หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ย่านซังฮี้” ชุมชนในเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะสูญหาย?
บทความโดย จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ (เรื่อง) ,สุรชาญ อุ่มลำยอง (ภาพ)
เรียบเรียงเมื่อ 20 ส.ค. 2559
เข้าชมแล้ว 8024 ครั้ง
ชุมชนมิตรคาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พื้นที่ของวัดคอนเซ็ปชัญ บริเวณหน้าชุมชนมิตรคาม ๒
ชุมชนมิตรคาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
บ้านเรือนของชาวบ้านชุมชนมิตรคาม ๒
บ้านเรือนภายในชุมชนมิตรคาม ๒
ร้านค้าของคนจีนไหหลำ ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบของศาลเจ้าแม่ทับทิม
ศาลเจ้าแม่ทับทิมตรงสะพานซังฮี้ (เป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เก่าแก่ที่สุด)
ชุมชนราชผาทับทิม
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนมิตรคาม ๑
บ้านเรือนในหมู่บ้านวัดเขมร หรือวัดคอนเซ็ปชัญ
ภายในบ้านเรือนของชาวชุมชนมิตรคามที่เป็นคริสตัง
เรือที่พักอาศัยลำสุดท้ายของชุมชนมิตรคาม
ยังมีชาวบ้านที่ยังคงพักอาศัยบนเรือ ในชุมชนมิตรคาม
คุณยายวัย ๘๐ ปีที่อาศัยอยู่บนเรือภายในชุมชนมิตรคาม
ชาวบ้านในชุมชนมิตรคามยังคงใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา
วัดคอนเซ็ปชัญ
พื้นที่ของวัดคอนเซ็ปชัญ
ชุมชนมิตรคาม ๒
ชุมชนมิตรคาม ๒
ชาวบ้านยังพึ่งพาแม่น้ำเจ้าพระยาในการหาอาหาร
ชุมชนราชผาทับทิม

จากท่าน้ำวัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาส เรื่อยไปจนถึงบริเวณริมน้ำวัดส้มเกลี้ยงหรือวัดราชผาติการามในปัจจุบัน มีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยริมน้ำ ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษาและศาสนา  ที่แตกต่างออกไป กลุ่มของทางวัดคอนเซ็ปชัญคือกลุ่มแรกๆที่อยู่บริเวณเหนือแม่น้ำขึ้นมา จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่กล่าวว่า กลุ่มของวัดคอนเซ็ปชัญอยู่บริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ โดยการนำของบาทหลวงชาวโปรตุเกส ที่พากลุ่มคนเขมรที่นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามเข้ามา ในระยะต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๓ มีกลุ่มชาวญวนอพยพเข้ามา โดยให้ชาวญวนที่นับถือพระพุทธศาสนาไปอยู่ตรงบริเวณวัดญวนสะพานขาวในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่เป็นคริสตังให้อาศัยอยู่ในอาณาเขตของวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ซึ่งทั้งสองวัดที่เป็นคริสตังนี้เป็นที่พระราชทานทั้งสิ้น นอกเหนือจากกลุ่มชาวคริสต์แล้วยังมีกลุ่มคนจีนไหหลำที่เดินเรือมาค้าขายแล้วมาตั้งรกรากรอบๆบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิมตรงสะพานซังฮี้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เก่าแก่ที่สุด

 

 ส่วนชาวบ้านกลุ่มคนที่อยู่ริมแม่น้ำในชุมชนมิตรคาม ๑ มิตรคาม ๒ และชุมชนซังฮี้หรือชุมชนราชผาทับทิม เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ โยกย้ายโดยการล่องเรือมาจากทางอยุธยา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท เป็นต้น ชาวบ้านเหล่านี้ ประกอบอาชีพประดาน้ำหาของเก่า การทำประมงและค้าขาย เช่นการค้าข้าว ค้าถ่าน เรือขนทราย หรือแม้แต่การใช้เรือลากซุงลงมาตามแม่น้ำ นอกจากนั้นการค้าแถบบริเวณดังกล่าว ยังมีการใช้เรือแจวลำเล็กสำหรับขายอาหารการกิน ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ หรือก๋วยเตี๋ยว

 

เดิมทีชาวบ้านอาศัยอยู่บนเรือ นอกจากชาวบ้านจะใช้เรือในการประกอบอาชีพแล้ว ในขณะเดียวกันเรือลำดังกล่าวก็ยังสามารถเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับของครอบครัวขนาดเล็กได้อีก วิวัฒนาการก่อนการสร้างบ้านที่เห็นเรียงรายอยู่ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านได้คิดค้นวิธีการสร้างที่อยู่อาศัยในแบบต่างๆ โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีและวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ หลังจากที่เรือจอดอยู่ในน้ำเป็นเวลานานไม้เรือก็ผุพังไป ชาวบ้านจึงได้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นแพบ้าง โดยการใช้ลูกบวบช่วยพยุงน้ำหนักแพ จนที่สุดจึงตัดสินใจยกบ้านขึ้น ปักเสา และสร้างที่อยู่ถาวร 

 

ลักษณะการจับจองที่อยู่นั้น หากเรือเดิมจอดอยู่ตรงไหนชาวบ้านก็ต้องสร้างบ้านอยู่บนที่ตรงนั้น โดยที่เรือใครจมก่อนก็ยกเป็นบ้านขึ้นก่อน ส่วนไม้ที่เป็นส่วนประกอบหลักนั้นก็ใช้ไม้จากเรือลำเก่าที่ผุพัง และซื้อมาเพิ่มจากเศษไม้ตามโรงเลื่อย บางบ้านแทบจะไม่ต้องลงทุนซื้อวัสดุเลยนอกจากซื้อเพียงแค่ตะปู 

 

แม่น้ำเจ้าพระยานอกจากจะเป็นแม่น้ำสายหลักของคนกรุงเทพฯแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ เพราะสำหรับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนริมน้ำ  แม่น้ำเป็นทั้งบ้าน เป็นทั้งเส้นทางทำมาหากิน และเป็นสังคมที่มีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน 

 

จากการสอบถามบ้านที่เป็นคริสตังในชุมชนริมน้ำ ได้เล่าว่าบรรพบุรุษสามารถขึ้นไปอยู่บนบกได้อย่างชอบธรรม แต่เลือกที่จะไม่ไปเพราะมีอาชีพหลักคือการทำประมงจับปลา เดิมสภาพพื้นที่ในกรุงเทพฯจะเป็นคลองน้ำอยู่คู่กับชุมชน แต่เมื่อมีการพัฒนาเมืองเรื่อยมา ถมคลองให้เป็นถนนจนในที่สุดไม่มีคลอง จึงต้องอพยพครอบครัวถอยร่นลงมาติดแม่น้ำอย่างที่เห็นในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าชาวบ้านได้ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพและมีวิถีชีวิตที่มีเส้นทางน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต และปัจจุบันยังมีชาวบ้านหลายครอบครัวในชุมชนที่ยังยึดอาชีพประดาน้ำและการทำประมงในการยังชีพอยู่ 

 

แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน และเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชาวบ้านริมแม่น้ำ กำลังจะพัฒนาเป็นโครงการทางเลียบแม่น้ำขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว หากเป็นเช่นนั้นแล้ว รูปแบบวิถีชุมชนและรากเง้าของคนริมแม่น้ำจะเป็นไปในลักษณะใด

บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.