ช่วงนี้ทั้งชาวกรุงเทพ หรือคนต่างจังหวัดคงได้รับอานิสงส์ฝนฟ้าชุ่มฉ่ำกันถ้วนหน้า
เล่าด้วยภาพวันนี้จึงเก็บตกบรรยากาศฟ้าฝนในงานไหว้เจ้าพ่อกวนอู ณ ศาลเจ้าพ่อกวนอู วัดญวน สะพานขาว (วัดสมณานัมบริหาร) เขตดุสิต กรุงเทพมหานครมาฝาก
กวนอูนับเป็นหนึ่งในเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพนับถือกันอย่างแพร่หลาย
เรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์นี้มีปรากฏอยู่หลายตำนาน หลายเหตุการณ์ แต่จะขอหยิบยกเรื่อง “ฝนลับง้าวของกวนอู”
จาก ร้อยเรียงเรื่องเล่าภาพมงคลจีน โดย สุภาณี ปิยพสุนทรา มาประกอบภาพฝนฉ่ำฟ้าที่ถูกเล่าในวันนี้
ว่ากันว่างานลุยไฟไหว้เจ้าพ่อกวนอูที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ศาลเจ้าพ่อกวนอู วัดญวน สะพานขาว นั้น
จะต้องมีฝนตกลงมาทุกปี ทุกครั้งที่จัดงาน
เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเล็ก-ประไพฯ ไปร่วมสังเกตการณ์งานนี้มา ๒ ปีติดต่อกัน
ก็ได้รับการพิสูจน์ซ้ำว่า ฝนลับง้าวของเทพเจ้ากวนอูท่านมาจริงตามคำร่ำลือ
ฝนลับง้าวของกวนอู มีที่มาจากวีรกรรมความกล้าหาญของกวนอูในเหตุการณ์ซึ่งกวนอูบุกเดี่ยวไปในงานเลี้ยงที่โลซกจัดขึ้น
เพื่อจะลวงกวนอูไปฆ่าชิงเมืองเกงจิ๋ว ในวรรณกรรมเอกเรื่อง “สามก๊ก” ซึ่งคุณสุภาณี ปิยพสุนทรา เล่าไว้ว่า
“ต้นฤดูร้อน ปี ค.ศ. ๒๑๕ ซุนกวนทราบข่าวว่าเล่าปียึดเมืองเสฉวนได้ จึงส่งจูกัดกิ๋นไปทวงเมืองเกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่
เพราะเล่าปี่รับปากว่าจะคืนเมืองเตียงสา เมืองเลงเหล็ง เมืองกุ้ยหยางให้ก่อน
แต่พอจูกัดกิ๋นนำคำสั่งของซุนกวนเดินทางมาถึงเมืองเกงจิ๋ว เพื่อทำเรื่องรับมอบเมืองเกงจิ๋ว
กวนอูซึ่งได้รับคำสั่งจากเล่าปี่ให้เฝ้ารักษาเมือง ก็หน้าคว่ำ พูดอย่างไม่เป็นมิตรว่า เมื่อขุนศึกทำงานอยู่ข้างนอก ไม่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งเจ้านาย กวนอูปฏิเสธคำสั่งคืนเมืองเกงจิ๋วพร้อมกับจับจูกัดกิ๋นโยนออกจากห้องรับแขก ซุนกวนทราบเรื่องก็โกรธมากจึงเรียก โลซกซึ่งเคยรับรองการยืมเมืองเกงจิ๋วของเล่าปี่มาต่อว่าต่อขาน พร้อมกับบังคับให้โลซกไปทวงเอาเมืองเกงจิ๋วคืนจากกวนอูให้จงได้
โลซกเดินทางมาถึงชายแดน แล้วเชิญกวนอูมากินเลี้ยงที่ศาลาริมน้ำหน้าค่ายทหาร โลซกเอานักฆ่ามาซุ่มไว้รอบค่าย กะว่าถ้าหากกวนอูไม่ยอมคืนเมืองเกงจิ๋วให้ ก็จะฆ่ากวนอูเสีย ส่วนกวนอูนั้นก็เจนศึกพอตัว พอได้รับเทียบเชิญมีหรือจะอ่านเกมไม่ออก แต่กวนอูก็ยังคงตอบรับคำเชิญของโลซกอย่างใจกล้า กวนอูพาลูกน้องคนสนิทสองสามคนและถือแค่ง้าวคู่ใจเดินทางมาร่วมงานเลี้ยงด้วย
ในงานเลี้ยง โลซกทวงเมืองเกงจิ๋วไม่สำเร็จดังที่คาดไว้ ในขณะที่กำลังจะส่งสัญญาณเรียกนักฆ่านั้นเอง กวนอูก็แสร้งทำเป็นล้มใส่โลซก แล้วจับโลซกเป็นตัวประกัน ล่าถอยมาถึงริมแม่น้ำ จากนั้นก็ขึ้นเรือกลับเมืองเกงจิ๋วมาได้อย่างปลอดภัย
วีรกรรมความกล้าหาญในครั้งนั้น ยังเล่าขานกันจวบจนกระทั่งบัดนี้และยังมีการกล่าวขานกันต่ออีกว่า วันที่กวนอูควงง้าวมังกรเขียวเล่มเดียวไปร่วมงานเลี้ยงที่แสนอันตรายนั้นตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ (ตามปฏิทินจันทรคติ)
หลังจากที่กวนอูเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ (ตามปฏิทินจันทรคติ) ประชาชนต่างเอาง้าวมังกรเขียวของกวนอูมาลับหรือทำความสะอาด จากนั้นก็ใช้ง้าวนั้นฟาดฟันภูตผีปีศาจ เป็นการเซ่นสรวงง้าวมังกรเขียวด้วย เล่ากันว่า
วันนั้นเป็นวันที่เจ้าปีศาจภัยแล้งจะออกมาท่องเที่ยวพอดี หัวของมันจึงกลายเป็นเครื่องเซ่นสังเวยง้าวมังกรเขียวทุกปีไป
ด้วยเหตุนี้เอง ชาวจีนจึงมีคำพูดว่า
“แล้งแค่ไหนก็ไม่เกินวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕”
เพราะเชื่อกันว่า เมื่อปีศาจภัยแล้งถูกฆ่า ฝนก็จะตกลงมา ชาวจีนจึงเรียกฝนที่ตกลงมาในวันนี้ว่า “ฝนลับง้าวของกวนอู”
กวนอูนับเป็นเทพเจ้าที่เฮี้ยน และเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนเคารพนับถือมาก นอกจากจะมีศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ให้เห็นทั่วไปแล้ว ชาวจีนยังวาดภาพเทพเจ้ากวนอูไว้เป็นยันต์กันภัยอีกด้วย ผู้คนจะนำเอาภาพเทพเจ้ากวนอูมาติดตามบ้าน ทำการกราบไหว้บูชาหรืออธิษฐานขอให้ท่านช่วยปกป้องพวกตนให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยร้ายทั้งปวง”
ฝนตกครั้งต่อไป นอกจากตำนานการจุดบั้งไฟบูชาพระยาแถนของชาวอีสานแล้ว ยังมีตำนาน “ฝนลับง้าวของกวนอู” อีกหนึ่งเวอร์ชั่นให้ระลึกถึงกัน
ขอขอบคุณ
คุณพนิดา สกุลธนโสภณ (ป้าใหญ่) ชุมชนวัดญวน สะพานขาว
คุณจารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ ผู้เอื้อเฟื้อภาพ
อ้างอิง
สุภาณี ปิยพสุนทรา. ร้อยเรียงเรื่องเล่าภาพมงคลจีน. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ: กรุงเทพฯ. ๒๕๕๐, หน้า ๘๖-๘๗