หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
บรรยายสาธารณะ : สถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้
บทความโดย Najib Bin Ahmad
เรียบเรียงเมื่อ 19 ก.พ. 2559, 11:31 น.
เข้าชมแล้ว 44410 ครั้ง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2556 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้มีการจัดบรรยายสาธารณะในหัวข้อเรื่อง “สถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้” บรรยายโดย คุณณายิบ อาแวบือซา สถาปนิกซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ที่เกิดและเติบโตใช้ชีวิตบนเรือนมลายูมาหลายปี การคุณณายิบ อาแวบือซาจบการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมและมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอยู่บนเรือนมลายู ประกอบกับการที่คุณณายิบมีความสนใจในเรื่องราวของภูมิวัฒนธรรมบ้านเกิดเมืองนอน โดยเฉพาะงานทางสถาปัตยกรรมแบบมลายูที่เริ่มสูญหายไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการมีโอกาสเดินทางไปสำรวจเยี่ยมชมชุมชนชาวมลายูทั้งในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้และในประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง ทำให้การศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมมลายูที่คุณณายิบกำลังทำอยู่นี้เป็นสิ่งที่ควรนำมาบอกเล่า เผยแพร่ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน งานศึกษาเช่นนี้ทำได้ยากและที่มีอยู่ก็มีเรื่องราวอยู่ไม่มากนัก

 

บรรยายสาธารณะ ครั้งที่ ๓ / ปี ๒๕๕๖ : สถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ ตอนที่ ๑

 

บรรยายสาธารณะ ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๕๖ : สถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ ตอนที่ ๒

 

************************************************************************************************

 

งานสถาปัตยกรรมมลายู ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มันค่อนข้างจะเป็นเรื่องหลบซ่อน ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักอยู่บ้างก็คงจะเป็น มัสยิดตะโละมาเนาะและมัสยิดกรือเซะ แต่งานสถาปัตยกรรมมลายูที่เป็น วัง บ้านเก่า หรือว่างานที่เป็นงานท้องถิ่นจริงๆนี่ ก็หลบๆ ซ่อนๆ และนับวันจะมีสภาพที่ผุพังไป ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 ก็มักจะทำให้คนสนใจเรื่องในสามจังหวัดภาคใต้ในมุมมองของความรุนแรงจากเหตุการณ์ไม่สงบมากกว่าที่จะมองเห็นงานด้านอื่น อาจจะมองเห็นงานสถาปัตยกรรมในพื้นที่อยู่บ้างในกรณีของมัสยิดกรือเซะและมัสยิดตะโละมาเนาะ แต่ก็เป็นการนำสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือที่มีนัยยะทางการเมือง การปกครอง และการท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งจะปรากฏในเรื่องราวของตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว การชูประเด็นมัสยิด 300 ปีที่ตะโละมาเนาะ และการเผยแพร่ข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของหน่วยงานของรัฐในเรื่องรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดตะโละมาเนาะว่าเป็นงานที่ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วงานทางสถาปัตยกรรมและงานศิลปะ ไม่ว่าที่ใดก็ตาม มักจะมีลักษณะร่วม มีการหยิบยืม ต่อยอดมาทั้งสิ้น การที่จะมองงานสถาปัตยกรรมและงานศิลปะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเคยเป็นดินแดนปาตานีมาก่อนว่า เหมือนหรือคล้ายกับงานสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง ว่าเป็นเพราะการที่เคยตกเป็นเมืองประเทศราชหรืออยู่ในเขตการปกครองสยามนั้น ออกจะเป็นเรื่องที่มองอย่างฉาบฉวยเกินไป หรือเป็นการมองในแบบที่มีนัยยะทางการเมืองการปกครองซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งเป็นการมองงานสถาปัตยกรรมที่มองข้ามลักษณะร่วมของงาสถาปัตยกรรมในอุษาคเนย์ เพราะสภาพอากาศหรือสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมือนกัน ย่อมเป็นตัวกำหนดลักษณะร่วมในงานสถาปัตยกรรมด้วยเช่นกัน และการที่ปาตานีอยู่ในเส้นทางเดินเรือ เป็นเมืองท่าค้าขายที่รุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14 ทำให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางมายังเมืองท่าปาตานี จนก่อให้เกิดการผสมผสานทางศิลปะ วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ศาสนาและสถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งการผสมผสานทางชาติพันธ์ ทำให้ในสังคมของชาวมลายูมีลักษณะการเปิดรับสิ่งต่างๆจากภายนอกได้โดยง่าย
 

ในงานสถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นเขตเมืองปาตานีในอดีตนั้นก็เช่นเดียวกัน มีลักษณะการผสมผสานทางศิลปะที่หยิบยืม ต่อยอดจากที่อื่นอย่างมากมาย แต่ก็ยังแบ่งแยกย่อยความแตกต่างตามเขตลักษณะพื้นที่ทางภูมิวัฒนธรรมได้ 2 เขต คือ เขตแผ่นดินชายฝั่งทะเลและเขตแผ่นดินตอนในหรือเขตภูเขา
 

สถาปัตยกรรมในเขตชายฝั่งทะเล คือ พื้นที่เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เป็นเขตที่อยู่ในเส้นทางการเดินเรือ มีความเจริญมากกว่าเขตแผ่นดินตอนใน ผู้คนเขตนี้มีการติดต่อ ไปสู่มาหาสู่กับเมืองใกล้เคียง คือ อยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลา กลันตัน ตรังกานู ยะโฮร์ มะละกาและอาเจ๊ะห์ มีการติดต่อกับชาวต่างชาติอย่างกว้างขวางและยาวนาน โดยมีการติดต่อกับ ฮอลันดา โปรตุเกส ชวาและจีน โดยเฉพาะในช่วงหลังที่แหลมมลายูตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พื้นที่ในเขตชายฝั่งทะเลนี้จะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชวาและจีนค่อนข้างมาก งานสถาปัตยกรรมในเขตนี้มักมีการประดับประดาด้วยลวดลายที่สวยงาม ใช้วัสดุผสมที่ผลิตในท้องถิ่นและนำเข้ามาจากต่างถิ่น ส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือทางช่างสูง และในงานเด่นๆหลายแห่งในเขตนี้ นอกเหนือจากการใช้ช่างในท้องถิ่น ยังมีการว่าจ้างจากต่างแดนมาด้วย เช่นช่างจากตรังกานูและช่างชาวจีน
 

สถาปัตยกรรมในเขตแผ่นดินตอนในหรือเขตภูเขา คือ พื้นที่เมืองรามันและเมืองระแงะ เป็นเขตที่เป็นภูเขาและป่าทึบ มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่าและสินแร่ต่างๆ ผู้คนเขตนี้มีการติดต่อกับเมืองปะลิส เมืองเคดาห์ เมืองเปรัก และเมืองปีนัง ในยุคสมัยก่อนเมืองปาตานีหรือที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองลังกาสุกะ มีการเชื่อมโยงกับตำนานมหาวังษาของเมืองเคดาห์ และได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้มากกว่าที่จะรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีน งานสถาปัตยกรรมในแถบแผ่นดินตอนในหรือแถบเทือกเขานี้ มักสร้างด้วยวัสดุที่มีอยู่ในละแวกนั้น สร้างอย่างแข็งแรง แต่เรียบง่าย ไม่เน้นการแกะหรือฉลุลายที่ซับซ้อน และใช้ช่างในท้องถิ่นเป็นหลัก จะมีช่างจากต่างถิ่นอยู่บ้างก็เป็นเพียงช่างจากเคดาห์และเปรักเท่านั้น


ลักษณะร่วมทางสถาปัตยกรรมในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะในสถาปัตยกรรมประเภทเรือนก็คือ การใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก การใช้หลังคาทรงจั่ว การใช้ผนังฝาลูกฟัก และการยกใต้ถุนสูง ส่วนใต้ถุนของเรือนมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ มีลักษณะที่แตกต่างจากเรือนในภาคกลางอยู่ค่อนข้างจะเห็นเด่นชัดก็คือ การวางเสาเรือนบนฐานเสา ซึ่งจะแตกต่างจากเรือนในภาคกลางที่จะวางเสาบนงัวหรือแระ

 

 


ความแตกต่างของระบบรับน้ำหนักในเรือนแถบภาคกลางและเรือนมลายู

 

การวางเสาเรือนบนฐานเสาของเรือนมลายูทำให้เกิดประเพณีขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือ ประเพณีการย้ายเรือน ซึ่งเป็นประเพณีการลงแขกในการเคลื่อนย้ายเรือนของคนในชุมชนที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสามจังหวัดภาคใต้ในอดีต ปัจจุบันประเพณีการย้ายเรือนแทบจะสูญหายไปจากสังคมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้แล้ว ส่วนการยกใต้ถุนสูงเพื่อหนีน้ำท่วมเหมือนเรือนในแถบลุ่มน้ำในภาคกลางตามที่เข้าใจกันมานั้น ก็นับเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะใช้มาอ้างได้มากนักกับเรือนในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะเรือนในแถบแผ่นดินตอนใน ซึ่งเป็นเขตเชิงเขา อยู่ในที่สูงและน้ำไม่เคยท่วมเลย กลับพบว่ามีการยกใต้ถุนเรือนที่สูงกว่าเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่น้ำท่วมถึงทุกปี รวมทั้งยังพบว่าเรือนในแถบเชิงยกพื้นสูงกว่าเรือนในเขตชายฝั่งทะเลอีกด้วย เชื่อกันว่าปัจจัยที่ทำให้เรือนมลายูในแถบเชิงยกใต้ถุนสูงกว่าเรือนแถบริมแม่น้ำและแถบชายฝั่งทะเลก็คือ การป้องกันภัยจากสัตว์ร้าย แต่ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่พบเจอจากการสอบถามช่างและคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ว่า เป็นเพราะสมัยก่อนพื้นที่ของแผ่นดินตอนในเขตเทือกเขา ซึ่งเป็นเขตที่ห่างไกลจากความเจริญ มีโจรผู้ร้ายอยู่มาก ทำให้ต้องยกเรือนให้สูงมากๆเพื่อป้องกับภัยจากการลักขโมย การปล้นและการลอบทำร้าย และการมีปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างเรือนยกพื้นสูง ก็คือ การที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทำให้การยกพื้นเรือนสูงซึ่งต้องใช้ไม้โครงสร้างเรือนมากกว่าเรือนที่ยกพื้นสูงไม่มาก ไม่ได้เป็นปัญหาของการสร้างเรือนในแถบเชิงเขาแต่อย่างใด
 

นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว ศาสนาและความเชื่อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบและลักษณะของงานสถาปัตยกรรมมลายู ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของลวดลายที่ใช้ประดับในงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอิทธิพลทางความเชื่อของศาสนาอิสลามในเรื่องข้อถือสาในการการห้ามใช้รูปคนหรือสัตว์ในงานศิลปะ ทำให้รูปแบบของลวดลายที่ใช้ในสถาปัตยกรรมมลายูมักจะเป็น ลายพฤกษชาติ ลายเรขาคณิต ลายที่เลียนแบบจักรวาลและลายอักษรประดิษฐ์เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งยังมีความเชื่อที่ผสมผสานกับความเชื่อในศาสนาฮินดูและจีนมาผสมผสานกับอิสลามในรูปแบบของการเลือกทำเลสร้างเรือน การดูฤกษ์ดูยาม และการยกเสาเอก

 

 

 

การใช้ผนังลูกฟักก็เป็นลักษณะร่วมในงานสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่อุษาคเนย์ จะต่างกันก็เพียงรายละเอียดบางอย่างที่ทำให้แยกประเภทหรือจำแนกได้ว่าเป็นเรือนที่สร้างตามแบบสกุลช่างใด กล่าวคือ การสร้างผนังลูกฟักในสกุลช่างอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์จะสร้างเป็นฝาปะกน ส่วนผนังลูกฟักในเขตนูซันตารา(แหลมมลายู) ตั้งปาตานีจนสุดปลายแหลม ผนังลูกฟักที่เจอในเรือนมลายูแถบนี้ ก็จะแยกประเภทผนังลูกฟักตามสกุลช่างได้หลายสกุล เช่น ผนังลูกฟักแบบปัตตานี ผนังลูกฟักแบบกลันตันและผนังลูกฟักแบบตรังกานู
 

และลักษณะร่วมของเรือนในอุษาคเนย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้หลังคาจั่ว ถึงแม้รูปแบบหลังคาของเรือนมลายูจะมีอยู่หลายรูปแบบ อาทิ หลังคาลีมาหรือหลังคาปั้นหยา หลังคาบลานอหรือหลังคามะนิลา และหลังคาแบบดั้งเดิมซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่าหลังคาแบบนูซันตารา แต่ก็มีเรือนมลายูไม่น้อยที่ใช้หลังคาทรงจั่วหรือหลังคาที่เรียกกันในภาษามลายูว่าหลังคาแมและห์ ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นว่าหลังคาทรงจั่วเป็นลักษณะร่วมของเรือนในอุษาคเนย์ก็เพราะว่า เราสามารถพบเจอเรือนที่ใช้หลังคาทรงจั่วได้ทั่วไปในอุษาคเนย์ ตั้งแต่เวียดนามไปจนถึงเกาะสุลาเวสีในอินโดนีเซียเลยทีเดียว แต่ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างในเรื่องของรายละเอียด เช่นหลังคาจั่วของเรือนมลายูจะลดระดับลง และมักจะเป็นหลังคาแฝดโดยใช้รางน้ำฝนเชื่อมต่อกัน ไม่สูงเหมือนหลังคาจั่วในแบบเรือนไทยภาคกลาง ซึ่งอาจจะมาจากการที่พื้นที่แถบปาตานีอยู่ในเขตลมมรสุมและอยู่ริมฝั่งทะเล มีฝนตกชุกและลมแรง จำเป็นที่จะต้องสร้างหลังคาจั่วที่ชันเพื่อระบายน้ำฝน แต่ก็ต้องไม่สูงเท่าเรือนไทยภาคกลาง เพราะมีปัญหาเรื่องลมที่แรง จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างหลังคาแฝดเพื่อลดความสูงของหลังคาลงโดยที่ยังคงความลาดชันเอาไว้

 


มัสยิดตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

 

หลังคาจั่วหรือหลังคาแมและห์ในสถาปัตยกรรมมลายูที่น่าสนใจและมีลักษณะที่แตกต่างจากหลังคาจั่วในสกุลช่างอื่นก็คือ หลังคาจั่วในสกุลช่างตรังกานู เป็นหลังคาจั่วที่คล้ายกับหลังคาจั่วของเรือนไทยในภาคกลางมากที่สุด แต่ก็มีข้อแตกต่างที่ปั้นลม ปลายปั้นลมของหลังคาจั่วเรือนไทยภาคกลางจะสร้างเป็นตัว “เหงา” แต่หลังคาจั่วในสกุลช่างตรังกานู ปลายของปั้นลมจะเป็นปลายแบบ “หางปลา” ซึ่งความคล้ายกันมากนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนว่า หลังคาจั่วของมัสยิดตะโละมาเนาะ ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากเรือนไทยภาคกลาง

 

 

 


ความแตกต่างระหว่างหางปลาของปั้นลมแบบตรังกานู กับ ตัวเหงาของปั้นลมแบบภาคกลาง

 

หลังคาแบบนูซันตารา เป็นรูปทรงหลังคาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในนูซันตาราและชวา เป็นหนึ่งในรูปทรงหลังคาที่ใช้ในสถาปัตยกรรมมลายูยุคแรกๆ ก่อนที่หลังในแบบลีมาหรือปั้นหยาจะได้รับความนิยม หลังคาแบบนูซันตารานี้จะเป็นหลังคาปั้นหยาซ้อนกันหลายชั้น  มีรูปแบบคล้ายจันฑิในสมัยมัชฌปาหิตที่มีรูปทรงคล้ายปิรามิด มักจะใช้กับสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ประเภทศาสนสถานหรือวัง

 

รูปแบบหลังคาสามารถที่จะแบ่งประเภทได้ดังนี้

 

            

นอกเหนือจากรูปแบบหลังคาที่เป็นจุดเด่นของสถาปัตยกรรมมลายูแล้ว ยังมีลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมมลายูโดยเฉพาะเรือนอีกอย่าง คือ ลวดลายประดับ

 

 

ลวดลายประดับที่ประดับบนเรือนมลายูมีทั้งลวดลายแบบแกะสลักและลวดลายฉลุ หรือบางครั้งก็จะผสมทั้งการฉลุและแกะสลักในงานชิ้นเดียวกัน อิทธิพลทางความเชื่อของศาสนาอิสลามมีผลอย่างมากต่อรูปแบบของลายประดับบนเรือนมลายู ด้วยเหตุที่ความเชื่อทางศาสนาอิสลามมีข้อถือสาในเรื่องของการทำรูปปั้นและวาดรูปคนและสัตว์ ลวดลายที่พบในเรือนมลายูจึงมักจะเป็นลวดลายพฤกษชาติ ลายเรขาคณิต ลวดลายที่เลียนแบบธรรมชาติและลวดลายอักษรประดิษฐ์เสียเป็นส่วนใหญ่

 

ในเรือนมลายูแผ่นดินตอนใน เรือนจะมีการแกะสลักไม้และมีงานฉลุไม้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนักเท่าเรือนมลายูทางแถบริมฝั่งทะเล เรือนในแถบแผ่นดินตอนในมักจะมีการเขียนลวดลายด้วยสี ประดับตามหน้าบัน (ซึ่งมักจะอยู่ในเรือน บริเวณห้องนอน) มากกว่า

 

                             

ถึงแม้ว่ามัสยิดกรือเซะและมัสยิดตะโละมาเนาะ จะเป็นงานสถาปัตยกรรมประเภทศาสนสถานที่เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย แต่ในงานสถาปัตยกรรมที่เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น วัดชลธาราสิงเห ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีรูปแบบเฉพาะของท้องถิ่นที่แตกต่างจากที่อื่น กุฎิและอาคารไม้ต่างภายในวัดก็เป็นเรือนในสถาปัตยกรรมมลายูทั้งสิ้น และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือที่วัดเทพนิมิต ตำบลบ้านกลาง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเดิมเป็นวัดร้าง จนกระทั่ง “ท่านดิน” พระสงฆ์ที่เป็นคนท้องถิ่นบ้านกลางเข้าไปจำพรรษาและพัฒนาสภาพวัดจนสามารถฟื้นฟูสภาพวัดได้ โดยที่ท่านดินจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เพียงท่านเดียว ล้อมรอบไปด้วยชาวบ้านที่เป็นคนมลายูมุสลิมมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2547 มาจนถึงทุกวันนี้

 


วัดเทพนิมิต อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

 

ถึงแม้ว่าอุโบสถของวัดเทพนิมิตแห่งนี้จะมีรูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรมไปทางอยุธยาตอนปลาย แต่ภาพเขียนภายในโบสถ์ก็เป็นงานของศิลปินในท้องถิ่นที่สะท้อนรูปแบบความเชื่อของศาสนาพุทธในท้องถิ่นปะนาเระในสมัยนั้น  ภาพเขียนสีบนผนังของวัดชลธาราสิงเหและวัดเทพนิมิตล้วนแล้วเป็นงานของช่างในท้องถิ่นที่มีการใช้สีครามเป็นโทนหลักในการเขียน ศาลาขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวัดแห่งนี้ ก็มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมมลายูท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด ในบางรายละเอียดหลายๆอย่างมีความคล้ายกับศิลปกรรมในมัสยิดตะโละมาเนาะ ที่เป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงในงานฝีมือช่างและความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่มีลักษณะของสังคมพหุวัฒนธรรมในสมัยนั้นอย่างชัดเจน

 

งานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในสามจังหวัดภาคใต้ นอกเหนือจากเรือนและศาสนสถานแล้ว ก็ยังมีงานสถาปัตยกรรมประเภทอื่นอีก เช่น วัง เรือนจ้าเมือง  กุโบร์หรือสุสาน บ่อน้ำ ศาลาและเรือนห้องแถวค้าขายหรือ Shop House

 

หนึ่งในหลายๆตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมที่คนในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้เข้าใจผิดกันมากว่าเป็นสถาปัตยกรรมมลายูก็คือ เรือนเจ้าเมืองยะหริ่ง(หลังปัจจุบัน) ที่มีลักษณะรูปแบบเป็นเรือนขนมปังขิง ซึ่งเป็นเรือนที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในยุคอาณานิคมที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงในช่วงสมัยนั้น (สมัยปลายรัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 6) เรือนประกอบกับเรือนแบบขนมปังขิงนี้ มีการใช้ลวดลายฉลุตามช่องลมและส่วนต่างๆรอบเรือน ทำให้ดูคล้ายกับเรือนมลายูและค่อนข้างจะถูกจริตของคนในพื้นที่ จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนทำให้เกิดความเข้าใจสับสนระหว่างเรือนมลายูกับเรือนขนมปังขิง

 

ปัจจุบัน เรือนเจ้าเมืองเกือบจะทุกแห่งในสามจังหวัดภาคใต้ ล้วนแล้วแต่มีสภาพที่ทรุดโทรมและไม่น่าดู ยกเว้นก็แต่เพียงเรือนเจ้าเมืองยะหริ่งที่ได้รับการบูรณะเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเท่านั้น ส่วนเรือนเจ้าเมืองอื่น ถ้าไม่ผุพังจนเหลือแต่ซาก ก็ทรุดโทรมจนไม่สามารถใช้พักอาศัยได้อีก ไม่ว่าเรือนเจ้าเมืองยาลอ เรือนเจ้าเมืองหนองจิก เรือนเจ้าเมืองรามัน ไม่เหลือสภาพของเรือนเจ้าเมืองให้เห็นอีก ส่วนเรือนเจ้าเมืองปัตตานี เรือนเจ้าเมืองสายบุรีและเรือนเจ้าเมืองระแงะ ล้วนมีสภาพที่ทรุดโทรมรอวันผุพังเท่านั้น ลวดลายชิ้นส่วนของเรือนและวัตถุโบราณหลายต่อหลายชิ้น ถูกขโมยเพื่อไปขายให้พ่อค้าของเก่าและพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่มีการตื่นตัวและสนใจในการอนุรักษ์เรื่องเหล่านี้ในสถานศึกษาในท้องถิ่น หรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่งานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ กลับเป็นที่สนใจของสถานศึกษาของประเทศมาเลเซีย โดยสถาบันทางการศึกษาในประเทศมาเลเซียได้ส่งนักศึกษามาทำการเก็บข้อมูลและถอดแบบอาคารเหล่านี้ไปหลายปีแล้ว โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลและถอดแบบที่มัสยิดตะโละมาเนาะเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งการทำงานเก็บข้อมูลทางวิชาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยให้ความสนใจหรือขอร่วมในโครงการที่สถาบันการศึกษาของมาเลเซียมาลงพื้นที่สำรวจเลยสักครั้ง ทำให้จนขณะนี้ เราก็ยังไม่มีข้อมูลใดๆในเรื่องสถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน หรือเป็นระบบตามงานวิชาการเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

 

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ของเรือนห้องแถวค้าขายหรือ Shop House หรือที่เรียกในคำที่คุ้นชินว่าอาคารแบบ ชิโน-โปรตุกีส ที่ในหลายๆพื้นที่มีการรื้อทิ้งเพื่อสร้างห้องแถวตามสมัยนิยม แต่ยังคงเหลือให้ศึกษาไว้บ้างที่ย่านชุมชนชาวจีนในเมืองปัตตานี สายบุรีและเมืองนราธิวาส และเป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2555) เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในอำเภอเมืองสายบุรี ทำให้เกิดเพลิงไหม้เรือนห้องแถวโบราณในแถบนั้นไปจนเสียหายไปมากมาย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลักฐานและร่องรอยการผสมผสานในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมมลายู จีนและตะวันตก ที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วต้องลดน้อยลงไปอีก

 

               

การขาดแคลนช่างฝีมือ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมมลายูในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเริ่มมีกระแสการอนุรักษ์ในลักษณะชาติพันธุ์มลายูนิยมเพิ่มขึ้น แต่การที่องค์ความรู้เดิมที่ขาดช่วงไป ทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปมาก

 

             

สถานการณ์ในปัจจุบันของสถาปัตยกรรมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้อยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยงและน่าวิตก ด้วยความที่งานสถาปัตยกรรมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ ขาดการส่งเสริม ไม่มีการสืบทอด ขาดองค์ความรู้ ทำให้ความรู้ความเข้าใจในงานสถาปัตยกรรมมลายูขาดตอนและผิดเพี้ยนไปจากเดิม งานสถาปัตยกรรมลายูในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้สูญหายลงไปหลังแล้วหลังเล่า ทั้งจากการเสื่อมสภาพ ผุพังตามอายุขัย การรื้อถอนเพราะค่านิยมเปลี่ยน รวมทั้งการทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งจากหน่วยงานของรัฐและคนในท้องถิ่นเอง 

 

บรรยายสาธารณะ : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๙ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๕๖)

อัพเดทล่าสุด 10 ต.ค. 2561, 11:31 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.