บรรยากาศการเสวนา
ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวและเรียนรู้ในเชิงวัฒนธรรมเติบโตมากขึ้น ท่ามกลางการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจการตลาดที่สืบมายาวนาน ดังจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรมขององค์กรอิสระและเครือข่ายภาคประชาชน ที่หันมาสนใจสร้างเส้นทางท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน เยี่ยมชมย่านเก่าต่างๆ ขณะเดียวกันก็เกิดแหล่งเรียนรู้อื่นๆ โดยภาคประชาชนขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ของสะสม ห้องสมุด เป็นต้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่ากระบวนการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่มีชีวิตเหล่านี้ เริ่มต้นมาได้อย่างไร และจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต ?
ในวันศุกร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ที่ผ่านมา มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับร้านหนังสือริมขอบฟ้า ได้จัดกิจกรรมเสวนาประจำเดือนในหัวข้อ “แหล่งเรียนรู้มีชีวิต สีสันใหม่ของคนกรุง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ๒ ท่าน ซึ่งเป็นผู้อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ คือ คุณต่อ--ระพีพัฒน์ เกษโกศล จากกองการท่องเที่ยว กทม. และเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาชน กับคุณโกะ--ชุมพล อักพันธานนท์ จากบ้านศิลปิน คลองบางหลวง
คุณระพีพัฒน์ ได้เปิดประเด็นถึงมุมมองเรื่องการท่องเที่ยวว่า มีจุดประสงค์สำคัญ ๒ อย่างที่ซ้อนทับกันอยู่ คือเพื่อความเพลิดเพลินผ่อนคลาย และเพื่อการศึกษาเรียนรู้ในด้านต่างๆ แต่ที่ผ่านมาการจัดการการท่องเที่ยวในระดับนโยบายยังคงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าการให้คุณค่าเรื่องการศึกษา ซึ่งส่งผลมายังกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว หลักสูตรการอบรมมัคคุเทศก์ที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์สังคม - ชุมชน ตลอดจนวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีมากไปกว่าการกิน เที่ยว และจับจ่ายซื้อของ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การท่องเที่ยวสามารถเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการศึกษานอกหลักสูตรการศึกษา
จนกระทั่งในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๕๔๐ หรือช่วงยุคฟองสบู่แตก หลายๆ คนเริ่มมองหาต้นทุนจากสิ่งรอบๆ ตัว จากชุมชน จากท้องถิ่นของตนเอง เมื่อเริ่มเห็นคุณค่า ในที่สุดเกิดการฟื้นฟูและพัฒนา จนเกิดการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชนและวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในระดับนโยบายยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ยังคงใช้จำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าประเทศในแต่ละปี เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยว
ทางด้านคุณชุมพล อักพันธานนท์ หนึ่งในผู้ริเริ่มบ้านศิลปินคลองบางหลวง ได้บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ว่า บ้านศิลปิน คลองบางหลวง เกิดขึ้นจากการปรับปรุงบ้านไม้เก่าแก่ริมคลองบางหลวง ใกล้กับวัดคูหาสวรรค์ โดยเกิดจากความประทับใจและเห็นคุณค่าของเรือนไม้เก่าที่ตั้งอยู่ในชุมชนริมฝั่งคลอง จึงเริ่มหาทุนสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อน องค์กรต่างๆ จนในที่สุดการบูรณะก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์
พื้นที่ศิลปะและวัฒนธรรม ภายในบ้านศิลปิน และบรรยากาศของบ้านศิลปิน คลองบางหลวง
(ภาพจาก www.facebook.com/Baansilapin?ref=ts&fref=ts)
ในช่วงแรกยังไม่มีแนวความคิดว่าจะเปิดใช้พื้นที่อย่างไร เพียงแต่คิดเสมอว่าจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบต่อวิถีชุมชนดั้งเดิม เพราะพื้นที่โดยรอบเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่มากพอสมควร อีกทั้งภายในบ้านยังมีพระเจดีย์เก่า ซึ่งเป็นร่องรอยของวัดที่มีมาแต่เดิม ก่อนชุมชนจะขยายตัว ด้วยเหตุนี้จึงเลือกที่จะไม่เปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ เพราะห่วงผลกระทบต่อชุมชน และความเหมาะสมของพื้นที่ที่เดิมเคยเป็นวัดมาก่อน
จนเมื่อตอนบ้านใกล้จะสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ล่องเรือมาตามคลองบางหลวงเริ่มให้ความสนใจ จึงเกิดความคิดว่าจะเปิดพื้นที่ให้เป็นจุดแวะพักของนักท่องเที่ยว และซื้องานศิลปะหรือของที่ระลึก เมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงคิดต่อยอดเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางด้านศิลปะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เช่น นำเด็กๆ ในชุมชนมาร่วมกันทำงานศิลปะ เริ่มมีอาจารย์พานักศึกษามาดูงาน ต่อมามีการแสดงหุ่นละครเล็กของคณะคำนาย เพิ่มเติมเข้ามาด้วย
ขณะที่บ้านศิลปินเริ่มเป็นที่รู้จัก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามา สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนกลับไปยังชุมชนที่เคยเงียบเหงา กระตุ้นให้ชาวบ้านเริ่มเปิดร้านค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เจ้าของบ้านไม้เก่าบางหลัง เริ่มสนใจกลับมาบูรณะปรับปรุงบ้าน จะเห็นว่าจากความประทับใจในเรือนไม้เก่าของคุณชุมพล ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้ามาสู่การทำงานด้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ทางด้านของคุณระพีพัฒน์นั้น มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นนักพัฒนาชุมชน
คุณระพีพัฒน์กล่าวว่า เดิมทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชนอยู่ที่เขตบางกอกน้อย และได้ใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน จากความคิดที่ว่าบางกอกน้อยมีมรดกวัฒนธรรมจำนวนมากแต่กลับอยู่ในสภาพโรยรา จึงคิดพลิกฟื้นให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง จึงริเริ่มสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับคนในชุมชน จากหลักสูตร “รักถิ่นฐาน สืบสานภูมิปัญญา” ขึ้นมา โดยได้ความร่วมมือจาก รศ. สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และภูมิปัญญาระหว่างชาวบ้าน อาจารย์ และนักศึกษา ซึ่งผลจากการศึกษาในครั้งนั้น ได้สร้างองค์ความรู้ที่นำมาสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ชุมชนเป็นเจ้าของ เห็นคุณค่า และเลี้ยงตนเองได้
อย่างไรก็ตาม แต่ละชุมชนอาจยังไม่มีพลังที่เข้มแข็งพอ จึงเริ่มแนวคิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายชุมชนต่างๆ ที่ต้องการฟื้นฟูท้องถิ่นของตนเองโดยใช้การท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดภาคีร่วมมือกัน และพึ่งพากันและกันได้ ในที่สุดจึงเกิด “เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม” และมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง คือกิจกรรมการท่องเที่ยววิถีถิ่น ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวและเรียนรู้ในเชิงวัฒนธรรมในย่านต่างๆ เช่น ตลาดพลู บางทุนเทียน บางระมาด บางแค บางกอกน้อย บางลำพู นางเลิ้ง หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง บางเขน เป็นต้น กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และยังคงจัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับคุณชุมพลที่มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนสามารถสร้างประโยชน์กับชุมชนจริง อย่างเช่นชุมชนรอบๆ วัดคูหาสวรรค์ ใกล้กับบ้านศิลปิน สามารถเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้หน่วยงานที่มีงบประมาณควรต้องมีความเข้าใจเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ชุมชนเก่าแก่ต่างๆ กำลังเหลือน้อยลงทุกที อันเป็นผลจากการพัฒนาต่างๆ เช่น ฝั่งธนบุรีที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น ถ้าหากภาครัฐยังคงเพิกเฉย สิ่งที่เป็นมรดกเหล่านี้อาจสูญไป ส่วนชุมชนที่พยายามฟื้นตนเองก็อาจไม่มีกำลังใจทำต่อไปก็เป็นได้
(จากซ้ายไปขวา) คุณสุดารา สุจฉายา ผู้ดำเนินรายการ คุณระพีพัฒน์ เกษโกศล และคุณชุมพล อักพันธานนท์
กิจกรรมท่องเที่ยววิถีถิ่น ชมวิถีเกษตรกร ชาวบางแวก (ภาพจาก www.facebook.com/thaitourismsociety)