เสามังกรจากศาลจ้าวแม่เทียนโหวเซียโบ้ หรือศาลเจ้าปากคลองบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ทั้งเสามังกรและศาลเจ้าเป็นสิ่งยืนยันรกรากและร่องรอยความเป็นจีนในเมืองไทยที่เก่าแก่ของคนบางกะจะ
คุณไพฑูรย์ ภิรมย์สุข เถ่านั้งของศาลเจ้าแห่งนี้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า
“ตรงนี้เป็นคลองทั้งนั้น ในอดีตคลองมีขนาดใหญ่และน้ำจะลึกมาก น้ำทะเลขึ้นลงๆ ตามฤดูกาล แต่ตอนนี้คลองตื้นหมดแล้ว ไม่ได้ลอกคลองไม่ได้ทำอะไร เรือจะผ่านเข้าไปจอดเกือบถึงตลาดที่ค้าขายคนจีนสมัยโบราณ
ส่วนศาลเป็นศาลเจ้าที่ หมายถึงว่าเค้าดูแลพื้นที่นี้ ก่อนที่เราจะทำพิธีอะไรเราก็ต้องจุดธูปไหว้บอกกล่าวเค้าก่อน
และอันนี้เสามังกรที่ผมสร้างกำลังตบแต่งรายละเอียดอยู่ ต้นนี้หกแสนเป็นที่เทวดาฟ้าดิน ถึงเวลาเราจะทำงานประเพณีเราจะต้องเอาเครื่องมาเซ่นไหว้ที่นี่และเชิญเทวดาฟ้าดินที่ผ่านไปผ่านมา เชิญท่านเสด็จลงมาชมงานประเพณี”
มังกรเป็นสัตว์ในตำนานที่อยู่คู่กับชาวจีน ทำนองเดียวกับที่พญานาคอยู่คู่กับคนในอุษาคเนย์ จากหนังสือ 108 สิ่ง มิ่งมงคลจีน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมังกรและเสามังกร ซึ่งขอคัดลอกบางส่วนมาเผยแพร่เพื่อความเข้าใจถึงที่มาที่ไปในการสร้างเสามังกร และคติความเชื่อของชาวจีนเกี่ยวกับมังกรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้
“เชื่อกันว่า มังกรสร้างขึ้นมาจากการนำเอาสัญลักษณ์เฉพาะของชนเผ่าโบราณเผ่าต่างๆ มารวมกัน โดยหวงตี้ ได้แก่
ศีรษะของหมู หูของวัว หนวดของแพะ เขาของกวาง ลำตัวของงู เกล็ดของปลา และอุ้งเท้าของเหยี่ยว มารวมกัน
เป็นเสาสักการะที่มีลักษณะเป็นแบบเสาโทเทม (totem) อาจเป็นไปได้ที่มีการสร้างไว้เพื่อบูชาและบวงสรวง และอาจเป็นไปได้ที่สร้างไว้เพื่อให้แต่ละชนเผ่าที่มารวมกันนั้นมีสัญลักษณ์เดียวกัน นั่นก็คือที่มาของรูปลักษณะ “มังกร”
สัญลักษณ์แห่งมังกร ไม่เพียงแต่เชื่อว่ามีพลังอำนาจอันลี้ลับ ยังเชื่อในอิทธิฤทธิ์แห่งมังกรที่นำลมฝนมาสู่มนุษยชาตินำความอุดมสมบูรณ์ ความรุ่งเรือง และความผาสุกมาให้แด่มนุษย์ ดังนั้นสัญลักษณ์รูปมังกรจึงถูกนำมาสร้างไว้ตามส่วนต่างๆ ของงานสถาปัตยกรรมจีน ไม่ว่าจะเป็นหลังคา กำแพง หน้าต่าง พื้น รวมทั้งเสาที่ใช้เป็นที่รองรับน้ำหนักของอาคาร ต่างสร้างเป็นลวดลายมังกรทั้งสิ้น
การสร้างมังกรเลื้อยพันรอบตัวเสา จึงมีที่มาและสอดคล้องตามคติความเชื่อเรื่องมังกรดังกล่าว เพราะความหมายที่แฝงไว้ในมังกรเป็นความดีงาม สิริมงคล และเชื่อถือว่าเป็นสัตว์วิเศษและทรงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือสัตว์วิเศษอื่นใด
ในยุคโบราณมังกรห้าเล็บถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนจักรพรรดิ มังกรสี่เล็บแทนรัชทายาทและพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนมังกรสามเล็บอนุญาตให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่สามารถใช้ได้ แต่ห้ามสามัญชนใช้สัญลักษณ์มังกรโดยเด็ดขาด ครั้งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่สมัยใหม่ ชาวจีนต่างล้วนนิยมในรูปลักษณ์แห่งมังกร ทำให้เกิดคติการสร้างรูปมังกรกันอย่างแพร่หลายและดำเนินสืบทอดมาตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน”
จากสัตว์ในตำนานสู่ความเป็นลูกหลานพันธุ์มังกรของชาวจีน เพื่อคงความเป็นกลุ่มพวก ความทรงพลังอำนาจ จากตำนานเสื่อผืนหมอนใบในอดีต สู่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจในเมืองไทย จากการเมืองหลังม่านไม้ไผ่ สู่ประเทศผู้มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ดั่งมังกรที่โผนทะยานสง่างามอยู่บนยอดเสา
ขอขอบคุณ
คุณไพฑูรย์ ภิรมย์สุข เถ่านั้ง ศาลจ้าวแม่เทียนโหวเซียโบ้ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
อ้างอิง
ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. 108 สิ่ง มิ่งมงคลจีน. ซีเอ็ดยูเคชั่น : กรุงเทพฯ. ๒๕๓๓.