หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
จากดอยตุงถึงดอยด้วน : ภูมิวัฒนธรรมยุคหินตั้งในล้านนา
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 ม.ค. 2554, 12:25 น.
เข้าชมแล้ว 34934 ครั้ง

 

ดอยนางนอนที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิงนอนหงาย อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาทางฝั่งตะวัตกของแอ่งที่ราบแม่จัน-เชียงแสน (ภาพจากเวบไซต์ http://pinmaneeresort.wordpress.com/2011/07/22/ตำนาน-ดอยนางนอน/

 

จากดอยตุง

บทความเรื่องนี้เป็นผลงานจากการเดินเท้าในการศึกษาและสำรวจแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ  ในดินแดนประเทศไทย ที่ข้าพเจ้าใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองที่มีสำนึกในเรื่องชาติภูมิและมาตุภูมิของคน

 

ในแนวคิดของข้าพเจ้า การเข้าถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นต้องทำความเข้าใจกับสาระสำคัญ ๓ เรื่อง คือ ภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม และชีวิตวัฒนธรรม ทั้งสามเรื่องนี้จะทำสำเร็จได้ต้องให้คนในท้องถิ่นเป็นคนทำ โดยมีส่วนร่วมจากคนนอก เพราะเป็นเรื่องของสิ่งที่สร้างโดยคนในท้องถิ่นจากการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและการสืบเนื่องมาจนปัจจุบันตั้งแต่ในยุคโลกาภิวัตน์ เช่นปัจจุบันการเปลี่ยนผ่านทางสังคมในดินแดนประเทศไทยมาสังคมเกษตรแบบชาวนา [Peasant society] มาสู่สังคมอุตสาหกรรมที่กำลังโหมด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักจนสุดโต่ง

 

โดยทั้งรัฐและทุนข้ามชาติในทุกวันนี้กำลังทำให้สังคมและวัฒนธรรมไทยเข้าสู่ภาวะล่มสลายทั้งสภาพแวดล้อมธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ [Homo sapiens] เพราะกึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเต็มไปด้วยกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมืองจากข้างบน หรือจากรัฐที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนทั้งภายในประเทศและจากภายนอกประเทศเข้ามาตามท้องถิ่นต่างๆ เพื่อแย่งที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติของผู้คนในสังคมชาวนา ที่อยู่ติดที่และมีชีวิตร่วมกันในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาร่วมพันปี

 

กระบวนการเปลี่ยนสังคมเกษตรแบบชาวนาให้กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมนั้น แลเห็นได้จากการนำเทคโนโลยีจากภายนอกมาสร้างกระบวนการอุตสาหกรรมและเมืองสมัยใหม่ [Industrialization กับ urbanization] ที่คนท้องถิ่นในสังคมชาวนาปรับตัวได้ทัน ต้องเสียที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่เคยจรรโลงความสงบสุขสันติและความพอเพียงมาเป็นเหยื่อของความโลภในทางวัตถุและการบริโภคนิยมอย่างเพื่อตัวเองมากกว่าส่วนรวมอย่างสุดโต่ง

 

ผลจากการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยรัฐและทุนข้ามชาติในระบอบประชาธิปไตยแบบซื้อเสียงขายเสียง และเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ทำให้ประเทศชาติกลายเป็นอุตสาหกรรมจากเบากำลังไปหาหนักในวันนี้ก็คือพื้นที่ทำกินในด้านเกษตรกรรม ๙๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือของพวกนายทุนทั้งในชาติและข้ามชาติจำนวน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่ทำเกษตรกรรม ๙๐ เปอร์เซ็นต์มีที่ทำการเกษตรเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ไม่รวมถึงบรรดาที่อยู่อาศัยและทรัพยากรที่ถูกแย่งไปจากผู้คนในแต่ละท้องถิ่น

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือทั้งที่ดิน ทรัพยากรและแม้แต่คนก็ถูกกระทำให้เป็นสินค้าไปหมด โดยเฉพาะคนกลายเป็นสินค้าที่เห็นได้จากการมองคนเป็นแรงงาน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีการศึกษาอบรมกันตามสถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เรียนรู้กันแต่เทคโนโลยี การทำมาหากินในอาชีพต่างๆ ด้วยสำนึกทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยม จนลืมความเป็นมนุษย์ในทางชาติกำเนิด และสำนึกทางศีลธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทั้งชนชั้นล่างและชั้นกลางกำลังบ้านิยมกับโลกไร้พรมแดน จนถึงกับขายบ้านขายแผ่นดินและขายตัวเองให้กับทุนข้ามชาติในขณะนี้

 

แต่จากประสบเรียนรู้จากการเดินเท้าของข้าพเจ้าทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านพบว่า แม้ว่ารัฐไทยและรัฐในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร จะถูกปกครองไปด้วยรัฐบาลทรราชย์ก็ตาม แต่สถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยยังไม่สิ้นหวังเท่ากับคนเขมรเพราะยังมีพลังทางภาคประชาสังคมต่อต้านที่จะไม่ยอมให้บ้านเมืองเปลี่ยนสภาพทางสังคมเศรษฐกิจเข้าสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรมไปอย่างสุดโต่ง นั่นคือต้องยืนยันฐานทางสังคมเศรษฐกิจที่เป็นเกษตรกรรมไว้

 

ปราชญ์อาวุโสของบ้านเมืองท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เตือนสติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การรักษาสังคมเกษตรกรรมไว้นั้นมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของคนในชาติชั่วลูกชั่วหลาน เพราะสามารถผลิตอาหารให้คนกินอยู่อย่างสบายไม่มีทางอดอยาก อย่างเช่นประเทศที่บ้าอุตสาหกรรมทั้งหลายในโลก

 

ในความคิดของข้าพเจ้า การฟื้นฟูและจรรโลงสังคมเกษตรกรรมดังกล่าว คนรุ่นใหม่ที่มีสติและปัญญาจำเป็นต้องหันมาทบทวนอดีต เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาทางสังคมเกษตรกรรมชาวนา [Peasant society] ที่มีมากว่าพันปีว่ายังมีความหมายต่อการอยู่ร่วมกันของคนในท้องถิ่นอยู่หรือไม่ เพื่อเป็นความรู้ในอดีตที่จะนำมาพัฒนาสังคมเกษตรกรรมให้อยู่ร่วมไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมในกระแสโลกาภิวัฒน์ ภูมิวัฒนธรรมคือสิ่งที่ควรศึกษาและทบทวนเป็นดับแรก เพราะเป็นภูมิทัศน์และภูมินิเวศที่ถูกทำลายและแทนที่ด้วยการเกษตรพันธอุตสาหกรรม [Contract farming] โรงงาน เขื่อน ถนนหนทาง และความเป็นบ้านเมืองสมัยใหม่ [Urbanization]

 

ภูมิวัฒนธรรมที่จะกล่าวถึงในบทความนี้อยู่ในภาคเหนือที่ในอดีตเรียกว่าล้านนาไทย ซึ่งแบ่งย่อยๆ ออกเป็นแอ่งใหญ่ๆ ได้ ๒ แอ่ง คือ แอ่งเชียงใหม่และเชียงราย โดยเฉพาะแอ่งเชียงรายนั้นมีชื่อเรียกเฉพาะว่าโยนก และผู้คนได้รับการขนานชื่อว่า ยวนหรือไทยยวน

 

แอ่งเชียงรายมีพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญอยู่ ๒ ที่ราบลุ่ม คือแม่น้ำกกและแม่น้ำอิง แต่ละลุ่มน้ำก็มีแอ่งและหุบ [Basin และ valley] หลายแห่ง อันเป็นพื้นที่คนเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมือง และทำเกษตรกรรมเพื่อดำรงชีวิตร่วมกัน แต่ละแอ่งดังกล่าวนี้เป็นเบ้าหลอมที่ทำให้คนหลายชาติพันธุ์ หลายภาษาและศาสนา ความเชื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกัน สัมพันธ์กันทางสังคม ทั้งการแต่งงานและทำกินในพื้นที่เดียวกัน เป็นที่เกิดและตายร่วมกัน ทำให้มีสำนึกร่วมในพื้นที่เกิดหรือมาตุภูมิเดียวกัน โดยสร้างความรู้ชั้นชุดหนึ่งในนามของจารีตและประเพณีให้เป็นสิ่งรับรู้ร่วมกันและถ่ายทอดมายังคนรุ่นหลังๆ เพื่อการอยู่รอดร่วมกัน นับเป็นความรู้จากคนภายในท้องถิ่นและระหว่างถิ่นที่สัมพันธ์กัน

 

ความรู้จากภายในที่คนภายนอกเช่นข้าพเจ้าแลเห็นพื้นที่ซึ่งเป็นภูมิวัฒนธรรมได้นั้นก็จากสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมก็คือการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ทั้งแม่น้ำลำคลอง หนอง ห้วย ป่าเขา ทุ่งราย และนามบ้านนามเมือง อันเป็นที่รับรู้กันของบรรดาคนใน โดยมีการถ่ายทอดผ่านตำนานและนิทานจากทั้งทางเอกสารและการบอกเล่า

 

ในที่นี้ข้าพเจ้าได้เลือกกล่าวถึงแต่เพียงแอ่งย่อยๆ ๒ แอ่ง ในลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำอิงมากล่าวถึง นั่นคือแอ่งเชียงแสนในลุ่มน้ำกกกับแอ่งพะเยาในลุ่มน้ำอิง โดยเพ่งความสนใจไปที่สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละแอ่งเป็นจุดเริ่มต้น คือ ดอยตุงของแอ่งเชียงแสนและดอยด้วนของแอ่งพะเยา ทั้งสองแอ่งนี้เป็นพื้นที่และภูมิวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดนครรัฐสองรัฐในแอ่งเชียงรายคือ เชียงแสนและพะเยา เป็นนครรัฐก่อนเกิดรวบรวมตัวกันขึ้นโดยพญามังราย หลังจากนั้นได้ขยายอำนาจเข้าไปในแอ่งเชียงใหม่จนทำให้เกิดแคว้นล้านนาขึ้น

 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพหรือภูมินิเวศทางธรรมชาติ [Natural landscape] ของทั้งสองแอ่ง คือ เชียงแสนและพะเยานั้นเหมือนกัน คือประกอบด้วยพื้นที่ที่มีเขาอยู่โดยรอบ ที่มีลำน้ำลำห้วยไหลลงจากเขาและที่สูงลงสู่ที่ลุ่มต่ำอันเป็นที่รับน้ำ เช่น บึงและหนอง ที่มีระดับน้ำแตกต่างกันระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน [Seasonal lake] ในฤดูแล้งพื้นที่รอบหนองส่วนหนึ่งแห้ง อย่างเช่นคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ทาม และพื้นที่ยังมีน้ำขังเรียกว่า บุ่ง ซึ่งหมายความว่าบึงนั่นเอง พอถึงฤดูฝนน้ำท่วมบริเวณชายขอบบึงทำให้เกิดเป็นปริมณฑลกว้างขวาง ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า หนอง สังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา [Peasant communities] พัฒนาขึ้นตามขอบหนองเหล่านี้ ตามบริเวณชายขอบที่สูงที่สามารถใช้น้ำจากลำห้วยลำธารที่ไหลลงจากเขาและที่สูงมาเป็นน้ำกินและน้ำอุปโภค รวมทั้งเพื่อทำการเพาะปลูกในพื้นที่แห้งในฤดูแล้งรอบหนองได้

 

พื้นที่ชายขอบหนองที่เกิดชุมชนบ้านและเมืองนั้นเรียกในทางธรณีสัณฐานว่าที่ราบขั้นกระได หรือที่ลาดต่ำ [Low terrace] แต่พื้นที่ลุ่มต่ำที่ทำการเพาะปลูกนั้นคือที่ราบลุ่มหรือลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมถึง ชุมชนชาวนาของสังคมชาวนาในระยะแรกๆ มักจะทำนาแบบนาทาม คืออาศัยพื้นที่ทามในการหว่านข้าวลงไป โดยการชะลอน้ำในตอนปลายฤดูฝนด้วยการใช้คันดินหรือทำนบกักน้ำ ชะลอน้ำ และแบ่งน้ำเพื่อการเติบโตของต้นข้าว เป็นการทำนาปีแต่เพียงอย่างเดียว

 

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานและการทำเกษตรกรรมแบบนี้ไม่ใคร่ทำให้ลักษณะของภูมินิเวศธรรมชาติและภูมิวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงเท่าใด การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายหลังเมื่อมีพัฒนาการของการทำนาแบบทดน้ำ [Irrigation rice cultivation] เกิดขึ้นโดยเฉพาะการชลประทานแบบเหมืองฝาย ที่มาพร้อมกับคนกลุ่มใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกว่า หรือมาจากการได้รับอิทธิพลทางเทคโนโลยีในการชลประทานและการทำการเพาะปลูกจากภายนอก

 

จากการศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ทำให้ข้าพเจ้าพอวิเคราะห์ได้ว่า ทั้งแอ่งเชียงแสนและแอ่งพะเยามีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิวัฒนธรรมเป็นสองช่วงเวลาดังนี้ คือ ช่วงก่อนการทำนาแบบทดน้ำ [Irrigation rice field ] ที่แลเห็นจากการเพาะกล้าและดำนา [Transplanting cultivation] กับการทำนาทามแบบนาหว่าน [Broadcasting cultivation] ที่ไม่มีการทดน้ำแบบเหมืองฝาย การเปลี่ยนแปลงการทำนาจากนาทามที่เป็นนาหว่านและไม่มีการทดน้ำ

 

นับเป็นสังคมเกษตรกรรมชาวนาแบบยุคแรกที่มีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ของสังคมท้องถิ่นแต่ดั้งเดิมที่เรียกว่า คนลัวะ ส่วนการทำนาแบบทดน้ำแบบเหมืองฝายที่มีการหว่านกล้าและดำนานั้น เป็นสังคมเกษตรกรรมชาวนาที่มีการผสมผสานของคนกลุ่มใหม่ จากภายนอกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองร่วมกันในยุคนี้เรียกว่า โยนกและล้านนาตามลำดับ หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิวัฒนธรรมของทั้งสองแอ่งดังกล่าวนี้ ในขั้นแรกแลเห็นจากตำนานพงศาวดารที่มีการเขียนรวบรวมและแต่งต่อกันมาจากทั้งเอกสาร และการถ่ายทอดจากการบอกเล่า

 

แต่ในชั้นหลังคือช่วงเวลาปัจจุบันอาจแลเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีทั้งแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทั้งสองยุคและสองอย่างนี้ทำให้ข้าพเจ้าแลเห็นการเคลื่อนไหวของผู้คนและการเกิดชุมชนบ้านเมืองแต่ยุคแรกๆ ได้ดังนี้

 


อนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช ที่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย

 

แอ่งเชียงแสน กลุ่มชนแรกเริ่มกระจายกันอยู่ตามที่ลาดสูงและลาดต่ำของเทือกเขาด้านตะวันตกของแอ่ง อันมีดอยตุงเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ ที่ในตำนานเมืองเชียงแสนและพงศาวดารโยนกเรียกว่า ภูสามเส้า เป็นกลุ่มชนที่เรียกว่า พวกลัวะ ที่มีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้า คนเหล่านี้ใช้เสียมตุ่นเป็นเครื่องมือทำกินแบบปลูกพืชปลูกต้นไม้แต่พอเลี้ยงตัวเอง [Horticulture] อันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ [Subsistence economy]

 

เสียมตุ่นเป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องมือหินขัดที่พบกระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนที่สูงและที่ต่ำ กลุ่มลัวะนี้มีการเติบโตและขยายตัว และบริเวณเทือกเขาด้านตะวันตกไปตามเขาและที่ลาดสูงที่อยู่โดยรอบของแอ่ง โดยเฉพาะทางด้านใต้ ด้านเหนือ และที่สูงทางตะวันออกที่ต่อกับบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สบรวกลงไปถึงเชียงแสนและเวียงปรึกษา จนจดปากแม่น้ำกก อันเป็นบริเวณที่มีหนองน้ำและที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงที่เรียกว่า หนองหล่ม

 

โดยลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวอาจแบ่งบริเวณแอ่งเชียงแสนออกได้เป็น ๒ บริเวณใหญ่ คือ บริเวณแรกคือที่ราบลุ่มและหนองบึงด้านหน้าดอยตุงของลำน้ำลำห้วยที่ไหลลงจากเทือกเขาดอยตุง เช่น ลำน้ำแม่นาย ลำน้ำแม่คำและลำน้ำแม่จัน

 

ลำน้ำแม่สายอยู่ทางเหนือไหลไปทางตะวันออกไปสบกับลำน้ำรวกที่ไหลมาจากเทือกเขาด้านเหนือในเขตประเทศพม่า รวมกันเป็นลำน้ำรวกไหลไปออกแม่น้ำโขงที่สบรวกที่ปัจจุบันเรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ ส่วนลำน้ำคำนั้นไหลลงจากเทือกเขาดอยตุงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไปรวมกับลำน้ำจันที่ไหลมาจากที่สูงทางตะวันตกเฉียงใต้เลียบภูเขาในเขตอำเภอแม่จัน ไปออกแม่น้ำโขงที่บริเวณสบคำเชิงเขาดอยจันที่อยู่ระหว่างเมืองเชียงแสนและเวียงปรึกษา

 

ส่วนบริเวณที่สอง คือ บริเวณด้านตะวันตกหลังเขาดอยจันที่เป็นหล่มเป็นหนองที่เรียกว่า หนองหล่ม ซึ่งปัจจุบันคนรู้จักกันในนามว่าทะเลสาบเชียงแสน และมีตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองที่มีชื่อว่า เมืองโยนกนาคพันธุ์ อันเป็นต้นกำเนิดของคำว่า โยนก และกลุ่มคนยวน โดยคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่ที่เคลื่อนย้ายจากลุ่มน้ำสาละวินผ่านมายังแม่น้ำกก และเคลื่อนย้ายผ่านเมืองเชียงรายมายังบริเวณหนองหล่มมาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ในบริเวณนี้ ผู้นำทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ก็คือ พระเจ้าสิงหนวัติ

 

ส่วนบริเวณแรกที่อยู่ตีนเทือกเขาดอยตุงนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวในการสร้างบ้านแปงเมืองของชุมชนกลุ่มลัวะ อันเห็นได้จากตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางว่าผู้นำทางวัฒนธรรมคือ พระยาลวจักราชในกลุ่มของปู่เจ้าลาวจก ได้นำคนจากที่สูงของเทือกเขาดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมลำน้ำที่ตีนเขา แล้วเกิดการขยายตัวไปตามเขาและที่สูงตามบริเวณโดยรอบ เช่นที่สบรวก เชียงแสน ดอยจัน

 

เมืองหิรัญนครเงินยางในตำนานนั้น ถ้ามองจากตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมือง คือ เวียงจันเป็นบริเวณที่มีแนวคันดินหรือกำแพงล้อมรอบนั้น น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเวียงพางคำที่อยู่เชิงเขาดอยจ้องริมลำน้ำแม่สาย ปัจจุบันเป็นอำเภอแม่สาย เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สัมพันธ์กับดอยตุง  เพราะดอยจ้องนั้นเป็นหนึ่งภูสามเส้าที่ชาวบ้านชาวเมืองเรียกว่า ดอยจ้อง ดอยปู่เฒ่าและดอยตุง และคนรุ่นหลังในปัจจุบันเรียกว่า ภูนางนอน เพราะดูเป็นรูปผู้หญิงนอนและเกิดตำนานนางนอนขึ้นภายหลัง 

 

ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า ตำนานเกี่ยวกับดอยตุงอาจวิเคราะห์ได้เป็น ๓ ตอน ตอนแรก คือ ภูสามเส้า ตอนที่สองเรียกดอยตุงและตอนสาม คือ ดอยนางนอนอันเป็นสมัยปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวของตำนานทั้งสามตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะภูมิวัฒนธรรมเป็นสามยุค คือ ยุคหินตั้ง อันเป็นยุคของการทำไร่หมุนเวียนและการทำนาหว่านแบบไม่ทดน้ำ ยุคการสร้างบ้านแปงเมือง ที่ทำการเพาะปลูก ทำนาแบบทดน้ำที่เป็นนาดำและเพาะกล้าอันสัมพันธ์กับระบบชลประทานแบบเหมืองฝาย ส่วนยุคที่สามคือ ยุคเกษตรอุตสาหกรรมในสังคมอุตสาหกรรมปัจจุบัน

 

หลักฐานที่ใช้ประกอบให้เห็นลักษณะภูมิวัฒนธรรมในยุคหินตั้งของแอ่งเชียงแสนก็คือ

(๑) การมีอยู่ของภูสามเส้าและตำนานเกี่ยวกับภูสามเส้า 

(๒) บรรดาเครื่องปั้นหินขัดที่มีหลายรูปแบบที่กระจายอยู่ทั่วไปตามที่สูง ชายขอบที่สูงและที่ลาดต่ำ และ

(๓) เนินดินและหลักหิน กองหินที่แสดงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และหลุมศพของบุคคลสำคัญ

 

ภูสามเส้าคือ ความคิดในเรื่องสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางจักรวาลและความเชื่อทางศาสนา มักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นต้นน้ำที่ไหลลงหล่อเลี้ยงชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่และการเกษตรกรรม เป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติที่ทุกคนต้องสยบและเกรงกลัว จะปรากฏตามภูเขาและโขดหินที่ดูแปลกประหลาดทางธรรมชาติ หรืออาจหมายถึงกองหินหรือก้อนหินที่มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งแสดงไว้เป็นสัญลักษณ์ ส่วนเนินดินที่มีคันดินล้อมรอบหรือเป็นที่ที่มีหินปักรอบหรือแสดงเขตนั้น มักเกี่ยวข้องกับหลุมศพและอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของเผ่าพันธุ์ซึ่งหมายถึงหัวหน้ากลุ่มเผ่า บุคคลศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพ ซึ่งอาจหมายถึงบรรดาหัวหน้าตระกูล หัวหน้าโคตรต่างๆ ด้วย 

 

ข้าพเจ้าได้หลักฐานเกี่ยวกับภูสามเส้าและแหล่งฝังศพ แหล่งศักดิ์สิทธิ์ในระบบหินตั้งนี้มาจากผู้ที่เป็นศิษย์สองท่านคือ ครูสมบัติ วิทยาคม ซึ่งเป็นครูโรงเรียนท้องถิ่นในเขตอำเภอเทิง จังหวัดพะเยา กับอาจารย์สุภาพ ต๊ะใจอาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยเฉพาะครูสมบัตินับเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญของแหล่งหินตั้งนั้นแทบทุกพื้นที่ในเขตจังหวัดพะเยา ในขณะที่อาจารย์สุภาพกำลังค้นคว้าเกี่ยวกับแหล่งหินตั้งที่เป็นที่ฝังศพของผู้นำคนลัวะในลุ่มน้ำวังของลำปาง

 


(ภาพซ้าย) เทือกเขาดอยนางนอนหรือภูสามเส้า อันมี ดอยจ้อง ดอยปู่เฒ่าและดอยตุง (ภาพขวา)ดอยด้วนที่พะเยา

 

ทั้งข้อมูลและความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่ของทั้งสองคนนี้ เมื่อนำมาประมวลเข้ากับผลการศึกษาสำรวจของข้าพเจ้าที่ผ่านมา ก็สามารถสร้างภาพให้เห็นถึงลักษณะของภูมิวัฒนธรรมหินตั้งของกลุ่มชนโบราณที่เรียกว่าพวกลัวะได้ชัดเจน อีกทั้งยังได้เห็นการสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเข้าสู่ภูมิวัฒนธรรมในยุคต่อมา อันเป็นสมัยที่มีกลุ่มคนจากภายนอก เช่น คนยวนอันเป็นชนชาติในกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนย้ายเข้ามาผสมผสาน เป็นยุคที่มีการนำเอาความคิดทางเทคโนโลยีของการทำชลประทานแบบเหมืองฝายและนาดำเข้ามาทำให้เกิดการแปงป่าให้เป็นนาในการสร้างบ้านแปงเมือง

 

คนกลุ่มใหม่ที่เคลื่อนจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของคนลัวะแต่เดิมนั้น โดยตำนานเป็นชนชาติพันธุ์ไทยที่มีชีวิตอยู่บนพื้นที่ราบรอบๆ หนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นทะเลสาบ เช่น ทะเลสาบคุนหมิงและทะเลสาบตาหลี่ในมณฑลยูนนาน ของจีนตอนใต้ คนเหล่านี้มีประสบการณ์ในการทำนาทดน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ หนองหล่ม อันหมายถึงหนองน้ำที่มีน้ำผุดจากใต้ดิน

 

นับเป็นภูมินิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ การกระจายตัวของคนจากที่ราบดังกล่าวนี้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของคนกลุ่มลัวะแต่เดิม ได้ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองไปทั่วอาณาบริเวณของแอ่งเชียงแสน การขยายและการกระจายตัวของชุมชนนั้นแลเห็นได้จากการสร้างสถานที่ทางวัฒนธรรมขึ้นทับและซ้อนกับแหล่งความเชื่อดั้งเดิมในระบบหินตั้ง ด้วยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์และรอยพระพุทธบาทบนแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิหินตั้ง เช่น สร้างพระธาตุดอยตุงและพระธาตุดอยจ้องขึ้นมาแทนที่ภูสามเส้าในวัฒนธรรมของคนลัวะ

 

โดยเฉพาะพระธาตุนั้นจะตั้งอยู่ในบริเวณที่สัมพันธ์กับแหล่งที่เป็นชุมชนเมือง เช่นพระธาตุปูเข้าที่สบรวกริมแม่น้ำโขง เป็นของคู่กันไปกับบริเวณตัวเมืองที่เรียกว่า เวียง เช่นพระธาตุปูเข้าสัมพันธ์กับเวียงปูเข้า พระธาตุจอมกิติสัมพันธ์กับเวียงเชียงแสน และพระธาตุดอยจันสัมพันธ์กับเวียงปรึกษา เป็นต้น

 

ท้ายสุดของบทความในภาค “จากดอยตุง” ของการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของภูมิวัฒนธรรมของภูสามเส้ามาเป็นดอยตุงอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์ของพุทธศาสนาแทนแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของคนลัวะในวัฒนธรรมหินตั้ง มาสู่ภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองในยุคเกษตรกรรมที่มีการชลประทานเหมืองฝาย ก็คือตำนานพงศาวดารโยนกนั้น กล่าวว่า เจ้าผู้ครองเวียงพานคำริมลำน้ำแม่สาย ตีนเขาดอยจ้อง คือเชื้อสายของพระเจ้าพรหมของตระกูลสิงหนวัติ เป็นผู้สร้างฝายและขุดเหมืองแดง ระบายน้ำจากลำน้ำแม่สายและธารน้ำที่ไหลลงจากเขามาเลี้ยงแหล่งทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ราบลุ่มของแอ่งเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันนี้เหมืองแดงก็ยังคงมีอยู่ รวมทั้งการขยายตัวของเหมืองฝายไปทั่วพื้นที่เกษตรกรรมของแอ่งเชียงแสน

 

ศรีศักร  วัลลิโภดม (บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๗ ฉ. ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๕๔)

อัพเดทล่าสุด 3 ก.ค. 2561, 12:25 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.