ำลงมีที่ลุ่มต่ำเป็นพรใหญ่น้อยไปจนถึงพรุ ลานควายที่เป็นพรุขนาดใหญ่ อันมีลักษณะเป็นแก้มลิงที่รับน้ำจากลำน้ำลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงจากที่สูงจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะที่มาจากเขตอำเภอรามัน จึงทำให้มีน้ำไหลจากพรุลงสู่ลำน้ำสายบุรีทำให้เกิดเป็นลำน้ำใหญ่ไหลลงสู่ที่ ราบลุ่มไปออกปากน้ำที่อำเภอสายบุรี ชุมชนที่เลือกทำการศึกษาในลุ่มน้ำสายบุรีในเขตอำเภอรามันนี้ ได้แก่ บ้านเกะรอ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพรุ ผู้คนในพื้นที่นี้ดังกล่าวได้ใช้พื้นที่ราบของพรุปลูกข้าวเป็นนาพรุเพื่อเป็นอาหารหลักแต่โบราณมา
จากการเลือกชุมชนศึกษาในบริเวณภายในของทั้งหุบปัตตานีและหุบสายบุรีตามที่กล่าว มาในทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในขั้นแรก นี้ ได้ทำให้เห็นการตั้งถิ่นฐานของบ้านเมืองของผู้คนที่แตกต่างและเหมือนกัน ดังต่อไปนี้
ในหุบปัตตานี นั้น แม้ว่าแม่น้ำปัตตานีจะเป็นลำน้ำใหญ่และยาวกว่าลำน้ำสายบุรีก็ตาม แต่การตั้งถิ่นฐานนั้นไม่เข้าไปลึกเท่ากับหุบสายบุรี เพราะตั้งแต่เขตอำเภอบันนังสตาไป พื้นที่สองฝั่งน้ำเป็นซอกเขาที่ไม่มีพื้นที่ราบพอแก่การตั้งถิ่นฐานของชุมชน การเกษตรได้ดี เป็นเรื่องของบริเวณที่สูงที่เป็นป่าเป็นเขาที่เหมาะกับผู้คนที่ทำไร่และ เก็บของป่า เช่น พวกซาไก เป็นต้น ชุมชนสำคัญจึงไปเกิดที่เขตอำเภอยะหาและทางบ้านหน้าถ้ำแทน เพราะเป็นบริเวณที่นอกจากมีที่ราบใกล้ลำน้ำลำห้วยที่ทำการเพาะปลูกได้ดีแล้ว ยังเป็นชุมชนทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำด้วย
ชาวบ้านเตรียมต้นกล้าสำหรับดำนา
ทางบกก็คือเป็นชุมทางของการเดินทางข้ามคาบสมุทรจากต้นน้ำปัตตานีและเขตอำเภอ เบตงลงมาพบกับเส้นทางเดินทางที่มาจากเขตอำเภอสงขลา ผ่านอำเภอโคกโพธิ์มายังอำเภอยะหา ในขณะที่ทางน้ำนั้น บริเวณนี้เป็นท่าเรือติดต่อไปออกทะเลที่เมืองปัตตานี โดยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเป็นเมืองขึ้นภายในหุบปัตตานีขึ้นจนกลายเป็นเมือง ยะลาในปัจจุบัน
ซึ่งเท่ากับว่า เมืองปัตตานีคือ เมืองท่าชายทะเล ในขณะที่เมืองยะลาคือเมืองภายใน การเติบโตของชุมชนเป็นบ้านเป็นเมือง เริ่มแต่ บ้านยาลอ ในเขตอำเภอยะหา มายังเขต บ้านหน้าถ้ำ ก่อน ที่จะเปลี่ยนตำแหน่งไปยังตัวจังหวัดยะลาในปัจจุบัน ในเขตบ้านหน้าถ้ำนั้นขนาบด้วยภูเขาหินปูนที่มีทั้งเขาหินอ่อนและถ้ำที่เป็น ศาสนสถานมาแต่โบราณสมัยศรีวิชัย เพราะพบภาพเขียนสี พระพิมพ์ รวมทั้งการใช้เป็นศาสนสถานสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน มีผู้คนทั้งคนมุสลิม คนจีน และคนไทยพุทธเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันอย่างสงบ
ในบางพื้นที่ซึ่งคนมุสลิมเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน แต่พบว่าเป็นบริเวณที่มีโบราณสถานวัตถุทางพุทธศาสนาก็เลยมีการแลกที่กับ กลุ่มคนซึ่งเป็นชาวพุทธ ส่วนคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพราะเป็นแหล่งที่เรือจากทะเลและปัตตานีมาจอดแลก เปลี่ยนสินค้ากับคนภายในที่มาจากทางโคกโพธิ์ บันนังสตา และอำเภอรามันในหุบสายบุรี จึงพบว่าชุมชนหมู่บ้านบางแห่งมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับคนจีน
ผู้คนที่เป็นชาวบ้านชาวเมืองในท้องถิ่นบ้านหน้าถ้ำไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธ คนจีน และคนมุสลิมเคยมีความสัมพันธ์ต่อกันทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างดี อย่างเช่น คนมุสลิมก็ร่วมงานประเพณีของคนพุทธ แม้ว่าจะไม่เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาก็ตาม และคนทั้งสามกลุ่มคือ คนพุทธ คนมุสลิม และคนจีน เชื่อถือในโชคลางและข้อห้ามในระบบความเชื่อของท้องถิ่นซึ่งเกี่ยวกับ พิธีกรรม เกี่ยวกับชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ และการรักษาพยาบาลร่วมกัน ในงานรื่นเริงในเวลามีพิธีกรรม เช่น การมีหนังตะลุง มะโย่ง และดีเกฮูลู ทั้งคนพุทธ คนมุสลิม และคนจีนก็มาดูการแสดงร่วมกัน เป็นต้น
ส่วนในหุบสายบุรีนั้น มีความลึกของการตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำสายบุรีไปจนเกือบถึงบริเวณต้นน้ำในเขต อำเภอสุคิรินที่ไกลกว่าหุบปัตตานี แต่ชุมชนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่าชุมชนในหุบปัตตานีมักเป็นชุมชน ของคนมุสลิมที่ผู้คนจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายมาจากเมืองโกตาบารู ในรัฐ กลันตันของมาเลเซีย คนพุทธทั่วไปตั้งถิ่นฐานน้อย ซึ่งแลเห็นได้จากการมีวัดทางพุทธศาสนาไม่กี่แห่ง อีกทั้งชุมชนใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นก็เฉพาะบริเวณที่เป็นชุมทางคมนาคมตั้งแต่เขตอำเภอศรีสาครลงมา เพราะมีท่าเรือที่ติดต่อมาออกทะเลที่อำเภอสายบุรีได้
ชุมชนในหุบสายบุรีนี้จะเกาะกลุ่มกันเป็นท้องถิ่นๆ ไป เช่น บ้านซากอ และบ้านกาเยาะมาตี ในเขตอำเภอศรีสาครก็นับเนื่องเป็นกลุ่มที่อยู่ในนิเวศวัฒนธรรมหนึ่ง กับกลุ่มบ้านตะโหนดในหุบเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอรือเสาะก็นับ เนื่องเป็นอีกนิเวศวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป ในขณะที่บ้านเกะรอก็อยู่ในกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมที่มีการทำนาพรุร่วมกัน บรรดาชุมชนในแต่ละนิเวศวัฒนธรรมเหล่านี้ ต่างอยู่แยกจากกัน จนเกิดเป็นความแตกต่างกันระหว่างท้องถิ่นขึ้น สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกัน เกิดจากการติดต่อกันทางสังคมและเศรษฐกิจน้อย ในขณะที่แต่ละท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกระชับแน่น อันเนื่องจาก การแต่งงานกันเองจากภายใน [Village Endogamy] ประการ หนึ่ง และอีกประการหนึ่ง อาชีพหลักในการทำมาหากิน ได้แก่ การทำสวนดูซงและสวนยางนั้น เป็นสวนแบบสมรมที่ไม่เพียงแต่ปลูกพืชเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังรวมไปถึงบรรดาต้นไม้และพืชพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นทั้งวัสดุในการก่อสร้าง อาหารการกิน และยารักษาโรคด้วย รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจร่วมกันอีกหลายอย่างที่ทำให้ท้องถิ่นมี ลักษณะ อยู่ได้อย่างเพียงพอ [Self Contain] โดยไม่ต้อง พึ่งพาภายนอกเท่าใด ผู้คนแต่ละชุมชนในท้องถิ่น ล้วนมีส่วนสำนึกร่วมกันสูง อีกทั้งมีศักยภาพในการจัดกลุ่มและองค์กรในเรื่องการศึกษาเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันอย่างมั่นคง
ผู้คนในหุบปัตตานีกับหุบสายบุรี แม้จะอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ด้วยกันก็ตาม แต่ก็มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด ในหุบปัตตานีมีพัฒนาการทางสังคมเป็นบ้านเป็นเมืองมาช้านาน จึงมีผู้คนหลายชาติพันธุ์ ทั้งคนมุสลิม คนไทยพุทธ และคนจีนสังสรรค์และอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานาน รับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้เร็วและง่ายกว่า ในขณะที่ทางหุบสายบุรี การตั้งถิ่นฐานของผู้คนเป็นชุมชนบ้านเมืองเกิดขึ้นไม่นานเท่าใด ผู้คนที่เกิดขึ้นเคลื่อนย้ายมาจากเมืองโกตาบารูในรัฐกลันตันของมาเลเซีย และผู้คนที่อยู่ในหุบ เช่น พวกซาไกและผู้ทำไร่หาของป่า เป็นต้น ผู้คนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่ในเขตอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนราธิวาสที่ต่อไปยังเขตมาเลเซียมากกว่าทางจังหวัดปัตตานี
การอยู่ในเขตภายในหุบเขาที่มีการติดต่อกับภายนอกในเขตชายทะเลน้อย ทำให้มีคนจีนและคนไทยพุทธไปเกี่ยวข้องด้วยน้อยมาก ดังนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบระหว่างกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ผู้คนในหุบปัตตานียังเปิดโอกาสให้มีการติดต่อเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนภายนอกได้ ดีกว่าคนในหุบสายบุรีที่มีลักษณะเป็นสังคมปิด
แต่ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างผู้คนในสองหุบเขาก็มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกันใน หมู่คนมุสลิมในเรื่องของความเชื่อ วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม นั่นคือ ศาสนา โดยเฉพาะคำสอนของพระเจ้ายังคงเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต คนมุสลิมยังคงยึดมั่นในพิธีละหมาด ผู้ที่เคร่งครัดจะต้องทำกันวันละ ๕ ครั้ง และเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นของพระเจ้า ความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวนี้ คือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนมุสลิมมองมนุษย์ทุกคนเสมอภาคกันหมด ไม่ว่าคนไทยพุทธและคนจีน ถัดลงมาจากพระเจ้าก็คือ ผู้นำทางคุณธรรม เช่น โต๊ะครูและโต๊ะอิหม่าม โดยเฉพาะโต๊ะครูนั้นดูเหมือนเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะเป็นคนปกครองโรงเรียนปอเนาะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญของสังคม โต๊ะครูคือบุคคลที่มักได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่คนนำเอาคำ พูดคำสอนไปปฏิบัติ แต่ก่อนคนศักดิ์สิทธิ์แบบนี้คลุมไปถึงบรรดาผู้อาวุโสหรือผู้รู้ที่รู้ใน เรื่องเวทมนต์คาถาที่สามารถปัดเป่าความชั่วร้ายและให้การรักษาพยาบาลใน เรื่องโรคภัยไข้เจ็บด้วย คนศักดิ์สิทธิ์ประเภทนี้ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น หากยังเป็นผู้ที่คนพุทธและคนจีนเคารพนับถือด้วย
ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ผู้คนในสองหุบเขาก็มีอะไรที่คล้ายคลึงกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเจริญทางวัตถุทำให้คนมุสลิมที่เคยมีภรรยาหลายคน เปลี่ยนมาเน้นการมีภรรยาคนเดียว ลูกผู้หญิงส่วนใหญ่มีการศึกษาดีกว่าลูกผู้ชาย รวมทั้งการจัดประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตก็ลดความใหญ่โตและการสิ้นเปลือง ลง แต่ที่สำคัญคนส่วนใหญ่เลิกประกอบอาชีพพื้นฐานทางเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวและการทำน้ำตาลโตนด จึงเกิดมีนาร้าง โดยเฉพาะคนทำนาพรุนั้นแทบจะหมดไปแล้วก็มี การทำสวนยาง ทำไร่ และทำสวนผลไม้ แม้ว่ายังดำรงอยู่ แต่ราคาของผลิตผลกลับขึ้นๆ ลงๆ เช่น ลองกอง เป็นต้น
แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเห็นจะได้แก่ ช่องว่างระหว่างวัยของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่มีการมองโลกแบบใหม่และคิดใหม่ ไม่ยึดมั่นในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของคนรุ่นเก่า ไม่ใคร่สนใจกับการเรียนทางศาสนาอย่างแต่เดิม ออกไปทำงานนอกบ้านและมีการสังสรรค์ระหว่างกันตามโรงน้ำชา รวมทั้งการเที่ยวเตร่และสนใจในสิ่งอบายมุขเพิ่มขึ้น
นับเป็นความเข้าใจในขั้นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่สามารถนำมาตั้งคำถามเพื่อการ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมต่อไป
เปิดประเด็น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๕๘ (ม.ค.-ก.พ. ๒๕๔๙)