หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ปัตตานีในความทรงจำ
บทความโดย Najib Bin Ahmad
เรียบเรียงเมื่อ 4 พ.ย. 2558
เข้าชมแล้ว 5794 ครั้ง
มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ของเมืองปาตานี สร้างในสมัย สุลต่านมุซอฟฟัร ชาห์ แห่งราชวงศ์ศรีวังษา หลังจากที่พญาอินทิรา หรือสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ ต้นวงศ์ เปลี่ยนมารับศาสนาอิสลามไม่นานนักมัสยิดกรือเซะเป็นสถาปัตยกรรมที่ก่อซุ้มประตูโค้งแบบเปอร์เซีย-เอเชียกลาง ก่อด้วยอิฐ รกร้างมานาน และกรมศิลปากรประกาศให้เป็นโบราณสถาน ปัจจุบันได้มีการบูรณะและใช้งานเป็นมัสยิด (ศาสนสถานของศาสนาอิสลาม)
กุโบร์โต๊ะอาเยาะห์ เป็นกุโบร์หรือสุสานที่ตั้งใกล้กับมัสยิดรายาปัตตานี ตั้งอยู่ที่จะบังติกอและไม่ห่างจากวังของเจ้าเมืองปัตตานีมากนักกุโบร์โต๊ะอาเยาะห์เป็นที่ฝังศพของสุลต่านสุไลมาน ชารีฟุดดีน เจ้าเมืองปัตตานีและบรรดาญาติวงศ์ในสายตระกูลของสุลต่านมูฮำหมัดหรือตนกูเปาะสา รวมทั้งเป็นที่ฝังศพของขุนนางเมืองปัตตานีตั้งแต่ย้ายเมืองจากบ้านบานามาตั้งยังที่ใหม่ที่บ้านจะบังติกอ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ภายในอาณาเขตกุโบร์ที่กว้างขวางแห่งนี้ ยังแบ่งพื้นที่โดยการสร้างกำแพงแก้ว มีซุ้มทางเข้าตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมของจีน เพื่อฝังศพแยกเป็นสายตระกูลต่างๆ และสะดวกในการดูแลรวมทั้งการอ่านบทขอพร (ดุอาร์) ให้ผู้ล่วงลับ
สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ติดกับมัสยิดกรือเซะ ทางด้านทิศตะวันตก มีตำนานเล่าว่า ลิ้มกอเหนี่ยว หญิงชาวจีน เดินทางมาตามหาพี่ชายที่มาสร้างมัสยิดกรือเซะ ให้กลับบ้านที่เมืองจีน แต่ลิ้มเต้าเคี่ยนผู้เป็นพี่ชายไม่ยอมกลับ นางจึงน้อยใจและผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ด้านหลังมัสยิด ชาวจีนจึงตั้งฮวงซุ้ยให้นางในบริเวณนั้น จนมีการสร้างศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในชุมชนชาวจีนที่เมืองปัตตานี
สุสานสุลต่านสุไลมาน ชารีฟุดดีน เจ้าเมืองปัตตานี ตัวสุสานทำด้วยหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ แกะสลักลวดลายเครือเถาแบบมลายู จารึกข้อความเป็นภาษามลายูอักษรยาวี หลักบนสุสานหรือที่เรียกในภาษามลายูว่า Batu Nisan ซึ่งทำจากหินอ่อนแกะสลักได้ถูกโจรกรรมไป ปัจจุบันมีหลักที่สร้างใหม่มาทดแทน ภาพนี้ถ่ายในช่วงที่หลักบนสุสานถูกโจรกรรมไปแล้ว จึงไม่ปรากฏ Batu Nisan ให้เห็นในภาพ
ท้องทุ่งข้างทางและละแวกบ้านในท้องถิ่น ภาพท้องทุ่งริมทางเป็นที่โล่งที่ชาวบ้าน ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเล็มหญ้า โดยการปล่อยสัตว์เลี้ยงในตอนเช้าและจะมาต้อนให้เข้าคอกในตอนเย็น ส่วนเจ้าของสัตว์เลี้ยงก็จะไปทำงานอย่างอื่น ในสมัยนั้นไม่มีปัญหาการลักขโมยมากนัก
เรือนไม้ เรือนไม้ในรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นปาตานีเป็นเรือนที่อยู่แถบบ้านกรือเซะและอยู่ไม่ห่างจากมัสยิดกรือเซะมากนักปัจจุบันคงถูกรื้อไปแล้ว เป็นเรือนไม้ประเภทเรือนเครื่องสับยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว ฝากระดานลูกฟัก และใช้ปั้นลมตามลักษณะของท้องถิ่นมลายู ปัจจุบันแทบจะไม่สามารถพบเห็นเรือนลักษณะนี้ในท้องถิ่น

ผมมีโอกาสไปร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกับมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในระหว่างการบรรยายคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ฉายภาพถ่ายขาวดำที่ถ่ายจากกล้องฟิล์มชุดหนึ่ง ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นภาพของอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะหรือ น. ณ ปากน้ำ ที่ถ่ายเมื่อครั้งลงพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้เมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีก่อน

นอกเหนือจากความตื่นตากับภาพถ่ายเก่าๆ และอารมณ์ของภาพขาวดำที่ดูขรึมขลังแล้ว ภาพแห่งความทรงจำในวัยเยาว์ของผมก็ได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง เรื่องราวและสถานที่ต่างๆ ที่เคยพบเห็นและลืมเลือนไปแล้วตามกาลเวลา ก็ได้ถูกสะกิดให้หวนคืนมาอีก

และเมื่อหันมาดูรูปภาพเหล่านั้นอย่างพินิจถี่ถ้วน สิ่งที่พบเห็นอย่างสามัญในโมงยามที่ภาพถูกบันทึกนั้น กลับไม่สามารถพบเห็นได้แล้วในปัจจุบัน ภาพชาวบ้านที่เทินสิ่งของไว้บนหัวอย่างสามัญดาษดื่นน่าจะเป็นเรื่องที่คนอายุไม่เกิน ๒๐ ปี ไม่เคยได้เห็นมาก่อน สภาพบ้านเรือน การแต่งกาย วิถีชีวิตที่ดำเนินอย่างเชื่องช้า เหมือนอย่างที่ปรากฏในภาพถ่าย ก็คงเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากจินตนาการของผู้คนในยุคนี้

อารมณ์แรกในยามที่เห็นภาพถ่าย นอกเหนือจากการย้อนคืนความทรงจำของชีวิตวัยเด็กที่เติบโตในสังคมมลายูปาตานีอันเป็นความทรงจำส่วนตัวแล้ว ผมกลับกระหายที่จะเล่าเรื่องราว อยากแบ่งปันบรรยากาศแบบ มลายูปาตานี ที่ผมเติบโตมาให้กับคนรุ่นใหม่และคนนอกสังคมมลายูปาตานีที่ไม่มีโอกาสได้เห็น มีโอกาสได้สัมผัสถึงเรื่องราวเหล่านั้นบ้าง รวมไปถึงอยากสืบค้นถึงภาพหลายๆ ภาพที่ผมมองไม่ออก จำไม่ได้แล้วว่า เป็นภาพที่ถ่ายจากที่ไหนในสามจังหวัดชายแดนใต้

ผมอยากจะถ่ายภาพในสถานที่เดียวกัน มุมเดียวกันกับภาพเหล่านั้น เพื่อที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผ่านกาลเวลาช่วงหนึ่งและบอกเล่าถ่ายทอดเท่าที่ผมจะสามารถทำได้ และจะนำเสนอบอกเล่าผ่านภาพถ่ายเก่าและการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศใหม่ร่วมกับมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ต่อไป

เล่าด้วยภาพ : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ  วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๓ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๗)

บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.