ท้องถิ่นยะรัง เป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยชุมชนโบราณและแหล่งโบราณคดีที่หนาแน่นที่สุดแห่ง หนึ่งในเขตจังหวัดภาคใต้ หรืออีกนัยหนึ่งทั้งของคาบสมุทรมลายูก็ว่าได้ จากการขุดทำลายแหล่งโบราณคดีเป็นเหตุให้นักวิชาการนักโบราณคดีทั้งไทยและเทศ เข้ามาศึกษากันตลอดมาร่วมกว่า ๙๐ ปี
ผังของชุมชนบ้านเมืองขนาดใหญ่ในราวคริสศตวรรษที่ ๖-๗ หรือก่อนหน้านั้น
สัมพันธ์กับรัฐศรีวิชัยในเขตคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะที่นับถือลัทธิศาสนาฮินดู-พุทธ
แต่ละท่านมีความเห็นพ้องกันว่าชุมชนโบราณที่มากไปด้วยแหล่งโบราณคดีดังกล่าวนี้ มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ เป็นที่ตั้งเมืองสำคัญของรัฐในสมัยยุคต้นประวัติศาสตร์ที่มีการดำรงอยู่ อย่างสืบเนื่อง จนถึงสมัยที่เป็นรัฐปัตตานีในสมัยกรุงศรีอยุธยาลงมา โดยเฉพาะรัฐลังกาสุกะที่ต่อมา คือ ปัตตานี แต่ความเห็นที่ต่างกันของบรรดานักปราชญ์เหล่านี้คือ การกำหนดชื่อรัฐในยุคต้นประวัติศาสตร์ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ นี้ เพราะต่างก็นำชื่อของลังกาสุกะไปเปรียบเทียบกับชื่อของรัฐที่ปรากฏในจดหมาย เหตุจีนโดยเฉพาะคำว่า หลังยะสิ่ว
จุดอ่อนของการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติชุมชนโบราณในเขตยะรังที่แล้วมา นั้น คือการเอาหลักฐานจากภายนอกมากำหนดเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าในสมัยหลังๆจนกระทั่งปัจจุบันอันเป็นเวลาที่มีการสำรวจและขุดค้นทาง โบราณคดีกันอย่างกว้างขวางแล้วก็ตาม ก็ยังมีการตีความที่ผูกกับการกำหนดชื่อเมืองและชื่อรัฐจากหลักฐานจากภายนอก เช่นเดิม ทำให้ไม่เห็นพัฒนาการจากภายในที่สะท้อนให้เห็นจากหลักฐานทางโบราณคดีที่มี อย่างมากมาย
ดังนั้นในที่นี้การตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างภาพพัฒนาการของบ้านเมืองในท้องถิ่นยะรัง จะเป็นการพิจารณาหลักฐานในตำแหน่งทางภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ในสมัยรัฐปัตตานี อันเป็นพัฒนาการของบ้านเมืองในยุคหลังก่อนแล้วจึงพิจารณาย้อนหลังไปถึงสมัย อดีตที่ห่างไกล
ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และตำนานท้องถิ่นแล้ว แหล่งโบราณคดีและชุมชนโบราณในเขตยะรังเกิดขึ้นในลุ่มน้ำตาปี จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐปัตตานีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรื่องราวของปัตตานีนั้น ผู้รู้มักสนใจแต่เรื่องทางเอกสารและร่องรอยของบ้านเมืองที่อยู่ตามชายฝั่ง ทะเล โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองเป็นสำคัญ ทั้งๆที่รัฐปัตตานีนั้นเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันทั่วไปว่า เป็นรัฐอิสลามที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากหลักฐานทางโบราณคดีในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า ร่องรอยของชุมชนโบราณและหลักฐานทางโบราณคดีที่นายอนันต์ วัฒนานิกร ปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานี ได้ทำการศึกษาค้นคว้ามากว่า ๔๐ ปี จนกระทั่งปัจจุบัน ที่กำหนดว่าอยู่ในเขตบ้านประแวและบ้านวัด รวมทั้งระบุถึงการกระจายของแหล่งศาสนสถานกว่า ๓๑ แห่งนั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และมีการสืบเนื่องที่เห็นได้ชัดเจน กว่าแห่งอื่นๆในดินแดนภาคใต้ทั้งหมด ทำให้สามารถนำมาเชื่อมโยงกับบรรดาแหล่งชุมชนโบราณในลุ่มน้ำปัตตานีทั้งหมด และเห็นพัฒนาการของรัฐได้โดยมองไปที่ลุ่มน้ำปัตตานี ดังนี้
พื้นที่ตั้งแต่เขตอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มาทางตะวันออกจนถึงเขตอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีนั้น เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ไหลจากเทือกเขาสันกาลาคีรีทางทิศใต้ที่กั้น เขตแดนประเทศไทยออกจากประเทศมาเลเซียทั้งสิ้น แม่น้ำในบริเวณดังกล่าวนี้มีอยู่หลายสาย คือ คลองเทพาหรือแม่น้ำเทพา แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ตามลำดับ โดยที่ลำน้ำแต่ละสายไหลลงจากเทือกเขาแล้วผ่านหุบเขาแต่ละหุบเขาลงสู่ที่ราบ ลุ่มและลงสู่ทะเลโดยมีปากแม่น้ำของตนเอง เหตุที่เกิดลักษณะที่เป็นหุบเขาขึ้นนั้น เพราะมีเขาลูกโดดเป็นกลุ่มๆในบริเวณพื้นที่ตอนกลางก่อนถึงเขตชายทะเล แต่ละลำน้ำมีที่ราบลุ่มรูปสามเหลี่ยม (delta) ของตนเอง อันเกิดจากการที่ลำน้ำได้นำกรวดทรายและโคลนตะกอนจากเทือกเขาและที่สูงอัน เป็นบริเวณต้นน้ำลงมาทับถม ทำให้เกิดเป็นพื้นที่งอกยื่นออกไปในทะเล แต่การงอกของแผ่นดินดังกล่าวนี้ ยังไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการกระทำของแม่น้ำเท่านั้น หากยังผนวกเข้ากับการกระทำของคลื่นลมบริเวณชายฝั่งทะเล ยังได้นำเอาทรายจากท้องทะเลเข้ามาทับถมเป็นแนวสันทรายตรงชายหาดด้านหน้าของ ที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมอีกด้วย
ลักษณะของการงอกของสันทรายและดินดอนสามเหลี่ยมนี้ ทำให้บริเวณที่ราบลุ่มมีทั้งบริเวณที่ดอนเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงเหมาะแก่การเพาะปลูก ในขณะที่ชายฝั่งทะเลมีทั้งแนวตรงที่เป็นสันทรายและที่เวิ้งที่เป็นอ่าวเหมาะ กับการจอดเรือพักสินค้า ซึ่งในบรรดาปากแม่น้ำของทั้งสามสายนี้ แม่น้ำปัตตานีมีลักษณะเป็นที่กำบังลมได้ดีกว่าที่อื่นๆ
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เกิดบริเวณสถานีพักสินค้าซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นเป็น เมืองท่าสำคัญที่มีผลส่งต่อไปถึงการเกิดเมืองภายในและเส้นทางข้ามคาบสมุทร ขึ้น ในบริเวณต้นน้ำทั้งแม่น้ำเทพา แม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรีต่างก็ถือกำเนิดจากต้นน้ำบนเทือกเขาสันกาลา คีรีในเขตอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา และอำเภอศรีสาครเหมือนกัน และจากต้นน้ำเหล่านี้ต่างก็สามารถข้ามสันปันน้ำไปยังบรรดาต้นน้ำของแม่น้ำสุ ไหงมูคาและสุไหงเประที่จะลงไปสู่บรรดาบ้านเมืองในเขตรัฐเดคาห์ หรือไทรบุรีและรัฐเประทางฝั่งทะเลอันดามันของมาเลเซียได้ แต่เส้นทางข้ามคาบสมุทรกลับเป็นเส้นทางที่ข้ามสันปันน้ำจากเขตมาเลเซียมาลง ทางลำน้ำปัตตานีเพื่อไปยังชุมชนบ้านเมืองทางปากน้ำที่มีอ่าวจอดเรือได้ดี กว่าทางลำน้ำเทพาและลำน้ำสายบุรีตามที่กล่าวมาแล้ว
ถ้าหากพิจารณาลักษณะภูมิประเทศที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของบ้านเมืองในลุ่มน้ำ ปัตตานีแล้วอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ บริเวณคือ ที่สูงและทิวเขา บริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขา และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำของฝั่งทะเล
บริเวณ ที่สูงและภูเขาอันเป็นบริเวณแรกนั้นอยู่ในเขตอำเภอบันนังสตาขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันนี้ทางราชการได้ทำเป็นอ่างเก็บน้ำ บริเวณนี้ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยประวัติศาสตร์ คงมีหลักฐานในยุคก่อนประวัติศาสตร์ประปราย แต่น่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของป่านำมาเป็นสินค้าออกได้ หลายอย่าง
บริเวณหุบเขาอันเป็นที่ราบลุ่มที่อยู่ตรงกลางของลุ่มน้ำ เป็นแหล่งที่ผู้คนมาสร้างบ้านแปงเมืองได้ อีกทั้งมีบรรดาถ้ำและเขาลูกโดดที่ผู้คนใช้กำหนดเป็นสถานที่และการประกอบ พิธีกรรมกันหลายแห่ง ปัจจุบันบริเวณนี้อยู่ในท้องที่เขตอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา จากการสำรวจทางโบราณคดีพบตำแหน่งเมืองโบราณที่บริเวณสนามบิน ซึ่งก็ได้ถูกทำลายให้หมดไปครั้งสร้างสนามบินแล้ว เมืองโบราณดังกล่าวนี้อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปัตตานี แต่บรรดาศาสนสถานที่สัมพันธ์กับเมืองนี้ยังคงอยู่ตามบรรดาถ้ำและเขาลูกโดด ซึ่งเมื่อมีการสำรวจแล้วพบเครื่องมือหินและเศษภาชนะดินเผาของมนุษย์สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ โบราณสถานทางพุทธศาสนา ภาพเขียนสีและพระพุทธรูป ในบรรดาเขาและถ้ำเหล่านี้ ถ้ำเขาคูหาและถ้ำศิลป์มีคนรู้จักมากกว่าเพื่อน เพราะมีการใช้สืบเนื่องเรื่อยลงมา ในสมัยหลัง ที่ถ้ำคูหามีการกำหนดให้เป็นวิหารที่มีการสร้างพระพุทธรูปใหญ่น้อยขึ้นบูชา มีควรแก่สมัยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เพราะพบพระพิมพ์ดินดิบทั้งแบบศิลปะทวารวดีและศิลปะศรีวิชัยปะปนกัน ภายหลังมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะพระนอน เลยกลายเป็นศาสนสถานที่สำคัญจนปัจจุบันนี้
ส่วนถ้ำศิลป์นั้นไม่มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น ถ้ำคูหาเพราะทางขึ้นลำบาก หากถูกใช้เป็นถ้ำที่จำศีลภาวนาของบรรดาพระภิกษุและนักพรต ในระยะแรกพบพวกเครื่องมือหินและภาพเขียนสีของกลุ่มชนที่ยังไม่นับถือพุทธ ศาสนา เช่น ภาพคนนุ่งผ้าเตี่ยว เป่าลูกดอกในการล่าสัตว์ เป็นต้น ในระยะหลังที่เป็นที่พำนักของพระสงฆ์แล้ว มีการเขียนภาพสีเป็นภาพพุทธประวัติและภาพพระพุทธเจ้าในคติทางมหายานขึ้น มีอายุไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ และยังมีภาพชาดกในรุ่นหลังลงมาอีกแต่ทว่าลบเลือนไปเกือบหมดสิ้นแล้ว จากหลักฐานดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า บริเวณลุ่มน้ำปัตตานีตอนกลางที่อยู่ในเขตจังหวัดยะลานั้นเป็นบ้านเมืองภายใน ของเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรที่เกิดขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ลงมา
บริเวณที่ราบลุ่มน้ำในชายฝั่งทะเล นับเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดในเรื่องพัฒนาการของบ้านเมืองและรัฐ บริเวณดังกล่าวนี้อยู่ในเขตจังหวัดปัตตานีทั้งหมด โดยเริ่มแต่บริเวณกิ่งอำเภอแม่ลานอันเป็นบริเวณที่ลำน้ำปัตตานีไหลผ่านที่ ราบบริเวณหุบเขาจากเขตอำเภอเมืองยะลาลงมา บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มเป็นเวิ้ง โดยมีเขากาลาคีรีและเขาลูกโดดที่บ้านนาเกตุในเขตอำเภอโคกโพธิ์เป็นกรอบทาง ซีกตะวันตกและมีกลุ่มเขาลูกโดด ตั้งแต่กิ่งอำเภอทุ่งยางแดงผ่านอำเภอมายอไปจนจรดอำเภอปะนาเระที่ชายฝั่งทะเล เป็นกรอบด้านตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเกิดจากการทับถมของแม่น้ำ ทำให้แยกออกเป็นหลายสายไปออกทะเลที่นับแต่เขตอำเภอหนองจิกผ่านอำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง มาจนอำเภอปะนาเระ อาจกล่าวได้ว่าในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลนี้ ลำน้ำปัตตานีแยกออกเป็นหลายสาย คล้าย ๆ กับปากซ่อม แต่บริเวณที่เป็นลำน้ำสำคัญในขณะนี้มีสองสายคือ ลำน้ำปัตตานี และลำน้ำยะหริ่ง และพื้นที่ชายฝั่งทะเลของทั้งสองลำน้ำนี้มีการกระทำของคลื่นลมที่ทำให้เกิด สันทรายขึ้น กลายเป็นอ่าวและสันทรายที่เหมาะแก่การออกเรือเดินทะเลยิ่งกว่าบริเวณอื่นๆ
ปัจจุบันเมืองที่อยู่ใกล้ทะเล คือ เมืองปัตตานีที่อยู่ริมแม่น้ำปัตตานี และเมืองยะหริ่งริมลำน้ำยะหริ่ง เป็นชุมชนที่เกิดใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ลงมา แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมืองปัตตานีนั้นอยู่บนสันทรายชายอ่าวปัตตานีที่อยู่ ระหว่างลำน้ำปัตตานีและลำน้ำยะหริ่งอยู่ในเขตบ้านกรือเซะที่มีมัสยิดกรือเซะ เป็นศูนย์กลาง นายอนันต์ วัฒนานิกร ได้ทำการสำรวจและบันทึกหลักฐานไว้ว่าเคยเห็นทั้งแนวที่เป็นกำแพงเมือง และยังพบเศษภาชนะดินเผาเคลือบที่เป็นของจีนและของต่างประเทศมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตรงริมลำน้ำเก่าที่ผ่านท้ายเมืองในเขตบ้านกือเซะไปออกทะเลที่บ้านปาเระนั้น พบร่องรอยของชุมชนโบราณริมฝั่งน้ำและพบเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาทั้งแบบเผา แกร่งและแบบเคลือบ ที่มีอายุขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ลำน้ำปัตตานีในสมัยนั้นมาออกทะเลในบริเวณนี้ อีกทั้งเป็นลำน้ำที่สัมพันธ์กับเมืองปัตตานีในสมัยอยุธยาอย่างแท้จริง จากการสอบค้นของนายอนันต์ วัฒนานิกร พบว่าลำน้ำเก่าสายนี้มีร่องรอยที่ผ่านลงมาถึงแหล่งชุมชนโบราณและแหล่ง โบราณคดีในเขตบ้านประแว และบ้านวัดในเขตอำเภอยะรัง
จากการศึกษาจากแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นว่า แหล่งชุมชนโบราณในเขตบ้านประแวและบ้านวัดนั้น นอกจากมีร่องรอยของลำน้ำเก่าที่มาจากเขตบ้านกรือเซะหรือเมืองปัตตานีในสมัย อยุธยาเข้ามาถึงแล้ว ยังพบว่ามีร่องรอยทางน้ำที่ไปสัมพันธ์กับลำคลองตันหยงและลำน้ำยะหริ่งทาง ด้านตะวันออกอีกด้วย ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าบริเวณที่ชุมชนโบราณตั้งอยู่นั้น แต่เดิมเป็นที่ดอนทรายเกิดขึ้นจากการทับถมของลำน้ำปัตตานีตรงที่แยกออกมา หลายสาย ตั้งแต่บริเวณกิ่งอำเภอแม่ลานลงมา หรืออีกนัยหนึ่งบริเวณที่ดอนคล้ายเกาะที่ถูกขนาบด้วยลำน้ำหลายสาย ทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออก แต่การติดต่อกับชายทะเลนั้นคงเป็นตามทางลำน้ำเก่าที่ไหลไปออกทะเลที่อ่าว ปัตตานีใกล้กับเมืองปัตตานีที่บ้านกรือเซะนั่นเอง และจากตำแหน่งที่ตั้งที่ห่างทะเลไม่มากนัก สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนโบราณที่บ้านประแวและบ้านวัด มีลักษณะเป็นเมืองท่าที่อยู่เข้ามาในลำน้ำใหญ่ เช่นเดียวกับที่เมืองคูบัว เมืองนครปฐม ( นครชัยศรี ) รวมทั้งอยุธยา และกรุงเทพฯ ด้วย คือ ไม่อยู่ติดชายทะเล อีกทั้งในระยะเวลาที่บ้านเมืองที่อำเภอยะรังยังรุ่งเรืองอยู่นั้น ก็น่าจะอยู่ใกล้ทะเลมากกว่าในขณะนี้