วัดราชนัดดารามวรวิหาร สร้างขึ้นริมคลองรอบกรุงด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังใกล้กับวัดเทพธิดาราม ไม่ไกลจากป้อมมหากาฬที่ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่สวนสาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
วัดนี้สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ เพื่อพระราชทานเป็นพระเกียรติยศแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี โดยโปรดเกล้าให้สร้างโลหะปราสาทเป็นอาคารประธานของวัดแทนคติการสร้างพระมหาเจดีย์
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระองค์เดียวกันนี้ คือที่มาของชื่อนาม วัดโสมนัสราชวรวิหาร วัดที่รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชอุทิศให้แก่พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี หลังจากการสวรรคตของพระองค์
โลหะปราสาท หมายถึงปราสาทที่มียอดเป็นโลหะ เป็นอาคารหลักที่สูงที่สุดมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถือเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลก โลหะปราสาทแห่งแรกสร้างขึ้นในอินเดียเมื่อครั้งพุทธกาล แห่งที่สองคือ โลหะปราสาท ณ กรุงอนุราชปุระ ประเทศศรีลังกา ซึ่งขณะนี้โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร ถือเป็นแห่งเดียวที่ยังปรากฎสภาพสมบูรณ์ในปัจจุบัน
สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ ๓ มีพระราชประสงค์ให้โลหะปราสาทเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ และเป็นพุทธสถานสำคัญในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับโลหะปราสาททั้งสองแห่งในอดีต ดังนั้นแม้การสร้างจะหยุดชะงักไปพร้อมกับการเสด็จสวรรคตของพระองค์ การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ในระยะหลังในสมัยรัชกาลที่ ๙ ก็ยังคงดำเนินไปตามพระราชประสงค์ดังกล่าว ภายในนั้นมีสถานที่เดินจงกรม สถานที่อ่านหนังสือสำหรับประชาชนโดยทั่วไป
คุณยายบรรจบ ศิลป์อิสระ อายุ ๙๐ ปี ชาวชุมชนวัดราชนัดดาเล่าถึงบรรยากาศในอดีตบริเวณนี้เมื่อครั้งมูลนิธิฯ สัมภาษณ์ทำโครงการวิจัยการศึกษาแบบมีส่วนร่วม “สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ” ว่า
“เดิมนั้นบ้านคุณยายอยู่ตรงซอยบริเวณหลังนิทรรศน์รัตนโกสินทร์(ปัจจุบัน) แถวนี้จะเป็นสวนมีท้องร่อง ป่าไผ่ งู ชะนีชุกชุม เวลาชะนีหลุดก็วิ่งหนีกันอุตลุด บ้านผู้คนมีไม่กี่หลังค่อนข้างเงียบมาก ตรงหน้าบ้านนี้ก็เป็นคลองใหญ่ขนาดที่เรือสำปั้นบรรทุกน้ำปลา ๑๐-๒๐ ไหเข้ามาขาย ซึ่งแนวคลองสิ้นสุดตรงทางเลี้ยวด้านหลังนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ คลองนี้ยาวไปถึงผ่านฟ้าและออกไปเทเวศน์ได้ ต่อมาหลายสิบปีเมื่อคลองไม่ได้ใช้และตื้นเขินลงเทศบาลจึงได้ตัดเป็นถนน บรรยากาศโดยรอบบ้านสมัยคุณยายยังเด็กอยู่ใกล้กับวัดราชนัดดานั้นเงียบมาก พระก็ไม่ค่อยมี วัดถึงได้พัง ไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัย ช่วงหลังจึงเริ่มมีผู้คนขึ้นบ้าง ถนนราชดำเนินที่สร้างขึ้นอย่างสวยงามตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายจะเห็นรถวิ่งสัก ๒ คัน อาคาร ๒ ข้าง ตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ก็ไม่มีคนอยู่ ค่าเช่าก็ไม่แพงต่างกันกับสมัยนี้มาก"
"บริเวณวัดราชนัดดา เด็กๆ ก็จะไปวิ่งเล่นกันแถวนั้น โลหะปราสาทยังเป็นสีอิฐธรรมดายังไม่ได้บูรณะไม่ค่อยมีคนกล้าขึ้นไป ถ้าจะขึ้นไปก็ต้องระวังเพราะขั้นบันไดคนโบราณเขาสร้างแผ่นไม้สักจะใหญ่ราวศอกและช่องบันไดห่าง เด็กตัวเล็กก็ต้องปีนข้างล่างก็เป็นซากอิฐปรักหักพังเวลาปีนขึ้นไปก็ต้องระวังตก มีงูเยอะมาก หญ้าคาก็สูงเทียมอก"
"บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ก็ไม่มีคน ถนนจะเป็นลาดยางกว้าง ๒ เมตรกว่า ทั้งสองฝั่งจะเป็นดินแดงและมีรถเจ๊กเป็นคนจีนรับจ้างลาก ก๊อกน้ำประปาสมัยก่อนก็จะเป็นเหล็กสูงขนาดเมตรมีตัวจับดึงขึ้นน้ำก็จะไหล”
ภาพถ่ายโดย จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
ข้อมูลอ้างอิงจาก
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. โบราณสถานกับความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ โครงการผลิตเอกสารทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ งบประมาณแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๑. หน้า ๒๘-๒๙.
สัมภาษณ์ บรรจบ ศิลป์อิสระ. อายุ ๙๐ ปี. ชาวชุมชนวัดราชนัดดา. กรกฎาคม ๒๕๕๙. ส่วนหนึ่งของ โครงการวิจัยการศึกษาแบบมีส่วนร่วม “สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ”