หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
รายงานความก้าวหน้างานวิจัยภาคใต้
บทความโดย ศรยุทธ์ เอี่ยมเอื้อยุทธ์
เรียบเรียงเมื่อ 6 พ.ค. 2554, 00:00 น.
เข้าชมแล้ว 6253 ครั้ง

ความก้าวหน้าของโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในลุ่มน้ำปัตตานีและลุ่มน้ำสายบุรี

          มูลนิธิ เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากเมื่อมูลนิธิฯ จัดทำโครงการ อบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์ ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานศึกษาข้อมูลท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่น และมีนักวิชาการจากภายนอกเป็นพี่เลี้ยงและดูแลโครงการอย่างใกล้ชิด วัตถุประสงค์ก็เพื่อค้นหาองค์ความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนเข้าใจสาเหตุปัญหาของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยผ่านมุมมองทั้งภาย ในและภายนอก เพื่อนำผลการศึกษานี้เป็นพื้นฐานไปใช้ประกอบการศึกษาเรื่องราวภายในท้องถิ่น ผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ และการตัดสินใจเพื่อพิจารณาผลดีผลเสียของโครงการพัฒนาจากรัฐที่เข้ามาสู่ ท้องถิ่นได้อย่างเท่าทันและรอบคอบ

           จากพื้นที่การทำงานภาคใต้ในโครงการที่ผ่านมา คือ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษา บ้านดาโต๊ะ และ ปอเนาะภูมี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ทำให้เห็นสภาพภูมิวัฒนธรรมของเขตชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวปัตตานีและวิถี ปฏิบัติ รวมถึงอุดมการณ์ของสถาบันการศึกษาแบบปอเนาะดั้งเดิมในท่ามกลางความเปลี่ยน แปลง ส่วนการศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักวิจัยท้องถิ่นและเรียนรู้ภูมิวัฒนธรรมของ พื้นที่ภายใน คือ บริเวณเมืองยะลาเก่าหรือ “ ยาลอ ” และชุมชนภายในลุ่มน้ำสายบุรีที่ติดเขตเทือกเขาบูโด

           รายงาน วิจัยขั้นสุดท้ายและบทสังเคราะห์จากการศึกษาทำงานในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ บริเวณภายในดังกล่าว จะเสนอผลงานวิจัยในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ นี้

           ความ คืบหน้าของโครงการวิจัยดังกล่าว ในระยะ ๙ เดือนที่ผ่านมา ได้มีกิจกรรมที่เป็นลักษณะของการประชุมวางแผนงาน จัดเวทีเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการทั้งในพื้นที่และกรุงเทพฯ ตลอดจนจัดกิจกรรมเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นการพัฒนานักวิจัยท้องถิ่นไปพร้อมกับกระบวนการสร้างองค์ความรู้ เรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงจากภายในโดยนักวิจัยท้องถิ่นเอง ดังนี้


           ๖ เดือนแรก มิถุนายน – สิงหาคม : กิจกรรมการประชุมวางแผนงานวิจัยและเก็บข้อมูล

          กิจกรรม นี้เป็นวิธีการทำงานของโครงการวิจัยฯ ที่สนับสนุนให้คนในท้องถิ่นทำงานร่วมกับนักวิชาการจากภายนอก เพื่อจัดกระบวนการทำงานภายใต้คำถามในงานวิจัยที่มุ่งตอบสนองต่อการแก้ไขและ เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น โดยเริ่มจากการจัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนะนำโครงการวิจัยฯ ซึ่งได้จัดขึ้นก่อนเริ่มต้นโครงการวิจัยฯ ในเดือนพฤษภาคม และดำเนินเรื่อยมาจนถึงเดือนมิถุนายน ผ่านการประสานงานจากนักวิจัยท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ในการทำงานอยู่ก่อนแล้ว จนในเดือนสิงหาคมได้กลุ่มนักวิจัยชาวบ้านจำนวน ๒ กลุ่ม ตลอดจนประเด็นในการทำงานวิจัย คือ

           กลุ่มลุ่มน้ำสายบุรี ทำ งานวิจัยในพื้นที่ครอบคลุมเขตลุ่มน้ำสายบุรีตอนกลางไปจนถึงตอนบน คือบริเวณที่ราบเชิงเขาในเขตบ้านตะโหนด อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จนถึงอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบถึงสังคมและวัฒนธรรม(Cultural Ecology) ของชาวมลายูมุสลิม

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มลุ่มน้ำปัตตานี ทำงานวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานีที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตตำบลหน้าถ้ำ ตำบลเปาะเส้ง อำเภอยะหา และบางส่วนของอำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในประเด็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (Local History) ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ มุสลิม และคนจีนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตลอดจนบทบาทของสตรีมุสลิมที่ปรับ เปลี่ยนไป

           ในเดือนสิงหาคม เป็นการจัดปฐมนิเทศนักวิจัยในโครงการฯ ที่โรงแรมหาดแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการรายงานผลความคืบหน้าในการเก็บข้อมูลในประเด็นของแต่ละทีมวิจัย และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษาโครงการฯ และ อาจารย์ อมรา พงศาพิชญ์ นักมานุษยวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลให้การเก็บข้อมูลในอีก ๓ เดือนต่อมา ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


           กันยายน - พฤษภาคม : เก็บข้อมูลและรายงานความคืบหน้าในงานวิจัย

           การ ดำเนินงานในช่วงเวลานี้เป็นการเก็บข้อมูลของนักวิจัยท้องถิ่นสลับกับการตาม ความคืบหน้าในงานวิจัยของผู้ช่วยนักวิจัยจากกรุงเทพฯ จนได้ความคืบหน้าในงานวิจัยที่สามารถสรุปได้ คือ

           กลุ่มลุ่มน้ำสายบุรี พบว่า ชุมชนมุสลิมในเขตนี้เป็นชุมชนที่มีอายุน้อยกว่าชุมชนในหุบเขาสายบุรี และมักมีประวัติการเคลื่อนย้ายของผู้คนมาจากเมืองโกตาบารูในรัฐกลันตัน มาเลเชีย ชาวพุทธมีการตั้งถิ่นฐานน้อย ซึ่งเห็นได้จากการมีวัดทางพุทธศาสนาอยู่ไม่กี่แห่ง ชุมชนใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้จะเป็นชุมทางคมนาคมตั้งแต่เขตอำเภอศรีสาครลงมา เพราะมีท่าเรือที่ติดต่อออกทะเลที่อำเภอสายบุรีได้ ชุมชนบนชุมทางนี้จึงเกาะกลุ่มกันเป็นท้องถิ่นๆ ไป เช่น บ้านซากอและบ้านกาเยาะมาตี ในเขตอำเภอศรีสาคร เป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้นิเวศวัฒนธรรมหนึ่ง กับกลุ่มบ้านตะโหนดในเขตเชิงเขาบูโดทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอรือเสาะ ก็เป็นอีกเขตนิเวศวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ขณะที่บ้านเกะรออยู่ในกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมที่มีการทำนาพรุร่วมกัน ซึ่งบรรดาชุมชนต่างๆ เหล่านี้มีความแตกต่างกัน เพราะมีการติดต่อกันทางสังคมและเศรษฐกิจน้อย ทำให้ในแต่ละท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกระชับแน่น อันเนื่องมาจากการแต่งงานกันเองภายในชุมชน (Village Endogamy) ประกอบกับการทำมาหากิน ได้แก่ การทำสวนดูซงและสวนยางนั้น เป็นแบบสวนสมรมที่ไม่เพียงแต่ปลูกพืชเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาต้นไม้และพันธุ์พืชต่างๆ ที่ใช้ในการนำมาเป็นอาหาร ยา ตลอดจนกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจร่วมกันอีกหลายอย่าง จนทำให้ท้องถิ่นต่างๆ มีลักษณะความเป็นอยู่อย่างพอเพียง (Self Contain) โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอกเท่าใด ผู้คนแต่ละท้องถิ่นล้วนมีสำนึกร่วมกันสูง ทั้งยังมีศักยภาพในการจัดกลุ่มและองค์กรในเรื่องการศึกษาและสังคมร่วมกัน อย่างมั่นคง แต่ปัจจุบันบริเวณนี้มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำมาหากินและเศรษฐกิจค่อน ข้างมาก แลเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบการทำมาหากิน เช่น สวนดูซงที่หมดหายไป และนาพรุที่ละเลิกการทำมาระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้งเหตุความรุนแรงของสถานการณ์ก็เกิดขึ้นในบริเวณนี้ไม่น้อยไปกว่าที่ อื่น โดยไม่สามารถทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา สิ่งเหล่านี้อาจไม่มีคำตอบในงานวิจัยครั้งนี้ นอกจากความพยายามจะเข้าใจสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมดัง กล่าว

          กลุ่มลุ่มน้ำปัตตานี พบ ว่าเมืองยะลา คือ เมืองภายใน การเติบโตของชุมชนเป็นบ้านและเมืองนั้น เริ่มแต่บ้านยาลอในเขตอำเภอยะหาเข้ามายังเขตบ้านหน้าถ้ำ ก่อนที่จะเปลี่ยนตำแหน่งไปยังตัวจังหวัดยะลาในปัจจุบัน เขตบ้านหน้าถ้ำขนาบด้วยภูเขาหินปูนที่มีทั้งเขาหินอ่อนและถ้ำที่เป็นศาสน สถานมาแต่สมัยศรีวิชัย เพราะมีการพบภาพเขียนสี พระพิมพ์ รวมทั้งการใช้เป็นศาสนสถานสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีทั้งคนมุสลิม ไทยพุทธ และจีนอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ในบางพื้นที่มีคนมุสลิมไปตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน แต่พบว่ามีโบราณวัตถุและโบราณสถานทางพุทธศาสนาจึงมีการแลกเปลี่ยนพื้นที่กับ คนไทยพุทธ ส่วนคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพราะเป็นแหล่งที่เรือจากทะเลและปัตตานีมาจอดแลก เปลี่ยนสินค้ากับคนภายใน ที่มาจากโคกโพธิ์ บันนังสตา และอำเภอรามัน ในเขตหุบสายบุรี จึงพบว่าชุมชนหมู่บ้านบางแห่งมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับคนจีน เช่น บ้านเปาะเส้ง เป็นต้น

           ความ สัมพันธ์ระหว่างกลุ่มไทยพุทธ มุสลิม และคนจีนนั้น ดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น คนมุสลิมก็ร่วมงานประเพณีของไทยพุทธ แม้ว่าจะไม่เข้าร่วมในส่วนที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาก็ตาม และคนทั้งสามกลุ่มนี้ยังเชื่อถือในโชคลางและข้อห้ามในระบบความเชื่อของท้อง ถิ่นที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ และการรักษาพยาบาลร่วมกัน ในงานรื่นเริง และในพิธีกรรม เช่น หนังตะลุง มะโย่ง และดีเกฮูลู ทั้งคนไทยพุทธ มุสลิม และคนจีน ต่างก็มาดูการแสดงร่วมกัน เป็นต้น

           การ ดำเนินงานตลอด ๖ เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า ทั้ง ๒ โครงการวิจัยมีความเหมือนกันบางประการคือ โลกทัศน์ วิถีชีวิตทางศาสนาที่ยังคงยึดถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งยังมีความเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกล้วนเป็นของพระเจ้า ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมกันและสามารถเห็นได้ผ่านความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ถัดลงมา นอกไปจากนี้ “ โต๊ะครู ” ยังมีสถานภาพคล้ายและถูกยกย่องคนศักดิ์สิทธิ์และจะต้องเป็นคนที่เป็นที่ยอม รับของชุมชน และมีการนำเอาคำสอนไปปฏิบัติ ซึ่งแต่ก่อนความคิดเกี่ยวกับคนศักดิ์สิทธิ์นี้ ไม่จำกัดอยู่ในสังคมมุสลิมเท่านั้นหากยังเป็นคนที่คนพุทธและคนจีนเคารพ นับถือด้วย

           สำหรับในเรื่อง ของการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจารย์ศรีศักรได้ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่การวิจัยทั้ง ๒ แห่ง มีผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมและความเจริญทางวัตถุ เช่น การเปลี่ยนแปลงจากการมีภรรยาหลายคนมาเน้นที่การมีภรรยาคนเดียว ลูกผู้หญิงมีการศึกษาดีกว่าลูกผู้ชาย รวมทั้งการลดงานประเพณีที่มีการจัดใหญ่โตและสิ้นเปลืองลง ที่น่าสนใจก็คือ การลดลงของพื้นที่ทำการเกษตร เช่นการปลูกข้าวและการทำน้ำตาลโตนด เกิดนาร้าง และการสร้างคันดินขวางนาพรุ ตลอดจนความแตกต่างระหว่างวัยที่สะท้อนถึงการมองโลกแบบใหม่ของคนในวัยเยาว์ ที่ไม่ยึดมั่นตามการประกอบอาชีพและโลกทัศน์ของคนในรุ่นเก่า เริ่มไม่สนใจกับการเรียนรู้ทางศาสนา มีการเที่ยวเตร่ และปัญหาอบายมุขมากขึ้น


           เดือนธันวาคม - กิจกรรมเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม

           เป็น กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในการเผชิญหน้ากับปัญหาในมิติทาง วัฒนธรรม ทีมวิจัยในโครงการฯ ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนต่างวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการไปดูเวียงเก่าและการเปลี่ยนแปลงภายในเมืองแพร่ กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่สะเอียบ จังหวัดแพร่ กรณีการระเบิดเกาะแก่งและสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย การไปเยือนชายแดนแก่งผาได ที่บ้านห้วยลึก และตลาดชายแดนแม่สาย จังหวัดเชียงราย การเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

           ผล จากการจัดกิจกรรมทำให้ทีมวิจัยชาวบ้านพบว่า ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาของรัฐได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ว่าจะปรากฏออกมาในรูปของการจัดการและแย่งชิงทรัพยากร การแก้ไขปัญหาความยากจน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ปัญหาได้ส่งผลกระทบในมิติทางวัฒนธรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน ระหว่างชุมชน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การรวมตัวของคนในชุมชนในการแก้ไขปัญหาก็กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าปัญหาการพัฒนาและการจัดการแก้ไขที่เกิดจากชุมชน ต่างก็ละเลยหรือให้ความสำคัญกับมิติทางชาติพันธุ์ค่อนข้างน้อย และยังคงมีข้ออ่อนในการจัดการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำคัญมาเป็นหัวใจในการทำ งาน

           นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยชาวบ้านที่เป็นมลายูมุสลิมได้พบว่า มิติทางความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่มีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากตน เช่น ฮ่อ(หุย) หรือปาทานที่เชียงใหม่ เกิดจากการที่ศาสนาเข้าไปผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งสามารถสะท้อนกลับมาทำความเข้าใจกับความเป็นมลายูมุสลิมของตนได้เป็น อย่างดี ตลอดจนเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนระหว่างชาติพันธุ์ที่ก่อให้เกิดชุมชน ทางการค้าตามเมืองชายแดน ที่มีลักษณะทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างไปจากชายแดนภาคใต้

           สำหรับ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการนั้น ทำให้ทีมวิจัยมีความมั่นใจที่จะทำการวิจัยต่อไปและยังมีประเด็นที่สำคัญใน การทำงานและถกเถียงต่อไปอีกด้วย เช่น ประเด็นความจริงแท้ทางศาสนากับความหลากหลายทางวัฒนธรรม มุมมองใหม่ในการพิจารณาปัญหาการจัดการทรัพยากร เป็นต้น


           เดือนมกราคม - จัดเวทีสรุปผลและความก้าวหน้าในการทำวิจัย

           จัด ขึ้นที่โรงแรมเซาส์เทิร์นวิว จังหวัดปัตตานี จากการสรุปผลในการทำงานวิจัยมา ๖ เดือนพบว่า ข้อมูลพื้นฐานที่ได้เก็บมาตลอด ๖ เดือนเป็นข้อมูลที่ทำให้เห็นภาพร่างของอดีตและพัฒนาการทางวัฒนธรรมในแต่ละ พื้นที่วิจัย จึงได้วางแผนเก็บข้อมูลในอีก ๖ เดือนต่อมา โดยเน้นประเด็นการเปลี่ยนแปลงและผลที่เกิดขึ้นกับชุมชน

           ทีม ลุ่มน้ำปัตตานีหรือทีมยาลอเห็นว่า จะต้องมีการเก็บประเด็นในการเปลี่ยนแปลงมิติความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นมุสลิมหรือมุสลิมสมัยใหม่ การจัดการพื้นที่สาธารณะของชุมชนและการเปลี่ยนแปลงในการใช้พื้นที่ดังกล่าว การดำรงอยู่ของตำนาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกพันกับธรรมชาติและชาวมุสลิม เป็นต้น

           สำหรับทีมสายบุรี นั้นเห็นว่า ข้อมูลพื้นฐานยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจภาพร่างของอดีตได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เกะรอและลุ่มแม่น้ำสายบุรีตอนกลาง จึงมีความจำเป็นต้องเก็บข้อมูลพื้นฐานควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลในลักษณะที่ เปลี่ยนแปลงอันเป็นประเด็นหลักของทีมวิจัย เช่น การเกิดขึ้นของการปลูกพืชพาณิชย์ เช่น ผลไม้ต่างๆ การเข้ามาของระบบตลาดที่ทำให้ชุมชนต้องพึ่งพิงภายนอกมากขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเข้ามาของถนนหนทางที่นำมาซึ่งการประกาศเขตกรรมสิทธิ์เอกชน ทำให้คนภายนอกทั้งข้าราชการ นายทุน เข้ามาจับจอง แต่ในขณะเดียวกันการเข้ามาของถนนก็ทำให้ความเข้มแข็งทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น ด้วย


           เดือนกุมภาพันธ์ - จัดกิจกรรมเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมครั้งที่ ๒

           การ ดำเนินการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวิจัยที่เป็นตัวหลักในแต่ละทีมมาเรียน รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนงานวิจัย การสืบค้นข้อมูล การใช้ข้อมูลทางเอกสาร การเรียนรู้วัฒนธรรมมุสลิมกรุงเทพฯ และได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้กับ อาจารย์และนักศึกษาปริญญาตรีและโทสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           จาก การพูดคุยพบว่าทีมนักวิจัยมีการเตรียมข้อมูลมานำเสนอเป็นอย่างดี และมีวิธีการแจกแจงประเด็นปัญหา วิเคราะห์ และนำเสนอได้อย่างเป็นระบบ โดยนักวิจัยท้องถิ่นของโครงการเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้น มีมูลเหตุมาจากกระบวนการรวมศูนย์ในการพัฒนาของรัฐ การไม่เข้าใจและพยายามผนวกกลืนวัฒนธรรมมลายูมุสลิมให้เป็นวัฒนธรรมชาติ เป็นต้น

           นอกจากนี้ทางทีม วิจัยยังค้นพบว่าในห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ มีงานที่นำเสนอถึงวัฒนธรรมมลายูมุสลิมน้อยมาก ตลอดจนงานทางวิชาการบางชิ้นที่กระทำในพื้นที่ แต่คนในพื้นที่ไม่มีโอกาสรับรู้ก็มีอยู่เช่นกัน จึงทำให้นักวิจัยตั้งคำถามถึงการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการนำเสนอข้อมูลจากนักวิจัยท้องถิ่นต่อสาธารณชน

          ใน ขณะเดียวกันการเข้าไปเยี่ยมเยือนชุมชนมุสลิมที่กรุงเทพฯ ทางทีมวิจัยกลับพบความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและศาสนาอิสลามอาจไม่ใช่ เรื่องที่ดีเสมอไป และยังส่งผลมาให้เกิดความขัดแย้งได้ หากไม่พยายามเรียนรู้เงื่อนไขหรือเข้าใจในวัฒนธรรมนั้น เช่น การเผชิญหน้ากับการอ้างอิงตัวเองว่าเป็นอิสลามที่แท้กว่าของมุสลิมใน กรุงเทพฯ ผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือ การได้ครอบครองคัมภีร์โบราณ เป็นต้น


           แผนงานกิจกรรมในช่วง ๓ เดือนสุดท้าย (พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๔๙)

           เป็น การตามความคืบหน้างานวิจัยในลักษณะของการปรับแก้และเขียนร่วมกันระหว่างนัก วิจัยท้องถิ่นกับผู้ช่วยที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยเงื่อนไขของโครงการวิจัยฯ ที่ได้รับงบประมาณจาก สกว. ในการดำเนินงานกิจกรรม ซึ่งมีกำหนดการในการทำงานขยายไปอีก ๒ เดือน และจะนำเสนอผลงานวิจัยในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙

อัพเดทล่าสุด 6 พ.ค. 2554, 00:00 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.