สะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน เมืองแกลง จังหวัดระยอง
สะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่านหรือคนในท้องถิ่นเรียกขานกันในชื่อ “สะพานฝั่งธน” ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่ามีที่มาของชื่อฝั่งธนนี้ได้อย่างไร พบเพียงแต่ข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเรียกตามกรุงเทพฯ ที่มีทั้งฝั่งพระนคร หมายถึงเขตพื้นที่ของเมือง และฝั่งธนคือฝั่งนอกเมืองไปทางวัดโพธิ์ทอง สะพานแห่งนี้ถูกสร้างและซ่อมแซมกันอยู่หลายหนเชื่อว่าเป็นเส้นทางเดิมที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนย้ายเมืองจากโพธิ์ทองมายังบ้านตลาดสามย่านเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ จากการบันทึกเรื่องราวการสร้างสะพานแห่งนี้ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๖ เล่มที่ ๔๐ บอกถึงรายละเอียดการสร้างซึ่งนำโดย ขุนภินนท์ประศาสน์ นายอำเภอพร้อมด้วยกรมการอำเภอและนายหลาย เจริญขวัญ พ่อค้า เป็นสะพานไม้ที่ใช้ไม้เหียง มะหาด กันเกรา รอด ตะเคียน และอินทนิล เป็นต้น เป็นสะพานที่มีพนักลูกกรงตลอดทั้งแนวสะพานและสามารถเปิดช่องสำหรับให้เรือบรรทุกสินค้าผ่านไปได้ โดยสามารถรวบรวมงบประมาณในการสร้างสะพานในปีนั้นเป็นจำนวนเงิน ๑,๐๖๔ บาท และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๖
ในปีพ.ศ. ๒๕๓๔ ได้มีการรื้อถอนสะพานไม้แล้วสร้างเป็นสะพานคอนกรีตแทนที่เพื่อให้มีความคงทนถาวรตามแบบมาตรฐานโดยกรมโยธาธิการ
จนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีการซ่อมแซมปรับปรุงสะพานขึ้นมาใหม่โดยการทำทางเดินเท้าที่สวยงามและเพิ่มลวดลายราวสะพาน นอกจากนั้นมีการประดับตกแต่งด้วยหลอดไฟตามทางเดิน สร้างหัวสะพานเป็นรูปทรงคล้ายกับประภาคารกระโจมไฟที่ให้สัญญาณเรือและเสาหัวสะพานทั้ง ๔ นั้นประดับด้วยล้อเกวียนซึ่งหมายถึง “ตำบลหนทางเกวียน” การปรับปรุงสะพานครั้งนี้มีการนำแนวคิดเรื่อง “อัตลักษณ์” ของท้องถิ่นมาใช้อย่างมาก ทั้งรูปแบบหรือลวดลายประดับตกแต่งล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวในอดีตของเมืองแกลงที่รวบรวมมาได้ทั้งหมด ๘ เรื่อง เขียนบันทึกไว้ที่หัวสะพาน เช่น เล่าถึงการย้ายเมือง เล่าถึงเรื่องไม้ในเมืองแกลง และงานสำคัญต่างๆ
ส่วนลวดลายราวสะพานนั้นเป็นลวดลายที่สร้างขึ้นมาใหม่พร้อมกับการซ่อมแซมสะพานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่นั่นไม่ใช่ลายใหม่เสียทีเดียว เนื่องจากทางเทศบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกลายโดยนำภาพช่องลมจากบ้านไม้เก่าหลังต่างๆ จากตลาดสามย่าน ลายที่ได้รับคัดเลือกคือลายจากบ้านเถ้าแก๋หลาย เจริญขวัญ คหบดีคนสำคัญของบ้านตลาดสามย่าน ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้ยังอยู่คงทนสวยงามบนถนนสุนทรโวหาร
ลายราวสะพานดังกล่าวที่ได้รับคัดเลือกนั้นคณะกรรมการไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นลวดลายจากบ้านเถ้าแก๋หลายผู้ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการสร้างสะพานเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ จนได้พบกับเอกสารราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าว ระบุรายละเอียดการก่อสร้างสะพานข้ามคลองบ้านสามย่าน ถือเป็นความบังเอิญที่ทำให้อดีตกับปัจจุบันได้มาเจอกันอีกครั้งบนสะพานที่นับว่าเป็น “สะดือเมืองแกลง” ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างเมืองเก่าและเมืองใหม่ของแกลง
ขอขอบคุณคุณสมชาย จริยเจริญ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลง
เทศบาลตำบลเมืองแกลง
อ้างอิง
เทศบาลตำบลเมืองแกลง.๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน.จังหวัดระยอง,๒๕๕๒