หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สังคมท้องถิ่น ความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่หายไป
บทความโดย งามพล จะปากิยา
เรียบเรียงเมื่อ 1 มี.ค. 2556, 11:17 น.
เข้าชมแล้ว 8903 ครั้ง

ภาพซ้าย ชาายชราชาวมลายู ภาพบนและภาพขวารถและป้ายหาเสียงภายในท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนใต้


สังคมมลายูที่คนทั่วไปสนใจใคร่รู้จักหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งรัฐพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ระยะเวลาผ่านไปเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ใช้งบประมาณเป็นแสนล้าน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการสูญเสียชีวิตของผู้คนอย่างต่อเนื่องเกินกว่าจะประเมินค่าได้แต่ดูเหมือนรัฐยัง “ไม่ถึง” และไม่เข้าใจเพียงพอเพื่อที่จะพยายามแก้ไขปัญหา เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบยังเกิดขึ้นไม่หยุดแต่อย่างใด

 

สังคมมลายูที่คนทั่วไปรับรู้ส่วนใหญ่เป็นสังคมที่อยู่แถบฝั่งตะวันออกติดทะเลด้านอ่าวไทย ส่วนสังคมมลายูที่อยู่ฟากตะวันตกที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ป่าดิบทึบ มีพื้นที่ราบเป็นหุบเล็กๆ ระหว่างเทือกเขาเป็นที่ตั้งบ้านเรือนชุมชนท้องถิ่นภายในที่อดีตมีอุปสรรคความยากลำบากในการเดินทางเข้าถึง เป็นดั่งสังคมปิด ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ แต่มีหลักฐานการก่อบ้านสร้างเรือนกว่า ๑๐๐ ปี เป็นสังคมที่รับการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาของรัฐสมัยใหม่ไม่ถึง ๓๐ ปีหลังมานี้เอง

 

สังคมมลายูภายในเหล่านี้ส่วนใหญ่มีพัฒนาการมาจากการรวมกลุ่มชักชวนสมัครพรรคพวก ญาติพี่น้อง สำรวจพื้นที่ใหม่ เพื่อหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร สัตว์ป่า สมุนไพร บุกเบิกเปิดพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูก ลงหลักปักฐาน ก่อบ้านสร้างเรือนจนเกิดเป็นสังคมชุมชนท้องถิ่นต่างๆ จากรากพัฒนาการดังกล่าวทำให้สังคมมลายูเขตภายในนั้นให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือญาติเป็นสำคัญ

 

ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบหรือมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันเป็นพื้นฐาน  มีการไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือกัน ลงแรงกันในการทำงาน โดยมีผู้อาวุโสในตระกูลเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ สมาชิกในเครือญาติมีความรักสามัคคีกัน มีสำนึกความเป็นพี่น้องสูง พวกเขาสร้างสำนึกร่วมในการเป็นเครือญาติเพื่อเป็นพลังในการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในการดำรงชีวิต เพราะอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีอันตรายจากสัตว์ร้ายในป่า โรคภัยไข้เจ็บ และมีการบุกเบิกสูง จึงต้องใช้วิธีร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน

 

วิถีชีวิตเหล่านี้ีทำให้เกิดวัฒนธรรมและประเพณีแบบเฉพาะถิ่นขึ้นมา โดยมีผู้อาวุโสเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่สมาชิกในเครือญาติต่อมาเมื่อรัฐมาจัดหน่วยปกครองในท้องถิ่น มีโครงสร้างการปกครองแบบใหม่ มีตำแหน่งผู้นำแบบรัฐ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวแทนของรัฐในการปกครองท้องถิ่น แรกเริ่มรัฐได้แต่งตั้งโดยเอาผู้ที่สายตระกูลเสนอมา รัฐได้ให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้อย่างมาก เพื่อให้คนในท้องถิ่นยอมรับโครงสร้างใหม่นี้

 
จากโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่เป็นโครงสร้างแนวราบค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์แนวดิ่ง ที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ซึ่งคือสมาชิกเครือญาติของตน ตำแหน่งตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับชาวบ้านนั้นได้อำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้อย่างมาก เพราะได้ประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ ประโยชน์จากการเข้าถึงทรัพยากรที่รัฐกำกับดูแลก่อนคนอื่น ประโยชน์จากกลุ่มทุนภายนอกต่างๆ ที่จะเข้ามา 


จากองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เกิดโครงสร้างแบบใหม่ซ้อนโครงสร้างแบบเดิมทั้งสองแบบ คือโครงสร้างจารีต เครือญาติอยู่ภายในโครงสร้างแบบรัฐซึ่งสมาชิกใหม่ที่ประกอบด้วยตัวแทนเครือญาติ รัฐ นายทุน แต่โครงสร้างแบบใหม่มีงบประมาณมากกว่าเดิม แต่มีขีดจำกัดการจัดสรรผลประโยชน์ที่ไปไม่ถึงชาวบ้านทุกคน จนมีคำพูดในร้านน้ำชาว่ากำนันอยู่หมู่บ้านไหน หมู่บ้านนั้นเจริญ เพราะกำนันจะจัดสรรงบประมาณ ถนน ไฟฟ้า ประปา ที่หมู่บ้านตนเองก่อน ญาติพี่น้องกำนันจะได้ทำงานดีๆ ตามสถานที่ราชการ เป็นต้น

 
มาดูตัวอย่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบตัดขวางของชุมชนท้องถิ่นมลายูในเขตภูเขาแห่งหนึ่ง ช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๐ นั้น เขตภูเขาภายในเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ในท้องถิ่นทั้ง PULO, BRN, BNPP COMMUNISMALAYA ต่างหมดพลังลง เหลือเพียงอำนาจกำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่นผลประโยชน์ต่างๆ เช่น การตัดไม้ตะเคียน การเปิดป่าจับจองที่ดิน ธุรกิจซื้อผลไม้ ลองกอง เงาะ ทุเรียน  ธุรกิจไม้ยางพารา ทุกอย่างต้องเสียค่าผ่านทางแก่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น แต่ละวันมีเงินถูกจ่ายออกไปเป็นจำนวนมากเพื่อการคุ้มครองเหล่านี้


มีเรื่องเล่าว่าหากใครมายะลาแล้วตกรถกลับบ้านไม่ได้ ก็ให้ไปดักรอคนรู้จักหน้าโรงแรม เป็นต้องพบคนในท้องถิ่นที่รู้จักขอติดรถกลับบ้านได้ บางคืนพวกเขาแข่งกันให้ทิปนักร้องคืนละหมื่นสองหมื่น แต่ก็มีบางคนนำเงินไปลงทุนซื้อที่ดินในตลาด ซื้อสวนยางพาราบ้าง เป็นตัวอย่างผู้นำท้องถิ่นแบบรัฐที่มีเงินมากในสมัยนั้นและผลผลิตข้ามวัฒนธรรมอีกอย่างคือชุมชนท้องถิ่นที่ห่างไกลนี้มีสะใภ้เป็นคนจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่พวกเขาไปรู้จักที่ห้องอาหารในตัวเมือง พฤติกรรมของผู้นำสมัยนั้นได้เกิดผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว สถาบันเครือญาติ และสถาบันสังคม เปลี่ยนวิธีการเคารพนับถือผู้นำในท้องถิ่น เปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ในอดีตที่สั่งสมมาว่าเครือญาติเป็นเสมือนพี่น้องกัน ต้องช่วยเหลือกัน มีอันสั่นคลอนหายไป


ประโยชน์ที่เห็นได้ของการดำรงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำแบบรัฐ ทำให้คนรุ่นต่อไปมีความปรารถนาต้องการดำรงตำแหน่งที่ให้ประโยชน์อย่างนั้นด้วย จึงเกิดการแข่งขันในหมู่พี่น้องเครือญาติอย่างรุนแรง บ้างพี่น้องกัน บ้างนามสกุลเดียวกัน บ้างลูกพี่ลูกน้องกัน สะท้อนถึงความแตกแยกต่อความสัมพันธ์แบบเดิมที่เคยเป็นฐานการขับเคลื่อนสังคมชุมชนท้องถิ่น


คนในสังคมเริ่มลังเลสงสัยต่อความหมายของผู้นำแบบรัฐในท้องถิ่นว่าคือใคร ผู้ที่เป็นตัวแทนคนในท้องถิ่นต่อรัฐหรือผู้ที่เป็นตัวแทนของรัฐต่อท้องถิ่น หรือผู้ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสายตระกูลที่มีการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด การเลือกตั้งทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกในท้องถิ่นอย่างรุนแรง สังคมท้องถิ่นที่มีทุนทางปัญญาสูงก็สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้นได้ แต่ในสังคมท้องถิ่นที่มีทุนทางปัญญาต่ำ คนในท้องถิ่นก็ต้องทนอยู่ในวังวนวิถีอำนาจที่ครอบงำสังคมท้องถิ่นต่อไป

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นจากสังคมท้องถิ่นที่ใช้เป็นปัญญาในการก้าวข้ามความขัดแย้งนั้นได้คือ การสร้างสำนึกใหม่ต่อคนในท้องถิ่น ไม่ใช่สำนึกเครือญาติที่ไม่สามารถสร้างความกลมเกลียวอยู่ได้ในสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่สำนึกอุดมการณ์ที่คนในท้องถิ่นตีความไม่เหมือนกันแต่เป็นสำนึกชุมชนท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีเป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมท้องถิ่นที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่นตัวอย่างหลายๆ ท้องถิ่นที่ผู้นำมาจากผู้ที่มีความเสียสละ สร้างความสัมพันธ์กับคนทางแนวราบ


จากตัวอย่างความสำเร็จในการก้าวข้ามความขัดแย้งดังกล่าว น่าจะเป็นหนทางหนึ่งสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ควรศึกษาทำความเข้าใจต่อสังคมมลายูอย่างแท้จริงมากกว่าหยิบยกข้อความ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาพูดกันอย่างลอยๆ
 

“...โดยที่พวกเขามีหัวใจ ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ และพวกเขามีตาซึ่งพวกเขาไม่ใช้มอง และพวกเขามีหูซึ่งพวกเขาไม่ใช้ฟัง ชนเหล่านี้แหละประดุจปศุสัตว์...” อัลกรุอาน ๗ : ๑๗๙
 

งามพล  จะปากิยา

หมายเหตุุจากผู้อ่าน>ชีวิตในเปลวไฟสามจังหวัดชายแดนใต้>ชีวิตคนรุ่นใหม่ : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๗ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๖)

 

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ค. 2559, 11:17 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.