“เฮือนหิน” ตั้งอยู่ริมน้ำโขงบริเวณเมืองไชพูทอง แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตรงกับอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ประเทศไทย ปราสาทแห่งนี้มีลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมอิทธิพลกัมพูชาที่ยังกำหนดอายุไม่ชัดเจนนัก แต่อาจจะมีรูปแบบศิลปะก่อนแบบนครวัด (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗) เล็กน้อยจากการเปรียบเทียบรูปแบบของเศียรนาคที่ตกอยู่ที่ตัวปราสาท
ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หันหลังให้กับแม่น้ำโขงและมีสระน้ำขนาดย่อมๆ อยู่ทางด้านหน้า สร้างบนฐานขนาดใหญ่หลังเดียวและมีอาคารด้านหน้าซึ่งยังพบแท่นฐานสำหรับตั้งเทวรูปปรากฎอยู่ด้านในอาคาร พบเสาประดับกรอบประตู เศียรนาคที่บริเวณทางขึ้นทั้งสี่ด้าน รูปแบบเศียรนาคไม่เหมือนแบบนาคแบบนครวัดเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่นาคหัวโล้นแบบศิลปะบาปวนอีกเช่นกัน
ปราสาท “เฮือนหิน” อยู่ริมแม่โขง มีห้วยกะหยองและห้วยถอบไหลขนาบชุมชนด้านทิศเหนือทิศใต้ตามลำดับ โดยห้วยทั้งสองนี้จะไหลไปทางทิศตะวันตกออกแม่น้ำโขง และอยู่ในเส้นทางบกโบราณที่สามารถติดต่อไปทางเวียดนามตอนกลางและจากแม่น้ำโขงสู่คอนพะเพ็งสู่สตึรงเตรงและที่ราบเขมรต่ำได้
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมเสนอว่า ปราสาทหรือเทวสถานฮินดูที่ตั้งอยู่ในบริเวณขอบข่ายของวัฒนธรรม “ศรีโคตรบูร” อันเป็นกลุ่มเจนละบก ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘ น่าจะเป็นการสร้างปราสาทบนเส้นทางทัพที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แห่งอาณาจักรพระนครทรงใช้เพื่อโจมตีอาณาจักรจามปา
ในปัจจุบันผู้คนท้องถิ่นได้ดัดแปลงปราสาทแห่งนี้ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา โดยได้สร้างอาคารเพิ่มเติมเช่นศาลาการเปรียญและกุฏิสงฆ์ สภาพแวดล้อมของปราสาทยังคงร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ที่ขึ้นมาตามธรรมชาติ
และปราสาทเฮือนหินนี้ยังไม่ปรากฏเป็นหลักฐานข้อมูลบันทึกไว้แพร่หลายแต่อย่างใด
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : ภาพและเรื่อง